"...เมื่อจำเลยที่ 7 เดินออกไปจากห้องทำงานของโจทก์ โจทก์พบว่าจำเลยที่ 7 ได้วางซองสีขาวทั้งสามซองนั้นไว้บนโต๊ะทำงานโจทก์ โจทก์จึงนำซองสีขาวทั้งสามซองนั้นมาเก็บไว้เพื่อส่งมอบคืนให้แก่จำเลยที่ 7 แต่ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นได้ร่วมกันบุกรุกกรูกันเข้ามาภายในห้องทำงานของโจทก์แล้วร่วมกันจับกุมโจทก์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเป็นเงินที่อยู่ภายในซองทั้งสามซองดังกล่าวรวมจำนวน 98,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามแผนการที่จำเลยทั้งเจ็ดได้วางไว้..."
กรณี นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) สนธิกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าจับกุมกรณีเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม โดยมีการล่อซื้อ มีการติดกล้องวงจรปิด ตำรวจตามเข้าไปค้นพบเงินสดบนโต๊ะทำงาน และห้องแต่งตัวประมาณ 5 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบัน นายรัชฎา อยู่ระหว่างถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และมีการให้ออกราชการไว้ก่อนนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าล่าสุดไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2566 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ได้ยื่นฟ้องคดีความอาญา พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. กับพวก รวม 7 คน เป็นจำเลย ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ, ความผิดต่อเสรีภาพ ,ทำพยานหลักฐานเท็จฯ, เจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษ บุกรุก ซ่องโจร ผิดพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จากกรณีการถูกจับกุมเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามดังกล่าว โดยในคำฟ้องของ นายรัชฎา อ้างว่า จำเลยทั้งหมด มีการวางแผนพูดคุยล่อให้ตนตกลงรับเงิน และยังมีการเผยแพร่ข้อมูลบันทึกวิดีโอให้สื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงขอให้ศาลออกหมายนัดและเรียกจำเลยทั้งหมดมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดในคำฟ้องคดีนี้ ของ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ที่ยื่นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางดังกล่าว แบ่งข้อมูลออกเป็น 5 ประเด็นหลักดังนี้
หนึ่ง : สถานะโจทก์ และจำเลย
1. นายรัชฎา ระบุว่าตนเองในฐานะโจทก์ เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ส่วนจำเลยที่ 1 - 6 เป็นข้าราชการตำรวจ สังกัด กองบัญชาการสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. จำเลยที่ 1 คือ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป.
ส่วนจำเลยที่ 7 คือ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 จังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจทำการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาอีกทั้งมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมี
อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารราชการของกองบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ ควบคุม กำกับ ดูแลบุคลากรให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและประกาศของทางราชการ รวมถึงปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและประกาศของทางราชการด้วย
ส่วนจำเลยที่ 7 ขณะเกิดเหตุคดีนี้เป็นข้าราชการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนและจับกุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สอง : พฤติการณ์ จำเลย
2. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เวลากลางวันจำเลยทั้งเจ็ดได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมหลายวาระต่างกรรมต่างวาระกันดังนี้
2.1 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 6 ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจทำการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาทั้งมีอำนาจหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและจับกุมปราบปรามผู้กระทำความผิดได้ร่วมกับจำเลยที่ 7 และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้บังอาจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแกโจทก์
