"...จะยกเลิก must have must carrry ก็เริ่มดำเนินการเถอะ ยิ่งไม่มีกฎ must have must carry จะยิ่งทำให้ เอกชนกล้าที่จะซื้อลิขสิทธิ์ และประชาชนมีทางเลือกที่จะเลือกรับชม แต่อาจจะมีเงื่อนไขว่า เอกชนที่ซื้อลิขสิทธ์มาต้องอนุญาตให้ ถ่ายทอดสดผ่านสื่อของรัฐ ได้บางแมทช์ ซึ่งไม่ควรมากเท่ากับสื่อทีวี หรือ platform digital ของสื่อเอกชนก็เป็นได้ ที่เหลือก็ปล่อยให้ธุรกิจสื่อเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะในโลกนี้ ยังมีอะไรอีกมากที่เราควรเรียนรู้ และเข้าใจ ส่วนหน่วยงานรัฐ เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย ก็ต้องบรรจุแผนงาน 4 ปีไว้ล่วงหน้า..."
ยังเป็นดราม่า มาตลอด1-2เดือน กรณีที่ประเทศไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดมหกรรมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 21 พฤติกายน -18 ธันวาคม 2565 ณ ประเทศกาตาร์ โดยมีทีมฟุตบอลเข้าร่วม 32 ทีม ได้หรือไม่
เรามาดูกันว่า เหตุใดฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นทุก 4 ปี จึงมีมูลค่า brand และความนิยมสูง
ความจริงแล้ว ในมหกรรมกีฬาที่มวลมนุษยชาติ สนใจทั้งหมด 10 รายการ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่คนนับพันล้านคนสนใจนั้น มีฟุตบอลโลกรวมอยู่ในtop ten นี้ ด้วย มหกรรมกีฬาที่ผู้คนนิยมเรียงตามลำดับผู้ชมทางTv สูงสุด( Most popular TV broadcasting) ประกอบด้วย
อันดับ 1 : Tour de France การแข่งขันจักรยานทางไกล ตูร์เดอฟรองค์ ทุกปีจะมีผู้ชมติดตามการแข่งขันทางโทรทัศน์ 3.5 พันล้านคน ตลอด1เดือนของการแข่งขัน
อันดับ 2 : World Cup of Football มีผู้ชมมากถึง3.3 พันล้านคน เท่ากับมีผู้ชมครึ่งหนึ่งของประชากรบนโลก อันนี้เป็นสถิติจากฟุตบอลโลกที่รัสเซีย คราวที่แล้วนะครับ แต่ปีนี้มีทีมเข้าแข่งขันถึง 32 ทีม มีประเทศที่ขอซื้อลิขสิทธิ์ 226 ประเทศ สถิติผู้ชมจึง อาจมากกว่าครั้งที่แล้ว เพราะมีplatform digital online ให้ชมมากขึ้น ส่วนในปี 2026 จะเพิ่มเป็น 48 ทีมน่าจะมีผู้ชมเพิ่มขึ้นอีก
อันดับ 3 : cricket worldcup มีผู้ชม 2.6 พันล้านคน กีฬาประเภทนี้ ประเทศในกลุ่มเอเชียใต้คือ อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และกลุ่มจักรภพอังกฤษ นิยมชมการแข่งขัน เฉพาะในอินเดีย มีประชากรแตะพันล้านคน ตัวเลขจึงขยับสูงเป็นอันดับ 3
อันดับ 4 : มหกรรมกีฬาโอลิมปิค ฤดูร้อนที่เรียกว่า summer Games มีผู้ชมการถ่ายทอดสด 2 พันล้านคน และครั้งต่อไปจะแข่งที่ Paris France วันที่ 26 กค-11 สค 2024
อันดับ 5 : มหกรรมกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว มีผู้ชมการถ่ายทอดสด 2 พันล้านคน ซึ่งครั้งต่อไป จะจัดที่ Milano cortina Italy 6-22 ก.พ.2026 กีฬาโอลิมปิคทั้งสองแบบ มีผู้ชม 1 ใน 4 ของประชากรโลก
อันดับ 6 : woman World Cup ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก มีผู้ชม1.12 พันล้านคน ฟุตบอลหญิง ได้รับความนิยมเร็วมาก เพียงไม่กี่ปี จำนวนผู้ชมที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล ก็หันมาเชียร์ทีมหญิง แตะพันล้านคน และเนื่องจากมีทีมจากเอเชียเข้ารอบลึกๆได้ด้วย ก็ยิ่งทำให้ผู้ชมจากเอเชียเริ่มชมมากขึ้น ฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก ครั้งต่อไป จัดที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์วันที่ 20กค-20 สค 2023
อันดับ 7 : Boxing มวยชิงแชมปโลก มีผู้ชม 1 พันล้านคน ยิ่งถ้าเป็นยุคที่นักชกชื่อดัง กำลังรุ่งเรืองหลายคนพร้อมๆกัน ก็ยิ่งทำให้แฟนหมัดมวย รอชมทางทีวีตลอด เช่น ไมค์ ไทสัน, ชูการ์เลย์ เลียวนารด์, ฟลอย เมเวตเทอร์, มูฮัมหมัด อาลี ,ออสการ์ เดอลาโฮย่าและมายุคหลัง เช่น แมนนี่ ปาเกียว เป็นต้น
อันดับ 8 : UEFA Champion League มีผู้ชม 380 ล้านคน จำนวนคนดูต่ำกว่าพันล้านคน เพราะ มีทีมฟุตบอลเฉพาะสโมสรอาชีพในยุโรป และมีแข่งกันทุกปี
อันดับ 9 : Super Bowl มหกรรมแชมป์อเมริกันฟุตบอลซึ่งเสนห์ของการแข่งขันนี้ และทำให้ผู้ชมติดตามชมคือ Haft time show ซึ่งเชิญศิลปินนักร้องระดับโลกและระบบแสงสีตระการตา มาแสดงช่วงพักครึ่ง ทำให้ผู้ชมเฝ้าติดตาม super bowl มีผู้ชม 112.3 ล้านคน โดยครั้งต่อไปจะจัดที่เมือง Phoenix อริโซน่า USA
อันดับ 10 : Baseball league มีผู้ชมประมาณ100 ล้านคน ส่วนใหญ่ชมใน USA , Japan
เกริ่นมาพอสมควร แล้วมันเกี่ยวกับdrama ในไทยอย่างไร ก็ดูสิครับ การแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดของโลก 10 รายการ มีคนดูกว่า ครึ่งโลก เป็นฟุตบอลถึง 3 รายการ แล้วร่วม 20ปีผ่านมา คนไทย ก็ได้รับชมการแข่งขันเหล่านี้ มาโดยตลอด ยังไม่รวมกีฬา ASEAN Games และ SeaGames ที่นักกีฬาไทยมีลุ้นเหรียญทองอีก
การชมการถ่ายทอดสดทุกครั้งโดยเฉพาะฟุตบอลโลกมีภาคเอกชนไปซื้อลิขสิทธ์ เอามาออกอากาศกระจายในฟรีทีวี 2-3 สถานีเป็นประจำ จนกระทั่งมีการกำเนิด พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯและ พ.ร.บ.อื่นๆเรียกรวมว่า พระราชบัญญัติ กสทช.ขึ้นมาในปี 2553 เป็นต้นมา
ในกฎหมายหลายข้อของ กสทช.นอกจากเรียกคืนคลื่นไปจัดสรรใหม่ แล้ว ก็ยังออกระเบียบกฎหมายกองทุนพัฒนาสื่อ ที่เรียกว่า กองทุน กทปส.ซึ่งเน้นด้านการวิจัยพัฒนาส่งเสริมวิชาการ และสาธารณะ ซึ่งแปลกใจว่า เงินกองทุน มิได้กลับมาพัฒนาวงการโทรทัศน์ ให้เห็นเป็นรูปธรรมซึ่งดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทที่เคยวางไว้สักเท่าไร อันทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่ไปรับประมูลเพิ่อรับใบอนุญาต ก็ยังขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน
อีกระเบียบหนึ่งที่เป็นมูลเหตุของดราม่า คือ กฎmust have Must carry ของ กสทช ซึ่ง คณะกรรมการ กสทช.ชุดแรกบางคนที่อยู่ดำรงมาตั้งแต่ช่วงร่างกฎหมาย กสทช.แล้วผันตัวมาเป็นกรรมการ กสทช. ก็มีมติออกกฎ Must Have Must carry ออกมา มองในแง่เจตนาดี มี 2 ประการ
1)กสทช.อยากให้คนไทยหันมาดูดิจิตอลทีวีกันเยอะๆ content ที่เคยมีรายได้จากค่าสมาชิก ก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมถ้วนหน้า แบบฟรีๆ
2)ช่วงที่ เกิดทีวีดิจิตอลใหม่ๆ กสทช เกรงว่า ช่องเกิดใหม่ อาจไม่พร้อมและขาดศักยภาพ โดยเฉพาะมิได้เป็นสมาชิกโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจ(ทรท.)หาก ทรท.ถ่ายทอดสดกีฬาระดับทวีปและระดับโลก อาจไม่ได้รับชม จึงต้องออกกฎหมายบังคับออกมา
แต่หากมองในเจตนาร้าย มองได้2ประเด็น
1)กรรมการ กสทช.ไม่เข้าใจและสนใจ เรื่องการซื้อขายลิขสิทธิ์กีฬา ระดับนานาชาติ ที่จริงแล้ว ลิขสิทธิ์กีฬา เป็นlicense contents ที่มีมูลค่าสูงที่สุด มากกว่า drama series , Film และ game shows อันเนื่องมาจากฐานผู้ชมที่ผมยกมาให้ทราบ
2)การชมรายการกีฬาระดับโลก ต้องมีเอเยนซี่ ในการประมูลไปรับสิทธิ์ และส่วนใหญ่ จะนำไปออกอากาศใน cable Tv บอกรับสมาชิก หรือ digital platform ระบบปิด ที่เรียกว่า OTT pay per view
เอกชนเหล่านี้ จึงต้องประมูลด้วยมูลค่าสูง เพราะFIFA ต้องนำเงินที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์ ไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าถ้วยและเงินรางวัลของแชมป์โลก
ทราบกันไหมครับว่า เงินรางวัลแชมป์ฟุตบอลโลก เค้าจ่ายกันเท่าไหร่ แชมป์โลกได้รับ44 ล้านเหรียญสหรัฐ ประมาณ 1,575 ล้านบาท จากวงเงิน 440 ล้านเหรียญสหรัฐ ( ประมาณ 15,753 ล้านบาท ) ที่FIFA ต้องจ่ายให้ทีมฟุตบอลที่เข้ารอบสุดท้าย ในขณะที่ FIFA มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ครั้งนี้ ทั้งmerchandising, Game , event , Tv license 6.4 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นรายได้ จากลิขสิทธิ์ทางทีวีที่ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
มาดูกันครับว่า ปีนี้ FIFA ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลบอลโลก ให้ประเทศไหนบ้าง สถิติจาก Digitalhub.FIFA.com เมื่อเดือน ต.ค.2022 บอกว่า มี226 ประเทศทั่วโลกที่ซื้อลิขสิทธิ์ไป โดยราคาลิขสิทธิ์จะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับ
1)การเป็นลูกค้าประจำ
2)จำนวนประชากรที่นิยมชมการแข่งขันฟุตบอลเทียบกับประชากรของประเทศนั้น
3)ซื้อล่วงหน้า และต่อรองราคากัน
4)มี connection กับ Agency
5)ผู้ซื้อส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอเยนซี่และบริษัทการตลาด ของเอกชน ยกเว้น บางประเทศ ที่มีสถานีโทรทัศน์ซื้อไป โดยมีรัฐบาลให้การสนับสนุน
6)ผู้ซื้อส่วนใหญ่กว่า 95% นำไปออกอากาศในcable Tv และ digital platform ที่ต้องมีรหัสเข้ารับชมของ viewer
การที่ประเทศไทยมีกรณีลุ้นว่า จะได้ รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ก็มาจากกฎระเบียบนี้เอง ซึ่งเคยมีความยุ่งยากเกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงปี 2557-2558 เมื่อครั้งฟุตบอลโลกที่บราซิล ซึ่งเอกชนไปซื้อลิขสิทธิ์มาและทำสัญญาล่วงหน้าก่อนที่จะมีองค์กร กสทช และกฎmust have must carrry ออกมา แต่คราวเคราะห์มาเกิดในช่วงพอดีฟุตบอลโลก กฎหมายนี้ประกาศออกมา เอกชนหวังจะออกอากาศในระบบ set top box แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะกฎนี้ บังคับให้ต้องออกอากาศแบบ Free to air ในสถานีดิจิตอลทีวี แล้วให้ผู้รับลิขสิทธิ์ไปหาโฆษณาเอง ผลสุดท้ายมีข้อพิพาทกัน และทำให้ กสทช ต้องเจียดเงินรายได้ ของตัวเองออกมาเยียวยาผู้รับลิขสิทธิ์ เพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลให้เอกชนขาดทุน เพราะประมูลมาเกินพันล้านบาท นับตั้งแต่นั้นมา จึงไม่ค่อยมีเอกชน ไปประมูลลิขสิทธิ์กีฬาที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาทอีกเลย ยกเว้น true vision ที่ยังซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลและกีฬา ปีละหลายพันล้านบาท ติดต่อกันกว่า20 ปี เพื่อให้สมาชิกได้รับชมอย่างต่อเนื่อง
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2018 ( 2561) ที่รัสเซีย ผู้ที่ประมูลได้ คือ true vision ก็โดนกฎหมายนี้บังคับ ให้เข้าประมูลและต้องออกอากาศใน free Tv 3 สถานี คือ true 4 you , Amarin Tv และ ททบ5 และมีสถานีโทรทัศน์ร่วมถ่ายทอดสดภายหลัง อีก 1-2 สถานี แต่ยังดีว่า รัฐบาลร้องขอให้เอกชน 9ราย ลงขันสนับสนุนเพิ่ม รายละ 50-200 ล้านบาท จึงทำให้ คนไทยได้ชม
จากวันนั้น จนวันนี้ เป็นเวลา 4 ปี กสทช ก็ไม่มีการยกเรื่องนี้มาพิจารณา เพิ่งมาก้นร้อน 1 เดือนล่วงหน้า ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลก จะเริ่มขึ้น แต่การหาโฆษณาและผู้ไปประมูลลิขสิทธิ์ เฉกเช่นเดียวกับปี 2561 นั้น มีปริบทที่แตกต่างกัน เพราะในปี 2561 ไม่มี สถานการณ์โควิด19 และมีเอกชนที่ช่ำชองการบริหารลิขสิทธิ์ดำเนินการให้ก่อน แต่ปีนี้ ไม่มีผู้ใดเสนอตัว การกีฬาแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องเป็นหัวหอกในการเสนอตัวรับลิขสิทธิ์ แล้วมาลุ้นขอรับการสนับสนุนจาก กสทช และเอกชนอื่นๆ ซึ่งค่อนข้างผิดหลักการและสวนทางของการบริหารลิขสิทธิ์ คือ
1)หน่วยงานรัฐเป็นผู้ประมูลซื้อลิขสิทธิ์ ในขณะที่ประเทศอื่น เอกชน เป็นผู้ดำเนินการ การที่หน่วยงานรัฐกระโจนเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์ แต่ยังติดระบบระเบียบไทยๆที่งบประมาณไม่เพียงพอและล่าช้าในการขออนุมัติ
2)โดนกฎหมายบังคับให้ ต้องออกอากาศในfree Tv ตามกฎ must have must carry ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เพราะสัญญาณทีวี อาจมี bandwidth ที่กว้างเลยอาณาจักรประเทศไทย จนพบกรณีประเทศเพื่อนบ้านร้องต่อFIFA มาแล้ว และการหาโฆษณามาจุนเจือ ในยุคนี้ ก็ทำได้ยาก
3)เมื่อรัฐบาลร้องขอให้ กสทชดำเนินการเอาเงินกองทุนออกมาสนับสนุน ก็เกิดปัญหาการตีความกฎหมายทันที ซึ่งกรณี ปัญหาก็มาจากความขัดแย้งในวิธีคิดของกรรมการ กสทช + ตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้นานแล้ว + แรงผลักดันของรัฐบาล+คาดหวังของประชาชน ทำให้กสทช ยอมคลอดวงเงินออกมาส่วนหนึ่ง แล้วให้ กกท ไปหาผู้สนับสนุนอีกส่วนหนึ่ง เหมือน 4 ปีที่ผ่านมา
ผมจะไม่เอ่ยถึงว่า สถานการณ์งบประมาณผู้สนับสนุนในปีนี้ มีมากหรือน้อยเท่ากับ 4 ปีที่แล้ว แต่จะบอกว่า ฟุตบอลโลกปีนี้ ที่กาตาร์ แข่งขันกันผิดเวลาจากเดิม ที่แข่งขันกันในเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม ของทุกปี เนื่องจากที่กาตาร์ เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม คือ ฤดูร้อน กลางทะเลทราย งบประมาณที่ภาคเอกชน จะสนับสนุนก็คร่อมมาปลายปี ซึ่งเมื่อไม่มีผู้ใด ไปซื้อลิขสิทธิ์ล่วงหน้า เป็นปีๆ ก็ทำให้ต้องมาบริหารงบประมาณในไตรมาสสุดท้ายกันเหนื่อยล่ะครับ
การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ เมื่อฟุตบอลโลกจบลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะเริ่มหารือแก้ปัญหาคาราซังของกฎหมายและระเบียบที่ทำให้ติดขัด และไม่ควรอ้างเหตุผลอะไรที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะมันขึ้นอยู่กับกฎ +ผู้รักษากฏที่มีอำนาจเต็ม ที่ร่างกฎหมายออกมาแบบทฤษฎีของฉัน แต่มักถูไถปัดความรับผิดชอบเสมอ เมื่อเผชิญความจริงของโลกลิขสิทธิ์ เพราะผลของกฎนั้นคือ ทำให้ระบบนิเวศสื่อและความเป็นไปตามครรลองธุรกิจสื่อบิดเบี้ยวไม่สมประกอบจนถึงปัจจุบันนี้
จะยกเลิก must have must carrry ก็เริ่มดำเนินการเถอะ ยิ่งไม่มีกฎ must have must carry จะยิ่งทำให้ เอกชนกล้าที่จะซื้อลิขสิทธิ์ และประชาชนมีทางเลือกที่จะเลือกรับชม แต่อาจจะมีเงื่อนไขว่า เอกชนที่ซื้อลิขสิทธ์มาต้องอนุญาตให้ ถ่ายทอดสดผ่านสื่อของรัฐ ได้บางแมทช์ ซึ่งไม่ควรมากเท่ากับสื่อทีวี หรือ platform digital ของสื่อเอกชนก็เป็นได้ ที่เหลือก็ปล่อยให้ธุรกิจสื่อเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะในโลกนี้ ยังมีอะไรอีกมากที่เราควรเรียนรู้ และเข้าใจ ส่วนหน่วยงานรัฐ เช่น การกีฬาแห่งประเทศไทย ก็ต้องบรรจุแผนงาน 4 ปีไว้ล่วงหน้า
ประการสำคัญ กสทช อาจมีรายได้เพิ่มจากค่าfee ประจำปี และคนไทย จะได้เข้าถึง content ดีๆ โดยไม่ต้องมานั่งลุ้นและมีดราม่ากันทุก 4 ปีอีก.
ที่มา : Kematat Paladesh
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : INFO : ความแตกต่างลิขสิทธิ์บอลโลกระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศปี 2022