"...ในขั้นตอนการส่งมอบงาน บริษัท อิควิป แมน จำกัด ไม่ได้สั่งนำเข้านาฬิกาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยตรง แต่สั่งซื้อนาฬิกาจากบริษัท พรีเซียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด (ผู้เสนอราคาอีกราย) มาส่งมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และยังพบว่าบริษัท อิควิป แมน จำกัด มีการปลอมหนังสือรับรองผลงานและสัญญาจ้างที่ใช้ประกอบการเสนอราคา..."
ชื่อของ นายศราวุธ พงษ์สงวนสุข และบริษัท อิควิป แมน จำกัด ปรากฏเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา พร้อมกับ นายวัชระชัยย์ หรือสุวิจักขณ์ นาควัชระชัยท์ หรือนาควัชระชัย และพวก ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีจัดจ้างโครงการปรับปรุงระบบนาฬิกา (Clock system) สำหรับติดตั้งบริเวณภายในและโดยรอบอาคารรัฐสภาโดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเสียหาย
ตามข้อมูลการแถลงข่าวต่อสาธารณชนของสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัท อิควิป แมน จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท อิควิป แมน จำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายและติดตั้งระบบนาฬิกาตามประกาศประกวดราคา จนกระทั่งมีการอนุมัติจัดจ้างและลงนามในสัญญา โดยที่นายสมพงษ์ ปรีชาธนพจน์ รองเลขาธิการฯ ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติไม่ได้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา และในขั้นตอนการส่งมอบงาน บริษัท อิควิป แมน จำกัด ไม่ได้สั่งนำเข้านาฬิกาจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายโดยตรง แต่สั่งซื้อนาฬิกาจากบริษัท พรีเซียส ไทม์ เทรดดิ้ง จำกัด (ผู้เสนอราคาอีกราย) มาส่งมอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และยังพบว่าบริษัท อิควิป แมน จำกัด มีการปลอมหนังสือรับรองผลงานและสัญญาจ้างที่ใช้ประกอบการเสนอราคา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่ได้เบิกจ่ายเงินค่าจ้างให้บริษัท อิควิป แมน จำกัด และได้บอกเลิกสัญญาในเวลาต่อมา
เกี่ยวกับคดีนี้ หากสาธารณชนยังจำกันได้ สำนักข่าวอิศรา เคยติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมาแล้ว หลังปรากฏข่าวปัญหาการจัดซื้อนาฬิกาไฮเทค วงเงิน 14.8 ล้านบาท ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 แต่ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2558 จนเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา บริษัท อิควิปแมน จำกัด คู่สัญญา ได้เข้ามารื้อถอนนาฬิกาทั้งหมดออกไป ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา(ก.ร.) มีมติให้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาฯทบทวนผลการตรวจสอบความโปร่งใส ในโครงการจัดซื้อนาฬิกาดังกล่าว เนื่องจากส่งผลกระทบภาพลักษณ์ของสภาฯ
โดยข้อมูลในส่วนของ บริษัท อิควิป แมน จำกัด ผู้ชนะการประกวดราคา มีดังนี้
@ ข้อมูลบริษัท
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัท อิควิป แมน จำกัด จดทะเบียนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 ทุน 3 ล้านบาท แจ้งประกอบธุรกิจรับออกแบบและวางระบบ ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย ค้ากล้องวงจรปิด มีนายศราวุธ พงษ์สงวนสุข ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการ แจ้งที่อยู่เลขที่ 1832/2 หมู่ที่ 7 ถนนเทพารักษ์ ตำบลเทพารักษ์ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล บริษัท อีควิป แมน จำกัด ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ พบเป็นอาคารพาณิชย์ ขนาด 3 ชั้น จำนวน 1 คูหา ตั้งอยู่ในซอยที่ดินทอง 6 ติดถนนเทพารักษ์
ด้านหน้ามีป้ายบริษัท อีควิปแมน จำกัด ติดไว้ชัดเจน
ขณะที่นายศราวุธ พงษ์สงวนสุข ให้สัมภาษณ์ยืนยันผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า บริษัท อีควิป แมน จำกัด ได้งานปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัย ภายในและโดยรอบรัฐสภาและจัดทำห้องจำหน่ายสินค้าที่ระลึกรัฐสภา โดยวิธีประมูลเปิดซองตามขั้นตอนปกติ และไม่ทราบข้อมูลเอกชนรายอื่นที่เข้าร่วมประกวดราคาด้วย เพราะทางรัฐสภาพไม่ได้เปิดเผย
เมื่อถามว่านายศราวุธ รู้จักกับข้าราชการในรัฐสภาโดยตรงหรือไม่ นายศราวุธ ระบุว่า ไม่ได้รู้จักกับข้าราชการคนใดเลย แต่บริษัทฯเคยเข้าประมูลที่รัฐสภาตั้งแต่ปี 2551 ก็อาจจะรู้จักกับผู้ติดต่องานบ้าง แต่สำหรับคนใหญ่คนโต ยืนยันว่าไม่มีอย่างแน่นอน
นายศราวุธ ยังชี้แจงด้วยว่า นาฬิกาที่นำมาจำหน่ายให้ เป็นนาฬิกาแขวนผนังยี่ห้อ Bodet ที่สั่งซื้อจากประเทศฝรั่งเศส จำนวน 238 เรือน ทำงานด้วยระบบ Master Clock ซึ่งนาฬิกาทุกเรือนในรัฐสภาที่ติดตั้งจะเดินตรงกันทุกนาที และวินาที อีกทั้งยังมีอุปกรณ์เน็ตเวิร์ก และอุปกรณ์ UPS และรับประกัน 3 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงราคาเฉลี่ยในแต่ละเรือนราคาเท่าใด นายศราวุธ ระบุว่า ไม่สามารถประเมินราคาเป็นเรือนๆได้ เพราะเวลาที่คุยงานกับบริษัทในประเทศฝรั่งเศส คุยเป็นโปรเจ็คต์ เป็นการจ่ายแบบเหมารวมทั้งหมด สำหรับตัวเลขนั้น ในทางธุรกิจตนไม่ขอเปิดเผย
@ ข้อมูลการรับงานของบริษัท
สำนักข่าวอิศรา ยังตรวจสอบพบว่า สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ว่าจ้าง บริษัท อีควิป แมน จำกัด อย่างน้อย 3 โครงการ รวมวงเงิน 22,881,083 บาท ได้แก่
1.การปรับปรุงระบบแลกบัตรเข้า-ออก 4,150,000.00 บาท เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 55
2.ปรับปรุงระบบนาฬิกาภายในและโดยรอบรัฐสภาวงเงิน 14,891,083 บาท เมื่อวันที่ 29 มี.ค.56 ( วงเงินปรับปรุงระบบนาฬิกาให้รัฐสภารวม 14,891,083 บาท จำนวน 238 เรือน เท่ากับราคาเรือนละ 62,567 บาท)
3.จัดทำห้องจำหน่ายสินค้าที่ระลึกรัฐสภา วงเงิน 3,840,000.00 บาท เมื่อวันที่ 29 มี.ค.56
นอกจากนี้ บริษัท อิควิป แมน จำกัด ยังปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญากับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในการจัดซื้อครุภัณฑ์โฆษณาและเผยแพร่ วงเงิน 1,700,000 บาท เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 49
และเป็นผู้รับเหมาติดตั้ง ติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน 2 ครั้ง ครั้งแรกวงเงิน 6,470,000 บาท วันที่ 20 ส.ค. 51 และ ครั้งที่สอง 6,999,000 บาท วันที่ 27 ก.ค. 50 และ ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์ และระบบ LAN วงเงิน 3,356,590 บาท วันที่ 10 ก.พ. 55
เป็นคู่สัญญา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จ้างปรับปรุงทดแทนสายสัญญาณ(FiberOptic)ของกล้องโทรทัศน์วงจรปิดทางพิเศษฉลองรัช วงเงิน 10,290,000 บาท เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 52 และซื้ออุปกรณ์รับส่งสัญญาภาพและสัญญาณควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) 1,199,794.90 บาท เมื่อวันที่ 10 เม.ย.56
รวมวงเงินว่าจ้างทุกสัญญาจะอยู่ที่ 52,896,467.90 บาท
@ สถานะบริษัทล่าสุด
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนตรวจสอบข้อมูล บริษัท อิควิป แมน จำกัด ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปัจจุบันยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ นาย ศราวุธ พงษ์สงวนสุข เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เม.ย.2566 นาย ศราวุธ พงษ์สงวนสุขถือหุ้นใหญ่สุด 73.3333% มูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ 2,200,000 บาท หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นางสาว วรรณี พงษ์สงวนสุข, นาย สมชาย พงษ์สงวนสุข นาย พาวุธ พงษ์สงวนสุข และ นางสาว วันเพ็ญ พงษ์สงวนสุข คนละ 6.6667% มูลค่าหุ้น 200,000 บาท
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการทางธุรกิจล่าสุด ณ 31 ธ.ค.2565 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายและบริการ - สุทธิ 38,521,415.31 บาท รายได้รวม 38,521,419.31 บาท ต้นทุนขาย และ/หรือบริการ 24,921,995.82 บาท กำไรสุทธิ 179,220.08 บาท
ทั้งนี้ เกี่ยวกับผลการชี้มูลคดีนี้ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า การกระทำของนายศราวุธ พงษ์สงวนสุข และบริษัท อิควิป แมน จำกัด มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 มาตรา 264 และมาตรา 268 วรรคสอง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และมาตรา 268 วรรคสอง ได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด สิทธิการดำเนินคดีอาญาย่อมระงับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ให้ยุติการดำเนินคดีตามฐานความผิดดังกล่าว
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
บทสรุป ผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร คอยติดตามดูกันต่อไป