"...ไม่แน่ใจว่าจะมีกระบวนการตัดตอนผู้ถูกกล่าวหาบางรายออกไปหรือไม่ เพราะคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 แต่ก่อนหน้านั้น ช่วงที่ป.ป.ช.ยังไม่ลงมติ ตนเองและนายทหารอีก 21 ราย ถูกบุคคลกลุ่มหนึ่ง เรียกไปพบที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นการพูดคุยเพื่อจะหาทางช่วยเหลือ แต่กลับกลายเป็นว่า ในตอนแรกคดีนี้มีผู้จะถูกชี้มูล 40 กว่านาย แต่ไป ๆ มา ๆ ปรากฎรายชื่อที่ถูกชี้มูลให้มีความผิดทางอาญาจริงๆที่ 22 นาย ซึ่งคือ ตนเองและพวกที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าการติดตามขยายผลตรวจสอบข้อมูลอภิปรายไม่ไว้ใจวาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT-200 ของ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
ในประเด็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย ซึ่งทั้งหมดนั้นพบว่าเป็นทหารที่มียศน้อย แต่กลับชี้ความผิดไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติ ทั้งที่ GT-200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ.อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น
โดยนายจิรัฏฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า "การซื้อครั้งที่ 3, 11 และ 12 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้เซ็นอนุมัติซื้อด้วยตัวเอง การซื้อครั้งที่ 2, 3, 6, 7, 8 และ 11 ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของ ผบ.ทบ. ก็พบว่ามีผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสธ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติโดยรับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ โดยการสั่งซื้อครั้งที่ 11 พบว่า เสธ.ทบ. ผู้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อ มีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม มีลายเซ็นอนุมัติสั่งซื้อในครั้งที่ 9, 10 และ 12 ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท เอกสารนี้เป็นเอกสารในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 12 สัญญา ซึ่ง ป.ป.ช. ถืออยู่มา 10 ปีแล้ว คำถามคือทำไมชื่อเหล่านี้หายไป”
- อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'ก้าวไกล' ย้อนรอย GT-200 ถามทำไมเอาผิดไม่ถึง 3 ป.
- เปิดคำฟ้องคดีจีทีฯ ไม่ถึง 3 ป.-ยื่นศาลทหารเอาผิด 'พ.อ.-พ.ท-พ.ต.-ร.อ.' 22 คน-ไร้ พลโท? (1)
- เปิดความเห็นอัยการคดีจีทีฯ ป.ป.ช.ไม่แจ้งข้อหา รมว.กห.-ผบ.ทบ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วย กม. (2)
- เจาะสำนวนสอบคดีจีทีฯ 'สมัคร-ประวิตร'อนุมัติซื้อครั้งที่ 4,9 ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา-ชี้มูล? (3)
- เจาะสำนวนสอบคดีจีทีฯ(2) ชัดๆ'ประวิตร'อนุมัติซื้อ 3 ครั้ง465ล.ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา-ชี้มูล? (4)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับนายทหารรายหนึ่ง ซึ่งเป็น 1 ใน 22 จำเลย คดีนี้ ที่ถูกอัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องข้อหากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่กองทัพบกสั่งซื้อ GT-200 เป็นจำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาท เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงอีกด้าน
นายทหารรายนี้ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราโดยกล่าวอ้างว่า ตั้งแต่อัยการศาลทหารยื่นฟ้องคดีต่อศาลทหารเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ส่วนตัวรู้สึกว่า กระบวนการตั้งแต่การยื่นฟ้องมีความรวบรัดผิดปกติ เพราะในวันที่มีการยื่นฟ้องไม่ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องเลยว่า ที่จำเลยถูกกล่าวหาเป็นเรื่องจริงหรือไม่ และไม่ได้เปิดให้จำเลยทั้ง 22 คนเข้าไปนั่งฟังในห้องพิจารณาคดี แต่ให้รออยู่อีกที่หนึ่ง จึงเห็นว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม มาตรา 15 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 2559 จึงได้ทำคำขอต่อศาลทหารเพื่อขอให้ศาลชะลอการประทับรับฟ้อง เนื่องจากส่วนตัวมองว่า กระบวนการทางคดีไม่ครบถ้วน ซึ่งต่อมาได้รับการชี้แจงว่า หนังสือดังกล่าวไม่ตรงตามแบบฟอร์มที่ศาลกำหนด และให้กลับไปทำมาใหม่ และเมื่อมีการอ่านเสร็จก็ดำเนินการเรื่องการประกันตัวต่อทันที ซึ่งจำเลยทั้ง 22 ราย ต้องจ่ายค่าประกันคนละ 100,000 บาท จึงจะได้รับอนุญาตในการประกันตัว
นายทหารรายนี้ ยังระบุด้วยว่า ต่อมาวันที่ 27 ก.ค. 2565 ได้ส่งหนังสือคำขอกับตุลาการศาลทหารอีกครั้ง ซึ่งตุลาการศาลทหารพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการแถลงของผู้ถูกฟ้องคดี เสมือนไม่รับไว้พิจารณา และให้กลับไปแก้ให้ตรงกับแบบฟอร์มที่ศาลทหารกำหนด
ทั้งนี้ หลังจากถูกสั่งให้กลับมาแก้หนังสือคำขอ จึงได้สอบถามผู้รู้ทางกฎหมายต่อ ได้ทราบว่า คดีนี้ถูกตีเป็น ‘หมายเขียว’ ซึ่งสามารถสั่งคุมขังระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาได้
“ขณะนี้ยังไม่ได้รับฟ้อง อยู่ในขั้นตอนหลังจากอ่านการประทับคำฟ้อง สำหรับจำเลยทั้ง 22 คน รวมตนด้วยนั้นไม่มีทนายความ แต่คาดว่าน่าจะขอใช้ทนายความจากศาลทหาร ซึ่งก็ไม่รู้ว่าการดำเนินการสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ปลงตกเลย เพราะรู้สึกว่ากระบวนการต่าง ๆ มันรวบรัดไปหมดเลย แถมการนัดครั้งต่อไป (28 ก.ย. 2565) จะเป็นนัดมาถามคำให้การแล้ว มันเหมือนรวบรัดกันเกินไป และจำเลยยังไม่ได้ฟังการอ่านคำประทับคำฟ้องเลย” นายทหารผู้ถูกฟ้องคดีระบุ
นายทหารผู้ถูกฟ้องคดีรายนี้ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายทหารยศ พล.ท. ไม่ถูกฟ้องในความผิดทางอาญาคดีนี้ด้วยว่า "ไม่แน่ใจว่าจะมีกระบวนการตัดตอนผู้ถูกกล่าวหาบางรายออกไปหรือไม่ เพราะคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 แต่ก่อนหน้านั้น ช่วงที่ป.ป.ช.ยังไม่ลงมติ ตนเองและนายทหารอีก 21 ราย ถูกบุคคลกลุ่มหนึ่ง เรียกไปพบที่หน่วยงานแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นการพูดคุยเพื่อจะหาทางช่วยเหลือ แต่กลับกลายเป็นว่า ในตอนแรกคดีนี้มีผู้ที่จะถูกชี้มูล 40 กว่านาย แต่ไป ๆ มา ๆ เหลือคนที่ถูกชี้มูลให้มีความผิดทางอาญาจริงๆ 22 นาย ซึ่งคือ ตนเองและพวกที่ถูกดำเนินคดีในขณะนี้"
“มีการสนทนากัน ฝั่งนั้นเขาบอกให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ (หัวเราะ) เลยชี้แจงว่า เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เราเป็นผู้แทนหน่วยใช้ของในระดับภูมิภาคที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับ เราก็พูดไปแบบนี้”
นายทหารผู้ถูกฟ้องคดีรายนี้ ยังกล่าวอ้างอีกว่า นอกจากการพูดคุยในครั้งดังกล่าว เมื่อเร็วๆนี้ ทางกองทัพได้เรียกทั้งจำเลยในคดีทั้ง 22 นายไปพบ มีจุดประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางคดีนี้ โดยพูดคุยกันประมาณ 2 ชม.
"สำหรับสาเหตุที่ถูกนัดหมายครั้งนี้ ก็เพราะว่านอกจากการถูกดำเนินคดีทางอาญาแล้ว ป.ป.ช.ยังส่งเรื่องให้กองทัพบกในฐานะต้นสังกัดลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงด้วย ซึ่งเราได้ชี้แจงกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่มาคุยกันในวันนั้นว่า พวกเราไม่ผิด การหาคนผิดต้องไปตรวจสอบหาที่ต้นทาง คือ ผู้อนุมัติความต้องการ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในช่วงที่มีการสั่งซื้อ"
“หลังจากที่พูดออกไป ผู้บังคับบัญชามีท่าทีอ่อนลง และพยายามยกคดีที่กองทัพบกยื่นฟ้องคดีทางปกครองต่อบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด พร้อมพวกรวม 4 คน ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเพิ่งมีคำพิพากษาให้ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินตามที่อัยการฟ้องให้กับกองทัพบก 683,441,561.64 บาท เมื่อต้นเดือนมี.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยจะทำเป็นความเห็นประกอบสำนวนเข้าไปใหม่ เพื่อให้เป็นเหตุไม่ต้องถูกพิจารณาโทษทางวินัย”
“พอได้ยินดังนั้น เราถามกลับไปว่า แล้วปัจจุบันเงินที่เอกชนต้องจ่ายได้มากี่บาท เพราะตัวการหนีไปอังกฤษแล้ว ถ้า ทบ. ไม่ได้เงิน แล้วคดีความที่ยัดให้พวกเรา 22 นาย หากศาลตัดสินให้มีโทษ เราก็จะเดือดร้อน เพราะอาจจะต้องถูกฟ้องให้รับผิดทางละเมิด มารับเคราะห์ถูกสั่งให้จ่ายหนี้แทนเอกชนหรือไม่”
“ไม่แน่ใจว่า สุดท้ายคดีนี้ จะมีความพยายามที่จะตัดตอนให้ใครพ้นความผิดไปหรือไม่ เพราะในข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ มันจะต้องไปถึงผู้อนุมัติจัดซื้อ ผู้อนุมัติสัญญา ผู้อนุมัติแบบ และผู้อนุมัติความต้องการด้วย ” นายทหารผู้ถูกฟ้องคดีรายนี้กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนกรณีกองทัพบกสั่งซื้อ GT-200 จำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาท ของ ป.ป.ช. นั้น
สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานไปแล้วว่า ในช่วงการไต่สวนคดีนี้ จะมีผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 40 ราย คือ พลโทคำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก , พลโทธีระวัฒน์ บุณยะประดับ เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก, พลตรีชาติชาย หรือชาติชายพัฎฐ์ สุคนธสิงห์ , ผู้บัญชาการศูนย์อุตสาหกรรมสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก , พลตรีบัญชา พงษ์สวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก , พันเอกชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ผู้บังคับการหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด กรมสรรพาวุธทหารบก, พันเอกธวัชชัย ปารีย์ อาจารย์หัวหน้าแผนกอาวุธ กองการศึกษา โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก , พันเอกทรงชัย สร้อยจาตุรงค์ อาจารย์หัวหน้าแผนกอาวุธ กองการศึกษา โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พันเอกชาญชลิต พนมสารนรินทร์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก
พันเอกโชติ ยิกุสังข์ ผู้บังคับกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 24 กองบัญชาการช่วยรบที่ 4 กระทรวงกลาโหม, พันเอกธงชัย อ้อนประเสริฐ นายทหารประจำมณฑลทหารราบที่ 11 กระทรวงกลาโหม, พันเอกโกสิทธิ์ จันทมาลา นายทหารปฏิบัติการประจำมณฑลทหารราบที่ 11 กระทรวงกลาโหม, พันเอกเกษมชาติ มั่นสมบูรณ์ อาจารย์แผนกวิชากระสุนวัตถุระเบิด กองการศึกษา โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พันโททวีศักดิ์ ดาษดา อาจารย์แผนกวิชากระสุนวัตถุระเบิด กองการศึกษา โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พันเอกชัยวิทย์ พิมพ์ทอง นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา กระทรวงกลาโหม , พันเอกเกรียงศักดิ์ โคตระภู นายทหารปฏิบัติการประจำกรมสรรพาวุธทหารบก, พันเอกเอกพล ถาวรยุติธรรม นายทหารฝ่ายสรรพาวุธ กองทัพภาคที่ 4, พันโทพิชัย มีวงศ์ ผู้ช่วยนายทหารสรรพาวุธ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, พันโทวรกร ภวังคะนันท์ หัวหน้ากองส่งกำลังบำรุง ศูนย์การทหารราบ
พันเอกธรรมนูญ ภักดีพินิจ นายทหารฝ่ายสรรพาวุูธ กองทัพภาคที่ 1 , พันเอกเกรียงไกร ลาดปาละ นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำจังหวัดทหารบกพิษณุโลก, พันโทนิมิตร เพชรวงษ์ หัวหน้าแผนกสรรพาวุธ กองส่งกำลังบำรุง ศูนย์สงครามพิเศษ, พันโทสมชาญ พลายพงษา นายทหารฝ่ายสรรพาวุธ กองพลทหารราบที่ 15, พันโทภัทรพล เฉยเจริญ หัวหน้าแผนกที่ 1 โรงงานอาวุธ กองโรงงานช่างแสง ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พันโทวิโรจน์ ทรัพย์สัตย์ หัวหน้าแผนกที่ 2 โรงงานอาวุธ กองโรงงานช่างแสง ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พันโทธนาชัย ณ ระนอง หัวหน้าแผนกที่ 3 โรงงานอาวุธ กองโรงงานช่างแสง ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พันโทประสาร อ่ำเอี่ยม รองผู้บังคับการ ส่วนแยก กองบัญชาการช่วยรบที่ 1, พันโทวีระศักดิ์ นิลแก้ว หัวหน้าแผนกแผนและวิศวกรรม โรงงานกระสุนและวัตถุระเบิด กองโรงงานช่างแสง ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, พันโทปัญญา นพคุณ นายทหารประจำโรงเรียนกรมการทหารสื่อสาร , พันโทพงศ์พัฒน์ ขันธเขตต์ นายทหารประจำกรมการทหารสื่อสาร, พันโทสุภาพ รัตนโรจน์พันธ์ ผู้ช่วยนายทหารสรรพาวุูธ กองทัพภาคที่ 4
พันโทประชา พรหมอารักษ์ หัวหน้าแผนกบัญชีคุม กองคลังสรรพาวุธ กรมการทหารสื่อสาร, พันตรีมานิต เสตะบุตร หัวหน้าแผนกสรรพาวุธ กองส่งกำลังบำรุง ศูนย์สงครามพิเศษ, พันตรีสมชาย ฉัตรเงิน ผู้บังคับกองร้อยสรรพาวุธ คลังพันสรรพาวุธกระสุนที่ 21 กองบัญชาการช่วยรบที่ 1, พันตรีอำนาจ ตรีนิตย์ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกสรรพาวุธ กองพลทหารราบที่ 15, พันตรีกฤษณ์ แสงม่วง ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายยุทธการ กองพลทหารราบราบที่ 4, พันตรีธวัช ภาคีศิลป์ ประจำแผนกแผนและวิศวกรรม โรงงานกระสุนและวัตถุระเบิด กองโรงงานช่างแสง ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, ร้อยเอกสุธา ใกล้ชิด ครูแผนกอาวุธนำวีถี กองการศึกษา โรงเรียนทหารสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก, ร้อยเอกมงคล วรเจริญศรี ผู้บังคับหมวดคลังชิ้นส่วนแผนกที่ 3 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก, ร้อยเอกสุเมธ แก้วกุดั่น ผู้บังคับหมวดคลังชิ้นส่วนซ่อม พันส่งกำลังบำรุงที่ 21 กองบัญชาการช่วยรบที่ 1 , ร้อยเอกอรรถพร พานิชเจริญ ผู้บังคับหมวดขนส่งบริการสรรพาวุธสนับสนุน พันซ่อมบำรุงที่ 21 กองบัญชาการช่วยรบที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น)
ระบุข้อกล่าวหา คือ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การณีจัดซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธและวัตถุระเบิด จีที 200 ของกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก ในปีงบประมาณ 2550-2552 โดยไม่ตรวจสอบราคาที่หน่วยราชการอื่นเคยจัดซื้อ ทำให้กองทัพบก ต้องจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น และไม่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหาย รวม 12 สัญญา วงเงินรวม 683,900,000 บาท ในราคาแพงเกินจริง ดังนี้
1. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 87/50 จำนวน 2 เครื่อง วงเงิน 2,500,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1,250,000 บาท 2. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 1/51 จำนวน 24 เครื่อง วงเงิน 22,800,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 950,000 บาท 3. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 41/51 จำนวน 23 เครื่อง วงเงิน 29,700,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1,291,304.35 บาท 4. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 81/51 จำนวน 68 เครื่อง วงเงิน 61,200,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท 5. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 107/51 จำนวน 2 เครื่อง วงเงิน 1,800,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท 6. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 113/51 จำนวน 19 เครื่อง วงเงิน 17,100,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท 7. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 117/51 จำนวน 18 เครื่อง วงเงิน 16,200,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท
8. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 145/51 จำนวน 44 เครื่อง วงเงิน 39,600,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท 9. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 39/52 จำนวน 222 เครื่อง วงเงิน 199,800,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท 10. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 82/52 จำนวน 129 เครื่อง วงเงิน 116,800,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 905,426.36 บาท 11. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 90/52 จำนวน 30 เครื่อง วงเงิน 27,000,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท 12. ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 163/52 จำนวน 166 เครื่อง วงเงิน 149,400,000 บาท ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท
ส่วนข้อมูลการสรุปมติไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จำนวน 22 ราย ซึ่งปรากฏอยู่ในสำนวนความเห็นและคำสั่งฟ้องของอัยการสำนักงานสูงสุด แยกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ พันเอก ทรงชัย สร้อยจาตุรนต์ พันโท พิชัย มีวงศ์ ร้อยเอก มงคล วรเจริญศรี พันเอก ชาญชลิต พนมสารนรินทร์ พันเอกโชติ ยิกสังข์ พันเอก ธงชัย อ้อนประเสริฐ พันเอก ชาติชาย สุคนธสิงห์ พันโท นิมิต เพชรวงษ์ พันตรี วิโรจน์ ทรัพย์สัตย์ พันตรี อำนาจ ตรีนิตย์ พันเอก เกษมชาติ มั่นสมบูรณ์ ร้อยเอก สุธา ใกลัชิด พันโท ประสาร อ่ำเอี่ยม พันโท วีรศักดิ์ นิลแก้ว พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ร้อยเอก สุเมธ แก้วกุดั่น พันโท เกรียงไกร ลาดปาละ ร้อยเอก อรรถพร พานิชเจริญ พันโท ธรรมนูญ ภักดีพินิจ พันโท พงศ์พัฒน์ ขันธเขตต์ พันเอก เอกพล ถาวรยุติธรรม และพันโท ประชา พรหมอารักษ์
2. ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่หลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับพลโท ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ พันเอก ทรงชัย สร้อยจาตุรนด์ พันโท พิชัย มีวงศ์ ร้อยเอก มงคล วรเจริญศรี พันเอก ภาณุ บ้านทอง พันเอก ชาญชลิต พนมสารนวินทร์ พันเอก โชติ ยิกุสังข์ พันเอก ธงชัย อ้อนประเสริจ พลโท คำนวณ เธียรประมุข พันเอก ชาติชาย สุคนธสิงห์ พันโท นิมิต เพชรวงษ์ พันตรี วิโรจน์ ทรัพย์สัตย์ พันตรี อำนาจ ตรีนิตย์ พันเอก เกษมชาติ มั่นสมบูรณ์ ร้อยเอก สุธา ใกลัชิด พันโท ประสาร อ่ำเอี่ยม พันโท วีรศักดิ์ นิลแก้ว พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ร้อยเอก สุเมธ แก้วกุดั่น พันโท เกรียงไกร ลาดปาละ ร้อยเอก อรรถพรพานิชเจริญ พันโท ธรรมนูญ ภักดีพินิจ พันโท พงค์พัฒน์ ขันธเขตต์ พันเอก เอกพล ถาวรยุติธรรม และพันโท ประชา พรหมอารักษ์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) แล้วแต่กรณีไป
3. ให้แจ้งกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก ดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิด รวมทั้งแจ้งรายชื่อบริษัท เอวิเอ แซท คอม จำกัด และบริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด ไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อดำเนินการแบล็คลิสต์ ต่อไปด้วย
ระบุข้อกล่าวหาว่า ไม่ได้มีการทดลองหรือตรวจสอบในทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์ หรือเชิญผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับพัสดุนั้นมาให้คำปรึกษา หรือส่งพัสดุนั้นไปทดลองหรือตรวจสอบ ณ สถานที่ของผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒินั้น ๆ ว่า เครื่องจีที 200 ดังกล่าว มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสัญญา เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจรับพัสดุแต่อย่างใด เป็นเหตุให้เครื่องจีที 200 ดังกล่าว ไม่สามารถใช้งานได้จริง
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ในกระบวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. ไม่เคยปรากฎชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ชี้มูลความผิดทางวินัยหรืออาญา และถูกฟ้องในคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ด้วยแต่อย่างใด
ขณะที่ อัยการระบุความเห็นไว้ว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 ..มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้"
"คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าวได้"
"อนึ่งการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติในการจัดซื้อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น การไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
ซึ่งเกี่ยวกับในประเด็นนี้ ปัจจุบันยังไม่มีคำชี้แจงจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเป็นทางการแต่อย่างใด
อนึ่ง เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า จำเลยทั้ง 22 ราย ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ปัจจุบันไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ และยังไม่ปรากฏข่าวว่าศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้แล้วหรือไม่
จำเลยทุกรายรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
- เปิดครบ! 20 หน่วยงานถูก ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา-วินัยกราวรูดคดีจัดซื้อ GT200-Alpha6
- ป.ป.ช.แจ้งข้อหากราวรูด 200 ราย! จนท.รัฐพันจัดซื้อ GT200-‘อิศรา’พบมี 10 แห่ง 767 ล.
- ย้อนข้อมูล บ.แจ๊คสันฯ ชนะคดีขายจีที200 กองบัญชาการกองทัพไทย-อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ!
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- ข้อมูลธุรกิจล่าสุด สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบ.ขายจีที200 โดนโทษจำคุกคนเดียว 19 ปี
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
- เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
- สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
- ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
- 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์