กล่าวคือ ตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติหน้าที่โดยได้ร่วมกันวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 7 และเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานอื่นดังกล่าว โดยให้จำเลยที่ 7 เข้าไปขอพบโจทก์ ณ ห้องทำงานของโจทก์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อันเป็นที่โหฐาน เพื่อให้จำเลยที่ 7 นำเงินที่บรรจุอยู่ภายในซองสีขาวซองละ 43,000 บาท จำนวน 2 ซอง และซองละ 12,000 บาท จำนวน 1 ซอง รวม 3 ซองเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 98,000 บาท มาส่งมอบให้โจทก์ เพื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานอื่นดังกล่าวจะได้เข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ตามที่จำเลยที่ 7 จะได้ส่งสัญญาณให้เข้าตรวจค้นจับกุมตามแผนการที่วางไว้ ภายหลังที่จำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมกันวางแผนการดังกล่าวแล้ว
ต่อมาในวันเวลาเดียวกันจำเลยทั้งเจ็ดได้ให้จำเลยที่ 7 ขอเข้าพบโจทก์ ณ ห้องทำงานส่วนตัวของโจทก์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อันเป็นที่โหฐานโดยไม่ได้มีการนัดหมายกับโจทก์มาก่อนตามแผนการที่จำเลยทั้งเจ็ดได้วางไว้
ซึ่งขณะขอเข้าพบโจทก์นั้นจำเลยทั้งเจ็ดได้จัดให้จำเลยที่ 7 แอบติดกล้องบันทึกภาพและเสียงไว้ที่ตัวเพื่อบันทึกภาพและเสียงขณะพูดคุยสนทนากับโจทก์
โดยขณะจำเลยที่ 7 เข้าพบพูดคุยกับโจทก์ตามแผนการของจำเลยทั้งเจ็ดดังกล่าว
จำเลยที่ 7 ได้พยายามพูดคุยชักจูงใจให้โจทก์ตกลงเรียก รับ หรือยอมจะรับเงินจากข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชาผู้มีตำแหน่งหรือชื่อตามที่จำเลยที่ 7 สนทนาถึงหลายราย
โดยจำเลยที่ 7 ได้พูดคุยล่อให้โจทก์ตกลงรับเงินหรือกำหนดจำนวนเงินหรือเปอร์เซ็นต์ของเงินเพื่อเรียกรับเอาจากผู้มีตำแหน่งหรือชื่อดังกล่าวอันเป็นการจูงใจให้โจทก์ในฐานะเป็นอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช ซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานกระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำโดยมิชอบด้วยหน้าที่
แต่โจทก์ได้ปฏิเสธและไม่ตกลงด้วย
และในระหว่างพูดคุยนั้นจำเลยที่ 7 ได้พยายามส่งมอบซองสีขาวทั้งสามซองที่มีเงินบรรจุอยู่ภายในซองดังกล่าวเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 98,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามแผนการที่จำเลยทั้งเจ็ดได้วางไว้
ซึ่งขณะนั้นโจทก็ไม่ทราบว่าภายในซองสีขาวทั้งสามซองนั้นมีสิ่งของใดบรรจุอยู่ภายในเนื่องจากจำเลยที่ 7 ไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบทั้งจำเลยที่ 7 ก็ไม่ได้เปิดซองสีขาวทั้งสามซองให้โจทก์ดู
โจทก์จึงไม่อาจทราบได้ว่าภายในชองสีขาวที่จำเลยที่ 7 พยายามส่งมอบให้แก่โจทก์นั้นมีสิ่งของใดอยู่ภายใน แต่โจทก์ก็ได้ปฏิเสธไม่รับซองทั้งสามดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาในพุดคุยสนทนานั้นจำเลยที่ 7 ได้แอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนาเก็บไว้เป็นพยานหลักฐานตามแผนการที่จำเลยทั้งเจ็ดได้วางไว้ ซึ่งโจทก์ไม่ได้ทราบถึงการบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวด้วย
จนกระทั่งเมื่อจำเลยที่ 7 เดินออกไปจากห้องทำงานของโจทก์ โจทก์พบว่าจำเลยที่ 7 ได้วางซองสีขาวทั้งสามซองนั้นไว้บนโต๊ะทำงานโจทก์
โจทก์จึงนำซองสีขาวทั้งสามซองนั้นมาเก็บไว้เพื่อส่งมอบคืนให้แก่จำเลยที่ 7
แต่ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นได้ร่วมกันบุกรุกกรูกันเข้ามาภายในห้องทำงานของโจทก์แล้วร่วมกันจับกุมโจทก์ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินเป็นเงินที่อยู่ภายในซองทั้งสามซองดังกล่าวรวมจำนวน 98,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามแผนการที่จำเลยทั้งเจ็ดได้วางไว้พร้อมกับตรวจคันยึดซองสีขาวทั้งสามซองที่บรรจุเงินอยู่ภายในรวมจำนวน 98,000 บาทดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐาน
ทั้งที่โจทก์ไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดมาก่อน
การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จึงเป็นการร่วมกันก่อหรือพยายามก่อให้โจทก์กระทำความผิดอันเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ จึงถือว่าเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาร่วมกันกระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งโดยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแกโจทก์และเพื่อจะแกล้งโจทก์ให้ต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น
โดยมีจำเลยที่ 7 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งเจ็ด ทั้งการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดที่ก่อหรือพยายามก่อให้โจทก์กระทำความผิดดังกล่าวและแอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนาของโจทก็เก็บไว้เป็นพยานหลักฐานยังเป็นการร่วมกันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของโจทก์ตามกฎหมายและถือเป็นการจัดทำพยานหลักฐานเท็จเพื่อให้พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานสืบสวนคดีอาญาเชื่อว่าได้มีความผิดอาญาตามที่เข้าจับกุมโจทก์เกิดขึ้น
จึงทำให้โจทก็ได้รับความเสียหายต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาทั้งยังต้องมีประวัติที่ด่างพร้อย
ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกันควบคุมตัวโจทก์นำส่งพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและพนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดีโจทก็ในเรื่องดังกล่าว
2.2 ตามวันเวลาและข้อเท็จจริงในข้อ 2.1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนและจับกุมตามกฎหมายได้บังอาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการบุกรุกเข้าไปในห้องทำงานส่วนตัวของโจทก์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อันเป็นที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาลแล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้เข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ในที่ดังกล่าวโดยไม่มีหมายจับหรือหมายของศาลซึ่งการตรวจค้นจับกุมโจทก์ดังกล่าวโจทก์มิได้กระทำความผิดซึ่งหน้าหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้เข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติไว้และโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ประกอบกับโจทก์เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นที่แน่นอนและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตามที่อยู่ที่ปรากฏในฟ้อง
โจทก์จึงไม่มีเหตุผลใดที่ควรเชื่อว่าโจทก์จะหลบหนีทั้งโจทก์ไม่ได้มีพฤติการณ์ใดที่ควรเชื่อว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเนื่องจากแผนการดังกล่าวของจำเลยทั้งเจ็ดนั้นโจทก็ไม่ได้ล่วงรู้ด้วยและโจทก์ก็ไม่ได้กระทำความผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จะเข้าจับกุมโจทก์ได้โดยไม่มีหมายจับตามกฎหมาย
ทั้งการเข้าจับกุมโจทก์ดังกล่าวเป็นการเข้าไปจับกุมในห้องทำงานส่วนตัวของโจทก์ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อันเป็นที่รโหฐาน ซึ่งตามกฎหมายการจับในที่รโหฐานนั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานโดยการขอหมายค้นหรือคำสั่งของศาลหรือมีเหตุใดเหตุหนึ่งที่จะค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายหรือคำสั่งของศาลด้วย
แต่ปรากฏว่าการปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นครั้งนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ได้บุกรุกเข้าไปตรวจค้นในห้องทำงานของโจทก์อันเป็นที่รโหฐานดังกล่าวโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาลและไม่มีเหตุจำเป็นอื่นใดที่จะเข้าตรวจค้นได้โดยไม่มีหมายกันเพราะโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดทั้งไม่มีข้อเท็จจริงใดที่เป็นเหตุควรเชื่อว่ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
