"...จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้ 1. ในช่วงปี 2564-2565 มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐหลายราย ที่มีพฤติการณ์ทุจริตและถูกจับสดพร้อมของกลางไปแล้ว จำนวน 7 ราย (แยกเป็นปี 2564 จำนวน 4 ราย ปี 2565 จำนวน 3 ราย 2. พฤติการณ์ทุจริตเป็นเรื่องเรียกรับเงินเปอร์เซ็นต์จากการแลกเปลี่ยนเซ็นอนุมัติรับงาน ใบอนุญาต และการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นงานขนาดเล็กวงเงินไม่มาก 3. วงเงินที่เรียกรับอยู่ระหว่างหลักหมื่น-หลักแสน 4. หลายรายถูกจับกุมพร้อมเงินของกลาง ที่โต๊ะทำงานภายในสำนักงาน 5. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกจับกุม ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอไปสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาล..."
ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน
กรณีปรากฏข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าปฏิบัติการวางแผนเข้าจับกุม นางจุรีพร ขันตี ตําแหน่งวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์เจตนาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กันยายน 256 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ได้ลงนามในคำสั่งให้ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เข้ามาช่วยปฏิบัติหน้าที่ราชการในภารกิจของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมส่วนกลาง เป็นทางการแล้ว ขณะที่ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกมาประกาศตรวจสอบปัญหาการทุจริตทั่วประเทศ
ผลการสอบสวนกรณีนี้ในท้ายที่สุดจะออกเป็นอย่างไร? จะมีการขยายผลไปถึงผู้เกี่ยวข้องรายอื่นด้วยหรือไม่? เพราะมีพยานยืนยันว่ามีการกระทำลักษณะนี้มาหลายครั้งแล้ว ขณะที่การจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพดังกล่าว สำนักงานวัฒนธรรมหลายจังหวัดก็ดำเนินการเหมือนกันจะมีปัญหาลักษณะเดียวกันหรือไม่ คงต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับปฎิบัติการจับสด ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการทุจริต โดยความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ วางแผนเข้าจับกุมตัวผู้กระทำความผิดพร้อมของเป็นเงินสดจำนวนมากนั้น
หากสาธารณชนยังคงจำกันได้ กรณีจับสด "นางจุรีพร ขันตี" วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา มิใช่รายแรกที่เกิดขึ้น
ย้อนกลับไปในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐหลายราย ที่มีพฤติการณ์ทุจริตและถูกจับสดพร้อมของกลางไปแล้วจำนวนมากถึง 7 ราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลมาเสนอ ณ ที่นี่อีกครั้ง
@ จับสดคาของกลางเงิน 4 พัน! พนง.ป่าไม้ชำนาญงานเรียกทรัพย์สินมิชอบ
เริ่มต้นกรณีแรก ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 ผอ.ป.ป.ช.ประจำจังหวัดพิษณุโลก พร้อมทีมสืบสวน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก และพยานผู้เสียหาย ได้ร่วมกันจับกุมนายสุทธิชัย พุ่มมาลัย เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน สังกัดสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) พิษณุโลก ได้ที่สำนักงาน ทสจ. พิษณุโลก พร้อมเงินของกลาง จำนวน 4,000 บาท ที่ได้เรียกรับจากผู้เสียหาย
โดยกรณีดังกล่าว เป็นผลมาจาก เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา มีผู้เสียหายได้มากล่าวโทษร้องทุกกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิษณุโลกว่า เนื่องจากเมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2564 ผ่านมา ได้ไปยื่นคำขอค้าไม้แปรรูปและสิ่งประดิษฐ์ ณ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก หลังจากยื่นคำขอแล้วได้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก ให้ไปพบอีกครั้งหนึ่ง โดยในวันที่ 7 มี.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ผู้เสียหายได้ไปพบเจ้าหน้าที่ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวตล้อมจังหวัดพิษณุโลก คือ นายสุทธิชัย พุ่มมาลัย เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน โดยนายสุทธิชัย ได้ขอค่าธรรมเนียมนอกเหนือจากใบอนุญาตเพิ่มเติม โดยค่าธรรมเนียมขอค้าไม้ปีละ 1,000 บาท และค่าธรรมเนียมขออนุญาตค้าสิ่งประดิษฐ์ปีละ 2,000 บาท รวม 3,000 บาท ตามกฎหมาย แต่นายสุทธิชัย กลับขอเรียกเงินเพิ่มเติมอีกใบละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,000 บาท โดยนายสุทธิชัยฯ ขอให้ผู้เสียหายน้ำเงินมาวางมัดจำล่วงหน้า 4,000 บาท
ต่อมา ผู้เสียให้มาได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 โดยสำนักงาน ป.ป. ช.ประจำจังหวัดพิษณุโลกไขอความร่วมมือ พ.ต.อ.ภาคภูมิ ปราบศรีภูมิ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ได้สั่งการให้ชุดสืบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิษณุโลก และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 ไปจับกุมตัว นายสุทธิชัย ได้ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพิษณุโลก
@ จับสด 'นายก อบต.หนองหงษ์ ชลบุรี - ผอ.กองช่าง' เรียกสินบน 1 แสน
กรณีที่สอง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ปรากฏข่าวว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมประกอบด้วย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป., พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รอง ผบก.ปปป., พ.ต.อ.ศราวุธ ศรีสุขสิริพันธ์ ผกก.2 บก.ปปป., พ.ต.อ.พยงค์ เอี่ยมสกุล ผกก.3 บก.ปปป., พ.ต.อ.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ ผกก. (สอบสวน) บก.ปปป พร้อมพวกได้ร่วมกันทำการจับกุมตัวผู้ต้องหา 2 ราย คือ
1. นายพยน เจริญสุข อายุ 67 ปี เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ที่อยู่ 14 หมู่ 3 ตำบลหนองหงษ์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี
2. นายบุญมี พุทธประเสริฐสิน อายุ 51 ปี เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ที่อยู่ 54 ซ.32 ถนนท้ายบ้าน ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
พร้อมด้วยของกลางคือ
1. ธนบัตรรัฐบาลไทยฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 80 ฉบับ มีหมายเลขธนบัตร (เรียงตามลำดับ) ตั้งแต่ 9ธ 8787501 ถึง 9ธ 8787580 รวมเป็นเงิน 80,000 บาท(แปดหมื่นบาทถ้วน) ที่ตรวจยึดได้ จากผู้ต้องหาทั้งสอง
2. โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ ไอโฟน 12 สีเทา-น้ำเงิน ชิมการ์ดหมายเลข 089-2023434 จำนวน 1 เครื่อง (ซึ่งเป็นของนายพยน เจริญสุข)
3. เอกสารหนังสือ อบต.หนองหงส์ เป็นหนังสือแจ้งผู้ขออนุญาต, ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม,ใบรับแจ้งขอก่อสร้าง ,แบบก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงงานของบริษัท ไทยยูวอนอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด 1 ชุด รวมจำนวน 23 แผ่น ที่นายพยนฯและนายบุญมีฯได้เห็นชอบออกให้กับผู้เสียหาย
4. แบบก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงงานชั้นเดียวของบริษัท ไทยยูวอน อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด จำนวน 17 แผ่น ที่นายพยนฯและนายบุญมีฯได้เห็นชอบออกให้กับผู้เสียหาย
โดยมีพฤติการณ์ในการจับกุมกล่าวคือด้วยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ตาม ปจว.ข้อ 2 เวลา 11.30 น. ได้มีผู้เสียหายชื่อ นาย ก.(ตัวย่อ) มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปปป. ว่าเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 ได้ถูกเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหงษ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี ทราบชื่อภายหลังคือ นายพยน เจริญสุข ทำการเรียกรับทรัพย์สินเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท จากผู้เสียหาย เพื่อแลกกับการที่อบต.หนองหงษ์ จะออกหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างให้กับผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายได้รับการว่าจ้างจาก บริษัท ไทยยูวอนอิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ในการก่อสร้างดัดแปลงอาคารโรงงาน (ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งหากไม่ได้รับหนังสือรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ผู้เสียหายก็ไม่สามารถทำการก่อสร้างดัดแปลงอาคารได้
ต่อมา ผู้เสียหายได้โทรศัพท์ติดต่อไปคุยเจรจากับนายพยนฯ และ นายบุญมี พุทธประเสริฐสิน ผอ.กองช่าง อบต.หนองหงษ์ อยู่หลายครั้ง ว่าตนได้ปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายทุกอย่างถูกต้องแล้ว แต่นายพยนฯ กับพวกก็ยืนยันที่จะให้ผู้เสียหายนำเงินมามอบให้เช่นเดิม แต่ลดจำนวนเงินให้เหลือ 80,000 บาท ซึ่งนายพยนฯ กับพวกได้อ้างว่าคนอื่นที่มา ขออนุญาตก่อสร้างลักษณะนี้ก็ต้องเสียเงินแบบนี้ทุกคน
แต่ผู้เสียหายคิดว่าการที่นายพยนฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตำแหน่งนายก อบต.หนองหงษ์ กับพวก ทำการเรียกรับเงินสินบนดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นเหตุให้ตนได้รับความเสียหาย
จึงได้นำหลักฐานที่เป็นบันทึกเสียงการสนทนาที่มีการเรียกรับทรัพย์สินดังกล่าว พร้อมกับหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง มายื่นแจ้งความร้องทุกข์ต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปปป. ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดจนกว่าจะถึงที่สุดต่อไป
ต่อมาวันที่ 7 มิ.ย. 2564 เวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการบก.ปปป. นำโดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการกระจายกำลังไปซุ่มตามจุดต่างๆที่ได้วางแผนไว้ ใกล้กับบริเวณสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหงษ์ อ.พานทอง จ.ชลบุรี เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์และรอรับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติการโดยเจ้าหน้าที่ได้นัดหมายกับผู้เสียหายและพยานอีกคนชื่อ นาย ว. (ตัวย่อ) (ลูกน้องผู้เสียหาย) เพื่อวางแผนในการเข้าจับกุม
จากนั้นเมื่อใกล้ถึงเวลานัดหมายประมาณ 19.30 น. เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบเงินสด จำนวน 8 หมื่นบาท อีกครั้ง (ที่ลง ปจว.ไว้แล้ว) ว่าครบถ้วนถูกต้อง และนำเงินสดดังกล่าวบรรจุใส่ไว้ในซองจดหมายสีน้ำตาลที่มีการเขียนลงลายมือชื่อของผู้เสียหายไว้ภายในซองเพื่อเป็นตำหนิ มอบให้กับผู้เสียหายและพยานเก็บไว้
จนกระทั่งถึงเวลานัดหมาย 10.00 น. ผู้เสียหายได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อไปหา นายพยน เจริญสุข นายก อบต.หนองหงษ์ เพื่อแจ้งว่ากำลังจะเดินทางไปถึง อบต.หนองหงษ์ ตามที่นัดหมายแล้ว
แต่นายพยนฯ นายก อบต.บอกว่าได้ออกไปฉีดวัคซีนป้องกัน covid-19 ให้ผู้เสียหายไปติดต่อกับ นายบุญมี พุทธประเสริฐสิน ผอ.กองช่าง ที่อยู่ อบต.แทน แล้วบอกให้ผู้เสียหายนำเงิน 8 หมื่นบาทฝากไว้กับ นายบุญมีฯได้เลยสามารถไว้ใจได้
ผู้เสียหายจึงได้โทรติดต่อกับนายบุญมีฯ บอกว่านายกฯให้นำเงินไปฝากไว้ให้ ซึ่งนายบุญมีฯ ก็ตอบรับว่านายกฯแจ้งให้ทราบแล้ว ให้นำเงินเข้ามาฝากไว้ได้เลย
จนต่อมาเวลาประมาณ 11.50 น. นายพยนฯได้กลับมาที่ อบต.หนองหงษ์ เจ้าหน้าที่จึงให้ผู้เสียหายกับพยานเดินทางเข้าไปพบ นายบุญมีฯ ผอ.กองช่าง ตามที่ นายพยนฯบอก เมื่อผู้เสียหายกับพยานได้ไปพบนายบุญมีฯผอ.กองช่าง ที่ห้องทำงานภายใน อบต.หนองหงษ์แล้ว นายบุญมีฯได้แจ้งว่า นายพยนฯ นายก อบต.ได้ ลงชื่อในเอกสารอนุญาตก่อสร้างให้เรียบร้อยแล้ว ผู้เสียหายจึงได้นำซองเงิน 8 หมื่นบาท ออกมานับจำนวนและส่งมอบให้กับนายบุญมีฯรับไว้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยชัดแจ้งและครบองค์ประกอบความผิดแล้ว โดยมีนายพยนฯ นายก อบต.ฯเป็นผู้สั่งการให้ นายบุญมีฯ ผอ.กองช่างเป็นผู้รับเงินแทนจากผู้เสียหายจริง ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งการให้ทุกชุดปฏิบัติการที่ซุ่มเฝ้าสังเกตการณ์ 3 เข้าดำเนินการควบคุมตัวนายพยนฯ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการจึงได้เข้าไปในห้องทำงานของนายพยน ซึ่งอยู่ที่ชั้น 2 ของ อบต.หนองหงษ์ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกชุดหนึ่งได้พาตัวนายบุญมีฯ จากห้องทำงานชั้นล่าง พร้อมกับซองเงินสดของกลางจำนวน 8 หมื่นบาท ขึ้นมาที่ห้องทำงานของนายพยนฯ
โดยนายบุญมีฯ ยอมรับว่าเป็นเงินที่นาย ก. (ตัวย่อ) นำมามอบให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวใช้ประกอบเป็นพยานหลักฐาน โดยเมื่อตรวจสอบธนบัตรของกลางแล้ว มีหมายเลขธนบัตรตรงกับที่ลงประจำวันไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นได้ดำเนินการจับกุมนายพยนฯ และนายบุญมีฯ พร้อมด้วยของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปปป. ดำเนินการต่อไป
@ จับสดคาร้านกาแฟ! ปปป.บุกรวบ วิศวกร สพฐ. ซี 9 เรียกเงินใต้โต๊ะผู้รับเหมา 6 แสน
กรณีที่สาม ถัดมาไม่นานนัก เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2564 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ ผกก.1 บก.ปปป. พ.ต.อ.ศราวุธ ศรีสุขสิริพันธ์ ผกก.2 บก.ปปป., พ.ต.อ.พยงค์ เอี่ยมสกุล ผกก.3 บก.ปปป. พ.ต.อ.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ ผกก.(สอบสวน) บก.ปปป. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จับกุม นายพิษณุ ชานาญศิลป์ อายุ 58 ปี พร้อมของกลางธนบัตรรัฐบาลไทยฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 120 ฉบับ รวมเป็นเงิน 120,000 บาทโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ได้มีตัวแทนบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการ คู่สัญญาในโครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ของโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางเขน มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 28 ล้านบาท เข้าร้องทุกข์กับ บก.ปปป. ว่าถูก นายพิษณุ ผู้ต้องหารายนี้ที่เป็นวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ระดับซี 9 และเป็นคณะกรรมการตรวจรับงานในโครงการ ดังกล่าว ข่มขู่เรียกเงินเพื่อเป็นค่าดูแลอำนวยความสะดวกในการดำเนินการโครงการดังกล่าว จำนวน 6 แสนบาท แบ่งเป็น 3 งวด งวดแรก 120,000 บาท งวดที่ 2 จำนวน 180,000 บาท และ งวดสุดท้าย 300,000 บาท
เบื้องต้น นายพิษณุ ให้การปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี มีรายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าที่จะมีการเรียกเก็บเงินค่าอำนวยความสะดวกครั้งนี้ นายพิษณุ เคยข่มขู่เรียกเก็บเงินกับผู้เสียหายมาแล้ว 1 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 2 แสนบาท อ้างว่าเป็นค่าเซ็นต์อนุญาตแบบก่อสร้าง ผู้เสียหายจึงยินยอมจ่ายเงินให้เพื่อจะได้สามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวให้เสร็จทันตามเวลาที่กำหนด แต่ภายหลังจากได้เงินดังกล่าวไปแล้ว ผู้ต้องหากลับยังคงมีพฤติการณ์ข่มขู่เรียกเงินค่าดำเนินการในส่วนอื่น ๆ เพิ่มอีก จึงทำให้ทนแบกรับพฤติกรรมไม่ไหวนำเรื่องเข้าแจ้งความจนนำมาสู่การจับกุมในที่สุด
@ รวบ ผอ.รพ.บางกรวย เรียกรับเงินเอกชน 9.3 หมื่น
กรณีที่สี่ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2564 มีการจับสดอีกหนึ่งกรณี ผู้กระทำความผิดคือ นายแพทย์ วิชัย รัตนภัณฑ์พาณิชย์ อายุ 53 ปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ผบก.ปปป.) พร้อมด้วย พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รอง ผบก.ปปป. พ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธราภิรมย์ ผกก.1บก.ปปป. พ.ต.อ.ศราวุธ ศรีสุขศิริพันธ์ ผกก.2 บก.ปปป. พ.ต.อ.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ ผกก.(สอบสวน) บก.ปปป. พ.ต.ท.พิทักษ์ วาฤทธิ์ รอง ผกก.2บก.ปปป สนธิกำลังร่วมกับนายภูมิวิศาล เกษมศุข รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต จับกุม นายแพทย์ วิชัย รัตนภัณฑ์พาณิชย์ อายุ 53 ปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ขณะกำลังรับเงินของกลางจำนวน 93,000 บาท จากผู้รับเหมาระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล เป็นเงินที่เจ้าหน้าที่ใช้ทำการล่อจับ โดยเจ้าหน้าที่ไปจับกุมตัวได้ที่ห้องทำงานของผู้ต้องหาไปโรงพยาบาล พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารจำนวนหนึ่งกลับมาตรวจสอบ
กรณีนี้ได้รับการแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ร้องทุกข์กับทางสำนักงาน ป.ป.ท. ให้ช่วยตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้อำนวยการคนดังกล่าว หลังจากที่ผู้เสียหายเข้าไปประมูลจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ภายในโรงพยาบาล มีมูลค่ากว่า 280,000 บาท แต่เจ้าตัวมีการเรียกรับเงินส่วนต่าง 15 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่จะขอขยับเพิ่มเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 93,000 บาท ผู้เสียหายจึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะจะทำให้ทางผู้รับเหมาขาดทุนเป็นจำนวนมาก จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับ บก.ปปป. จากนั้นได้ทำการสืบสวนสอบสวนจนทราบว่า จะมีการนัดมอบส่งเงินกันในวันนี้ จึงนำเงินของกลางที่ทำสัญลักษณ์ไว้ไปมอบให้ที่โรงพยาบาล และเมื่อผู้อำนวยการรับเงินของกลางแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแสดงตัวเข้าจับกุม
@ นายกเทศฯ คำน้ำแซบ อุบลฯ เรียกเงิน 1.5 หมื่น จ่ายค่าเซ็นเช็คติดตั้งกล้องวงจรปิด
กรณีที่ห้า สำหรับข้อมูลในปี 2565 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 14.25 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วารินชำราบ ร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. อุบลราชธานี สำนักงาน ป.ป.ท. ภ.3 อุบลราชธานี ร่วมกันจับกุมตัว นายณฐพล บุญชู นายกเทศมนตรีตำบลคำน้ำแซบ ตามข้อกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงาน เรีย รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
พฤติการณ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายว่านายณฐพล บุญชู ไม่ยอมลงนามในเช็คสั่งจ่ายค่าติดตั้งกล้องวงจรปิด และได้เรียกรับเงินค่าเซ็นเช็ค 17,000 บาท จึงนำเรื่องมาแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. เข้าจับกุม โดยมีการวางแผนจับกุม ที่ สภ.วารินชำราบ และได้บันทึกเสียงสนทนาต่อรองเหลือ 15,000 บาท เมื่อถึงเวลานัดหมายผู้เสียหายได้นำเงินไปมอบให้ที่ห้องทำงานนายณฐพลฯ
จากนั้น ผู้เสียหายได้ถอนหน้ากากอนามัยอันแสดงว่าได้มีการรับเงินแล้ว จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุม พบนายณฐพลฯ กำลังนับเงินของกลางที่ได้ลงประจำวันไว้ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิผู้ต้องหา จากการตรวจค้นตัว พบซองใส่เงินที่ระบุผู้ค้าอีก 2 ห้าง และใบเขียนโน็ตการขอเงินจากผู้ค้าอีก 1 ฉบับ จึงนำตัวพร้อมด้วยของกลางส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
@ ปลัดอำเภอเมืองเชียงใหม่เรียกรับเงินแลกใบอนุญาตซื้อปืน เจ้าตัวปฏิเสธไม่ใช่สินบน
กรณีที่หก ในเดือนเดียวกัน เกิดเหตุเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2565 เมื่อเวลา 09.30 น. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) นำกำลังบูรณการกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าจับกุมตัว นายสรพงษ์ เตละวานิช อายุ 40 ปี ปลัดอำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมของกลางธนบัตรเงินสดจำนวน 20,000 บาท และ ใบอนุญาตซื้ออาวุธปืนจำนวน 2 ฉบับ ได้ที่ภายในห้องทำงานที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่
สืบเนื่องจากกรณีที่มีประชาชนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนเข้ามายัง ป.ป.ช.ว่า นายสรพงษ์ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอเมืองเชียงใหม่ มีพฤติการณ์เรียกเก็บเงินเพื่อแลกกับการออกใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน(ใบ ป.3) จึงประสานมายังตำรวจ และ ป.ป.ท. เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ก่อนร่วมกันวางแผนให้ผู้เสียหายนำเงินไปมอบให้กับนายสรพงษ์ ตามที่เรียกร้อง จำนวน 20,000 บาท โดยนัดหมายส่งมอบเงินกันที่ห้องทำงานภายในที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่
ทั้งนี้เมื่อเห็นว่ามีการเรียกรับเงินจริง เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าจับกุม พร้อมกับตรวจยึดใบอนุญาตซื้ออาวุธปืนจำนวน 2 ฉบับ และ เงินสดของกลางจำนวน 20,000 บาท
จากการสอบสวน นายสรพงษ์ ให้การภาคเสธ อ้างว่าเงินสดดังกล่าวเป็นสินน้ำใจที่ผู้เสียหายนำมามอบให้ ไม่ใช่เงินสินบน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อ เบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหา “เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเพื่อตนเอง , เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่”
ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปปป. ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย พร้อมกับขยายผลตรวจสอบการขอออกใบอนุญาตเกี่ยวกับอาวุธปืนต่างๆในพื้นที่ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องย้อนหลังต่อไป
ล่าสุดเป็นกรณีที่เจ็ด เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าปฏิบัติการวางแผนเข้าจับกุมนางจุรีพร ขันตี ตําแหน่งวัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ขณะส่งมอบเงิน จํานวน 80,000 บาท ในการจัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ตามที่มีการเสนอข่าวไปแล้ว
โดยพฤติการณ์ที่เป็นความผิด กล่าวคือ นางจุรีพร ใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่ อนุมัติให้จัดทําโครงการจัดพิธีกรรม ทางศาสนาพิธีบวงสรวงเทพยดาผู้รักษาเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ณ วัดใหญ่ชัยมงคล ในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งใช้เงินงบประมาณ ของสํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในจํานวน 80,000 บาท โดย นางจุรีพร ขันตี ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ทําเรื่อง สัญญาว่าจ้าง กับ นาง ม. ประกอบอาชีพ เปิดร้านค้าขายของชําและสินค้าทั่วไป ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นป้าของผู้แจ้งความ เป็นผู้รับจ้างจัดงานโครงการดังกล่าว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,000 บาท แต่ไม่ได้มีการว่าจ้างกันจริง เนื่องจาก นาง ม. ผู้รับจ้างไม่ได้เป็นผู้จัดหาหรือจัดทําตามรายการใบเสนอราคาและใบสั่งจ้างของ สํานักงานวัฒนธรรมฯแต่อย่างใด โดยทางเจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมฯเป็นผู้ทําเอกสารการว่าจ้างมาเองทั้งหมดให้นางม.ลงชื่ออย่างเดียว
เมื่อถึงวันที่ 6 ก.ย. 2565 เงินงบประมาณโครงการดังกล่าวเข้ามา 80,000 บาท นางจุรีพร จึงให้ เจ้าหน้าที่การเงินทําฎีกาเบิกเงิน โดยให้โอนเงินค่าจ้าง 80,000 บาทเข้าบัญชีธนาคารของ นาง ม. ผู้รับจ้าง ต่อมา นางจุรีพรได้สั่งการผ่าน นายพีรพล หรือปู ทองดี อายุประมาณ 28 ปี ตําแหน่งฝ่ายพิธีการ ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของนางจุรีพร โทรมาสั่งให้ผู้แจ้งไปบอกให้นาง ม.ทําการถอนเงินสดจํานวน 80,000 บาท ออกมา เพื่อจะนําไปมอบให้นางจุรีพร ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 7 ก.ย. 2565 ซึ่งผู้แจ้งเห็นว่าพฤติกรรม ดังกล่าวเป็นการทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดินไปโดยมิชอบ
ขณะที่ นางจุรีพรเคยมีพฤติกรรมทุจริตในลักษณะดังกล่าวหลายครั้งแล้ว เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทําให้ผู้แจ้งและนาง ม.ซึ่งทราบถึงพฤติกรรมทุจริตดังกล่าว เกรงว่าตนเองจะมีความผิดไปด้วย จึงได้แจ้งเบาะแสให้กับทาง สํานักงาน ป.ป.ช. จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ทราบเรื่อง และจึงมาร้องทุกข์/กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป.เพื่อให้ดําเนินคดี กับ นางจุรีพรฯ ตามกฎหมายต่อไป
- ฉบับเต็ม! เปิดยุทธการจับสด วธ.อยุธยา ทุจริต 8 หมื่น จ้างทิพย์จัดพิธีกรรมบวงสรวงเทพยดา
- ทุจริตเงิน 8 หมื่น! จับสด วธ.อยุธยา จ้างจัดทิพย์พิธีกรรมบวงสรวงเทพยดาวัดใหญ่ชัยมงคล
- วธ.สั่งสอบทั่ว ปท.! สวจ.อยุธยายังไม่ทราบเรื่องวัฒนธรรมจังหวัดทุจริต 8 หมื่น
จากข้อมูลทั้งหมดสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. ในช่วงปี 2564-2565 มีข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐหลายราย ที่มีพฤติการณ์ทุจริตและถูกจับสดพร้อมของกลางไปแล้ว จำนวน 7 ราย (แยกเป็นปี 2564 จำนวน 4 ราย ปี 2565 จำนวน 3 ราย)
2. พฤติการณ์ทุจริตเป็นเรื่องเรียกรับเงินเปอร์เซ็นต์จากการแลกเปลี่ยนเซ็นอนุมัติรับงาน ใบอนุญาต และการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นงานขนาดเล็กวงเงินไม่มาก
3. วงเงินที่เรียกรับอยู่ระหว่างหลักหมื่น-หลักแสน
4. หลายรายถูกจับกุมพร้อมเงินของกลาง ที่โต๊ะทำงานภายในสำนักงาน
5. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกจับกุม ทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอไปสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาล
อย่างไรก็ดี มีกรณีที่น่าสนใจ ของ นายณฐพล บุญชู นายกเทศมนตรีตำบลคำน้ำแซบ และ นางจุรีพร ขันตี วัฒนธรรมจังหวัด พระนครศรีอยุธยา ที่มีการตรวจสอบพบว่าในหน้าเว็บไซต์องค์กรของตนเอง มีการประกาศเรื่อง "No Gift Policy" แสดงเจตจำนงสุจริตไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ไว้ด้วย (ดูภาพประกอบท้ายเรื่อง)
แต่ผู้บริหารองค์กรกลับมีพฤติการณ์ถูกจับกุมในเรื่องการทุจริตเรียกรับเงินสินบนใต้โต๊ะ
ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ประกาศเรื่อง "No Gift Policy" ของหน่วยงานรัฐในภาพรวมอย่างรุนแรง ให้ถูกมองว่าประกาศนี้ แท้จริงแล้วเพียงแค่นโยบายสวยหรูเพื่อใช้ในการเผยแพร่ออกสื่อประชาสัมพันธ์ผลงาน
แต่ไม่มีทางเป็นจริงได้ในทางปฏิบัติในสังคมไทยที่ดูเหมือนจะดาษดื่นไปด้วย
บุคคลที่มีพฤติการณ์ "เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ส่วนร่วม" "พูดอย่าง-ทำอย่าง" "มือถือสาก-ปากถือศีล"
แบบที่เห็นและเป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้