‘กกท.’ แจงปมให้สิทธิ์ TRUE เลือกถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 32 แมทช์ พร้อมชง ‘กสทช.’ จัดสรรแมทช์แข่งขันให้ ‘ทีวีดิจิทัล’ เพิ่มเติม ร่อนหนังสือถึงผู้ให้บริการ IPTV ติดต่อ TRUE ขอรับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่านระบบ ‘โทรศัพท์เคลื่อนที่’
...................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ผู้แทนจากสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยเรียกร้องให้ กสทช. ดำเนินการตรวจสอบและวินิจฉัยว่า การจัดสรรสิทธิ์ในการแพร่ภาพการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ในครั้งนี้ มีความถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่
โดยเฉพาะกรณีการให้กลุ่มทรู ซึ่งสนับสนนค่าซื้อลิขสิทธิ์ฯ 300 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมสิทธิ์การถ่ายทอดทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์มแบบ exclusive และได้สิทธิ์ในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมทช์ รวมทั้งได้นาทีโฆษณาจากช่องทีวีดิจิทัลที่ร่วมถ่ายทอดจาก กกท. ด้วย ในขณะที่เงินค่าซื้อลิขสิทธิ์ฯ 600 ล้านบาท มาจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พ.ย. นายก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กรณีที่มีการจัดสรรสิทธิ์ให้กลุ่มทรูเลือกถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้ 32 แมทช์ จากทั้งหมด 64 แมทช์นั้น เป็นไปตามข้อตกลงที่ กกท. เจรจากับ บริษัท ทรู คอร์ ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เนื่องจาก TRUE เป็นสปอนเซอร์ ซึ่งสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกฯ เป็นเงิน 300 ล้านบาท
“ตอนที่เราคุยกับ TRUE เป็นช่วงที่เรายังหาเงินเพื่อมาซื้อลิขสิทธิ์ฯไม่ครบเลย และเราเองได้มีการพูดคุยกันไว้ว่าจะมีสิทธิประโยชน์ในการตอบแทนผู้ที่เข้ามาสนับสนุน ขณะที่หลายวันก่อนหน้านี้ เราได้เชิญทีวีดิจิทัลเข้ามาร่วมประชุมว่า หากช่องไหนต้องการได้สิทธิ์ในการเลือกคู่ หรือได้สิทธิ์ถ่ายทอดแบบ exclusive ก็สามารถนำเสนอมาเป็นแพ็กเกจในการสนับสนุน กกท.ได้ เพื่อเอาเงินสนับสนุนเหล่านั้น ไปจ่ายค่าซื้อลิขสิทธิ์จากฟีฟ่า ซึ่งเราบอกทุกเจ้าหมดแล้ว
และเดิมทีเราได้รับทราบว่า ไม่ใช่เฉพาะ TRUE เจ้าเดียวเท่านั้น ที่ยินดีที่จะสนับสนุนค่าเงินค่าซื้อลิขสิทธิ์ แต่ตอนหลังมีการพูดคุยอะไรกัน จนในที่สุดรายที่ตั้งใจว่าจะจ่ายเงินค่าสนับสนุนคล้ายๆลักษณะเดียวกับกับ TRUE ได้ถอนตัวไป จึงกลายเป็นว่า TRUE เป็นเจ้าเดียวที่ยืนยันให้การสนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์ฯ ซึ่งการให้สิทธิ์กับ TRUE ในการเลือกคู่แข่งขันในการถ่ายทอดสด 32 แมทช์ เป็นไปตามที่ได้มีการเจรจาตกลงกัน” นายก้องศักด กล่าว
นายก้องศักด ระบุว่า ที่ผ่านมา กกท.พยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกๆกลุ่ม ทั้งกลุ่มสปอนเซอร์ ซึ่งจะได้สิทธิ์ต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน และกลุ่มที่ไม่ได้เป็นสปอนเซอร์ เช่น ทีวีดิจิทัล ซึ่งไม่ได้ชำระค่าอะไรเลย แต่กกท.ก็ให้สิทธิในการส่งสัญญาณการถ่ายทอดฟรีทุกอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายพิธีกรและการส่งสัญญาณ ซึ่ง กกท. เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด อีกทั้งสถานีทุกช่องที่ไม่ได้จ่ายค่าอะไรนั้น ก็ได้สิทธิ์ต่างๆเท่าเทียมกัน และได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมจับฉลากเท่าเทียมกัน
“เรื่องถูกผิด เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หน้าที่ของ กกท. คือ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนการเห็นต่างนั้น เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนมีสิทธิ์คิดว่าผลต่างๆอาจมีความไม่เป็นธรรมกับเขา ซึ่ง กกท. ยอมรับว่าการคิดต่างเกิดขึ้นได้ แต่ในแง่มุมของฝ่ายจัดการของ กกท. เรามองว่าการดำเนินการของเรา เป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายต่างๆ รวมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เราเป็นเจ้าของสิทธิ์ด้วย
แต่เมื่อมีผู้ที่รู้สึกว่ามีความไม่เท่าเทียม และมีการยื่นเรื่องไปที่ กสทช. ทางเราก็รับทราบ และยินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือแนวคำวินิจฉัยของ กสทช. ส่วนจะมีการจัดสรรแมทช์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกฯ ให้กับทีวีดิจิทัลรายอื่นๆที่ไม่ได้เป็นสปอนเซอร์เพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับทาง กสทช. ว่าคำวินิจฉัยอย่างไร ซึ่งทาง กกท.ได้นำเสนอแนวทางไปให้ กสทช.พิจารณาเหมือนกัน และยินดีที่จะพูดคุยกับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลฯ” นายก้องศักด กล่าว
นายก้องศักด ย้ำว่า “เราได้เสนอทางเลือกให้กับ กสทช.ไปแล้ว และ TRUE จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ด้วยการถอยมาหนึ่งก้าวได้หรือไม่ เพื่อขยายโอกาสให้กับทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ แต่คงพูดรายละเอียดไม่ได้ เพราะต้องมีการพูดคุยกันก่อน”
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2565 นายก้องศักด ได้ทำหนังสือถึงผู้ให้บริการโครงการข่ายระบบ IPTV (Internet Protocol Television) โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ทำบันทึกข้อตกลงการสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (FIFA World Cup 2022) กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โดยบริษัท ทรู คอร์ ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้สนับสนุนงบประมาณ เป็นเงินจำนวน 300 ล้านบาท และ กกท.ให้สิทธิประโยชน์ตอบแทน ด้วยการให้สิทธิในการถ่ายทอดสดการแข่งขันรายการดังกล่าว ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) นั้น
การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และคณะ ในวันที่ 21 พ.ย.2565 โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่าการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ตามข้อกำหนดของสำนักงาน กสทช. กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์แก่ผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก หรือผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ส่งผ่านสัญญาณการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ เกี่ยวข้องตามข้อ 7 ของประกาศสำนักงาน กสทช, เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัติ ที่กำหนดในประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง แนวปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่ กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปด้วย ซึ่งการดำเนินการถ่ายทอดสดการแข่งขันครั้งนี้ ดำเนินการภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ จึงสามารถดำเนินการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ์ได้ตามที่เห็นสมควร
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบกับความเห็นของที่ประชุมแล้ว ผู้ให้บริการโครงข่ายระบบไอพีทีวี (IPTV) สามารถติดต่อขอรับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ได้จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการทีวีดิทัล เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากหนังสือของ กกท. ฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า กกท.ให้สิทธิ์กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปี 2022 ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Transmission) เท่านั้น แต่เหตุใดทีวีดิจิทัลของกลุ่ม TRUE จึงได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม และยังได้สิทธิ์ในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมทช์ จากทั้งหมด 64 แมทช์
ขณะที่ นายก้องศักด ชี้แจงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเนื้อหาในหนังสือ กกท. ฉบับดังกล่าว ว่า เนื่องจากหนังสือฉบับนี้ เป็นการแจ้งเรื่องการให้สิทธิ์กับ TRUE ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ปี 2022 ซึ่งเจาะจงเฉพาะการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น ดังนั้น เนื้อหาของหนังสือ จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงการให้สิทธิ์กับ TRUE ในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกผ่านทีวีดิจิทัลแต่อย่างใด
“หนังสือฉบับนี้ เป็นการพูดถึงการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านแพลตฟอร์ม Internet เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการถ่ายทอดสดผ่านทีวีดิจิทัล” นายก้องศักด กล่าว
ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนัก ว่า กสทช.ได้หารือกับตัวแทน กกท. และมีข้อสรุปว่าจะขอความร่วมมือจาก TRUE ให้คืนโควตาการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก จำนวน 16 แมทช์ กลับมายัง กกท. ก่อนนำไปจัดสรรให้กับทีวีดิจิทัล เพื่อทำการถ่ายทอดสดแบบคู่ขนาน ส่วนการจัดสรรจะเป็นอย่างไร กกท.จะเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้น TRUE ไม่ขัดข้องแต่อย่างใด รวมทั้งได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลฯแล้ว
ส่วนกรณีที่ TRUE ยื่นเรื่องถึง กสทช. เพื่อขออนุญาตถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นระบบ HD (ความคมชัดสูง) แทนระบบ SD นั้น ได้รับทราบว่ามีการยื่นเรื่องไปยัง กสทช.แล้ว แต่ยังไม่เห็นเอกสาร ส่วนจะได้รับอนุญาตหรือไม่ ต้องรอมติที่ประชุม กสทช. ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.)
อ่านประกอบ :
'สมาคมโทรทัศน์ดิจิตอล' ร้อง กสทช.จัดสรรบอลโลกไม่เป็นธรรมหลัง 'ทรู' ได้สิทธิ์ 32 แมทช์
ฉายบอลโลกได้ข้อสรุปแบบเฉพาะหน้า! ตัวแทนสมาคมทีวีเผยต้องจับสลากแบ่งตารางถ่ายทอดสด
ดราม่าซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ใครคือต้นเหตุ?
เจาะลึก บ.อินฟรอนท์ นายหน้าลิขสิทธิ์บอลโลก 1.6 พันล.-หลานอดีต ปธ.ฟีฟ่านั่ง CEO
'จะให้ได้ราคาเหมาะสมที่สุด'-'ก้องศักด' ขอคำแนะนำฟีฟ่า หลังเจรจานายหน้าบอลโลกไม่ลงตัว
‘กสทช.-กกท.’ เซ็น MOU สนับสนุนเงิน ‘กทปส.’ 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์ฯถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก
เบื้องลึก 'มติ กสทช.' เคาะ 600 ล้าน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก-'เสียงข้างน้อย' เตือนขัด กม.
มติ 4 ต่อ 2 เสียง ! ‘กสทช.’อนุมัติใช้เงิน‘กทปส.’ 600 ล. สนับสนุนค่าซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก
‘ก้าวไกล’ แนะใช้งบกลางซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ยื่นศาล ปค.ถอนมติควบรวม ทรู-ดีแทค
พิรงรอง รามสูต : 6 ประเด็นชวนคิด กรณีใช้เงิน 1.6 พันล้าน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก
1.6 พันล้าน แพงไปหรือไม่? เทียบค่าซื้อลิขสิทธิ์‘บอลโลก’ ‘บิ๊ก กกท.’ต่อรอง‘ฟีฟ่า’ลดราคา
สั่งศึกษากม.ทำได้หรือไม่! ‘กสทช.’ตีกลับข้อเสนอ‘บิ๊กป้อม’ใช้ 1.6 พันล.ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก