‘บอร์ด กสทช.’ ตีกลับข้อเสนอ ‘บิ๊กป้อม’ ให้ 'กสทช.' ใช้เงิน 1.6 พันล้าน ซื้อ ‘ลิขสิทธิ์’ ฟุตบอลโลก 2020 หลังพบเงินกองทุน ‘กทปส.’ เหลือเพียง 2 พันล้าน มอบ 'สำนักงาน กสทช.' ศึกษาความคุ้มค่า-กฎหมายอนุญาตให้ทำได้หรือไม่
.................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คนไทยจะได้ชมฟุตบอลโลก 2022 อย่างแน่นอน โดยงบประมาณหลักที่ใช้ในการถ่ายทอดสดจะมาจากงบของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยไม่ต้องไปรบกวนเอกชน ขณะที่การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 มีขึ้นระหว่างวันที่ 21 พ.ย.-18 ธ.ค.2565 นั้น
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้เสนอวาระพิเศษเรื่องการนำเงิน 1,600 ล้านบาท จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 โดยมีผู้แทนการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เข้ามาร่วมชี้แจง
อย่างไรก็ตาม มีกรรมการ กสทช.บางราย ยังไม่ให้ความเห็นชอบในวาระพิเศษดังกล่าว และขอให้สำนักงาน กสทช.ไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในเรื่องนี้ พร้อมทั้งขอให้ไปพิจารณาด้วยว่า สภาพคล่องทางการเงินของกองทุน กทปส. มีเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันมีเงินกองทุน กทปส. เหลืออยู่เพียง 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น รวมทั้งให้ไปพิจารณากระบวนการทางด้านกฎหมายว่า กรณีดังกล่าวทำได้หรือไม่และตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุนหรือไม่
“กรรมการ กสทช. ที่ไม่เห็นด้วย บอกว่าการนำเงินจากกองทุน กทปส. มาใช้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ไม่ใช่ภารกิจของกองทุน เป็นการแทรกแซงตลาด และมีค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ที่สูงเกินไป ควรนำเงินไปทำประโยชน์ในลักษณะอื่นมากกว่า” แหล่งข่าวกล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อเสนอการนำเงินกองทุน กทปส. ไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 มีสาระสำคัญ คือ 1.เสนอขอความเห็นชอบในหลักการให้สนับสนุนงบประมาณเพื่อการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final) 2022 เนื่องจากเป็นรายการตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
2.เสนอขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ และค่าดำเนินการ ตามจำนวนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณไม่เกิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,520 ล้านบาท (รวมภาษีและอากรอื่นใด) ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุน กทปส.
3.เสนอให้การดำเนินการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายฯ ต้องมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสนับสนุนงบประมาณและการดำเนินการถ่ายทอดสดกับกกท. โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีเอกชนบางรายจะไปเจรจาซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก แต่ติดกฎ Must have และ Must carry ของ กสทช. ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ขาดทุน จึงต้องล้มเลิกไปในที่สุด
สำหรับ กฎ must have นั้น กำหนดว่าประเภทกีฬา 7 ประเภท ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จะต้องออกอากาศผ่านทางโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป (ภาคพื้นดิน) ด้วย ส่วนกฎ must carry กำหนดว่าช่องที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ภาคพื้นดิน) ต้องยินยอมให้โครงข่ายในระบบเคเบิล ดาวเทียม IPTV นำพาหรือเอาสัญญาณของช่องตนเอง (ภาคพื้นดิน) ไปออกอากาศบนโครงข่ายตัวเองแบบไม่ตัดต่อ