"...สุดท้ายนี้ ยังไม่มีใครล่วงรู้อนาคตว่า บทสุดท้ายในการต่อสู้คดีความต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะออกมาเป็นอย่างไร ตลอดทั้งชีวิตนี้จะมีโอกาสได้กลับมาประเทศไทยหรือไม่ แต่หากพิจารณาจากข้อมูลคดีความทั้งหลายทั้งปวงตามที่นำเสนอไปในเบื้องต้น หลายฝ่ายฟันธงไปแล้ว ว่าโอกาสแห่งชัยชนะ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีน้อยมากถึงมากที่สุด..."
"ปัจจุบันจำเลยไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดในทางการเมือง กรณีจึงไม่จำต้องมี คำสั่งเกี่ยวกับการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยอีกต่อไป จำเลยมิได้มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือร้องขอเลื่อนคดี จึงออกหมายจับจำเลย ตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาง การเมือง พ.ศ. 2560มาตรา 28 วรรคหนึ่ง"
"จำเลยมิได้มาศาลให้ถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตามพรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 33 วรรคสาม ตอนท้าย ทนายจำเลยแถลงขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 60วัน นับแต่วันนี้ อนุญาต ตามขอนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 14 มี.ค. 2566เวลา 13.30 น."
คือ ความคืบหน้าล่าสุด ในคดีกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตกรณีเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับพวก ใช้อำนาจโอนนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ในขณะนั้นให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ ที่ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง มีการนัดพิจารณาคดีครั้งเเรก เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา
ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปแล้ว
@ พลิกปูมคดี 'ยิ่งลักษณ์' โยกย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี' มิชอบ
สำหรับคดีการใช้อำนาจโอนย้านนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบดังกล่าว นั้น
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงเป็นทา่งการต่อสาธารณชนว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวก กรณีใช้อำนาจโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำโดยมิชอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 ขณะที่นายถวิล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับกิจการความมั่นคงของประเทศ โดยเป็นที่ปรึกษา เสนอแนะนโยบาย มาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงแห่งชาติ ต่อ สมช.
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2554 วันอาทิตย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้โทรศัพท์สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำเนินการทำเรื่องขอรับโอนนายถวิล มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ จากนั้นสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้มีบันทึกข้อความลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 ถึง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอความยินยอมรับโอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และได้มีบันทึกข้อความ ลงวันที่ 4 ก.ย. 2554 ถึง พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในฐานะรัฐมนตรีเจ้าสังกัดของ สมช. เพื่อให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ โดย น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ต่างให้ความเห็นชอบและยินยอมการโอนดังกล่าว และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ
กรณีดังกล่าวสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ตรวจพบว่าวันที่ 4 ก.ย. 2554 เป็นวันอาทิตย์ เป็นวันหยุดราชการ จึงได้มีการแก้ไขบันทึกข้อความทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นวันที่ 5 ก.ย. 2554 แต่เป็นการแก้ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
ต่อมา เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นวาระจร และวันเดียวกันคณะรัฐมนตรีได้มีการประชุมและลงมติรับทราบให้โอนนายถวิล มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งให้นายถวิล มาปฏิบัติราชการ ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งดังกล่าวทันที การแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว ดำเนินการอย่างเร่งรีบรวบรัด แล้วเสร็จภายใน 4 วัน เท่านั้น
@ 'ถวิล เปลี่ยนศรี'
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และในวันที่ 19 ต.ค. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่จะเกษียณอายุราชการ วันที่ 30 ก.ย. 2555 และเป็นเครือญาติของตนเอง ให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่างลงต่อที่ประชุม ก.ต.ช. ในการประชุมครั้งที่ 5/2554 วันที่ 19 ต.ค. 2554 ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ช. มีมติเห็นชอบ
กรณีนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ ที่ อ.992/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 33/2557 ลงวันที่ 20 ก.พ. 2557 ว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล จากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ให้มาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เป็นการลดบทบาทและอำนาจหน้าที่ลง โดยไม่แสดงเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายถวิล ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล หรือมีเหตุผลสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@ ป.ป.ช.ยกคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้มูล ‘ยิ่งลักษณ์’
อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ว่า การกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ การกระทำทั้งหมดมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และของประชาชนแต่อย่างใด อันแสดงให้เห็นถึงการมีผลประโยชน์ทับซ้อนและมีวาระซ่อนเร้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยทุจริต
การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้นายถวิล ได้รับความเสียหาย และเป็นการกระทำ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ซึ่งเป็นเครือญาติของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ถูกกล่าวหา มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192
ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอื่นเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็น พร้อมสำเนาอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 76
ก่อนที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะเห็นควรสั่งฟ้องคดีให้ และนำมาสู่คำสั่งออกหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามที่ปรากฏเป็นข่าวดังกล่าว
@ เช็กหมายจับยิ่งลักษณ์ สรุปโดนไปแล้ว 3 ใบ คดีใหม่จ่ออีกเพียบ
ทั้งนี้ ในประเด็นการออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คดีใช้อำนาจโอนย้านนายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบนี้
มิใช่หมายจับใบแรก
เพราะก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกออกหมายจับไปแล้ว 2 ใบ คือ 1. คดีปล่อยปละละเลยการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจี เป็นเหตุทำให้ต้องหลบหนีออกจากประเทศไทยไปเมื่อปี 2560 2. คดีกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 มูลค่าโครงการ 240 ล้านบาท
โดยคดีโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 ดังกล่าว นั้น เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ได้มีการพิจารณานัดแรกเพื่อฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดีหมายเลขดำ อม.2/2565 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โจทก์ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1, นายนิวัฒน์ ธำรงบุญทรงไพศาล จำเลยที่ 2, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ จำเลยที่ 3, บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 4, บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 5 และนายระวิ โหลทอง กรรมการผู้บริหารบริษัท สยามปอร์ตฯ จำเลยที่ 6 กรณีกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 มูลค่าโครงการ 240 ล้านบาทที่เป็นธรรม
ซึ่งจำเลยทุกคนมาที่ศาลยกเว้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จำเลยที่ 1 ที่ได้เซ็นเอกสารแต่งตั้งจากสหราชอาณาจักรให้นายนพดล หลาวทอง ทนายความเป็นผู้มาฟังการพิจารณาแทน
ก่อนที่ ศาลฎีกาฯ จะได้มีคำสั่งให้นัดรับฟ้องในคดีดังกล่าว โดยกำหนดให้วันที่ 12 ก.ย. 65 เวลา 09.30 น.เป็นวันนัดตรวจพยานหลักฐาน พร้อมออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ไม่มาศาลเนื่องจากมีพฤติกรรมเชื่อได้ว่าจะหลบหนีการพิจารณาคดี จึงได้ให้มีการพิจารณาคดีลับหลังและให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามตัวกลับมา
สำหรับคดีความใหม่ที่กำลังตามมา คือ คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกตั้งข้อกล่าวหาพร้อม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ส.ส. และผู้ถูกกล่าวหารายอื่นจำนวนมากกว่า 70 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างรอการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ พิจารณาผลการไต่สวนในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีคดีค้างในชั้นการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. อีกอย่างน้อย 4 คดี คือ 1.คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง 2. คดีละเว้นไม่ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา กรณี รมว.มหาดไทย (นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ) กับพวกปราศรัยรุนแรง-แบ่งแยกประเทศ 3. คดีร่ำรวยผิดปกติ กรณีครอบครองนาฬิกาเรือนละ 2.5 ล้านบาท และ 4. คดีร่ำรวยผิดปกติกรณีเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว
ส่วนคดีกล่าวหา ที่ถูก ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวไปแล้ว มีอย่างน้อย 6 คดี ได้แก่ 1.คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้ให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ให้ตัวเองและรัฐมนตรี 2.คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ บริหารจัดการน้ำผิดพลาดจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 3.คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ป.ป.ช. ในการเปิดเผยราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 4.คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คุมม็อบ กปปส. 5.กรณีถูกกล่าวหาร่วมกับคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบใน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำโดยมิชอบ 6.คดีเผยแพร่ภาพและเสียงรายการมวยไทยวอริเออร์ที่ปรากฎภาพนายทักษิณมาเปิดงาน
ซึ่งคดีความเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องเผชิญหน้ามาตลอด นับตั้งแต่ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลบหนีออกจากประเทศไทยไป และดูเหมือนตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองก็รับทราบในวิบากกรรมเรื่องนี้เช่นกัน โดยมองเหมือนเป็นความโชคร้ายในชีวิต
@ เป็นความโชคร้ายในชีวิต ของ ยิ่งลักษณ์
เห็นได้จากการโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra ชี้แจงภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับพวก คดีฮั้วบริษัทสื่อ 2 แห่ง จัดงานอีเวนต์ประชาสัมพันธ์โครงการ ‘Roadshow สร้างอนาคตไทย Thailand 2020’ และคดีการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การตั้งข้อสังเกตและความสงสัยในการพิจารณาคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า มีความขยันในการเร่งรัดคดีตนเองฝ่ายเดียว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า "ทุกวันนี้ดิฉันใช้ชีวิตอย่างเงียบ ๆ ในต่างประเทศอย่างปุถุชนคนทั่วไป แต่ยังต้องมาถูกกล่าวหาในทางอาญา 2 เรื่อง ติดต่อกันในเวลาไม่ถึง 1 เดือนอีก เพื่อให้มีการพิจารณาคดีลับหลังดิฉันทำให้อดคิดไม่ได้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองในวันนี้ช่างสอดคล้องหรือเหมือนกับความโชคร้ายในชีวิตของดิฉัน ที่โหยหาความยุติธรรมว่าเมื่อไหร่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองอันเป็นที่รักของดิฉันเช่นกันเสียที
"ดิฉันไม่อยากให้ความยุติธรรมต้องเลือกข้าง ความยุติธรรมต้องไม่เหลื่อมล้ำ ถ้าเป็นนักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ผิดเสมอ แต่อีกฝ่ายทำอะไรไม่ผิดเลย ซึ่งขัดต่อหลักนิติธรรมเสียแล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่งความศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจหมดสิ้นไป"
@ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ส่วนคำชี้แจงในคดีความ นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า "สำหรับคดีแรก กรณีการย้ายนายถวิล ดิฉันมิได้เจตนาที่จะกลั่นแกล้งผู้หนึ่งผู้ใด เพราะการที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลใดใช้อำนาจโยกย้ายข้าราชการโดยเฉพาะผู้ปฏิบัติหน้าที่งานด้านความมั่นคงซึ่งต้องเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ได้กระทำกัน ซึ่งหลังจากที่ดิฉันหมดหน้าที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการโยกย้ายข้าราชการอย่างมากมายแต่กลับไม่มีความผิดเพราะมีมาตรา 44 คุ้มครอง และคดีนี้มาจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 57 เพื่อให้ดิฉันพ้นจากหน้าที่ความเป็นนายกรัฐมนตรี และวันรุ่งขึ้น 8 พ.ค. 57 ป.ป.ช. ก็ชี้มูลเรื่องคดีจำนำข้าวโดยเร่งรัด ต่อมาเดือนเดียวกัน วันที่ 22 พ.ค. 57 ได้มีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นจนทำให้เกิดปัญหามาจนถึงทุกวันนี้ ที่ประชาชนต้องเรียกหาความยุติธรรมและประชาธิปไตย ไม่จบสิ้น"
"ส่วนเรื่องจัดทำโครงการโรดโชว์สร้างอนาคตไทย สืบเนื่องจากรัฐบาลของดิฉันเสนอนโยบายสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายเรื่องโดยการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ..... หรือที่เรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านเป็นโครงการที่ทำให้เกิดการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ไม่มีเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบใด ๆ ต่อมารัฐบาลชุดปัจจุบันก็นำโครงการนี้มาดำเนินการต่อ และวันนี้รัฐบาลปัจจุบันก็จำเป็นต้องออกนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน 3 ล้านล้าน ซึ่งมากกว่ารัฐบาลดิฉันโดยปราศจากการท้วงติงหรือการตรวจสอบจาก ป.ป.ช."
@ บทเรียน - คำเตือน ชะตากรรม ยิ่งลักษณ์ สู่ แพทองธาร
สุดท้ายนี้ ยังไม่มีใครล่วงรู้อนาคตว่า บทสุดท้ายในการต่อสู้คดีความต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะออกมาเป็นอย่างไร?
ตลอดทั้งชีวิตนี้จะมีโอกาสได้กลับมาประเทศไทยหรือไม่ ?
แต่หากพิจารณาจากข้อมูลคดีความทั้งหลายทั้งปวงตามที่นำเสนอไปในเบื้องต้น หลายฝ่ายฟันธงไปแล้ว ว่า โอกาสแห่งชัยชนะ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีน้อยมากถึงมากที่สุด
ชะตากรรม จาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ สู่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร อิ๊งค์ หรือ อุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนเล็ก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังโดดเด่นในเวทีการเมืองไทยอย่างมากในห้วงเวลานี้
จนว่ากันว่าอาจมีโอกาสขึ้นเป็นนายกฯหญิง‘ชินวัตร’คนที่ 2 และเพิ่งประกาศข่าวดี ท้องลูกคนที่ 2
จึงนับเป็นบทเรียนชีวิต เป็นคำเตือนสำคัญ ที่ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และคนในครอบครัวชินวัตร ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด (อีกครั้ง)