โดยการเข้าตรวจค้นจับกุมดังกล่าวจำเลยที่ 7 ได้ร่วมวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพื่อเข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ในครั้งนี้ด้วยซึ่งการวางแผนจับกุมโจทก์ดังกล่าวจำเลยทั้งเจ็ดได้กระทำไปโดยมีเจตนามาแต่ต้นที่จะไม่ขอหมายค้น หมายจับหรือคำสั่งของศาล
ดังนั้น การเข้าตรวจค้นและจับกุมโจทก์ของจำเลยทั้งเจ็ดในครั้งนี้จึงเป็นการร่วมกันกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดยมิชอบเพื่อจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษและเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งจำเลยที่ 7 ไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมายด้วยแต่ถือได้ว่าจำเลยที่ 7 ได้สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดดังกล่าว
ทั้งการกระทำดังกล่าวของจำเลยทั้งเจ็ดยังเป็นการร่วมกันวางแผนบุกรุกตั้งแต่สองคนขึ้นไปเข้าไปในห้องทำงานอันเป็นที่รโหฐานที่อยู่ในความครอบครองของโจทก็โดยไม่มีเหตุอันควรและเป็นการรบกวนการครอบครองของโจทก์
อีกทั้งการเข้าจับกุมคุมขังโจทก์โดยมิชอบดังกล่าวยังเป็นการหน่วงเหนี่ยวกังขังโจทก็ให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียงและมีประวัติด่างพร้อยเป็นอย่างยิ่ง รายละเอียดโจทก์จะขอนำเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป
2.3 ตามวันเวลาและข้อเท็จจริงในข้อ 2.1 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนและจับกุมตามกฎหมายซึ่งต้องสงวนข้อราชการไว้เป็นความลับตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 29 ความลับ ข้อ 1 โดยในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นได้เข้าตรวจค้นจับกุมโจทก์ในห้องทำงานส่วนตัวของโจทก์ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช อันเป็นที่รโหฐาน ในครั้งนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในฐานะผู้รับผิดชอบในการตรวจค้นจับกุมครั้งนี้ได้ร่วมกันบันทึกวีดีโอไว้เป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงในขณะตรวจค้นจับกุมโจทก์ให้ปรากฎรูปภาพหน้าตาและตำแหน่งการงานของโจทก์อันทำให้สามารถระบุตัวตนโจทก์ตามกฎหมายได้อันถือเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของโจทก์เพื่อเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดี
ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนมีอำนาจหน้าที่ต้องเก็บรวบรวมบันทึกวีดีโอภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีให้เป็นความลับตามกฎหมายและตามประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 29 ความลับ ข้อ 1 ดังกล่าว
แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตกลับปล่อยให้มีการเปิดเผยเผยแพร่ข้อมูลบันทึกวีดีโอที่เป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงดังกล่าวที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของโจทก์ปรากฏอยู่อันจะต้องเก็บรวบรวมไว้เป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีและต้องเป็นความลับในราชการโดยการเปิดเผยเผยแพร่ดังกล่าวไม่ได้รับความยินยอมตามกฎหมายจากโจทก์ก่อนเป็นเหตุให้ในวันดังกล่าวมีนักข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ได้นำพยานหลักฐานบันทึกวีดีโอที่เป็นภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงออกเผยแพร่ต่อต่อสาธารณะชนเป็นการทั่วไป ทำให้ประชาชนทราบและเชื่อว่าโจทก์กระทำความผิดออกเผยแพร่ต่อต่อสาธารณะชนเป็นการทั่วไป ทำให้ประชาชนทราบและเชื่อว่าโจทก์กระทำความผิดตามที่ได้ถูกจับกุม
โจทก์จึงได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดซังและเกิดความเสียหายแก่วงศ์ตระกูลอย่างหาที่สุดมิได้ รายละเอียดโจทก์จะขอนำเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป
2.4 ตามวันเวลาและข้อเท็จจริงในข้อ 2.1 จำเลยทั้งเจ็ดได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ จำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปจับกลุ่มวางแผนปรึกษาตกลงและแบ่งหน้าที่กันโดยมีเจตนาเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยร่วมกันก่อหรือพยายามก่อให้โจทก์กระทำความผิดและเข้าจับกุมโจทโดยไม่มีหมายค้นและหมายจับซึ่งถือเป็นการวางแผนเพื่อเจตนาที่จะเข้าตรวจค้นและจับกุมโจทก์โดยไม่มีหมายหรือคำสั่งของศาลมาตั้งแต่ต้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวในฟ้องข้อ 2.1 และ ข้อ 2.2 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดดังกล่าวเป็นความผิดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญาและความผิดดังกล่าวนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปและมีเจตนาเพื่อกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานแกล้งให้ต้องรับโทษตามคำฟ้องข้อ 2.1 และ ข้อ 2.2 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นความผิดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญาและความผิดดังกล่าวนั้นมีกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต
การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดดังกล่าวจึงถือเป็นความผิดอาญาฐานซ่องโจร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รายละเอียดโจทก์จะนำเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณา
เหตุตามฟ้องเกิดที่ แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร และที่ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องกัน
ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ต่อพนักงานสอบสวน เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ โจทก์เกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม โจทก์จึงประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งเจ็ดด้วยตนเอง
อนึ่ง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญา มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมาย แต่กลับมาบังอาจสมคบร่วมกันเป็นผู้กระทำความผิดต่อหน้าที่เป็นซ่องโจรเสียเอง เป็นพฤติการณ์ที่เป็นภัยร้ายแรงและฝ่าฝืนต่อหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างมาก โดยจำเลยที่ 7 ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวทั้งเป็นตัวการและผู้สนับสนุนกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6
โจทก์จึงขอศาลได้โปรดลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดสถานหนักด้วย
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
*************
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดในสำนวนคำฟ้องของ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ที่ยื่นฟ้องคดีความอาญา พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. กับพวก รวม 7 คน เป็นจำเลย ต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
สำหรับขั้นตอนการฟ้องร้องคดีตามกฎหมายนั้น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะมีการออกหมายเรียกโจทก์และจำเลย มาไต่สวนมูลฟ้อง เพื่อพิจารณาว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่ ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ศาลฯ ได้นัดหมายแล้ว ในวันที่ 14 ก.พ.2566 นี้ เวลา 09.30 น.
ส่วนผลการพิจารณาของศาลฯ คดีนี้ส่วนนี้ ที่ถูกมองว่าเป็นการสู้กลับครั้งสำคัญของ นายรัชฎา หลังจากเก็บตัวเงียบมานาน จะออกมาเป็นอย่างไร
คงต้องคอยติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด
ขณะที่ปัจจุบัน ศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาตัดสินใดๆ ในคดีนี้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. กับพวก รวม 7 คน จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง
- ล่อซื้อค้นเจอ 5 ล.! ป.ป.ช.-ตร.แถลงด่วนรวบตัวอธิบดีกรมอุทยานฯ คดีเรียกรับเงิน (มีคลิป)
- เก็บหัวละ 2-3 แสน! แถลงพฤติการณ์ 'อธิบดีกรมอุทยานฯ' คดีเรียกเงินวิ่งเต้นแลกไม่โยกย้าย
- พลิกปูม! เส้นทางชีวิต-ทรัพย์สิน 'รัชฎา' อธิบดีกรมอุทยานฯ ก่อนโดนรวบคดีเรียกรับเงิน
- ลับสุดยอด! เปิดปฏิบัติการขู่ทุบลิ้นชัก ล่อซื้อ 'รัชฎา'-บิ๊กตู่ชิงย้ายตัดหน้า ทส.?
- เปิดคลิปหลักฐานใหม่ 5 นาที ค้นโต๊ะทำงาน 'รัชฎา' - ตามหาเจ้าของซองเงินส่งท่านอธิบดี?
- เช็คที่นี่! เปิดครบเงินสด-สิ่งของ 21 รายการ 4.8 ล.ในห้องอธิบดีอุทยานฯ ใครส่งมาบ้าง?
- แอ่นแอ๊น! แกะซองเงินที่ 7 คดี 'รัชฎา' เจอตารางจ่ายรายเดือนงบปี 66 ด้วย 38 ล.+5% 1.9 ล.