“…กกท.ต้องดำเนินการจัดสรรโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ร่วมกับกองทัพบกและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ให้แก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ…”
................................
หลังจากตัวแทน สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีการจัดสรรสิทธิ์ในการแพร่ภาพการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022
โดยเฉพาะกรณีที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้จัดสรรสิทธิ์การแพร่ภาพการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้กับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) จำนวน 32 แมทช์ จากทั้งหมด 64 แมทช์ โดยได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่านทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์มแบบ exclusive อีกทั้งได้สิทธิ์เลือกคู่แข่งขัน และยังได้ ‘นาทีโฆษณา’ จากช่องทีวีดิจิทัลที่ร่วมถ่ายทอดฯ ว่า
มีความถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่
เพราะแม้ว่า TRUE จะเป็นผู้สนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้กับ กกท. เป็นเงิน 300 ล้านบาท แต่เงินเกือบ 50% หรือ 600 ล้านบาท ที่นำไปซื้อลิขสิทธิ์ฯครั้งนี้ (ค่าลิขสิทธิ์ 1,400 ล้านบาท) มาจากเงิน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)
กระทั่งล่าสุดวันที่ 22 พ.ย. กสทช.ได้หารือกับ กกท. และมีข้อสรุปว่าจะขอความร่วมมือจาก TRUE ให้คืนโควตาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 16 แมทช์ กลับมายัง กกท. ก่อนนำไปจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัลเพื่อทำการถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน (อ่านประกอบ : 'กกท.' แจงปม TRUE ยิงสดฟุตบอลโลก 32 แมทช์-แจ้ง IPTV ยื่นขอสิทธิ์ถ่ายทอดผ่าน'มือถือ')
ขณะที่ในวันเดียวกัน กลุ่มทรู (TRUE) ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า กลุ่มทรูพร้อมมอบสิทธิ์เปิดให้ช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ ได้ออกอากาศการแข่งขัน 16 แมทช์ของฟุตบอลโลก 2022 คู่ขนานกับ ‘ช่องทรูโฟร์ยู’
“ทรู (TURE) ยังพร้อมมอบสิทธิ์เปิดให้ช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ ได้ออกอากาศการแข่งขัน 16 แมทช์ของฟุตบอลโลก 2022 คู่ขนานกับช่องทรูโฟร์ยูในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ซึ่งรวมถึงแมทช์แรก เกมเปิดสนาม และแมตช์สุดท้ายคู่ชิงชนะเลิศที่จะเป็นการถ่ายทอดสดคู่ขนานกับ ช่อง T Sport 7” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์กลุ่มทรู เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2565 ระบุ
(ตัวแทน สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เข้ายื่นหนังสือต่อ กสทช. เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีการจัดสรรสิทธิ์ในการแพร่ภาพการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565)
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับขอบเขตและอำนาจของ กสทช. ในฐานะผู้สนับสนุนเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยเฉพาะการจัดสรรสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ และบทบาทหน้าที่ของ กกท. ว่าเป็นอย่างไร นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดของ ‘บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022’ ระหว่างสำนักงาน กสทช. และ กกท. โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@‘ประชาชนทั่วไป-ด้อยโอกาส’ ต้องได้ดูบอลโลก-หนุนค่าใช้จ่ายไม่เกิน 600 ล.
ข้อ 1 วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปและคนด้อยโอกาสสามารถรับชมและเข้าถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย)
1.2 ผู้รับอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. สามารถถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้โดยชอบด้วยกฎหมายภายใต้ประกาศ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปและคนด้อยโอกาสสามารถรับชมและเข้าถึงรายการดังกล่าว
ข้อ 2 กิจกรรมความร่วมมือ
2.1 สำนักงาน กสทช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ที่เกิดขึ้นจริงภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 600 ล้านบาท โดยสำนักงาน กสทช. และ กกท. จะร่วมกันกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขการจ่ายเงินต่อไป และสำนักงาน กสทช. จะส่งมอบค่าใช้จ่ายให้ กกท. เมื่อได้รับการร้องขอ ภายหลังที่ กกท. ได้รับคำยืนยันให้เข้าทำสัญญาการซื้อขายลิขสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษรหรือลงนามในสัญญากับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) แล้ว
2.2 กกท. รับรองว่าจะดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสด เผยแพร่ หรือทำซ้ำ ซึ่งภาพและเสียงการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ซึ่งจะต้องครอบคลุมการออกอากาศผ่านกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ทุกประเภทที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. หรือสำนักงาน กสทช. ตามที่กำหนดในภาคผนวกท้ายบันทึกข้อตกลงนี้
@คุม ‘กกท.’ จัดสรรสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้ ‘ผู้รับใบอนุญาต’ อย่างเท่าเทียม-เป็นธรรม
2.3 กกท.ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) โดยการถ่ายทอดสดรายการการแข่งขันดังกล่าว กกท. ต้องดำเนินการร่วมกับกองทัพบก และโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ผ่านศูนย์ถ่ายทอดสดและรายงานข่าวการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ของ กกท. ซึ่งต่อไปในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ เรียกว่า “ศูนย์ถ่ายทอดสดฯ” ตลอดระยะเวลาที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอสโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย)
2.4 กกท. ตกลงและยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลที่ประสงค์จะเข้าร่วมการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ถ่ายทอดสดหรือออกอากาศรายการย้อนหลัง เมื่อเสร็จสิ้นการถ่ายทอดสดในแต่ละช่วงเวลาไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมงในวันเดียวกันกับการแข่งขันตามสิทธิที่ กกท. มีอยู่ในขณะที่ทำบันทึกข้อตกลงนี้ หรือจะจัดให้มีในภายหลัง
ทั้งนี้ กกท. มีสิทธิบริหารจัดการสิทธิ์ที่ได้รับจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ได้ตามเงื่อนไขที่ กกท. กำหนด อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
2.5 กกท.ต้องดำเนินการจัดสรรโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ร่วมกับกองทัพบกและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ให้แก่ผู้รับอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
2.6 สำนักงาน กสทช. มีสิทธิตรวจสอบการจัดสรรโปรแกรมการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ตามที่ กกท. ดำเนินการได้ตลอดเวลา โดยสำนักงาน กสทช. สงวนสิทธิในการสั่งให้แก้ไข หรือปรับเปลี่ยนเพื่อความเท่าเทียม เป็นธรรม กับผู้รับอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ได้
2.7 กกท. หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแทน จะดำเนินการโฆษณา รณรงค์หรือประชาสัมพันธ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ให้ประชาชนได้รับทราบเป็นการทั่วไป
@ต้องส่ง ‘รายได้’ หลังหัก ‘ค่าใช้จ่าย’ คืนกองทุน ‘กทปส.’ ตามสัดส่วน
2.8 กกท. ตกลง ยินยอม หรือดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สำนักงาน กสทช. หรือผู้รับใบอนุญาตภายใต้กำกับของ กสทช.และ สำนักงาน กสทช. ได้สิทธิในการแพร่ภาพแพร่เสียงการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ซึ่งรวมถึงสิทธิต่างๆ ดังต่อไปนี้
(1) สิทธิในการแพร่ภาพ แพร่เสียง และสิทธิในการบริหารสิทธิประโยชน์ในทางพาณิชย์จากการแพร่ภาพ แพร่เสียงในประเทศไทยภายใต้การบริหารสิทธิของ กกท. ตามเงื่อนไขระหว่าง กกท. กับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) หากมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว กกท. จะมอบเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายสมทบกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามสัดส่วนที่ได้รับการสนับสนุน
ทั้งนี้ ให้นำส่งรายงานสรุปรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมรายงานการตรวจสอบและแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และสำเนาใบอนุญาตของผู้สอบบัญชีที่ออกโดยสภาวิชาชีพบัญชี โดยให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
(2) สิทธิในการแพร่ภาพ แพร่เสียงในประเทศไทย แบบไม่จำกัดจำนวนการรับส่งสัญญาณผ่านช่องทางและระบบ หรือรูปแบบการออกอากาศ ตลอดระยะเวลาที่กำหนดในข้อ 4
(3) สิทธิในการเผยแพร่ซ้ำ บันทึก แก้ไข ตัดทอน เพิ่มเติม หรือผลิตช้ำรายการที่ได้เคยมีการบันทึกไว้แล้ว เช่น เพลง คำบรรยาย บทสัมภาษณ์ stock ฟิล์ม หรือภาพยนตร์ลงในวัสดุอื่นๆ รวมถึงการนำออกเผยแพร่ช้ำ ลบ ตัด ต่อ เปลี่ยนแปลงในการรายงานข่าวตลอดช่วงเวลาการแข่งขัน
(4) สิทธิในการใช้ตราสัญลักษณ์ของการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
(5) สิทธิในการใช้เทปบันทึกการแข่งขัน (Archive Footage) ทรัพย์สิน และ Theme การแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
(6) สิทธิในการแพร่ภาพ แพร่เสียง โดยให้มีการออกอากาศผ่านผู้รับอนุญาตหรือผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ในประเทศไทย ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ
(7) สิทธิในการใช้ตราสัญลักษณ์ของสำนักงาน กสทช. ร่วมกับสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ในฐานะ “ผู้สนับสนุนการถ่ายทอดหลักอย่างเป็นทางการ” ตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในการใช้ตราสัญลักษณ์และการจัดกิจกรรมการตลาดที่เกี่ยวข้อง
(8) สิทธิในรายการพิเศษ การรายงานข่าว รายการสกู๊ปข่าว การรายงานผลการแข่งขันการวิเคราะห์เกมการแข่งขัน การผลิตสารคดี และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
(9) สิทธิในการได้รับบัตรเข้าชมการแข่งขันในจำนวนที่เหมาะสม
(10) สิทธิอื่นใดตามที่ปรากฎในเงื่อนไขหรือสัญญาให้สิทธิ์ที่ กกท. ได้ทำกับสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ หาก กกท. สละซึ่งสิทธิใดๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น จะไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของสำนักงาน กสทช. และผู้ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด โดย กกท. จะดำเนินการเพื่อให้สำนักงาน กสทช.และผู้ที่เกี่ยวข้องยังคงได้รับหรือสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นได้มีการทำความตกลงกันระหว่าง กกท. และ สำนักงาน กสทช. ไว้ก่อนหน้าก่อนที่จะได้มีการสละซึ่งสิทธิใดๆ
@ให้ ‘กกท.’ เจรจา ‘สรรพากร’ ขอยกเว้นไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%
2.9 ในกรณีที่ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จำนวน 64 นัด หรือนัดหนึ่งนัดใดภายในปี พ.ศ.2565 ให้ กกท. ดำเนินการเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการคืนเงินสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันดังกล่าวทั้งหมด หรือเฉพาะนัดที่ไม่มีการแข่งขันนั้นให้กับสำนักงาน กสทช.
