"...หากจับสัญญาณ ป.ป.ช. ที่ตีตกข้อกล่าวหา ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา’ และกรณี ‘ไตรรงค์-พรทิวา’ เป็นการ ‘วัดกำลังภายใน’ ระหว่าง ‘บิ๊กรัฐบาล’ ที่คอยคอนโทรลอยู่หลังฉาก ล้อไปกับปมร้อนที่พี่น้อง 2 ป.แยกกันสร้างคนละดวงอย่างชัดเจน โดย ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ปักหลังนั่งแท่นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศอย่างเป็นทางการเตรียมไปร่วมงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่ากันว่า ‘น้องเล็ก’ พยายามเดินเกมแผ่บารมีเข้าไปในอาณาจักร ‘สนามบินน้ำ’ สู้กับ ‘พี่ใหญ่’..."
ผ่านพ้นก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2566 เป็นทางการแล้ว
สถานการณ์ภายในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เวลานี้ ดูเหมือนว่ากำลังร้อนแรงไม่แพ้สนามการเมืองที่กำลังลุกเป็นไฟเช่นกัน
พลันที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัย 4 คดีสำคัญเกี่ยวกับการระบายสินค้าแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีคนระดับ “บิ๊กเนม” นักการเมืองเข้าไปพัวพัน สุดท้ายมีการชี้มูลความผิดแค่บางคนเท่านั้น
กรณีระบายข้าวแบบจีทูจีภาค 2 ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 1 เสียง ชี้มูลผิด ‘หมอโด่ง’ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ กับพวกที่เป็นกลุ่มข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ และเอกชน
โดยตีตกข้อกล่าวหา ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ 2 อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึง ‘เจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์’ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย น้องสาว ‘ทักษิณ’ ในข้อครหาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า เป็นการฟ้องซ้ำ และไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่จะหยิบยกเหตุอันควรสงสัยขึ้นมาไต่สวนได้
ขณะที่ นายทักษิณ และ นางเยาวภา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าคำให้การของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่มีการกันตัวไว้เป็นพยาน ให้การกล่าวพาดพิงถึงนายทักษิณ และ นางเยาวภา ไม่ได้เป็นประโยชน์ ไม่มีน้ำหนัก เพราะไม่ได้พาดพิงว่าใครทำผิดอะไร และเป็นพยานที่เคยถูกลงโทษแต่มากลับคำให้การภายหลัง
ส่วน ‘บุญทรง เตริยาภิรมย์’ อดีต รมว.พาณิชย์ ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ แม้เบื้องต้นถูก ‘กันตัวไว้เป็นพยาน’ แต่ที่ประชุมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในทางกฎหมายว่า บุคคลที่ถูกชี้มูลผิดในคดีระบายข้าวจีทูจีภาคแรก ไฉนถึงถูกกันเป็นพยานได้ ที่สำคัญการอ้างถึง ‘เทปลับ’ ที่ระบุบทสนทนาของนักการเมืองชื่อดังในการสั่งระบายข้าวก็ไม่มีอยู่จริง จึงไม่มีเหตุอันควรกันไว้เป็นพยานอีก
ดังนั้นหลังจากนี้ที่ประชุม ป.ป.ช.อาจจะมีการทบทวนเรื่องการกัน ‘บุญทรง’ เป็นพยานอีกครั้ง
อีก 3 สำนวนคดีระบายมันสำปะหลังจีทูจีสมัยรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์’ พบว่า มติเอกฉันท์ชี้มูลผิด ‘บุญทรง’ แต่มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 2 เสียงตีตกข้อกล่าวหา ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’ อดีตรองนายกฯ ‘พรทิวา นาคาศัย’ อดีต รมว.พาณิชย์ 2 แกนนำรัฐบาล ‘อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ’ รอดพ้นบ่วงไป เนื่องจากเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องเสนอ ครม. หากจะเอาผิดต้องเอาผิดทั้ง ครม.ด้วย
เรียกได้ว่าคดีจีทูจีทั้ง 4 สำนวน คนที่โดนหนักสุดหนีไม่พ้น ‘บุญทรง’ อีกครั้ง ทั้งสถานะพยานที่กำลังสั่นคลอนในคดีระบายข้าวจีทูจีภาคสอง รวมถึงถูกชี้มูลซ้ำคดีระบายมันเส้นจีทูจีด้วย นอกจากนี้ยังถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อหามีพฤติการณ์ ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ เข้าไปอีก
- ย้อนดู สมบัติ 'บญทรง-เมีย' พ้นเก้าอี้ รมต.ทุกตำแหน่ง ก่อน ป.ป.ช.ไต่สวนคดีรวยผิดปกติ
- 'บุญทรง' โดนคดีใหม่! ป.ป.ช.ตั้งไต่สวนรวยผิดปกติให้คนใกล้ชิดถือทรัพย์แทนอย่างน้อย 4 คน
- ป.ป.ช.ชี้มูลคดีมันฯ แล้ว! 'พรทิวา' รอดหมด 2 สำนวน 'บุญทรง -วีระวุฒิ' เอกฉันท์ฟันอาญา
หากจับสัญญาณ ป.ป.ช. ที่ตีตกข้อกล่าวหา ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา’ และกรณี ‘ไตรรงค์-พรทิวา’ เป็นการ ‘วัดกำลังภายใน’ ระหว่าง ‘บิ๊กรัฐบาล’ ที่คอยคอนโทรลอยู่หลังฉาก
ล้อไปกับปมร้อนที่พี่น้อง 2 ป.แยกกันสร้างคนละดวงอย่างชัดเจน โดย ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ปักหลังนั่งแท่นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วน ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประกาศอย่างเป็นทางการเตรียมไปร่วมงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
ว่ากันว่า ‘น้องเล็ก’ พยายามเดินเกมแผ่บารมีเข้าไปในอาณาจักร ‘สนามบินน้ำ’ สู้กับ ‘พี่ใหญ่’
เรื่องนี้มีเห็นได้จากการตีตกข้อกล่าวหา ‘บิ๊กค่ายสีแดง’ เพราะหากคนเหล่านี้ถูกชี้มูลผิดคดีข้าวภาค 2 อาจทำให้ดีลจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันล่มไม่เป็นท่า ที่สำคัญอาจเป็นอีกชนวนร้องยุบ ‘พรรคเพื่อไทย’ เพราะถูกกล่าวหาว่า ‘คนแดนไกล’ ครอบงำคอนโทรลพรรคได้
เช่นเดียวกับกรณีตีตกข้อกล่าวหา ‘ไตรรงค์’ ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกฯ และแกนนำ รทสช. คนการเมืองที่ ‘น้องเล็ก’ ให้ความเคารพอย่างสูง โดยมติ 5 ต่อ 2 เสียงนั้น คนแรกคือ ‘สุภา ปิยะจิตติ’ ที่ส่วนใหญ่มักเป็นเสียงข้างน้อยอยู่แล้ว
แต่ที่น่าสนใจคือ อีกหนึ่งคนที่เห็นว่าเรื่องนี้ควรผิดคือ กรรมการ ป.ป.ช.สายตรง ‘บ้านป่ารอยต่อฯ’ ที่พยายามออกตัวว่าอยู่ข้าง ‘พี่ใหญ่’
หลังจากนี้ต้องจับตาเก้าอี้กรรมการ ป.ป.ช.ที่ว่างลงอยู่ในปัจจุบัน 2 ที่นั่งให้ดี เพราะลือกันให้สนั่นว่า ‘น้องเล็ก’ พยายามล็อบบี้ ส.ว.ให้โหวตคนของตัวเองเข้าไปคานอำนาจ ‘พี่ใหญ่’ ในที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว
กลับมาที่สารพัดคดีสำคัญที่ยังค้างคาอยู่ในการไต่สวนของ ป.ป.ช.
เปิดหัวกันที่คดีจากคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านถึงบรรดา ‘บิ๊กเนมรัฐบาล’ สรุปได้ดังนี้
@ กรณีร้องเอาผิดทั้ง ครม.
1.การกล่าวหา ครม. ทั้งคณะ กรณีดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ผิดพลาด ส่อทุจริตต่อหน้าที่
2.กล่าวหา ครม. ทั้งคณะ กรณีการจัดหาชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด
3.กรณีออกมติ ครม. ที่ขัดต่อกฎหมายโดยเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตสต๊อกยางพารา
4.กรณี ครม. อนุมัติงบกลางและเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินผิดวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ 2,054 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์
@ กรณีร้องเอาผิด ‘2 ป.’
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ไร้ประสิทธิภาพ
2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กรณีขอให้รื้อฟื้นคดีนาฬิกาหรูใหม่ (นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล เตรียมยื่นเรื่อง)
@ กรณีร้องเอาผิดรัฐมนตรีสังกัดพรรคพลังประชารัฐ
1.สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง กรณีกล่าวหาเงินเยียวยาชาวไร่ยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ หาย 50 ล้านบาท
@ กรณีร้องเอาผิดรัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย
1.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่ไร้ประสิทธิภาพ
2.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีกล่าวหากระทำผิดจริยธรรม กำกับดูแล รฟท. แต่ปล่อยปละละเลยไม่สั่งการให้ รฟท.เพิกถอนเอกสารสิทธิ์บริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ จากผู้บุกรุก ตามคำพิพากษาของศาล
3.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กรณีกล่าวหาว่าจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ในการถือครองและซื้อขายหุ้นของ หจก.บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น
@ กรณีร้องเอาผิดรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล
1.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กรณีจัดซื้อถุงมือยางของ อคส. 112,500 ล้านบาท ปล่อยปละละเลยไม่ตามอายัดเงิน 2,000 ล้านบาท
2.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กรณีออกมติ ครม. พี่ที่ขัดต่อกฎหมายโดยเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทุจริตสต๊อกยางพารา
3.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาฯ กรณีอนุมัติงบกลางและเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินผิดวัตถุประสงค์ (ข้อกล่าวหาเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.)
โดยคดีทั้งหมดเหล่านี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ขั้นตอนหลังจากนี้หากข้อกล่าวหามีมูลจะส่งเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนต่อไป
@ การอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินการบินไทย
ส่วนคดีที่ยังคาราคาซังอยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.ตอนนี้ เช่น คดีกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการอนุมัติสั่งซื้อเครื่องบินแบบ A340-500 และ A340-600 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2545-2547 ทำให้การบินไทยมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น
คดีนี้ปรากฏชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม นายพิเชษฐ สถิรชวาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม นายทนง พิทยะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกนก อภิรดี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการไต่สวน
@ คดีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา
ส่วนคดีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ที่ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ปัจจุบันที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว เช่น นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด พนักงานสอบสวน ข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ยศ พล.ต.อ. , พล.ต.ต. , พ.ต.อ. ,พ.ต.ท. ทั้งที่ เกษียณอายุราชการไปแล้ว และที่ยังรับราชการอยู่ พนักงานอัยการ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดีมีอย่างน้อย 3 รายที่ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ได้แก่ นายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ 'อดีต ส.ว.ก๊อง' ปัจจุบันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เนื่องจากการไต่สวนคดีนี้ไม่มีชื่อนายชูชัยตั้งแต่ต้น แม้จะถูกพาดพิงชื่อในรายงานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯชุด ‘วิชา มหาคุณ’ เป็นประธานก็ตาม
ส่วนอีก 2 ราย ได้แก่ พ.ต.อ.ธนสิทธิ แตงจั่น ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ผู้คำนวณเร็วรถของนายวรยุทธได้ 177 กม./ชม. ก่อนเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงความเร็วเหลือไม่เกิน 80 กม./ชม. และนายสายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ที่นำเสนอสูตรใหม่ในการคำนวณความเร็วรถนายวรยุทธ จนความเร็วรถเปลี่ยนแปลงจาก 177 กม./ชม. เหลือไม่เกิน 80 กม.ชม. เนื่องจากทั้ง 2 รายเป็น ‘พยานสำคัญ’ ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯชุดนายวิชา มหาคุณ
@ คดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล
ขณะที่คดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ‘ผู้กำกับโจ้’ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ แม้จะมีการชี้มูลผิดกรณีกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติกว่า 1.3 พันล้านบาทไปแล้ว แต่ ป.ป.ช.ได้ยกเหตุอันควรสงสัยคดีอาญา กรณีกล่าวหากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจับรถหรูเพื่อแลกกับสินบนนำจับด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น
- ส่องทรัพย์ 'ผกก.โจ้' รวยผิดปกติ(1):สถานะล่าสุด 3 บัญชีเงินฝาก 1,243 ล.-กสิกรฯ แจ้งโมฆะ
- ส่องทรัพย์ 'ผกก.โจ้' รวยผิดปกติ (2) : โดนยึดหมด ที่ดิน 4 แปลง บ้าน 2 หลัง 54,150,000 บาท
- ส่องทรัพย์ 'ผกก.โจ้' รวยผิดปกติ (3): เปิดครบรถยนต์ 15 คัน 6.1 ล.- เบนซ์ ราคาแค่ 8 หมื่น?
@ คดีทรงชัย นกขมิ้น
ส่วนคดีกล่าวหานายทรงชัย นกขมิ้น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แม้จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิดคดีการจัดซื้อรถดับเพลิง 33.9 ล้านบาท เมื่อปี 2555 ไปแล้ว แต่ยังเหลือคดีดังที่อยู่ในความสนใจสาธารณชน กรณี ‘เสาไฟกินรี’ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. จำนวน 5 สำนวน วงเงิน 871,020,971 บาท โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายทรงชัยไปแล้ว 2 สำนวน ส่วนอีก 3 สำนวนอยู่ระหว่างพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา คาดว่าจะเสร็จไล่เลี่ยกัน
นอกจากนี้ยังเหลืออีกประเด็นที่น่าจับตาคือ การพิจารณาข้อกฎหมาย ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ยังไม่ครบ 8 ปี เนื่องจากให้เริ่มนับตำแหน่งเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 ส่วนการดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้มีลักษณะ ‘นายกฯ ขาดตอน’ ซึ่งสวนทางกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกฯ เมื่อปี 2562 โดย พล.อ.ประยุทธ์ อ้างตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 105 โดยมีการยื่นแต่ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อสาธารณะ
โดยประเด็นนี้เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช.อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูล และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนส่งไปที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป
ประเด็นนี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงเท่านั้น แต่รวมถึง 5 รัฐมนตรียุค คสช.ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 แบบไร้รอยต่อ รวมถึงบรรดาอดีตรัฐมนตรียุค คสช. และอดีต สนช. มาดำรงตำแหน่ง ส.ว.ด้วย
@ คดีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา
ส่วนคดีใหญ่ปิดท้ายปี 2565 ที่ต้องติดตามดูกันต่อไปในปี 2566 คงหนีไม้พ้น คดีนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ถูกกล่าวหาเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม โดยมีการล่อซื้อ มีการติดกล้องวงจรปิด ตำรวจตามเข้าไปค้นพบเงินสดบนโต๊ะทำงาน และห้องแต่งตัวประมาณ 5 ล้านบาท ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เพราะหลังจากที่พนักงานสอบสวนเรียกผู้ที่มีชื่ออยู่บนซองเงินมาสอบปากคำ และรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นเสร็จแล้ว ทาง ป.ป.ช.จะดึงสำนวนทั้งหมดมาไต่สวนเอง เนื่องจากผู้ที่ถูกล่าวหาเป็นผู้บริหารระดับสูงหลายราย นอกจากนั้น จะมีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมด เพื่อดูเรื่องที่เกี่ยวข้องในข้อหาร่ำรวยผิดปกติด้วย
- ล่อซื้อค้นเจอ 5 ล.! ป.ป.ช.-ตร.แถลงด่วนรวบตัวอธิบดีกรมอุทยานฯ คดีเรียกรับเงิน (มีคลิป)
- เก็บหัวละ 2-3 แสน! แถลงพฤติการณ์ 'อธิบดีกรมอุทยานฯ' คดีเรียกเงินวิ่งเต้นแลกไม่โยกย้าย
- พลิกปูม! เส้นทางชีวิต-ทรัพย์สิน 'รัชฎา' อธิบดีกรมอุทยานฯ ก่อนโดนรวบคดีเรียกรับเงิน
- ลับสุดยอด! เปิดปฏิบัติการขู่ทุบลิ้นชัก ล่อซื้อ 'รัชฎา'-บิ๊กตู่ชิงย้ายตัดหน้า ทส.?
ทั้งหมดคือคดีที่น่าจับตาในปี 2566 ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรง รับกระแสเลือกตั้ง หมากการเมืองเพิ่งเริ่มต้น ยังต้องรอสู้กันอีกหลายยก