โผล่อีก! เอกชนรายที่ 2 รายใหญ่ต่างชาติ ทำหนังสือร้องเรียนปัญหาประกวดราคาจ้างเหมาผลิตใบอนุญาตทำงาน 7.9 พันล้าน กรมการจัดหางานด้วย ชี้มีความน่ากังวลในขั้นตอนการดำเนินงาน ทำประชาพิจารณ์แบบเปิด 2 ครั้ง-ประกาศ TOR ระยะเวลาห่างกันแค่เพียง 2 สัปดาห์ หลายคำถามที่สนใจยังไม่ได้รับคำตอบ เสนอแนะหนักแน่นขอให้ทำการประเมินประกวดราคาจ้างใหม่-ด้าน อธิบดีไพโรจน์ ยังไม่ชี้แจงเหตุติดภารกิจ ตจว.ให้ 'อิศรา'ติดต่อใหม่พรุ่งนี้
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวกรณีเอกชนทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการจัดประกวดราคาโครงการจ้างเหมาเอกชนผลิตใบอนุญาตทำงาน และให้บริการรับคำขอและการแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว (Outsourcing Service) กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 7,950,000,000 บาท ที่มีการกำหนดยื่นซองเสนอในวันที่ 24 พ.ย.2565 ที่จะถึงนี้ ว่า ในขั้นตอนการกำหนดเงื่อนทีโออาร์ มีลักษณะส่อว่าจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นผู้ได้รับงานหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวกระทรวงแรงงานเพิ่มเติมว่า นอกจากเอกชนรายแรกที่ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการจัดหางาน ในช่วงกลางเดือนพ.ย.2565 ที่ผ่านมา เพื่อร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการจัดประกวดราคาโครงการฯ อาทิ กำหนดทีโออาร์ส่อเอื้อประโยชน์ ให้เวลาสาธิตทดสอบระบบ 5 วันหลัง ยื่นซองที่มีลักษณะรีบเร่งผิดปกติวิสัย รวมไปถึงการมีเลือกขอหนังสือรับรองของเฉพาะบางผลิตภัณฑ์เหมือนเป็นการช่วยกีดกันการแข่งขันแล้ว
ยังมีเอกชนรายที่สอง ที่ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เพื่อร้องเรียนปัญหาในการจัดประกวดราคาโครงการฯ พร้อมขอให้ทำการประเมินการประกวดราคาใหม่ด้วย
โดยหนังสือร้องเรียนบริษัทเอกชนรายที่ 2 ระบุว่า ด้วยความเคารพต่อตัวแทนกรมการจัดหางาน บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะเรียนถึงความน่ากังวลเกี่ยวกับการประกวดราคาจ้าง
ด้วยบริษัทเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงระดับโลกในด้านความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อมูลการระบุตัวตนและข้อมูลชีวมาตร โดยสามารถอ้างอิงได้จากโครงการที่ผ่านมาของบริษัทในประเทศไทย อีกทั้งบริษัทยังมีความมั่นคงทางการเงินระดับสูงส่งผลให้บริษัทเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการจัดหารายละเอียดตามโครงการที่ครอบคลุม มีความสามารถในการแข่งขัน และมีความเสี่ยงที่ต่ำสำหรับโครงการที่มีความซับซ้อน งบประมาณสูง และมีกลวิธีของโครงการที่สัมพันธ์กัน
อย่างไรก็ตาม หลังจากการวิเคราะห์ TOR และระยะเวลาในการจัดการอย่างรอบคอบ ทั้งยังมีการปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะของเราแล้ว
บริษัทพบว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนี้ เป็นไปอย่างเร่งรีบผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใน 3 ประเด็นหลัก คือ
1. ประชาพิจารณ์แบบเปิดทั้ง 2 ครั้ง และการประกาศ TOR นั้นมีระยะห่างกันเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สั้นมากสำหรับแต่ละระยะ
2. ประชาพิจารณ์แบบเปิดครั้งที่ 2 นั้นมีการประกาศ TOR ก่อนที่กรมการจัดหางานจะตอบคำถามซึ่งมีการนำส่งอย่างเป็นทางการจากบริษัทที่มีความสนใจเข้าร่วมการประกวดราคาเกี่ยวกับโครงการ
3. คำถามส่วนใหญ่ที่บริษัทที่มีความสนใจเข้าร่วมการประกวดราคาเกี่ยวกับ TOR นั้น ยังไม่ได้รับคำตอบ
หนังสือร้องเรียนบริษัทฯ รายนี้ ยังระบุด้วยว่า ภายใต้กระบวนการประกวดราคาที่ไม่ปกตินี้ บริษัทจะไม่อยู่ในฐานะที่จะยื่นข้อเสนอที่น่าเชื่อถือต่อกรมการจัดหางาน ทั้งยังเห็นว่าข้อจำกัดเดียวกันนี้จะส่งผลกระทบต่อบริษัทระดับโลกอื่นๆ ที่สนใจในการประกวดราคา
"ด้วยเหตุผลข้างต้น และเพื่อผลประโยชน์ของกรมการจัดหางานที่จะได้รับข้อเสนอที่หลากหลาย และก่อให้เกิดการแข่งขันจากผู้เสนอราคาที่มีความเชี่ยวชาญและมีชื่อเสียง บริษัทขอเรียนแจ้งข้อเสนอแนะที่หนักแน่นให้แก่กรมการจัดหางาน ให้ทำการประเมินการการประกวดราคาจ้างใหม่อีกครั้ง ด้วยกรอบระยะเวลาที่สอดคล้องและสามารถปฏิบัติได้จริง ให้เป็น 3 เดือน หลังจากที่มีการออก TOR และมีการสื่อสารแบบเปิดกับกรมการจัดหางานเกี่ยวกับรายละเอียดทางเทคนิค ตัวโครงการ ข้อกำหนดการสาธิตการทดสอบระบบ และความเป็นไปได้เกี่ยวกับการจัดตั้งกิจการค้าร่วม" หนังสือร้องเรียนระบุ
@ นายไพโรจน์ โชติกเสถียร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยังนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
แต่ นายไพโรจน์ แจ้งว่า วันนี้ไม่สะดวกติดภารกิจที่ต่างจังหวัด ขอให้ติดต่อมาใหม่วันพรุ่งนี้ (24 พ.ย.65)
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป