“…จึงควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายเดิมสามารถประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องได้ โดยไม่ถูกจำกัดให้ได้รับการขยายระยะเวลาได้เพียงครั้งเดียว…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ผ่านระบบสารสนเทศของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (www.dmf.go.th) และระบบกฎหมายกลาง (www.law.go.th) โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นเวลา 30 วัน หรือตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.-14 ก.ย.2566 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ดังนี้
@แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตเลียมฯ 7 ประเด็นหลัก
สภาพปัญหาและสาเหตุ
1.ความไม่ครอบคลุมในแง่ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย
นิยามของกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามที่ปรากฏในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ยังไม่รวมการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บคาร์บอน ผู้รับสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และผู้รับสัญญาจ้างบริการ จึงไม่อาจนำเอาคาร์บอนที่ถูกดักจับได้นอกแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มาอัดลงหลุมผลิตปิโตรเลียมได้
ส่งผลให้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการลงทุนและประกอบกิจการคาร์บอนในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะไปสู่เป้าหมายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย
หากจะมีการอัดคาร์บอนที่ถูกดักจับและถูกขนส่งมายังแปลงสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม กฎหมายยังไม่ได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการปิโตรเลียม อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการให้สิทธิประกอบกิจการตามกฎหมาย และไม่มีอำนาจกำกับดูแลการประกอบการดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเสนอให้ใช้ระบบใบอนุญาตเพื่อให้สิทธิการประกอบกิจการ และเป็นฐานในการกำกับ ดูแลการประกอบกิจการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บคาร์บอน และการอัดคาร์บอนลงในแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ตามมาตรา 23/1 และมาตรา 23/2 อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของต่างประเทศ
2.อัตราค่าภาคหลวงและการลดหย่อนค่าภาคหลวง ยังไม่อาจดึงดูดการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บและการอัดคาร์บอน ควรมีการแก้ไข มาตรา 99 ทวิ เพื่อลดหย่อนค่าภาคหลวง สำหรับผู้รับสัมปทานที่จะประกอบกิจการปิโตรเลียมและกิจการคาร์บอน เช่น สำรวจทั้งเพื่อค้นหาแหล่งผลิตปิโตรเลียมและแหล่งกักเก็บคาร์บอนในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีอำนาจในการลดอัตราค่าภาคหลวงตั้งแต่ในขั้นประมูลสิทธิ ทั้งในกรณีของกิจการปิโตรเลียมและกิจการคาร์บอน จึงควรมีการแก้ไขมาตรา 99 ทวิ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สามารถลดหย่อนค่าภาคหลวงในการประกาศประกาศเชิญชวนฯตั้งแต่ต้นได้
3.ความไม่ต่อเนื่องในการประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียม
มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 บัญญัติจำกัดระยะเวลาในการผลิตปิโตรเลียม กล่าวคือ ให้มีกำหนดไม่เกิน 20 ปี นับแต่วันถัดจากวันสิ้นระยะเวลาสำรวจปิโตรเลียม และบัญญัติข้อจำกัดในการต่อระยะเวลาเอาไว้ว่า การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้เพียงครั้งเดียว เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี
ส่งผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีข้อจำกัดในการต่ออายุสัมปทานเมื่อมีการต่ออายุสัมปทานไปแล้วหนึ่งครั้ง แม้ว่าการผลิตปิโตรเลียมยังควรดำเนินการต่อไปโดยผู้รับสัมปทานรายเดิม
ดังนั้น จึงควรมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายเดิมสามารถประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องได้ โดยไม่ถูกจำกัดให้ได้รับการขยายระยะเวลาได้เพียงครั้งเดียว
