เปิด 5 ภารกิจสำคัญ 'อสังหาฯ-ครุภัณฑ์-บุคลากร-ใบรับรองสนามบิน-แผนลงทุนพัฒนา 3 สนามบิน'ที่ ทอท.ต้องทำ และทย.ต้องช่วย หลัง ครม.เข้ารับบริหารสนามบินภูธร 'อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่'
หลังจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขยายผลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 ที่อนุมัติให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ เข้าไปดูแลและรับผิดชอบการบริหารจัดการท่าอากาศยานในภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.)
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นในการโอนสนามบินว่า กรณีไม่ใช่การโอนสนามบินให้ ทอท. ทั้งหมด แต่เป็นการมอบความรับผิดชอบในการบริหารจัดการสนามบินให้ ทอท. เข้าไปดูแลและบริหารจัดการแทนต่อไป ส่วนที่ตั้งของสนามบินทั้ง 4 แห่ง อยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น ทย.เป็นเพียงผู้ใช้ประโยชน์ ส่วนทรัพย์ประเภทสังหาริมทรัพย์ที่เป็นครุภัณฑ์ ใน 4 สนามบิน ไม่ได้โอนให้ ทอท. ทั้งหมด แต่ ทย.จะพิจารณาแยกทรัพย์สินที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นของ ทย. ก่อน ส่วนบุคลากรที่ทำงานในสนามบินทั้ง 4 แห่ง ไม่ได้บังคับให้โอนไปอยู่ ทอท. แต่อย่างใดนั้น
เปิดความเห็น ‘กฤษฎีกา’ ปมโอน 3 สนามบินภูธร กางเหตุผลเคาะ ‘อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่’
สำนักข่าวอิศราสืบค้นข้อมูลผ่านเอกสารบันทึกข้อความส่วนราชการ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร.0506/2695 ลงวันที่ 29 ส.ค. 2565 เรื่อง แนวทางการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน เมื่อมอบความรับผิดชอบในการบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่งให้กับ ทอท. แล้ว ทอท. มีแผนที่จะดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.การดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ทั้ง 3 สนามบินมีแผนดำเนินการ ดังนี้
ท่าอากาศยานอุดรธานี เนื่องจากที่ตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ จำนวน 2 แปลง ใช้ประโยชน์โดย ทย. 1 แปลง และกองทัพอากาศ (ทอ.) 1 แปลง โดยทย.กับกองทัพอากาศทำข้อตกลงที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว ดังนั้น ทย. จะต้องไปแจ้งกับกรมธนารักษ์นำที่ดินราชพัสดุที่ ทย. ครอบครองอยู่ไปจัดให้ ทอท. เช่า ส่วนที่ดินที่กองทัพอากาศครองครอง ทอท.จะต้องไปขอความยินยอมจากกองทัพอากาศใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ เมื่อกองทัพอากาศยินยอม ทอท.ต้องไปทำเรื่องขอเช่ากับกรมธนารักษ์ต่อไป
ที่ตั้งสนามบินอุดรธานี ภาพจาก Google Map
ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เนื่องจากที่ดินของสนามบินอยู่ในส่วนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ดูแลโดยกรมป่าไม้ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถือเป็นอาคารราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ทย.ต้องให้ความยินยอม ทอท. เป็นหน่วยงานที่ต้องขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้ แล้วทอท.ก็เข้าไปขอใช้ที่ดังกล่าวกับกรมป่าไม้ตามขั้นตอน ขณะที่อาคารราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ทอท.ต้องได้รับความยินยอมจากกรมป่าไม้ก่อน หลังจากนั้นจึงแจ้งความประสงค์ของเช่าอาคารราชพัสดุ เพื่อดำเนินกิจการท่าอากาศยาน โดยกรมธนารักษ์จะพิจารณาตามกฎกระทรวง เรื่อง การจัดหาที่ราชพัสดุ 2564 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ที่ตั้งสนามบินบุรีรัมย์ ภาพจาก Google Map
ท่าอากาศยานกระบี่ เนื่องจากที่ตั้งของสนามบินอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ของกรมป่าไม้ และที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ ดังนั้น ในส่วนของป่าสงวนแห่งชาติ ทย.ต้องให้ความยินยอม ทอท. เป็นหน่วยงานที่ต้องขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่กับกรมป่าไม้ แล้วทอท.ก็เข้าไปขอใช้ที่ดังกล่าวกับกรมป่าไม้ตามขั้นตอน ส่วนที่ราชพัสดุ ทย.ต้องให้ความยินยอมกับกรมธนารักษ์ในการนำที่ราชพัสดุใต้ความครอบครองของ ทย. ไปให้ ทอท. เช่า จากนั้น ทอท. แจ้งความประสงค์ของเช่าอาคารราชพัสดุ เพื่อดำเนินกิจการท่าอากาศยาน โดยกรมธนารักษ์จะพิจารณาตามกฎกระทรวง เรื่อง การจัดหาที่ราชพัสดุ 2564 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่ตั้งสนามบินกระบี่ ภาพจาก Google Map
2.การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) แบ่งได้ 2 กรณี
กรณีที่ 1 ทย. ประสงค์นำครุภัณฑ์ ไปใช้งานต่อ สามารถนำไปใช้ได้ทันที
กรณีที่ 2 ทย.ไม่นำครุภัณฑ์ไปใช้ ให้ ทย. ทำบัญชีขายทรัพย์สินแก่ ทอท. โดยใช้วิธีแบบเฉพาะเจาะจง ตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ในส่วนของการจำหน่ายพัสดุข้อ 215 (1) (ข) และ (3) ที่ว่า ‘พัสดุใดหมดความจำเป็นหรือหากใช้ในหน่วยงานของรัฐต่อไปจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาขายให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือองค์การสถานสาธารณกุศล โดยวิธีเฉพาะเจาะจงโดยการเจรจาตกลงราคากัน หรือให้โอนแก่หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การสถานสาธารณกุศล ทั้งนี้ ให้มีหลักฐานการส่งมอบไว้ต่อกันด้วย’
3.แนวทางดำเนินการเกี่ยวกับบุคลากร แบ่งได้ 2 กรณี
กรณีที่ 1 ข้าราชการของ ทย. ไม่สมัครใจไปทำงานกับ ทอท. ให้ ทย.จัดภารกิจและตำแหน่งงานให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งของสำนักงาน ก.พ.ที่ นร.1008/ว2 ลงวันที่ 19 ก.พ. 2548 หากข้าราชการยังไม่สมัครใจอีกและประสงค์จะลาออกจากราชการ สามารถพิจารณาใก้ออกจากราชการได้โดยถือเหตุตามมาตรา 110 (4) พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551
กรณีที่ 2 ข้าราชการของ ทย. สมัครใจไปทำงานกับ ทอท. จะต้องลาออกจากราชการตามขั้นตอนของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ระบุในระเบียบสำนักงาน ก.พ. ซึ่ง ทอท.จะพิจารณารับข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างทุนหมุนเวียนที่สมัครใจตามคุณสมบัติของ ทอท. โดยไม่ทำให้สิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนลดลง
4.การขอใบรับรองการดำเนินการสนามบินสาธารณะ
ปัจจุบันสนามบินทั้ง 3 แห่ง ยังสามารถให้บริการแก่สาธารณะ ในระหว่างที่ยังไม่มีใบรับรองการดำเนินการสนามบินสาธารณะได้ โดยอาศัยอำนาจแห่งบทเฉพาะกาลตาม พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเดินอากาศ 2497, 2558 มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติ ให้สนามบินอนุญาตที่ให้บริการแก่สาธารณะ ซึ่งดำเนินการโดยส่วนราชการ อยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ก.ฉบับนี้ใช้บังคับยังคงดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สนามบินทั้ง 3 แห่งยังให้บริการไปได้อย่างต่อเนื่อง จะต้องดำเนินการ ดังนี้
4.1 ให้ทย. ดำเนินการตาม มาตรา 45 ตาม พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเดินอากาศ 2497, 2558 เพื่อให้ได้ใบรับรองการดำเนินการสนามบินสาธารณะ หลังจากนั้นจึงโอนให้ ทอท. ต่อไป ซึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน อาจให้ ทอท. จัดบุคลากรดำเนินการควบคู่กับ ทย. เพื่อให้ช่วงที่โอนสนามบินไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ
4.2 ทย. และ ทอท. ดำเนินการตามข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 9 เรื่อง ว่าด้วยมาตรฐานการบริการการเดินอากาศ ด้านระบบการสื่อสาร ระบบช่วยการเดินอากาศ และระบบติดตามอากาศยาน โดยให้ถือเป็นผู้รับโอนสิทธิเป็นหน่วยงานของรัฐ
5. แผนพัฒนาสนามบินทั้ง 3 แห่ง
ทั้ง 3 สนามบินมีโครงการที่จะพัฒนาไว้เดิม ซึ่ง ทอท. วางแผนและประมาณการรายจ่ายที่ต้องใช้ในการลงทุนพัฒนาทั้ง 3 สนามบินที่ 9,199 ล้านบาท ทั้ง 2 สนามบินแบ่งแผนการพัฒนาได้ ดังนี้
ท่าอากาศยานอุดรธานี วงเงิน 3,523.90 ล้านบาท แบ่งแผนพัฒนา 3 ระยะ
ระยะที่ 1 วงเงิน 2,194 ล้านบาท ได้แก่ ยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัย, ยกระดับขีดความสามารถให้รองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในปี 2576, ลงทุนระบบ Smart Airport, ระบบเช็คอินอัตโนมัติ-ระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติอัตโนมัติ อายุใช้งาน 30 ปี, เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน/ปี ในปี 2571
ระยะที่ 2 วงเงิน 1,049.40 ล้านบาท ได้แก่ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร 5.4 ล้านคน/ปี ในปี 2576 และยกระดับเป็นท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (Secondary Hub Airports) จากการเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (Regional Airports)
ระยะที่ 3 วงเงิน 280.50 ล้านบาท ได้แก่ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 6.5 ล้านคน/ปี ในปี 2579
ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ วงเงิน 460 ล้านบาท ได้แก่ ติดตั้งระบบ Smart Airport, ระบบเช็คอินด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ อายุใช้งาน 30 ปี
ท่าอากาศยานกระบี่ วงเงิน 5,216 ล้านบาท แบ่งการพัฒนา 2 ระยะ
ระยะที่ 1 วงเงิน 3,808 ล้านบาท ได้แก่ ติดตั้งระบบ Smart Airport, ระบบเช็คอินด้วยตนเองแบบอัตโนมัติ และระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ อายุใช้งาน 30 ปี
ระยะที่ 2 วงเงิน 1,049.4 ล้านบาท ได้แก่ การยกระดับขีเความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 10 ล้านคน/ปี ในปี 2576 และถ้าหากการพัฒนาท่าอากาศยานพังงาไม่เกิดขึ้น จะเพิ่มการรองรับผู้โดยสารเป็น 12 ล้านคน/ปี โดยงบประมาณที่ใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,679 ล้านบาท
'ธนารักษ์' ใช้เวลาประเมินทรัพย์สิน 6 เดือน
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า หลังจากครม.มีมติให้โอนภาระความรับผิดชอบในการบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่งให้ ทอท.แล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ ทย. จะต้องส่งมอบที่ดินที่ตั้งของสนามบินทั้ง 3 แห่งกลับคืนมาให้กรมก่อน
หลังจากนั้นกรมจะเข้าไปตรวจสอบที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่ก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุ เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ลักษณะเหมือนเมื่อครั้งที่ ทอท.เช่าที่ราชพัสดุบริเวณที่เป็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปัจจุบัน โดยคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการประเมินมูลค่าทรัพย์ทั้งหมด จากนั้นจึงจะนำมาคำนวณเพื่อจัดทำสัญญาเช่าต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนแล้ว ทอท. ต้องเข้ามาติดต่อกับกรม เพื่อขอเช่าที่ราชพัสดุทำประโยชน์เป็นสนามบินต่อไป
ประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์
อ่านประกอบ
ครม.ไฟเขียว ‘ทอท.’ บริหารสนามบิน ‘อุดรธานี-บุรีรัมย์-กระบี่’ แทน ‘ทย.’
ไม่ได้โอนทรัพย์สินรัฐ! ทย.แจงมติ‘ครม.’มอบ‘ทอท.’บริหารสนามบิน‘อุดรธานี-บุรีรัมย์-กระบี่’
ต้นปี 66 โอน 3 สนามบินภูธรสมบูรณ์ ทอท.แจงยิบบริหารไม่ทำให้ค่าใช้จ่ายแพง
เปิดความเห็น ‘กฤษฎีกา’ ปมโอน 3 สนามบินภูธร กางเหตุผลเคาะ ‘อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่’