"...จากพฤติการณ์ข้อมูลคดีของอดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก และชดใช้เงิน ทั้ง 3 ราย จะเห็นได้ว่ามีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ 1. การเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับเอกชนรายอื่น ทำให้ทีโอทีได้รับความเสียหาย 2. การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบอนุมัติดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เกินอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ดี คดีความในส่วนของ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ และ นายวรุธ สุวกร ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก..."
รับโทษจำคุก 20 ปี ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงินจำนวน 1,062,147,006.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 525,370,000 บาท นับถัดจากวันที่ 15 ธ.ค.2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
คือ บทสรุปคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ตัดสินลงโทษ นายวรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในข้อหาความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรณีอนุมัติจ่ายเงิน 1,485 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้แก่บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการต่อสาธารณชนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้
แต่ถ้าหากสาธารณชน ยังไม่ลืม
นายวรุธ สุวกร มิใช่ผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รายแรก ที่ถูกศาลฯ ตัดสินลงโทษจำคุกดังกล่าว
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อย่างน้อย 2 ราย คือ นายสุธรรม มลิลา นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ ที่ถูกศาลฯ ตัดสินลงโทษจำคุกไปแล้วเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ย้อนข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
รายสอง
นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ชื่อเดิมของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาลงโทษให้จำคุก 6 ปี นายสุธรรม มลิลา อดีตผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) และให้ชดใช้เงินจำนวน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ในคดีแก้ไขสัมปทาน (ครั้งที่ 6) เพื่อลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (Prepaid Card) ให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) โดยมิชอบ
ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดตั้งแต่ในช่วงเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา และส่งเรื่องอัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฏหมาย
โดยคำฟ้องสรุปว่า จำเลย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ทศท.ทำหน้าที่บริหารงานภายในองค์กร มีหน้าที่ปฏิบัติงานก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร เมื่อระหว่างวันที่ 12 เมษายน 2544 – 15 พฤษภาคม 2544 จำเลยปฏิบัติหน้าที่ ผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยตำแหน่งกระทำความผิดกฎหมายหลายบท โดยทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัดมหาชน (AIS) ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สัญญากำหนดว่าบริษัทเอไอเอสจะต้องลงทุนอุปกรณ์ทั้งหมด และยกให้ ทศท.ก่อนที่จะนำไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการและกำหนดให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์ปีที่ 1-5 อัตราร้อยละ 15 ปีที่ 6-10 อัตราร้อยละ 20 ปีที่ 11-15 อัตราร้อยละ 25 และปีที่ 16-20 อัตราร้อยละ 30
ขณะที่ เอไอเอส มีหนังสือลงวันที่ 22 มกราคม 2544 ถึง ผอ.ทศท. ขอให้พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า โดยให้เหตุผลว่า ทศท.ปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายกรณีการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (Tac) จากเดิมอัตราร้อยละ 200 ต่อเลขหมาย ต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ 18 ของหน้าบัตร แต่นายวิเชียร นาคสีนวล ผอ.บริหารผลประโยชน์ เห็นว่ากรณีมิใช่เป็นการปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่าย แต่เป็นการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโยงขึ้นใหม่ และมิใช่การลดส่วนแบ่งรายได้ เหตุผลไม่สมเหตุผล จึงไม่พิจารณาปรับลดส่วนแบ่งรายได้ และเมื่อเทียบกับเงินที่บริษัทTac จ่ายให้บริษัท กสท. และ ทศท.แล้ว บริษัทTac จ่ายเงินมากกว่าเอไอเอสจ่ายให้ ทศท.
ต่อมามีการจัดทำกรณีศึกษาแบบอัตราก้าวหน้าและอัตราคงที่ เสนอต่อนางทัศนีย์ มโนรถ รอง ผอ.ทศท. และนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ผอ.การเงินและงบประมาณได้สั่งให้ศึกษาเพิ่มเติม โดยหลังจากมีการประชุม คณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมแล้ว ได้รับข้อเสนอของเอไอเอสและกำหนดส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าในอัตราร้อยละ 20 คงที่ตลอดอายุสัญญาและจำเลยได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารผลประโยชน์ทำเอกสารเสนอกรรมการ ทศท.ให้ทันการประชุมครั้งต่อไป และการประชุม ทศท.ครั้งที่ 5/2544 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 ที่ประชุมมีความเห็นว่าที่เอไอเอสขอลดส่วนแบ่งรายได้จากอัตราร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 20 นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมแล้ว ทศท.และประชาชนน่าจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงมีมติเห็นชอบส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าวันทูคอลที่ ทศท.จะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร โดยมีเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับเอไอเอสให้ได้ข้อยุติก่อน ส่วนการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ ให้ ทศท.เป็นรายเดือน และการนำผลประโยชน์ที่เอไอเอสได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการโดยตรง ให้กำหนดเงื่อนไขท้ายสัญญาและให้ ทศท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ล่วงหน้า เพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงหลักเกณฑ์เก็บส่วนแบ่งในโอกาสต่อไป แต่จำเลยมิได้ดำเนินการเสนอผลการศึกษาข้อมูลเพื่อพิจารณาทบทวนอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอสให้คณะกรรมการ ทศท.พิจารณาอีกครั้ง ตามมติคณะกรรมการ ทศท.จนกระทั่งคณะกรรมการ ทศท.ทั้ง 7 คน พ้นจากตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545
แต่จำเลยในฐานะ ผอ.ทศท.ลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตดำเนินกิจการครั้งที่ 6 ให้กับเอไอเอสและกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ชื่อ วันทูคอล ให้เอไอเอสแบ่งส่วนรายได้อัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าหน้าบัตร ทำให้ ทศท.ได้รับส่วนแบ่งรายได้น้อยลงจากเดิมที่ได้รับตามสัญญาหลักในอัตราร้อยละ 25-30
เมื่อเปรียบเทียบส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก กับสัญญาที่แก้ไข ทศท.สูญเสียรายได้ 17,848,130,000 บาท และสูญเสียรายได้ในอนาคตถึงสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน อีกเป็นเงิน 53,490,900,000 บาท รวมเป็นเงิน 71,339,030,000 บาท ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมครั้งที่ 6 เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอไอเอสตามคดีหมายเลขแดงที่ อม.1/2553 ระหว่างอัยการสูงสุดกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และตามรายงาน ปปช. การที่จำเลยปิดบังข้อเท็จจริงของฝ่ายบริหารผลประโยชน์ของ ทศท. ได้มีความเห็นเสนอจำเลยว่า บริษัทTac ต้องจ่ายให้ภาครัฐมากกว่าเอไอเอส จำเลยย่อมทราบข้อมูลความแตกต่างการพิจารณาการขอลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอสเป็นอย่างดีแล้ว แต่มิได้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวเสนอให้ ทศท.ทราบถึงความแตกต่าง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 มาตรา 157
ทั้งนี้ บริษัท ทีโอที จำกัด ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 จากการที่จำเลยลงนามข้อตกลงครั้งที่ 6 กับบริษัทเอไอเอส เป็นผลให้ผู้ร้องสูญเสียรายได้ คิดเป็นเงิน 66,060,686,735.94 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี รวมเป็นเงิน 93,710,927,981.84 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้ยกฟ้อง และยกคำร้องของบริษัท ทีโอที ผู้ร้อง
ขณะที่ นายอำนาจ พวงชมภู อธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในขณะนั้นได้ทำความเห็นแย้งโดยเห็นควรให้ลงโทษจำเลย
ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ขณะที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับว่า จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151(เดิม) จำคุก 9 ปี พยานหลักฐานที่จำเลยนำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 6 ปี และให้จำเลยชำระเงิน 46,855,463,990.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 33,030,343,367.97 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลย และฎีกาของโจทก์และผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
- ศาลฎีกา ยืนโทษคุก 6 ปี 'สุธรรม มลิลา' เอื้อปย.เอไอเอส -ชดใช้ 4.6 หมื่นล.
- คดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา ชี้ กก.ทศท. 7 ราย บกพร่องด้วย ต้องร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคดี 'สุธรรม' เอื้อ AIS ศาลฎีกา สั่งกก.ทศท.7 คน ร่วมชดใช้ 6.6 หมื่นล.
รายสาม
นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)
กรณีนี้ ปรากฏข่าว เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินสั่งลงโทษจำคุก นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที เป็นเวลา 5 ปี
ส่วน นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย จำเลยที่ 2 อดีตผู้จัดการสำนักเลขานุการ คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที (ภรรยา นายดิสธร วัชโรทัย อดีตข้าราชการประจำสำนักพระราชวัง) ถูกศาลตัดสินลงโทษเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน
แต่คำให้การของ นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ ตามป.อ.มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม
คงจำคุก นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย กำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน
พร้อมให้ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง 361,720.55 บาท
สำหรับการฟ้องคดีนี้ เป็นผลมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติชี้มูลความผิด นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ และนางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย กรณีถูกกล่าวหา เบิกจ่ายค่ารับรองในกิจการ บมจ.ทีโอที เป็นเท็จ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2562
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนไต่สวนคดีนี้ มีมติว่า นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น และฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของ พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย แบบแผน ข้อบังคับ ที่คณะกรรมการได้ วางไว้ ตลอดจนระเบียบ คำสั่ง หรือ หลักเกณฑ์ที่องค์การโทรศัพท์กำหนด เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ งานด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รักษาผลประโยชน์ของงาน ฐานอาศัย หรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่ การงานของตน ไม่ว่าจะโดยทางตรง หรือทางอ้อม หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น และฐานปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่การงานโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่ มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตาม ข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 ข้อ 30 ข้อ 37 และข้อ 44 ประกอบสัญญา จ้างผู้บริหารตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556 ข้อ 2.4
ส่วนนางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย (ภรรยา นายดิสธร วัชโรทัย อดีตข้าราชการประจำสำนักพระราชวัง) มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือ รักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจหน้าที่ โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ องค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือหน่วยงาน ที่เรียกชื่ออย่างอื่น และ ฐานเป็นพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ หน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 86 และมาตรา 11 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย แบบแผน ข้อบังคับ ที่คณะกรรมการ ได้วางไว้ ตลอดจนระเบียบ คำสั่ง หรือ หลักเกณฑ์ที่องค์การโทรศัพท์กำหนด เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่งาน ด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวัง รักษา ผลประโยชน์ของงาน ฐานอาศัยหรือยอม ให้ผู้อื่นอาศัยอำนาจหน้าที่การงานของตน ไม่ว่าจะโดยทางตรง หรือทางอ้อม หาประโยชน์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น และฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การงานโดยมิชอบเพื่อให้ตนเอง หรือ ผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามข้อบังคับ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 ข้อ 30 ข้อ 37 และข้อ 44
เบื้องต้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยัง ผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการทางวินัย กับนายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ และ นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2)
ส่วนที่มาที่ไปเกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา นำเสนอไปแล้ว ว่า เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2557 จากกรณี นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ อัยการพิเศษฝ่ายสัญญาและหารือ 3 อดีตกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ออกมาเปิดเผยข้อพิรุธเกี่ยวกับการจัดประชุมติดตามความคืบหน้างานระบบ 3 จี ของคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ที่ ร้าน Cellar 11 Wine Bar & Bistro ของบริษัท เซลลาร์ อีเลฟเวิน จำกัด ในช่วงเดือนพ.ค. จำนวน 4 ครั้ง รวมวงเงินมากกว่า 7 แสนบาท ว่าอาจจะมีปัญหาเรื่องการทำเอกสารเบิกจ่ายเงินเป็นเท็จ เนื่องจากการประชุมติดตามงาน 3 จี ของทีโอที ไม่เคยจัดการประชุมนอกสถานที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และการเดินทางไปร่วมงานที่ร้าน Cellar 11 Wine Bar & Bistro ของตนเองเพียงแค่ 1 ครั้ง เป็นการเชิญบอร์ดไปกินเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ใช่การประชุมติดตามงาน 3 จี แต่อย่างใด
สำหรับ คดี นายวรุธ สุวกร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลเป็นรายแรกนั้น
คำพิพากษาโดยย่อสรุป ระบุว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลย (นายวรุธ สุวกร) ซึ่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย จำเลยจึงเป็นพนักงานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียว ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จ ากัด (มหาชน) มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จึงรับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 152 และมาตรา 153 และมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 มาตรา 4
ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.2551 ถึงวันที่ 13 ต.ค.2551 เวลากลางวันต่อเนื่องและเกี่ยวพันกัน จำเลย (นายวรุธ สุวกร)ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้ไปเจรจากับบริษัท สามารถไอ-โมบาย จ ากัด (มหาชน) จากกรณีเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2550 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องเป็นคดีต่อศาลแพ่ง เรื่องผิดสัญญาและเรียกร้องเงินจำนวน 2,648,771,009.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,483,687,885.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลย ซึ่งเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ และรักษาทรัพย์ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือโดยทุจริต
กล่าวคือ จำเลยอนุมัติจ่ายเงินให้แก่บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 1,485,000,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งเกินกว่าวงเงิน 10 ล้านบาท ที่จำเลยมีอำนาจอนุมัติได้ ทั้งไม่เข้าข้อยกเว้นตามคำสั่งคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ที่ 29/2546 ลงวันที่ 22 ส.ค.2546 ข้อ 2.1.2.5 และจำเลยมิได้ขออนุมัติการจ่ายเงินดังกล่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที ทำให้บริษัท สามารถไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ได้รับชำระเงินค่าเสียหายไปเป็นจำนวนเกินกว่าที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ควรจะต้องจ่าย
การกระทำของจำเลย จึงเป็นการใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) และเป็นการใช้อำนาจในหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินค่าเสียหาย จำนวน 525,370,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 8, 11
ระหว่างพิจารณา บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอให้จำเลย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน จำนวน 525,370,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,062,147,006.16 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จ
จากพฤติการณ์ข้อมูลคดีของอดีตผู้บริหารระดับสูงบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก และชดใช้เงิน ทั้ง 3 ราย
จะเห็นได้ว่ามีพฤติการณ์การกระทำความผิด 2 ประการ คือ
1. การเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับเอกชนรายอื่น ทำให้ทีโอทีได้รับความเสียหาย
2. การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบอนุมัติดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เกินอำนาจหน้าที่
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151
2. ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของ พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3 , 8 และ 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
สำหรับวงเงินต้องชดใช้ ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ได้รับ
อย่างไรก็ดี คดีความในส่วนของ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ และ นายวรุธ สุวกร ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
โดยในส่วนของ นายวรุธ สุวกร ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว มีการกระทำที่เกี่ยวกับ ประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้จำนวนมากที่มีบุคคลได้ไป ประกอบกับมีค่าความเสียหายด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
แต่ไม่ว่าผลการพิจารณาคดีจะออกมาเป็นอย่างไร คดีเหล่านี้นับเป็นกรณีศึกษาสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป
โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญมีภารกิจในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลอย่างมีคุณภาพเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของรัฐ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
ให้เป็นองค์กรที่ถูกต้องโปร่งใส ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทุกรูปแบบ ตามที่ประกาศไว้เป็นลายลักษณ์อักษรโก้หรูในหน้าเว็บไซต์ปัจจุบัน