เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ประทับรับฟ้อง คดี‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ กระทำผิดข้อหาตามป.อาญา มาตรา 151 กรณีจ้างสื่อจัดอีเวนต์ 240 ล. ชี้ไม่อาจนําสํานวนการไต่สวน ป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบคําฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ฯได้ ข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองไม่ประทับรับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 คดีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย กับพวก จำเลยที่ 1-6 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาท ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ ยื่นอุธรณ์คัดค้านคำสั่งของตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองก่อนหน้านี้
- ข้อหาอื่นให้รับฟ้อง! ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายืนไม่รับฟ้อง‘ยิ่งลักษณ์’ผิด ม.151 คดีจ้างสื่อ 240 ล.
คดีนี้ จำเลย 6 ราย ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ 1 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ -3 บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ 4 บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ที่ 5 นายระวิ โหลทอง กรรมการบริษัท สยามสปอร์ตฯ ที่ 6
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของศาลฎีกามารายงานดังนี้
เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ชั้นไม่รับคําคู่ความ)
โจทก์ อุทธรณ์คัดค้าน คําสั่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2565 ศาลฎีกา รับวันที่ 20 เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช 2565
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมาตรา 13 และจําเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 พระราชบัญญัติว่าด้วย
ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 12 และมาตรา 13 นับโทษของจําเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจําเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.211/2560 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
@ ศาลฎีกาแผนกฯนักการเมือง:เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิด
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า คําฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายองค์ประกอบให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์อย่างไร กรณีถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสําคัญ เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม และเป็นกรณีที่ไม่อาจสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดให้เป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดได้ จึงมีคําสั่งไม่ประทับรับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ส่วนข้อหาอื่นให้ประทับรับฟ้อง
@ที่ประชุมใหญ่ : โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคําสั่งไม่ประทับฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิเคราะห์อุทธรณ์ของโจทก์และคําแก้อุทธรณ์ของจําเลยทั้งหกแล้วเห็นสมควรหยิบยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคําสั่งไม่ประทับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือไม่
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 195 วรรคสี่ บัญญัติว่า คําพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษา และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 60 บัญญัติว่า คําพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษา การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองตรวจฟ้องโจทก์แล้วมีคําสั่งไม่ประทับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 โดยให้เหตุผลว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายองค์ประกอบความผิดให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์อย่างไร กรณีถือว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสาระสําคัญและถือว่าเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม นั้น คําสั่งไม่ประทับฟ้องเพราะเหตุว่าฟ้องขาดองค์ประกอบความผิดดังกล่าว มีผลเป็นการพิพากษายกฟ้องในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีในรูปแบบของคําสั่งซึ่งมีผลเช่นเดียวกับคําพิพากษาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 195 วรรคสี่ และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้คู่ความมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคําสั่งไม่ประทับฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้
@ โจทก์ยันคําฟ้องย่อมรวมถึงเอกสารท้ายฟ้องและสํานวนการไต่สวน ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช.
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์บรรยายฟ้อง จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 หรือไม่
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 หน้า 2 ข้อ 3.2 หน้า 9 และข้อ 3.3 หน้า 11 และ 14 ว่า จําเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีอํานาจอนุมัติเห็นชอบให้ส่วนราชการใช้เงินงบกลางในวงเงินเกิน 10 ล้านบาท จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการทรัพย์ คือ เงินงบกลางซึ่งเป็นงบประมาณแผ่นดิน จําเลยที่ 1 ใช้ดุลพินิจบิดผันอํานาจสั่งอนุมัติให้ใช้เงินงบกลาง 40 ล้านบาทเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการ ROADSHOW ที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดนครราชสีมา ตามที่จําเลยที่ 1 ถึง ที่ 3 ร่วมกันกําหนดตัวจําเลยที่ 4 และที่ 5 ให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่จําเลยที่ 1 ได้เอาอํานาจในฐานะผู้มีหน้าที่จัดการทรัพย์อันเป็นเงินงบกลางดังกล่าวไปใช้เกี่ยวกับการดําเนินโครงการ ROADSHOW โดยทุจริตเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและสํานักงบประมาณ ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายโดยแจ้งชัดว่าจําเลยที่ 1 เป็น
เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จึงเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้ว
สําหรับจําเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1 หน้า 3 ข้อ 3.4 หน้า 18 และข้อ 3.5 หน้า 20 ว่า จําเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีผู้กํากับดูแลสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีอํานาจอนุมัติสั่งจ้างในการดําเนินการโครงการ ROADSHOW โดยวิธีพิเศษตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 66 และจําเลยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในสังกัดสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จําเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการงบประมาณแผ่นดิน จํานวน 240 ล้านบาท เพื่อนํามาใช้ในการจัดทําโครงการ ROADSHOW แล้วจําเลยที่ 2 และที่ 3 ใช้อํานาจเกี่ยวกับการอนุมัติในหลักการและอนุมัติจัดจ้างจําเลยที่ 4 และที่ 5 โดยจําเลยที่ 3 ได้ลงนาม
เห็นชอบตามบันทึกของคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เห็นควรจ้าง และลงนามในบันทึกเสนอจําเลยที่ 2 ผู้มีอํานาจอนุมัติให้สั่งจ้างโดยวิธีพิเศษ เพื่อขออนุมัติให้จ้างจําเลยที่ 4 ที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครราชสีมา และอนุมัติให้จ้างจําเลยที่ 4 และที่ 5 อีก 10 จังหวัดที่เหลือ ซึ่งทั้ง 2 กรณี จําเลยที่ 2 ได้ใช้อํานาจอนุมัติตามที่จําเลยที่ 3 เสนอ อันเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแก่จําเลยที่ 4 และที่ 5 ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงการกระทําทั้งหลายของจําเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆโดยใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้ว อีกทั้งคําฟ้องย่อมรวมถึงเอกสารท้ายฟ้องและสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตซึ่งกฎหมายบัญญัติให้โจทก์ส่งสํานวนการไต่สวนดังกล่าวต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 6 วรรคสองและมาตรา 26 วรรคสอง ศาลย่อมต้องพิจารณาคําฟ้องโดยนําเอกสารท้ายฟ้องและสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการพิจารณาคําฟ้องด้วย
@องค์คณะฯเสียงข้างมาก : คำฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 เจ้าพนักงานผู้กระทําต้องมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ แล้วใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้นโดยมิได้เอาทรัพย์ไป มิใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์นั้นเท่านั้น ฟ้องโจทก์คงบรรยายขอให้ลงโทษจําเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอํานาจกํากับทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นผู้มีอํานาจอนุมัติเห็นชอบให้ส่วนราชการใช้เงินงบกลางในวงเงินเกิน 10 ล้านบาท สําหรับจําเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 2 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีผู้มีอํานาจสั่งอนุญาต หรืออนุมัติให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในส่วนสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการได้ตามกฎหมาย มีอํานาจอนุมัติให้สั่งจ้างตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 66 กับบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 3 ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการในสังกัดสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอํานาจหน้าที่ในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์นโยบาย ยุทธศาสตร์ และผลงานรัฐบาล เสนอความเห็นเพื่อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายให้เป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือตามที่นายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
เห็นได้ว่า สถานะความเป็นเจ้าพนักงานของจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามที่โจทก์บรรยายในฟ้องนั้นไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลต้องนําเอกสารท้ายฟ้องและสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบคําฟ้องด้วยนั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า การพิจารณาว่าคําฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคําฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคําฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนําเอกสารท้ายฟ้องมาพิจารณาประกอบกับคําฟ้องเพื่อให้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดดังที่โจทก์อุทธรณ์
@ไม่อาจนําสํานวนการไต่สวน มาพิจารณาประกอบคําฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดได้
สําหรับสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า
ด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 26 วรรคสองบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 27 ในวันยื่นฟ้องให้จําเลยมาหรือคุมตัวมาศาล และให้โจทก์ส่งสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะผู้ไต่สวนอิสระแล้วแต่กรณี พร้อมสําเนาอิเล็กทรอนิกส์ต่อศาลเพื่อใช้เป็นหลักในการพิจารณาและรวมไว้ในสํานวน ทั้งนี้ศาลอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร” โดยในมาตรา 26 วรรคหนึ่งยังคงบัญญัติให้เป็นหน้าที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้มีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แสดงให้เห็นว่าสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมสําเนาอิเล็กทรอนิกส์เป็นเพียงเอกสารประกอบในสํานวนที่โจทก์ต้องนํามาส่งศาลในวันที่ยื่นฟ้อง นอกเหนือจากคําฟ้อง เพื่อให้ศาลใช้สํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมสําเนาอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักในการพิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร อันเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาอีกชั้นหนึ่งต่างหากจากการพิจารณาตรวจรับคําฟ้อง จึงไม่อาจนําสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบคําฟ้องเพื่อให้ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําสั่งไม่ประทับฟ้องในข้อหานี้มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ข่าวเกี่ยวข้อง:
- ป.ป.ช.ยื่นฟ้อง 'ปู-นิวัฒน์ธำรง-สุรนันทน์' คดีอีเวนต์ 240 ล. ศาลนัดฟังคำสั่ง 19 เม.ย.
- เชื่อได้ว่าจะหลบหนี! ศาลฎีกาฯออกหมายจับ'ยิ่งลักษณ์' รับฟ้องคดีฮั้วสื่อจัดอีเวนต์ 240 ล.
- ข้อหาอื่นให้รับฟ้อง! ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายืนไม่รับฟ้อง‘ยิ่งลักษณ์’ผิด ม.151 คดีจ้างสื่อ 240 ล.