งานเข้า!ประกวดราคาจ้างเหมาผลิตใบอนุญาตทำงาน 7.9 พันล้าน กรมจัดหางาน โดนเอกชนร้องสอบปัญหาไม่โปร่งใส กำหนดทีโออาร์ส่อเอื้อประโยชน์บางเจ้า ให้เวลาสาธิตทดสอบระบบ 5 วันหลังยื่นซองรีบเร่งผิดปกติวิสัย แถมมีเลือกขอหนังสือรับรองเฉพาะบางผลิตภัณฑ์เหมือนช่วยกีดกันการแข่งขัน จี้ขอกระทรวงแรงงานให้ทบทวนใหม่
การประกวดราคาจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 7,950,000,000 บาท ที่มีการกำหนดยื่นซองเสนอในวันที่ 24 พ.ย.2565 ที่จะถึงนี้
กำลังถูกจับตามอง ว่าในขั้นตอนการกำหนดเงื่อนทีโออาร์ มีลักษณะส่อว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้ได้รับงานหรือไม่
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงแรงงาน ว่า ในช่วงกลางเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา มีเอกชนได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการจัดประกวดราคาโครงการฯ นี้ ใน 3 ประเด็น คือ
1. ตามเอกสารประกาศในข้อ 4.7 “ผู้ยื่นข้อเสนอที่ยื่นข้อเสนอครบถ้วน ถูกต้อง และผ่านเกณฑ์คุณสมบัติตามที่กรมกำหนดไว้ในประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์เข้าทำการสาธิตการทดสอบระบบ ตามข้อกำหนดการสาธิตและทดสอบระบบ (Proof of Concept : POC) ในภาคผนวก จ.2 โดยคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์จะดำเนินการทดสอบระบบให้แล้วเสร็จพร้อมแจ้งผลการทดสอบเบื้องต้นให้ผู้ยื่นข้อเสนอทราบภายใน 5 วันทำการ นับถัดจากวันยื่นข้อเสนอและเสนอราคาทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์”
แต่มีข้อสังเกต คือ การให้เวลาผู้เข้าร่วมประมูลโครงการซึ่งมีมูลค่าถึง 7,950,000,000 บาท ในการสาธิตและทดสอบระบบ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันยื่นข้อเสนอ ด้วยระบบงานที่ต้องพัฒนาใหม่ทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความรีบเร่งในการทำโครงการอย่างผิดปกติวิสัย และอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ ผู้เข้าร่วมประมูลรายใดรายหนึ่ง
2. เอกสารข้อกำหนด ภาคผนวก ก 4-21 “ทั้งนี้ ซอฟต์แวร์และระบบบริหารจัดการจัดการดังกล่าวใน ข้อ 3.1-3.6, 3.7.1, 3.9 และ 3.10 ผู้ยื่นข้อเสนอต้องได้รับการรับรองจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือสาขาของผู้ผลิตในประเทศไทย ให้การรับรองสนับสนุนการบริการ รวมทั้งการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพ (Upgrade Software) (ถ้ามี) ตลอดระยะเวลาดำเนินงานตามโครงการ โดย ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องแนบหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นเอกสารในการยื่นข้อเสนอด้วย”
ข้อสังเกต คือ การขอหนังสือรับรองเป็นเอกสารจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ หรือ สาขาของผู้ผลิตในประเทศไทย นั้น ทำไมข้อกำหนดถึงไม่ระบุให้ต้องขอหนังสือรับรองทุกผลิตภัณฑ์ที่เสนอ แต่เลือกที่จะขอเฉพาะบางผลิตภัณฑ์ ตามข้อ 3.1-3.6 โดยที่
3.1 ซอฟแวร์บริหารจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ สำหรับศูนย์ข้อมูลหลัก
3.2 ซอฟแวร์บริหารจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ สำหรับศูนย์ข้อมูลสำรอง
3.3 ซอฟแวร์ควบคุมข้อมูล สำหรับศูนย์ข้อมูลหลัก
3.4 ซอฟแวร์ควบคุมข้อมูล สำหรับศูนย์ข้อมูลสำรอง
3.5 ซอฟแวร์สนับสนุนการทำงานโปรแกรมประยุกต์
3.6 ซอฟแวร์สนับสนุนการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล
จากรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ เป็นคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Oracle เพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น
3.9 ระบบป้องกันเครือข่าย ตรวจจับภัยคุกคาม และ Log Management นั้น จากรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ เป็นคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Palo Alto Network เพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น
3.10 ระบบ Web Application Firewall นั้น จากรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ เป็นคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ Imperva เพียงยี่ห้อเดียวเท่านั้น
โดยที่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ควรจะต้องมีอย่างน้อย 3 ผลิตภัณฑ์ที่สามารถ ผ่านข้อกำหนดได้
"เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งบประมาณ และความโปร่งใส กรมการจัดหางาน และกระทรวงแรงงานคงต้องทบทวน รายละเอียดในการประมูล เพื่อมิให้เกิดการผูกขาด และเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทการแข่งขันโปร่งใส ส่งผลลดงบประมาณภาครัฐ เช่น งาน e-passport กระทรวงการต่างประเทศ จาก 12,438 ล้านบาท -> 7,463 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณเกือบ 5 พันล้านบาท และยังได้ของดีมีคุณภาพ" แหล่งข่าวระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ภายหลังได้รับทราบข้อร้องเรียนจากเอกชนรายดังกล่าว กำลังพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้าน หากมีความคืบหน้าจะรีบนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบโดยเร็วที่สุด