ทั้งนี้ ตามสัดส่วนของมูลค่าลิขสิทธิ์ในนัดนั้นๆ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA)
2.10 กกท. จะดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศหลักเกณฑ์ และระเบียบที่ กสทช. กำหนด รวมถึงมติที่ประชุม กสทช. ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่และที่จะมีต่อไปในภายหน้า
2.11 กกท. จะดำเนินการประสานกับกรมสรรพากร เพื่อขอยกเว้นไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนร้อยละ 7 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร
ข้อ 3 การปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมบันทึกข้อตกลง
การปรับปรุง แก้ไข หรือเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงนี้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องได้รับความเห็นชอบจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนจึงทำเป็นบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้าย และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงนี้
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จัดทำขึ้นสองฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันทุกประการทั้งสองฝ่ายได้ทราบและเข้าใจข้อความโดยตลอดดีแล้ว จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยานโดยต่างฝ่ายต่างยึดถือไว้ฝ่ายละฉบับ
ข้อ 4 กรอบระยะเวลาความร่วมมือ และการยกเลิกบันทึกข้อตกลง
บันทึกข้อตกลงนี้ มีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2565 หรือตามที่สำนักงาน กสทช. และ กกท. จะได้ตกลงร่วมกันให้สอดคล้องกับการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ภายใต้เงื่อนไขที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ซึ่งต่อไปในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้จะเรียกว่า “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA)” กำหนด
การยกเลิกหรือขยายระยะเวลาความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงนี้ ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
ในกรณีบันทึกข้อตกลงนี้สิ้นสุดลง ให้กิจกรรมภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ที่ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างดำเนินงานดำเนินการต่อไปได้ เว้นแต่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่น
ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ และฝ่ายที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือได้มีหนังสือบอกกล่าวให้ฝ่ายที่ไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว แต่ฝ่ายที่ได้รับหนังสือบอกกล่าวไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ฝ่ายที่มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมีสิทธิบอกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ได้
ข้อ 5 การบอกกล่าว
บรรดาคำบอกกล่าวหรือการให้ความยินยอมหรือเห็นชอบใดๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ ต้องทำเป็นหนังสือและจะถือได้ว่าส่งไปโดยชอบแล้ว เมื่อได้จัดส่งไปยังที่อยู่ของอีกฝ่ายหนึ่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e - mail) หรือมีการนำส่งแก่ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของแต่ละฝ่าย...
@ให้อำนาจ ‘สำนักงาน กสทช.’ ติดตาม-ประเมินผลการดำเนินการ-กิจกรรม
ข้อ 6 การตรวจสอบติดตามและประเมินผล
6.1 สำนักงาน กสทช. สามารถตรวจสอบการดำเนินการ กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการใช้จ่ายเงินที่ให้การสนับสนุนในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ตามบันทึกข้อตกลงนี้
ทั้งนี้ หากปรากฏว่า มีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่สอดคล้อง ไม่เป็นไปตามที่กำหนด หรือขัดต่อวัตถุประสงค์ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กฎหมาย ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง กกท.จะต้องดำเนินการระงับหรือแก้ไขให้สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กฎหมาย ระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ในทันทีที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน กสทช.
6.2 กกท.จะต้องนำส่งแผนกำหนดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) โดยการแข่งขันในรอบแรกต้องนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วัน ก่อนเริ่มการแข่งขัน และรอบการแข่งขันอื่น ๆ จะต้องนำส่งให้สำนักงาน กสทช. ทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มการแข่งขัน หรือในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขกำหนดการภายหลัง ให้ กกท. แจ้งสำนักงาน กสทช.ทันทีที่รับทราบการเปลี่ยนแปลงกำหนดการดังกล่าว รวมทั้งจะต้องสรุปผลการถ่ายทอดสดให้สำนักงาน กสทช. ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่การแข่งขันเสร็จสิ้น
ข้อ 7 เหตุสุดวิสัย
ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัยหรือเหตุใดๆ หรือมีพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่ กกท. ไม่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย หรือทำให้ กกท. ไม่สามารถดำเนงานให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขและข้อกำหนดเวลาแห่งบันทึกข้อตกลงนี้ได้
กกท. มีสิทธิขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงนี้ออกไปได้เท่ากับระยะเวลาที่เสียไปเนื่องจากเหตุหรือพฤติการณ์ดังกล่าว โดย กกท. จะแจ้งเหตุหรือพฤติการณ์เป็นหนังสือให้สำนักงาน กสทช. ทราบทันที่เมื่อเหตุหรือพฤติการณ์นั้นสิ้นสุดลง
ข้อ 8 ข้อสงวนสิทธิ
8.1 หาก กกท. ไม่สามารถดำเนินการหรือมีเหตุการณ์ใดอันเป็นเหตุให้ กกท. ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงนี้ สำนักงาน กสทช. ขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกการสนับสนุนค่าใช้จ่าย รวมถึงมีสิทธิเรียกคืนเงินใดๆ ที่ได้สนับสนุนไปแล้วคืนจาก กกท. โดย กกท.จะต้องชำระคืนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
8.2 หาก กกท. ได้รับการสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์จากหน่วยงานใดๆ เป็นจำนวนเงินที่ครอบคลุมหรือเกินกว่าค่าลิขสิทธิ์ที่ กกท. ต้องชำระให้แก่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) สำนักงาน กสทช. ขอสงวนสิทธิ์ไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 (รอบสุดท้าย) ตามบันทึกข้อตกลงนี้ โดยหาก กกท. ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงาน กสทช. ตามบันทึกข้อตกลงนี้แล้วกกท. จะชำระเงินคืนให้แก่สำนักงาน กสทช. ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
เหล่านี้เป็นรายละเอียดของ ‘บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022’ ระหว่างสำนักงาน กสทช. และ กกท. และต้องติดตามกันต่อไปว่า กกท.จะมีการจัดสรรสิทธิ์การแพร่ภาพถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้ ‘ทีวีดิจิทัล’ เพิ่มเติมอย่างไรต่อไป!
อ่านประกอบ :
‘กลุ่มทรู’ มอบสิทธิ์ ‘ทีวีดิจิทัล’ ร่วมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 แบบคู่ขนาน 16 แมทช์
'กกท.' แจงปม TRUE ยิงสดฟุตบอลโลก 32 แมทช์-แจ้ง IPTV ยื่นขอสิทธิ์ถ่ายทอดผ่าน'มือถือ'
'สมาคมโทรทัศน์ดิจิตอล' ร้อง กสทช.จัดสรรบอลโลกไม่เป็นธรรมหลัง 'ทรู' ได้สิทธิ์ 32 แมทช์
ฉายบอลโลกได้ข้อสรุปแบบเฉพาะหน้า! ตัวแทนสมาคมทีวีเผยต้องจับสลากแบ่งตารางถ่ายทอดสด
ดราม่าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ใครคือต้นเหตุ?
เจาะลึก บ.อินฟรอนท์ นายหน้าลิขสิทธิ์บอลโลก 1.6 พันล.-หลานอดีต ปธ.ฟีฟ่านั่ง CEO
'จะให้ได้ราคาเหมาะสมที่สุด'-'ก้องศักด' ขอคำแนะนำฟีฟ่า หลังเจรจานายหน้าบอลโลกไม่ลงตัว
‘กสทช.-กกท.’ เซ็น MOU สนับสนุนเงิน ‘กทปส.’ 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ฯถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก
เบื้องลึก 'มติ กสทช.' เคาะ 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก-'เสียงข้างน้อย' เตือนขัด กม.
มติ 4 ต่อ 2 เสียง ! ‘กสทช.’อนุมัติใช้เงิน‘กทปส.’ 600 ล. สนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก
‘ก้าวไกล’ แนะใช้งบกลางซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ยื่นศาล ปค.ถอนมติควบรวม ทรู-ดีแทค
พิรงรอง รามสูต : 6 ประเด็นชวนคิด กรณีใช้เงิน 1.6 พันล้าน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก
1.6 พันล้าน แพงไปหรือไม่? เทียบค่าซื้อลิขสิทธิ์‘บอลโลก’ ‘บิ๊ก กกท.’ต่อรอง‘ฟีฟ่า’ลดราคา
สั่งศึกษากม.ทำได้หรือไม่! ‘กสทช.’ตีกลับข้อเสนอ‘บิ๊กป้อม’ใช้ 1.6 พันล.ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก