"...ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เจ้าพนักงานผู้กระทำต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ แล้วใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้นโดยมิได้เอาทรัพย์ไป มิใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์นั้นเท่านั้น..."
กรณีเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองไม่ประทับรับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 คดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย กับพวก จำเลยที่ 1-6 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ ยื่นอุธรณ์คัดค้านคำสั่งของตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
คดีนี้ มีจำเลย 6 ราย ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ 1 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ -3 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ 4 บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่ 5 นายระวิ โหลทอง กรรมการบริษัท สยามสปอร์ตฯ ที่ 6
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยเรียบเรียงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของศาลฎีกามารายงานไปแล้ว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบว่า ข่าวเนติบัณฑิตยสภา ฉบับเดือนเมษายน 2566 ของ เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์ คำพิพากษาคดีนี้ เป็นกรณีศึกษา โดยใช้ชื่อว่า กรณีศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องในคดีอาญาระบบไต่สวนกับการบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด โดยมีการเปรียบเทียบคำพิพากษาในคดีอื่นๆ ประกอบ มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ อม. อธ.3/2565 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมาตรา 13
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาฟ้องแล้ว วินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายองค์ประกอบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์อย่างไร กรณีถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสำคัญเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม และเป็นกรณีที่ไม่อาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดให้เป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดได้จึงมีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิเคราะห์อุทธรณ์ของโจทก์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีอำนาจอนุมัติเห็นชอบให้ส่วนราชการใช้เงินงบกลางในวงเงินเกิน 10 ล้านบาท จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการทรัพย์ คือ เงินงบกลางซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน จำเลยที่ 3 ใช้ดุลพินิจบิดผันอำนาจสั่งอนุมัติให้ใช้เงินงบกลาง 40 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการ ROADSHOW ที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครราชสีมา
ตามที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันกำหนดตัวจำเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้เอาอำนาจในฐานะผู้มีหน้าที่จัดการทรัพย์อันเป็นเงินงบกลางดังกล่าวไปใช้เกี่ยวกับการดำเนินโครงการ ROADSHOWโดยทุจริต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสำนักงบประมาณ
สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุติสั่งจ้างในการดำเนินการโครงการ ROADSHOW โดยวิธีพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 66 และจำเลยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้อำนาจเกี่ยวกับการอนุมัติในหลักการและอนุมัติจัดจ้างจำเลยที่ 4 และที่ 5
โดยจำเลยที่ 3 ได้ลงนามเห็นชอบตามบันทึกของคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เห็นควรจ้าง และลงนามในบันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจอนุมัติให้สั่งจ้างโดยวิธีพิเศษ จำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจอนุมัติตามที่จำเลยที่ 3 เสนอ อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงการกระทำทั้งหลายของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ โดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้ว
อีกทั้งคำฟ้องย่อมรวมถึงเอกสารท้ายฟ้องและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนดังกล่าวต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณา ศาลย่อมต้องพิจารณาคำฟ้องโดยนำเอกสารท้ายฟ้องและสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงตังกล่าวมาพิจารณาประกอบการพิจารณาคำฟ้องด้วย
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า "ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เจ้าพนักงานผู้กระทำต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ แล้วใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้นโดยมิได้เอาทรัพย์ไป มิใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์นั้นเท่านั้น
ฟ้องโจทก์คงบรรยายขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจกำกับทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติเห็นชอบให้ส่วนราชการใช้เงินงบกลางในวงเงินเกิน 10 ล้านบาท
สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจสั่งอนุญาตหรืออนุมัติให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการได้ตามกฎหมาย มีอำนาจอนุมัติให้สั่งจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 66 กับบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในการปฏิบัติราซการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์นโยบาย ยุทธศาสตร์และผลงานรัฐบาล เสนอความเห็นเพื่อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
@ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เห็นได้ว่าสถานะความเป็นเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องนั้นไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลต้องนำเอกสารท้ายฟ้องและสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบคำฟ้องด้วยนั้น
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ต้องพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องมาพิจารณาประกอบกับคำฟ้องเพื่อให้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดดังที่โจทก์อุทธรณ์สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป.ป.ช. พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงเอกสารประกอบในสำนวนที่โจทก์ต้องนำมาส่งศาลในวันที่ยื่นฟ้องนอกเหนือจากคำฟ้อง เพื่อให้ศาลใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอีกชั้นหนึ่งต่างหากจากการพิจารณาตรวจรับคำฟ้อง
จึงไม่อาจนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบคำฟ้องเพื่อให้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดดังที่โจทก์อุทธรณ์
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องในข้อหานี้มานั้นชอบแล้ว
อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
ข้อสังเกต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 26 วรรคแรก ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายและต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้วรรคสอง ภายใต้บังคับมาตรา 27 ในวันยื่นฟ้องให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล และให้โจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะผู้ไต่สวนอิสระ แล้วแต่กรณี พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสำนวน
ทั้งนี้ ศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรวรรคสาม กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้องให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งใช้การพิจารณาคดีระบบไต่สวนนั้น มาตรา 26 วรรคสาม ข้างต้นมีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันกับ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 วรรคสาม กำหนดให้กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้องให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องซึ่งเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องเสียก่อน
เมื่อพิจารณาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ อม.อธ.3ฟ/2565 แล้วศาลฎีกาวางหลักว่า การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ต้องพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์เท่านั้น
ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องมาพิจารณาประกอบกับคำฟ้องเพื่อให้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิด
นอกจากนี้ศาลฎีกายังเห็นว่า โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้มีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาส่วนสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงเอกสารประกอบในสำนวนโจทก์ต้องนำมาส่งศาลในวันที่ยื่นฟ้องนอกเหนือจากคำฟ้อง เพื่อให้ศาลใช้สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอีกชั้นหนึ่งต่างหาก
จากการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องจึงไม่อาจนำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบคำฟ้องเพื่อให้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดได้
ดังนั้น กรณีฟ้องไม่ถูกต้องที่ศาลจะมีคำสั่งให้แก้ไขได้นั้น ต้องเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาก่อนแล้ว แต่ยังคงมีรายละเอียดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของฟ้องไม่ถูกต้อง อันจะถือว่าเป็นฟ้องไม่ถูกต้องที่ศาลจะมีคำสั่งให้แก้ฟ้องตามมาตรา 26 วรรคสามได้ ซึ่งตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ อม.อธ.3/2565 เห็นว่าฟ้องโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดและพิพากษายกฟ้อง โดยไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขฟ้องให้ถูกต้องแต่อย่างใดจึงถือเป็นแนวบรรทัดฐานว่ากรณีฟ้องไม่ถูกต้องที่ศาลจะมีคำสั่งให้แก้ฟ้องได้นั้น จะต้องเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดอยู่ก่อนแล้วหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้นอกจากเกี่ยวพันกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" แล้วยังเกี่ยวพันถึงศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษา "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ผู้กระทำความผิด "คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ" อีกด้วย เนื่องจากมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 256. มีบทบทบัญญัติเช่นเดียวกันกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 ดังนั้น แนวปฏิบัติเดิมที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่มักจะอนุญาตให้โจทก์ที่เป็นผู้เสียหายแก้ไขฟ้องหลายครั้งนั้นจึงน่าจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในเรื่องนี้ต่อไป
อนึ่ง ในชั้นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นว่า ศาลอาจสั่งให้แก้ไขฟ้องกรณีฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดได้ ต่อมามีการร่างข้อบังคับของประธานศาลฎีกาตามแนวทางของคณะกรรมาธิการข้างต้น แต่มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขฟ้องได้ ประกอบกับข้อสังเกตตามคู่มือการปฏิบัติงานศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีโจทก์บรรยายฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดไม่ใช่ฟ้องที่ไม่ถูกต้องซึ่งศาลต้องมีคำสั่งให้แก้ไขตามาตรา 15 วรรคสาม ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้อง (อุทธรณ์แดงที่ 12722/2560 อุทธรณ์แดงที่ 15495/2560)
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด (คดีอาญาทั่วไป) อาทิ ฎ.2950/2564, 13274/2558, /274/2546 ซึ่งสรุปหลักได้ว่า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2564 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสิบหกฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสิบหกเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบหกด้วย กรณีมีใช่เรื่องฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13274/2558 คำฟ้องของโจทก์มุ่งหมายขอให้ลงโทษจำเลยฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ นางสาว ม.ฯลฯ ได้รับความเสียหาย ฉะนั้น ความสำคัญของความผิดย่อมอยู่ที่เจตนาในการกระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นองค์ประกอบของความผิดประการหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยด้วย เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการที่จำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นจำเลยกระทำลงด้วยเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ นางสาว ม.ฯลฯ อันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายขาดองค์ประกอบของความผิดที่ฟ้อง ย่อมเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 274/2556 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเบิกความอันเป็นเท็จ โดยเพียงแต่กล่าวว่าจำเลยได้เบิกความในคดีหมายเลขใด ระหว่างผู้ใดโจทก์ ผู้ใด จำเลย และข้อความที่เบิกความกับว่าความจริงเป็นอย่างไร ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่าคดีที่เบิกความเป็นการพิจารณาคดีอาญา และโจทก์ได้กล่าวมาในฟ้องว่าข้อความที่เบิกความเป็นข้อสำคัญในคดี แต่เมื่อโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องว่าคดีอาญานั้นมีข้อหาความผิดตามบทกฎหมายใด ประเด็นอันเป็นข้อสำคัญในคดีมีว่าอย่างใด และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญอย่างไร จึงถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และยังเป็นฟ้องที่บรรยายไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามบทมาตราในกฎหมายที่ขอให้ลงโทษจำเลยด้วย ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ กรณีมิใช่เรื่องฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องตามมาตรา 161 ได้
************
อนึ่งสำหรับคดีกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย กับพวก จำเลยที่ 1-6 เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ คดีกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้อง โดยเห็นว่า คําฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายองค์ประกอบให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์อย่างไร กรณีถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสําคัญ เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม และเป็นกรณีที่ไม่อาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดให้เป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดได้
ขณะที่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมาตรา 13 และจําเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 พระราชบัญญัติว่าด้วย ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 12 และมาตรา 13 นับโทษของจําเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจําเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
ผลคำพิพากษาคดีนี้ บทสรุปสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
ข่าวเกี่ยวข้อง:
- ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง 'ปู-นิวัฒน์ธำรง-สุรนันทน์' คดีอีเวนต์ 240 ล. ศาลนัดฟังคำสั่ง 19 เม.ย.
- เชื่อได้ว่าจะหลบหนี! ศาลฎีกาฯออกหมายจับ'ยิ่งลักษณ์' รับฟ้องคดีฮั้วสื่อจัดอีเวนต์ 240 ล.
- ข้อหาอื่นให้รับฟ้อง! ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายืนไม่รับฟ้อง‘ยิ่งลักษณ์’ผิด ม.151 คดีจ้างสื่อ 240 ล.
- ป.ป.ช. เห็นชอบร่างคำฟ้องยื่นศาลเองคดี 'ปู' ฮั้วสื่อจัดอีเวนต์ 240 ล.หลัง อสส.สั่งไม่ฟ้อง
- เปิดสำนวน ป.ป.ช.เปลือยพฤติการณ์‘บิ๊ก’รบ.ยิ่งลักษณ์ฮั้ว‘2 สื่อดัง’จัดอีเวนต์ 240 ล.
- ย้อนปม รบ.ยิ่งลักษณ์จัดอีเวนต์ 240 ล.ก่อน ป.ป.ช.ชี้มูล‘สุรนันทน์-ปู-นิวัฒน์ธำรง’ฮั้วสื่อ?
- มติ ป.ป.ช.เอกฉันท์ฟัน‘สุรนันท์’-ข้างมากชี้มูล‘ปู-นิวัฒน์ธำรง-2 บิ๊กสื่อ’ฮั้วจัดอีเวนต์ 240 ล.
- ป.ป.ช.ชี้มูลผิดคดี'บิ๊ก'รบ.ยิ่งลักษณ์ ฮั้ว 2 สื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.-สัปดาห์หน้าแถลง
- อนุฯ ป.ป.ช.สรุปคดี‘ปู-นิวัฒน์ธำรง-สุรนันทน์’ฮั้ว 2 บิ๊กสื่อจัดอีเวนต์ 240 ล.-กก.ชุดใหญ่ชี้ขาด
- ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา ‘ยิ่งลักษณ์-สุรนันท์-นิวัฒน์ธำรง’ พวก 17ราย คดีฮั้วจัดอีเวนต์ 240 ล.
- ประมวล“ข้อสังเกต-คำถาม” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ้างสื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.
- เก็บตก!!ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ปชป."ชำแหละงบพีอาร์สร้างชาติ 240ล.
- "สตง."ตั้งทีมติดตามข้อมูล"รบ.ยิ่งลักษณ์"จ้าง"สื่อเอกชน"จัดอีเวนต์ 240 ล.
- พิลึก"รบ."ประกาศราคากลางหลังใช้“วิธีพิเศษ”จ้างอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.
- ผู้ว่าฯสุราษฎร์ฯเกณฑ์คนร่วมอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.ที่ปชป.ยำใหญ่ในสภา