"...ส่วนข้อร้องเรียนที่เข้ามานั้น ยอมรับว่า สิ่งที่คุณได้ประโยชน์ คงไม่มีใครร้องหรอก พอสิ่งที่คุณเสียประโยชน์ คุณร้อง แต่ถ้าเราทำถูกต้อง แล้วมัวแต่กลัวคนกลุ่มนี้ ประเทศจะเดินต่อไปยังไง ความเจริญก้าวหน้าของประเทศจะเดินอย่างไร..."
เป็นอีกหนึ่งโครงการลงทุนสำคัญของกระทรวงแรงงานที่กำลังถูกจับตามอง
สำหรับโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน วงเงิน 7,950,000,000 บาท
หลังปรากฏข้อมูลว่า มีเอกชนอย่างน้อย 2 ราย ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการจัดประกวดราคาโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 7,950,000,000 บาท ที่มีการกำหนดยื่นซองเสนอในวันที่ 24 พ.ย.2565 ที่ผ่านว่า ในขั้นตอนการกำหนดเงื่อนทีโออาร์ มีลักษณะส่อว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้ได้รับงานหรือไม่ อาทิ กำหนดทีโออาร์ส่อเอื้อประโยชน์ ให้เวลาสาธิตทดสอบระบบ 5 วันหลัง ยื่นซองที่มีลักษณะรีบเร่งผิดปกติวิสัย รวมไปถึงการมีเลือกขอหนังสือรับรองของเฉพาะบางผลิตภัณฑ์เหมือนเป็นการช่วยกีดกันการแข่งขันแล้ว พร้อมขอให้ทำการประเมินการประกวดราคาใหม่ด้วย
เบื้องต้น นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ยังไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ ต่อ สำนักข่าวอิศรา โดยแจ้งว่าจะมีการแถลงข้อเท็จจริงหลังการประมูลเสร็จสิ้น ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณต้นเดือน ธ.ค. 2565
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาที่ไปโครงการฯ นี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นเกี่ยวกับหลักการเหตุผลและวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานโครงการฯ มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ หลักการเหตุผล
ในข้อกำหนดขอบเขตของงาน (Terms of Reference) โครงการฯ นี้ ระบุหลักการเหตุผล ว่า ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การใช้แพลตฟอร์มต่างๆ การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้ระบบอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในหลากหลายมิติ ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อการลดลงของกำลังแรงงานในอนาคต
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงมีการขยายตัวทั้งภาคการลงทุน ภาคโครงสร้างพื้นฐาน ภาคบริการ และภาคการส่งออก โดยในปี 2564 มีคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตทำงานทั้งในระดับฝีมือชำนาญการและระดับทั่วไป ทั่วราชอาณาจักร จำนวนทั้งสิ้น 2,348,913 คน และมีแนวโน้มการเข้ามาทำงานของคนต่างด้าวเพิ่มขึ้น
ซึ่งคนต่างด้าวดังกล่าวเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีส่วนช่วยในการสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ
จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดให้มีการปรับปรุงงานบริการภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้บริการที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และมีข้อมูลขนาดใหญ่ในการบริหารจัดการเพื่อพัฒนาประเทศ
กรมการจัดหางานมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าว ประกอบด้วย การรับคำขอใบอนุญาตทำงาน การต่ออายุใบอนุญาตทำงาน การขอใบแทนใบอนุญาตทำงาน การขอเปลี่ยนรายการในใบอนุญาตทำงาน การแจ้งและเข้าทำงาน การแจ้งคนต่างด้าวออกจากงาน การแจ้งไม่รับคนต่างด้าวเข้าทำงาน การแจ้งไม่ยินยอมเข้าทำงาน และการเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
แต่การให้บริการดังกล่าวยังประสบปัญหาหลายประการ อาทิ
1. สถานที่ให้บริการด้านการทำงานของคนต่างด้าวในหลายพื้นที่ ยังไม่สามารถรองรับการให้บริการได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว
2 การจัดตั้งศูนย์บริการด้านการอนุญาตทำงานให้กับคนต่างด้าวขึ้นเป็นเอกเทศ จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการจัดหาสถานที่ บุคลากร และการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว และทันสมัย
3. กรมการจัดหางานมีระบบสารสนเทศให้บริการด้านการทำงานของคนต่างด้าวหลายระบบ ซึ่งมีระบบการให้บริการผ่าน e- Service เพียงระบบเดียว คือ ระบu Single Window for Visa and Work Permit ที่เป็นโครงการร่วมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการจัดหางาน เท่านั้น
ส่วนระบบการอนุญาตทำงนให้กับคนต่างด้าวระดับฝีมือชำนาญการ และคนต่างด้าวระดับทั่วไป ยังต้องเดินทางมาขอรับบริการด้วยตนเอง ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่
4. มีฐานข้อมูลการอนุญาตทำงานหลายฐานข้อมูล ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ ข้อมูลมีความซ้ำซ้อน และการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
5. กระบวนการตรวจสอบเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในปัจจุบัน ต้องตรวจสอบจากเอกสารหรือหลักฐานจำนวนมากที่คนต่างด้าวยื่นมาพร้อมคำขอ รวมถึงยังไม่มีระบบการยืนยันตัวบุคคลของคนต่างด้าว เช่น ระบบการตรวจสอบอัตลักษณ์ ทำให้ระยะเวลาในการให้บริการออกใบอนุญาตทำงานแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 3 วันทำการนับจากวันที่เอกสารครบถ้วน
6. ปัจจุบันใบอนุญาตทำงานมีหลายรูปแบบ คือ ใบอนุญาตทำงานแบบรูปเล่ม ใบอนุญาตทำงานแบบบัตรพลาสติก ใบอนุญาตทำงานแบบชั่วคราว และใบอนุญาตทำงานแบบดิจิทัล ที่สามารถดูผ่าน Smartphone ได้ ทำให้เกิดความสับสน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น กรมการจัดหางานจึงมีความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพงานให้บริการด้านการทำงานของคนต่างด้าวให้เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยการลดขั้นตอนลดระยะเวลา และการใช้เอกสาร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยการจ้างเหมาเอกชนดำเนินการผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (OutsourcingSevice) ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนงาน ประกอบด้วย กระบวนงานการขอใบอนุญาตทำงาน กระบวนงานการต่ออายุ/ขยายระยะเวลาใบอนุญาตทำงาน กระบวนงานการขอใบแทนใบอนุญาตทำงาน กระบวนงานการขอเปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาตทำงาน กระบวนงานแจ้งการจ้างคนต่างด้าวทำงาน กระบวนงานแจ้งคนต่างด้าวออกจากงาน กระบวนงานแจ้งการส่งมอบคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MoU ให้กับนายจ้าง และกระบวนงานการเพิกถอนใบอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ นายทะเบียนจะเป็นผู้พิจารณาการอนุญาตหรือรับแจ้งการทำงานก่อนที่ผู้รับจ้างจะดำเนินการผลิตใบอนุญาตทำงานหรือออกหนังสือรับแจ้ง รวมถึงการจัดหาที่ตั้งศูนย์ให้บริการใบอนุญาตทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค บุคลากร ตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาให้บริการ มีระบบการยืนยันตัวตนบุคคลของคนต่างด้าว เช่น ระบบการจัดเก็บข้อมูลใบหน้า ข้อมูลม่านตา และลายนิ้วมือ (จัดเก็บอัตลักษณ์) เป็นต้น
ดำเนินการบูรณาการระบบฐานข้อมูลของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรในปัจจุบัน ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกันกับฐานข้อมูลที่เกิดจากการดำเนินโครงการ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด
@ วัตถุประสงค์
การดำเนินงานโครงการฯ กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 3 ข้อหลัก คือ
1. เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีดำเนินการให้บริการรับคำขออนุญาตทำงาน และการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสและตรวจสอบสถานะของการขอรับบริการและข้อมูลการอนุญาตทำงานได้ง่ายและเป็นปัจจุบัน
2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุณภาพการให้บริการ และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการให้บริการการขออนุญาตทำงานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การตรวจสอบสถานะของการทำธุรกรรม การกำหนดนัดหมายให้กับผู้ขอรับบริการด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เหมาะสม ปลอดภัย และเป็นสากล
3. เพื่อจ้างเหมาเอกชนดำเนินการให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวโดยเอกชนเป็นผู้จัดหาสถานที่ให้บริการ บุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม สำหรับการให้บริการและผลิตใบอนุญาตทำงานจำนวน 15 ล้านใบ หรือเมื่อครบระยะเวลา 10 ปี
@ ขอบเขตการดำเนินงาน
กำหนดรายละเอียดขอบเขตการดำเนินงานที่สำคัญไว้หลายส่วน ได้แก่
- ด้านสถานที่บริการ
(1) ผู้รับจ้างต้องดำเนินการจัดหาสถานที่พร้อมทำการปรับปรุง ตกแต่ง และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สำหรับใช้เป็นที่ทำการ และให้บริการของศูนย์บริการและศูนย์กำกับ เพื่อให้บริการตามขอบเขตของงานนี้ ประกอบด้วย
(1.1) ศูนย์บริการใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ประกอบด้วย
- ศูนย์บริการใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 แห่ง
- ศูนย์บริการใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวจังหวัด จำนวน 33 แห่ง โดยมีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ตามที่กำหนด
(1.2) ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง จำนวน 5 แห่ง
(1.3) หน่วยบริการใบอนุญาตทำงานแบบเคลื่อนที่ จำนวนไม่น้อยกว่า 8 หน่วย
(1.4) ศูนย์กำกับและควบคุมการปฏิบัติงาน จำนวน 1 แห่ง
- ด้านใบอนุญาตทำงาน
(1) จัดทำแผนการจัดหาบัตรพลาสติก (Pre- Printed) สำหรับจัดพิมพ์ใบอนุญาตทำงานที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์อเนกประสงค์ การจัดส่งให้ศูนย์บริการ การบริหารคลังจัดเก็บ และแผนสำรอง ตามที่ปริมาณกำหนด เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอรองรับการจัดทำใบอนุญาตทำงานบัตรพลาสติกของศูนย์บริการได้ตลอดระยะเวลา
(2) ในการจัดหาบัตรพลาสติก (Pre-Printed) สำหรับจัดพิมพ์ใบอนุญาตทำงานที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์อเนกประสงค์ เพื่อนำไปจัดพิมพ์เป็นใบอนุญาตทำงานบัตรพลาสติก ต้องออกแบบและจัดทำให้เป็นไปตามรูปแบบ ขนาด และคุณลักษณะเฉพาะ และรูปแบบตัวอย่างตามข้อกำหนด โดยส่งแบบพร้อมตัวอย่างบัตรให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนก่อนดำเนินการจัดทำ
ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินงานช่วงที่ 1 กรณีมีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิ่มเติมรูปแบบ ชนิด ประเภทของใบอนุญาตทำงาน โดยกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องคณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือล่วงหน้า ก่อนการประกาศกำหนดมีผลบังคับใช้ไม่น้อยกว่า 30 วัน ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการปรับเปลี่ยน จัดทำและจัดพิมพ์ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาดำเนินงาน
(3) จัดทำบัตรพลาสติก (Pre-Printed) สำหรับจัดพิมพ์ใบอนุญาตทำงานที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์อเนกประสงค์ ตามแผนการจัดหาให้พร้อมรองรับการเปิดบริการ สำหรับศูนย์บริการทุกแห่ง ตามวันเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดยต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 ใบ เพื่อสำรอง ณ ศูนย์กำกับ จำนวน 250,000 ใบ ส่วนที่เหลือสำหรับศูนย์บริการทั้งหมด
- ด้านบุคลากร
(1) จัดทำแผนจัดหาบุคลากรปฏิบัติงาน และแผนการอบรม เพื่อฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานประจำศูนย์บริการและศูนย์กำกับ รวมทั้งแผนการสำรองบุคลากรที่ปฏิบัติงาน กรณีบุคลากรไม่สามารถปฏิบัติงานตามศูนย์บริการหรือศูนย์กำกับได้ครบถ้วนหรือมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น หรือต้องมีการเพิ่มศูนย์บริการตามความจำเป็นในแต่ละสถานการณ์
(2) ดำเนินการคัดเลือกบุคลากรปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง โดยต้องมีคุณวุฒิ คุณสมบัติตามประเภท ตำแหน่งที่ปฏิบัติงาน และจำนวน สำหรับศูนย์บริการและศูนย์กำกับ ตามข้อกำหนด
(3) ดำเนินการฝึกอบรมการปฏิบัติงาน และจัดให้มีการประเมินความพร้อมเข้าปฏิบัติงานโดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้ว่าจ้างมอบหมายจะสังเกตการณ์ฝึกอบรมและร่วมการประเมินความพร้อมของบุคลากรปฏิบัติงานร่วมกับผู้รับจ้าง ทั้งนี้ ผู้ว่าจ้างอาจให้มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรปฏิบัติงานหากเห็นว่าขาดคุณสมบัติ หรือไม่ผ่านการประเมินความพร้อมปฏิบัติงาน ผู้รับจ้างจะต้องจัดหาทดแทนให้ครบถ้วนก่อนกำหนดการเปิดให้บริการ
ขณะที่ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบคำถามสำนักข่าวอิศรา กรณีเอกชนร้องเรียนการประกวดราคาจ้างผลิตใบอนุญาตทำงานเป็นทางการ
นายสุชาติ ยืนยันว่า เรื่องนี้ต้องให้ทางอธิบดีชี้แจงเหตุผล เพราะตนไม่ได้เป็นคนไปเซ็นอะไรทั้งสิ้น แล้วตนก็เรียกมาตรวจสอบแล้ว เอกชนที่ร้องเรียนมา ทางเอกชนไม่ได้ลงรายชื่อที่จะตอบกลับ และที่ทางเอกชนร้องเรียนมาทุกข้อ กรรมการที่พิจารณา มีทั้งสำนักอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการคุณธรรม ที่เป็นองค์กรอิสระ
"ทั้งหมดทั้งปวง สำหรับเรื่อง การประกวดราคาผลิตใบอนุญาตทำงาน 7.9 พันล้าน มันเป็นเรื่องของการที่เราต้องการให้บุคคลที่มีแรงงานต่างด้าว ไปยื่นตามจุดต่าง ๆ 30-40 ที่ในประเทศไทยในห้างเช่นเดียวกับพาสปอร์ต แล้วมีขั้นตอนบอกด้วยว่าระยะเวลาในการยื่นกี่นาทีเสร็จ รวมถึงค่าใช้จ่ายเท่าไร เป็นต้น"
"ส่วนข้อร้องเรียนที่เข้ามานั้น ยอมรับว่า สิ่งที่คุณได้ประโยชน์ คงไม่มีใครร้องหรอก พอสิ่งที่คุณเสียประโยชน์ คุณร้อง แต่ถ้าเราทำถูกต้อง แล้วมัวแต่กลัวคนกลุ่มนี้ ประเทศจะเดินต่อไปยังไง ความเจริญก้าวหน้าของประเทศจะเดินอย่างไร"
@ สุชาติ ชมกลิ่น / ภาพจากhttps://www.mol.go.th/
นายสุชาติ กล่าวย้ำว่า "เรื่องดังกล่าว ไม่ใช่งบประมาณจากภาษีประชาชน แต่ใช้จากค่าธรรมเนียม เมื่อก่อนเราเก็บค่าธรรมเนียมมา เราก็ต้องจ้างพนักงานทุกจังหวัดรวมเกือบ 1000 คน ข้าราชการก็ไปทำแต่เรื่องแรงงานต่างด้าว การจัดหางาน ว่างงานก็ด้อยลงไป แต่ถ้าเราตัดตรงนี้ออกไป แล้วเราควบคุมแรงงานต่างด้าว เช่น มาประเทศไทยทำงานเก็บลายลักษณ์ ลายนิ้วมือทุกนิ้ว รูปร่างหน้าตา เวลามีเหตุอะไรต่าง ๆ ก็สามารถเชื่อมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทันที แต่ที่ผ่านมาระบบมันทำแบบเดิม ๆ หลาย 10 ปี ให้การจัดหางานจังหวัด เป็นผู้เก็บ ถึงเวลามีเรื่องมีเหตุก็ไม่สามารถดึงข้อมูลมาได้ทั้งหมด แล้วคิดว่าวันนี้แทบที่เราจะค่าใช้จ่ายไปจ้างพนักงาน เราเอาไปจ้างให้คนข้างนอกมาทำ มาควบคุมระบบทั้งหมดดีกว่าไหม"
"แต่จริง ๆ อยากจะบอกว่า ถ้าทำอะไรที่ถูกต้อง ผมบอกข้าราชการ ประโยชน์เกิดกับพี่น้องประชาชน เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ เกิดประโยชน์ประเทศชาติ เราอย่าไปกลัว ถ้าเราไม่ผิดอย่าไปกลัว ถ้าเรากลัวกับคนที่กลัวเสียผลประโยชน์แล้วมาร้อง ประเทศมันจะเดินต่อไม่ได้"
รมว.แรงงาน กล่าวย้ำว่า " ขอยืนยันเลยว่า ทำคำถามสามารถตอบได้ เพราะคณะกรรมร่าง UR เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ทุกคน ของแต่ละกระทรวงมารวมกันร่าง อีกทั้งมีคณะกรรมการคุณธรรม ซึ่งตามร่างกฎหมาย เป็นองค์กรอิสระ เข้ามาฟัง เข้ามาตรวจสอบ ทุกขั้นตอน และอยากจะบอกบริษัทที่เขาร้อง ไม่ว่าจะเป็นข้อต่าง ๆ ที่ร้องมา เขาตอบไปใน TOR แล้วตั้งแต่ประกาศร่างว่า ข้อนี้ไปตามระเบียบข้อไหน ๆ ซึ่งตอบไปหมดแล้ว ที่นี่ต้องให้ความเป็นธรรมข้าราชการด้วย"
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดหลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ และคำชี้แจงจาก รมว.แรงงาน เกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับทราบล่าสุด
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านประกอบ :
- ขอให้ทบทวนใหม่! เอกชนร้องสอบประกวดจ้างผลิตใบอนุญาตทำงาน7.9 พันล.ส่อไม่โปร่งใส-เอื้อปย. (1)
- ชี้หลายเหตุน่ากังวล! เอกชนราย 2 โผล่ร้องเรียนประกวดจ้างผลิตใบอนุญาตทำงาน 7.9 พันล.ด้วย (2)
- ไม่ใช่ผู้มีอำนาจลงชื่อรับรอง! 'สุชาติ' ตอบปมร้องผลิตใบอนุญาตทำงาน7.9 พันล.ให้ถามอธิบดี (3)
- ตามคุ้ยจ้างเหมาผลิตใบอนุญาตทำงาน7.9 พันล. เอกชนซื้อซองเพียบ 29 ราย เสนอราคาแค่ 3 เจ้า (4)