โดยผู้รับสัมปทานที่ประสงค์จะขอต่อระยะเวลาผลิตนั้น แสดงความประสงค์ดังกล่าวล่วงหน้าให้นานขึ้น จาก 6 เดือนเป็น 2 ปี เนื่องจากการพิจารณาคำขอและการทำความตกลงเกี่ยวกับข้อผูกพันการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้น อาจต้องใช้เวลาช่วงหนึ่ง
และหากปรากฏว่า ไม่อาจตกลงกันได้และจะต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้ประกอบ กิจการ การกำหนดให้ต้องยื่นขอต่อเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จะเปิดโอกาสให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเตรียมเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการผลิตต่อไปตามมาตรา 81/1
นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจ หากจะมีการต่อระยะเวลาการผลิตออกไปให้ไม่เกิน 10 ปีเอาไว้ เพื่อให้รัฐสามารถทบทวนว่าควรมีการขยายระยะเวลาต่อไปอีกหรือไม่ภายในกรอบเวลาที่กำหนด
4.การใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ที่ดินที่ส่วนราชการเป็น เจ้าของ หรือที่บุคคลอื่นใด เป็นเจ้าของหรือมีสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 บัญญัติให้ผู้รับสัมปทานมีสิทธิประกอบกิจการปิโตรเลียมในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิตที่ได้รับสัมปทาน
แต่ในกรณีที่ที่ดินในแปลงสำรวจหรือพื้นที่ผลิตที่ผู้รับสัมปทาน มีความจำเป็นต้องใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม รวมทั้งที่ดินนอกแปลงสำรวจหรือพื้นที่ผลิตดังกล่าวที่ผู้รับสัมปทาน มีความจำเป็นต้องใช้ในการเก็บรักษาหรือขนส่งปิโตรเลียม เป็นที่ดินที่บุคคลหรือส่วนราชการเป็นเจ้าของ มีสิทธิครอบครองหรือมีหน้าที่ดูแลตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สิทธิมิได้ยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายฉบับอื่น เช่น ในกรณีที่ดินที่ส่วนราชการใดเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองหรือมีหน้าที่ดูแลตามกฎหมาย ผู้รับสัมปทานต้องขออนุญาตต่อส่วนราชการนั้น (มาตรา 66 วรรคสอง) ทำให้เกิดความล่าช้า และส่งผลให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการฯได้
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มิได้มีบัญญัติให้มติคณะกรรมการปิโตรเลียมมีผลผูกพันต่อหน่วยงานของรัฐอื่น ส่งผลให้เกิดปัญหาว่า หน่วยงานของรัฐที่มีผู้แทนในคณะกรรมการปิโตรเลียม ซึ่งมีมติให้สัมปทานหรือสัญญาแบ่งปันผลผลิตแล้ว จะต้องผูกพันตามมติที่คณะกรรมการมีมติหรือไม่
จึงควรมีการแก้ไขและกำหนดผลผูกพันทางกฎหมายของมติคณะกรรมการปิโตรเลียม โดยเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยผลผูกพันของมติคณะกรรมการปิโตรเลียมต่อหน่วยงานของรัฐอื่นที่มีผู้แทนอยู่ในคณะกรรมการปิโตรเลียม และขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้มติของคณะกรรมการปิโตรเลียมมีผลผูกพันกระทรวงและหน่วยงานทุกหน่วยที่เป็นกรรมการอยู่ด้วย
5.การบังคับให้มีการยื่นหลักประกันการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือวัสดุอื่นใด
มาตรา 80/1 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กำหนดหน้าที่ให้ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนสิ่ง ปลูกสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการสำรวจผลิต เก็บรักษาหรือขนส่งปิโตรเลียม เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม กฎหมายมิได้บัญญัตินิยามของการรื้อถอนดังกล่าวเอาไว้
เพื่อประโยชน์ในการสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ และเป็นฐานของการจัดให้บัญชีเพื่อการรื้อถอนตามมาตรา 80/2 ที่ได้มีการแก้ไข จึงควรมีการบัญญัตินิยามของการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการสำรวจผลิต เก็บรักษาหรือขนส่งปิโตรเลียมให้ชัดเจน
นอกจากนี้ การเลือกใช้ชื่อว่า “บัญชีเพื่อการรื้อถอน” นั้น เป็นไปเพื่อสร้างความชัดเจนว่าบัญชีนี้มิใช่ “กองทุน” ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
ขณะเดียวกัน การที่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กำหนดหน้าที่ให้ผู้รับสัมปทาน ต้องวางหลักประกันการรื้อถอนในช่วงท้ายของการประกอบกิจการนั้น ก่อให้เกิดปัญหาว่าผู้รับสัมปทานหรือรับสัญญาจะขาดแรงจูงใจและศักยภาพทางการเงินที่จะวางหลักประกันการรื้อถอนตามที่กฎหมายกำหนด
จึงต้องแก้ไขและเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อให้มีการใช้ระบบบัญชีเพื่อการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสามารถนั้น จะต้องยกเลิกมาตรา มาตรา 80/2 และใช้บังคับเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 80/2 ที่มีเนื้อความใหม่แทน เพื่อกำหนดหน้าที่ของผู้รับสัมปทานในการจัดให้มีบัญชีเพื่อการรื้อถอน
6.บทกำหนดโทษ
ระวางโทษปรับที่บัญญัติเอาไว้ในบทบัญญัติหมวด 8 บางมาตรานั้น อาจไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์ที่ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายได้รับ เช่น หากฝ่าฝืนกฎหมายแล้วจะยังสามารถทำกำไรหรือได้ประโยชน์มากไปกว่าจำนวน ค่าปรับที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้บทกำหนดโทษนั้นไม่อาจป้องปรามการกระทำความผิดได้
กล่าวได้ว่าระดับโทษ จำคุกและโทษปรับที่กำหนดไว้นั้น ไม่เพียงพอต่อการทำให้เกิดผลยับยั้งอาชญากรรม (deterrent effect) และไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และอัตราค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงไป จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมระวางโทษทางอาญากับความผิดบางฐาน
ทั้งนี้ ควรมีการเพิ่มอำนาจอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้มีอำนาจเปรียบเทียบได้ และในการนี้ อธิบดีอาจ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบแทนก็ได้ และเมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่ได้ เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
อย่างไรก็ตาม ความผิดในบางฐานนั้นมิได้เป็นความผิดร้ายแรงที่ควรมีโทษทางอาญาจึงควรมีการยกเลิกโทษอาญา และเปลี่ยนเป็นปรับเป็นพินัยแทน โดยให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีอำนาจในการปรับเป็นพินัย
7.การบังคับการทางปกครอง
มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้รับสัมปทานงดเว้นการปฏิบัติใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งนั้น ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กรณีจึงเกิดปัญหาว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 จะมีอำนาจในการออกคำบังคับการทางปกครอง เพื่อให้มีการเปลี่ยนพฤติกรรมได้หรือไม่ และจะอาศัยฐานทางกฎหมายใดในการบังคับการตามคำสั่งทางปกครอง นั้น
ดังนั้น เพื่อให้คำสั่งตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มีสภาพบังคับมากขึ้นนั้น สามารถสร้างความชัดเจนได้ ด้วยการเพิ่มเติมบทบัญญัติ ให้การบังคับทางปกครองตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 นั้นเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
@เพิ่มนิยาม'ประกอบกิจการคาร์บอน'
หลักการอันเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1.บทนิยาม
นิยามของกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรากฏในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ยังไม่ได้รวมการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นลงในแหล่งกักเก็บคาร์บอน อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัตินิยามของการรื้อถอน และยังไม่มีบทนิยามของ ‘หลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี’
จึงควรมีการบัญญัติเพิ่มเติมนิยามของคำว่า กิจการคาร์บอน ,แหล่งกักเก็บคาร์บอน , ผู้ประกอบกิจการคาร์บอน ,คาร์บอน ,การสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บคาร์บอน ,การอัดคาร์บอนลงในแหล่งกักเก็บคาร์บอน , การรื้อถอน ,บัญชีเพื่อการรื้อถอน และหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมและกิจการคาร์บอนที่ดี เป็นต้น
2.อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกมาตรการบังคับทางปกครอง
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มาตรา 9 มีการเพิ่มกิจการคาร์บอนเข้าไปในบทบัญญัติ เพื่อรองรับอำนาจของพนักงานพนักงานเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติการทางกายภาพ ให้ครอบคลุมถึงสถานที่ประกอบกิจการคาร์บอนเพื่อให้สอดรับกับนิยามของ “กิจการคาร์บอน” ที่อาจถูกเพิ่มเข้ามาในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
และเพื่อให้เกิดความชัดเจน ยังได้มีการเพิ่มเติมบัญญัติให้การบังคับทางปกครองนั้น เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 นอกจากนี้ ยังเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่สามารถออกคำสั่งเป็นหนังสือหรือออกคำสั่งให้มีการปฏิบัติใดๆ ตามหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมและกิจการคาร์บอนที่ดีเข้ามาในบทบัญญัติดังกล่าว
3.คณะกรรมการปิโตรเลียม
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ,เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ,อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ,อธิบดีกรมสหกรณ์ที่ดิน และผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เป็นกรรมการในคณะกรรมการปิโตรเลียม
4.อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการปิโตรเลียม
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มเติมบทบาทของคณะกรรมการปิโตรเลียมในการกำกับดูแลกิจการคาร์บอนตามมาตรา 23/1 และมาตรา 23/2 ในมาตรา 16 โดยการให้ความเห็นชอบแก่อธิบดีใน (2/1) รัฐมนตรีใน (2/2) และกำหนดอัตราค่าใบอนุญาตสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บตามมาตรา 53/21 ใน (2/3)
นอกจากนี้ มีการเพิ่มมาตรา 16 (8) เพื่อเปิดช่องให้คณะกรรมการปิโตรเลียม เสนอให้มีการดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้าในการประกอบกิจการปิโตรเลียมหรือคาร์บอนไดออกไซด์
โดยอธิบดีสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้มติของคณะกรรมการมีผลผูกพันกระทรวงและหน่วยงานทุกหน่วยที่เป็นกรรมการอยู่ด้วย
5.อำนาจของอธิบดี
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 22/1 (1/1) ให้อธิบดีมีอำนาจในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการคาร์บอนตามมาตรา 23/1
6.อำนาจของรัฐมนตรี
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 22 (1/1) ให้รัฐมนตรีมีอำนาจให้อนุญาตประกอบกิจการคาร์บอน และมาตรา (3/1) สั่งให้ผู้รับสัมปทานยอมให้ผู้ประกอบการรายอื่นใช้สิ่งติดตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 72/1 และมาตรา 22 (6) และมีอำนาจกำหนดและออกคำให้มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 81/1
7.การให้สิทธิประกอบกิจการคาร์บอน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 23/1 โดยให้ผู้รับสัมปทาน ซึ่งได้รับสัญญาผลผลิต หรือได้รับสัญญาจ้างบริการตามมาตรา 23 ที่ต้องการจะสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บคาร์บอนลงในแหล่งกักเก็บซึ่งอยู่ในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการปิโตรเลียม
นอกจากนี้ ให้เพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 23/2 เพื่อรับรองอำนาจรัฐในการให้สิทธิประกอบกิจการสำรวจเพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บและการอัดคาร์บอนลงในแหล่งสะสมโดย บัญญัติแยกต่างหากจากผู้รับสิทธิการประกอบกิจการปิโตรเลียมตามมาตรา 23
8.คุณสมบัติของผู้รับสัมปทาน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … มีการเพิ่มเติมในมาตรา 24 ให้ผู้รับสัมปทาน จะต้องคงคุณสมบัติที่ต้องมีตามบทบัญญัตินี้ไว้ตลอดระยะเวลาการประกอบกิจการปิโตรเลียม
@เพิ่มอำนาจ'รมว.พลังงาน'ต่ออายุสัมปทานได้เกิน 1 ครั้ง
9.ความต่อเนื่องในการประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียม
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการรายเดิมสามารถประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่องได้ โดยไม่ถูกจำกัดให้ได้รับการขยายระยะเวลาได้เพียงครั้งเดียว
โดยผู้รับสัมปทานที่ประสงค์จะขอต่อระยะเวลาผลิตนั้น แสดงความประสงค์ดังกล่าวล่วงหน้าให้นานขึ้น จาก 6 เดือนเป็น 2 ปี เนื่องจากการพิจารณาคำขอ และการทำความตกลงเกี่ยวกับข้อผูกพันการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้นอาจต้องใช้เวลาช่วงหนึ่ง
และหากปรากฏว่าไม่อาจตกลงกันได้ และจะต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้ประกอบ กิจการ การกำหนดให้ต้องยื่นขอต่อเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จะเปิดโอกาสให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเตรียมเข้าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการผลิตต่อไปตามมาตรา 81/1 ซึ่งบัญญัติว่า
“ในกรณีที่ผู้รับสัมปทานที่ไม่ได้รับการต่อระยะเวลาการผลิตตามมาตรา 26 ก่อนสิ้นระยะเวลาตามสัมปทานเป็น เวลาอย่างน้อยสองปี ผู้รับสัมปทานจะต้องยอมให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมรายใหม่เข้าถึงพื้นที่ผลิต สิ่งติดตั้ง และสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียม”
นอกจากนี้ ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจ หากจะมีการต่อระยะเวลาการผลิตออกไปให้ไม่เกิน 10 ปี เป็นหลัก เพื่อให้รัฐสามารถทบทวนว่าควรมีการขยายระยะเวลาต่อไปอีกหรือไม่ภายในกรอบเวลาที่กำหนด
10.อำนาจของรัฐมนตรีในการเพิกถอนสัมปทาน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ปรับปรุงมาตรา 51 โดยเพิ่มเหตุที่รัฐมนตรีมีอำนาจในการเพิกถอนสัมปทาน หากผู้รับสัมปทานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) เมื่อได้รับแจ้ง และผู้รับสัมปทานไม่ตั้งกองทุนเพื่อการรื้อถอนหรือไม่ชำระเงินเข้ากองทุนเพื่อการรื้อถอนไม่ครบตามจำนวนตามมาตรา 80/2
(ที่มาภาพ : PTTEP)
11.การเพิ่มหมวดว่าด้วยการประกอบกิจการคาร์บอนขึ้นโดยเฉพาะ
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้มีการเพิ่มหมวดว่าด้วยการประกอบกิจการคาร์บอน ในหมวดที่ 3/3 มาตรา 53/19 ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีในการพิจารณากำหนดพื้นที่ที่สมควรจะดำเนินการ เพื่อค้นหาแหล่งกักเก็บคาร์บอน ทั้งแหล่งที่อยู่ในและนอกแปลงสำรวจหรือพื้นที่ผลิต
ส่วนคุณสมบัติของบุคคลที่จะขอรับใบอนุญาตนั้นให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
12.อำนาจในการออกใบอนุญาตกิจการคาร์บอน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 53/20 ให้อำนาจอธิบดี และรัฐมนตรีมีอำนาจลงนามในใบอนุญาตประกอบกิจการคาร์บอน โดยกำหนดปัจจัยในการพิจารณาเพื่อให้อนุญาต และให้แบบใบอนุญาตเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และแบบของใบอนุญาตจะต้องเป็นตามมาตรา 53/21
13.ข้อกำหนดในแบบใบอนุญาตประกอบกิจการสำรวจ
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 53/22 กำหนดข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ต้องมีในแบบใบอนุญาตประกอบกิจการสำรวจ กำหนดหน้าที่ต่างๆของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ในขั้นการประกอบกิจการและภายหลังขั้นการประกอบการ โดยเฉพาะเมื่อได้โอนความรับผิดชอบให้แก่รัฐหลังจากได้ปิดแหล่งกักเก็บแล้ว
14.อำนาจของรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใบอนุญาตประกอบกิจการปิโตรเลียม
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 53/21 ให้อำนาจแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าใบอนุญาตประกอบกิจการคาร์บอนลงแหล่งกักเก็บได้
ทั้งนี้ เนื่องจากการประกอบกิจการคาร์บอน เป็นการประกอบการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ มิได้นำเอาทรัพยากรธรรมชาติของรัฐไปจำหน่าย ดังนั้น การจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐ จึงควรมีลักษณะแตกต่างไปจากการเรียกเก็บค่าภาคหลวง การแบ่งปันผลผลิต หรือการเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการกำหนดอัตราค่าใบอนุญาตประกอบกิจการคาร์บอน และค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตประกอบกิจการคาร์บอน และบัญญัติรับรองอำนาจ ในการกำหนดให้อัตราค่าใบอนุญาตมีความแตกต่างกันได้ ในกรณีของการประกอบกิจการคาร์บอนในพื้นที่ที่แตกต่างกัน
15 หน้าที่เกี่ยวกับการปิดแหล่งกักเก็บคาร์บอน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 53/24 ให้การปิดแหล่งกักเก็บคาร์บอนนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกอบกิจการฯได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตฯครบถ้วนแล้ว หรือเป็นกรณีที่ผู้ประกอบกิจการฯได้รับอนุญาตให้ปิดแหล่งกักเก็บคาร์บอนจากอธิบดี หรือเป็นกรณีที่อธิบดีหรือรัฐมนตรีเพิกถอนใบอนุญาตฯ
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ได้มีการปิดแหล่งกักเก็บคาร์บอนแล้ว ผู้ประกอบกิจการคาร์บอนมีหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังตามมาตรา 53/23 ต่อไป โดยให้บรรดาค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการคาร์บอน
16.การโอนความรับผิดชอบ
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 53/25 ที่บัญญัติว่า เมื่อมีการปิดแหล่งกักเก็บคาร์บอน ตามความในมาตรา 25/24 แล้ว ให้ความรับผิดชอบในการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังเกี่ยวกับการแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ถูกปิดโอนเป็นของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
การโอนความรับผิดชอบดังกล่าว จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ประกอบกิจการคาร์บอนได้ (1) อัดคาร์บอนลงในแหล่งกักเก็บคาร์บอนเสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์ (2) วางหลักประกันการโอนความรับผิดชอบของแหล่งกักเก็บคาร์บอนต่ออธิบดีตามมาตรา ๒๕/๒๖ แล้ว และ (3) รื้อถอนสิ่งติดตั้งหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่อการอัด คาร์บอนแล้ว
17.หลักประกันการโอนความรับผิดชอบของแหล่งกักเก็บคาร์บอน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 53/26 บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการคาร์บอนมีหน้าที่วางหลักประกันการโอนความรับผิดชอบของแหล่งกักเก็บคาร์บอนต่ออธิบดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง
18.การนำ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมมาบังคับใช้แก่ผู้รับในอนุญาตประกอบกิจการคาร์บอน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 53/26 กำหนดบทบัญญัติที่อาจนำมาใช้บังคับแก่ผู้รับในอนุญาตประกอบกิจการคาร์บอนได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ ดังต่อไปนี้ บทบัญญัติในหมวด 1 เว้นแต่มาตรา 6, หมวด 2 เว้นแต่มาตรา 16 (3) หมวด 6 และหมวด 8 เว้นแต่มาตรา 109 ทวิ
19.การยกเว้นค่าธรรมเนียม ภาษีอากร เงินที่หน่วยงานราชการอื่นเรียกเก็บ
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 71 โดยขยายความบทบัญญัติมาตรา 71 (1) ให้รวมถึงการจ่ายค่าภาคหลวงไม้ ค่าบำรุงป่า และค่าธรรมเนียมโดยไม่ถือว่าปิโตรเลียม และแก้ไขมาตรา 71 (4) ให้ค่าธรรมเนียมเพื่อตอบแทนบริการ ต้องไม่ใช่ค่าตอบแทนเพื่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอื่น
20.กรณีที่ผู้รับสัมปทานต้องยอมให้ผู้รับสัมปทานรายอื่นใช้สิ่งติดตั้งของตน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 72/1 ให้อำนาจอธิบดีในการสั่งผู้รับสัมปทานที่มีสิ่งติดตั้ง เพื่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมตามสัมปทานของตน ต้องยอมให้ผู้รับสัมปทานรายอื่นใช้สิ่งติดตั้งของตน โดยมีการทำสัญญาการใช้งานสิ่งติดตั้ง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมจากแหล่งสะสมขนาดเล็กหรือมีศักยภาพในการผลิตไม่มาก
21.หลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....แก้ไขบทบัญญัติมาตรา 80 ให้ครอบคลุมทั้งวิธีการประกอบกิจการปิโตรเลียม การรื้อถอน การอนุรักษ์ทรัพยากรปิโตรเลียม มาตรฐานด้านวิศวกรรม การส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม และการประกอบกิจการคาร์บอน
22.การรองรับการทำงานของระบบเพื่อการรื้อถอนบัญชี
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ไขบทบัญญัติมาตรา 80/1 จากการใช้ ‘ระบบการวางหลักประกันภัย’ เป็น ‘ระบบเพื่อการรื้อถอน’
23.หน้าที่ของผู้รับสัมปทานเกี่ยวกับกองทุนเพื่อการรื้อถอน
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แก้ไขบทบัญญัติมาตรา 80/2 โดยเปลี่ยนจากหลักเกณฑ์การวางหลักประกัน เป็นการจัดตั้งระบบกองทุนเพื่อการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก ให้มีการเบิกและใช้เงินใน ‘บัญชีเพื่อการรื้อถอน’
หรือหากผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการรื้อถอน หรือดำเนินการล่าช้าอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายอธิบดีมีอำนาจมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการรื้อถอนแทน หรือร่วมกับผู้รับสัมปทาน โดยใช้จ่ายจากบัญชีตามความในวรรคหนึ่ง
นอกจากนี้ หากเงินในบัญชีเพื่อการรื้อถอน ไม่เพียงพอสำหรับการรื้อถอน หรือการดำเนินการรื้อถอนโดยบุคคลอื่น ตามความในวรรคสอง ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องจัดหาทุนเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อการรื้อถอน หรือการดำเนินการรื้อถอนโดยบุคคลอื่นดังกล่าว
@ให้'รายใหม่'เข้าพื้นที่-ใช้ทรัพย์สินของ'รายเดิม'ได้
24.หน้าที่ของผู้รับสัมปทานในการให้ผู้รับสัมปทานรายใหม่และพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้ง สิ่งก่อสร้าง ทรัพย์สิน ข้อมูล อุปกรณ์อื่นที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการปิโตรเลียม
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 81/1 กำหนดหน้าที่ผู้รับสัมปทานที่ไม่ได้รับการต่อระยะเวลาการผลิตตามมาตรา 26 ก่อนสิ้นระยะเวลาตามสัมปทาน หรือระยะเวลาที่ได้รับต่อเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือผู้รับสัมปทานถูกเพิกถอนสัมปทานก่อนสิ้นระยะเวลาผลิต และเป็นกรณีที่ต้องมีผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมรายใหม่เข้าพื้นที่ผลิตของผู้รับสัมปทาน
ผู้รับสัมปทานฯ มีหน้าที่ต้องให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมรายใหม่ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ผลิตและใช้ประโยชน์สิ่งติดตั้ง สิ่งก่อสร้าง ทรัพย์สิน ข้อมูล อุปกรณ์อื่นที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการปิโตรเลียมต่อไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการประกอบกิจการผลิตปิโตรเลียม โดยมิพักต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของผู้รับสัมปทานหรือผู้รับสัญญารายเดิม
25.การลดหย่อนค่าภาคหลวงตามมาตรา 99 ทวิ
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ได้แก้ไขมาตรา 99 ทวิ ให้ลดค่าภาคหลวงในกรณีที่ผู้รับสัมปทานจะมีการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเพื่อกิจการคาร์บอน เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับการส่งเสริมผู้รับสัมปทานตั้งแต่ขั้นประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
26.การปรับระวางโทษ
ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีการแก้ไขระวางโทษ โดยการปรับโทษทางอาญาให้เหมาะสม และการการเปลี่ยนโทษทางอาญาให้เป็นมาตรการปรับทางพินัย
เหล่านี้ คือ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และเมื่อได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในเร็วๆนี้ ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติต่อไป ส่วนจะมีผลบังคับใช้ทันประกาศเชิญชวนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
ปตท.สผ. ชนะการประมูลสิทธิแปลงสำรวจปิโตรเลียม 2 แปลงในอ่าวไทย
‘เชฟรอนฯ’ แจงปมสัมปทาน 'ปิโตรเลียม' พื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ‘ไทย-กัมพูชา’
เปิดตัว‘ทีมกุนซือ’ เจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’-พบชื่อ ‘พล.อ.วิชญ์’ นั่งคณะทำงาน
เปิดวาระลับ! เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทะเล‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งขุมทรัพย์‘ก๊าซ-น้ำมัน’ 5 ล้านล.
‘บิ๊กป้อม’ประชุมลับ! ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน‘ไทย-กัมพูชา’ แบ่งเขตทะเล-พัฒนาปิโตรเลียม
โพรไฟล์ธุรกิจ-ทรัพย์สิน ‘พล.อ.วิชญ์’ ปธ.ยุทธศาสตร์ พปชร. - ที่ปรึกษา 2 บ. ปีละ 4.7 ล.