'ก้าวไกล' ย้อนรอย GT -200 หลัง พบ ป.ป.ช.ชี้มูลแค่ทหารรายเล็ก 22 ราย ไปไม่ถึงกลุ่ม 3 ป. พล.อ.,ประยุทธ์,ประวิตร,อนุพงษ์ ชี้เพราะ ปธ.ป.ป.ช.เป็นเด็ก 3 ป. เผยหลังจากรัฐประหาร บ.เครือเอวิเอ ยังรับงานรัฐกว่า 8 พัน ล. ด้วยวิธีพิเศษ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 วันที่สอง กรณีสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 11 คน ตามที่ ส.ส.ฝ่ายค้านเสนอ ภายใต้ยุทธการณ์ ‘เด็ดหัว สอยนั่งร้าน’ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.2565
โดยนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือที่เรียกว่ากลุ่ม 3 ป.ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT-200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง โดยคดีนี้ เกิดขึ้นในช่วง 2549-2552 จากการจัดซื้อ จัดจ้าง เครื่องค้นหาวัตถุระเบิดและสารเสพติดต่างๆ ที่ต่อมาถูกระบุว่าไร้คุณภาพ
นายจิรัฏฐ์ ระบุว่า คดีนี้มีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยอัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องทหารจำนวน 22 คน ในข้อหาว่ากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่กองทัพบกสั่งซื้อ GT-200 เป็นจำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาท
โดย ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย ซึ่งทั้งหมดนั้นพบว่าเป็นทหารที่มียศน้อย แต่กลับชี้ความผิดไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติ ทั้งที่ GT-200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ.อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น
นายจิรัฏฐ์ ระบุถึงการซื้อแต่ละครั้งว่า การซื้อครั้งที่ 3, 11 และ 12 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้เซ็นอนุมัติซื้อด้วยตัวเอง การซื้อครั้งที่ 2, 3, 6, 7, 8 และ 11 ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของ ผบ.ทบ. ก็พบว่ามีผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสธ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติโดยรับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ โดยการสั่งซื้อครั้งที่ 11 พบว่า เสธ.ทบ. ผู้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อ มีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม มีลายเซ็นอนุมัติสั่งซื้อในครั้งที่ 9, 10 และ 12 ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท เอกสารนี้เป็นเอกสารในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 12 สัญญา ซึ่ง ป.ป.ช. ถืออยู่มา 10 ปีแล้ว คำถามคือทำไมชื่อเหล่านี้หายไป
ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวต่อไปว่าก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงซื้อมาได้ตั้ง 12 สัญญา แต่สิ่งที่ชอบที่สุดในเงื่อนไขสัญญาก็คือว่าเจ้าหน้าที่ตรวจวัตถุระเบิด EOD หลายคนให้ข้อมูลตรงกันหมดเลยว่าการเทรนนิ่งเนี่ยแบ่งเป็นช่วงเช้ากับช่วงบ่าย โดยช่วงเช้าเนี่ยจะเป็นการบรรยาย 8.00น.ถึง 10:00 น มีเจ้าหน้าที่ทหารครับซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทผู้ขายมาบรรยายแล้วก็พูดถึงสรรพคุณต่างๆนานา และสาระสำคัญก็คือว่าคนถือเนี่ยต้องมีความเชื่อว่ามันใช้งานได้เครื่องมันถึงจะหาระเบิดเจอ ผู้ใช้จะต้องเดินด้วยความมั่นคงกำหนดลมหายใจสภาวะร่างกายสำคัญที่สุดถ้าอ่อนเพลียเนี่ยกำลังใจไม่ดีก็จะส่งผลถึงการชี้หาระเบิด ช่วง 10:00 น ถึงเที่ยงก็เป็นการสอนวิธีการนอนหลับที่ถูกต้องนอน โดยสอนว่านอนยังไงไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย ต้องนอนหงาย ท่าราบมือประสานอยู่บนหน้าอกนอนสอนนับเวลานอนให้ได้ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยสอนการจดบันทึกเวลาการนอนแล้วข้อสำคัญที่สุดก็คือห้ามดื่มเหล้าเด็ดขาด ต่อมาตั้งแต่บ่ายโมงถึงบ่าย 3 เป็นการฝึกทดลองจากเครื่องจริงครับเป็นการฝึกเดินตามแนวแกน x แกน y เดินต้องเดิน 2 คนมีคนนึงประคองคนนึงตั้งจิตให้มั่น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนก็จะได้รับคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเลยว่าห้ามเปิดดูภายในอย่างเด็ดขาดเพราะว่ามันจะกระทบต่อเทคโนโลยีละเอียดอ่อนซึ่งอยู่ภายในตัวเครื่องครับ ซึ่งส่วนตัวก็งงว่าเราซื้อมาแล้วทำไมเราแกะไม่ได้ อีกทั้งเท่าที่อ่านสัญญาของกองทัพบกทั้ง 12 สัญญาที่ทำกับผู้ขาย ก็ไม่มีบรรทัดไหนที่เขียนว่าห้ามแกะ
นายจิรัฏฐ์กล่าวต่อไปหายนะที่เกิดจาก GT-200 ก็คือเมื่อ 7 พ.ค. 2551 ตำรวจตระเวนชายแดนเสียชีวิต 3 คนจากในพื้นที่ จ.ปัตตานี โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่มีระเบิดเพราะเอา GT-200 ไปชี้แล้วไม่เจอสุดท้ายก็ระเบิดทันที เหตุการณ์ปี 2552 ตอน ต.ค. มีระเบิดคาร์บอม 2 ครั้งในเดือนเดียวครั้งแรกโรงแรมเมอร์ลินเจ้าหน้าที่ 200 ไปตรวจแล้วก็หันมาตะโกนบอกว่าเคลียร์ชาวบ้านก็ได้ยิน สักพักเดียวก็ระเบิด มีผู้เสียชีวิตหนึ่งคน บาดเจ็บ 26 คน และครั้งที่สองในเดือน ก็คือเหตุระเบิดทำให้นักข่าวในพื้นที่ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเสียชีวิตและก็ประชาชนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ
ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวต่อไปว่าคดีนี้มองมุมไหนก็ส่อเค้าทุจริตและ พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.ประวิตร ต้องรับผิดชอบด้วย แต่สาเหตุที่ไม่สามารถนำไปสู่การชี้มูลความผิดได้ เพราะ ป.ป.ช. ซึ่งรู้กันว่ามีที่มาเกี่ยวของกับการรัฐประหารเพิกเฉยในการทำหน้าที่จึงไม่สามารถไปสู่การดำเนินคดีต่อได้ โดยประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.ชุดอื่นเคยไปชี้มูลกับหน่วยงานอื่นที่มีการสั่งซื้อ GT-200 แต่ว่า ป.ป.ช.ชุดนี้ไม่มี ถ้าเป็นการชี้มูลกองทัพบก ป.ป.ช.ชุดนี้ไม่มีการดำเนินการเลย ซึ่งใครก็รู้ดีว่า พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.นั้นมาจากไหน ก็เป็นเด็ก 3 ป.
รายชื่อกลุ่มบริษัทที่ถูกระบุว่าเกี่ยวกับบริษัทเอวิเอ แซทคอม
นายจิรัฏฐ์กล่าวต่อไปถึงโครงสร้างของบริษัทเอวิเอแซ็ทคอมว่า บริษัทนี้เป็นบริษัทเดียวที่สามารถขายเครื่องจตรวจวัตถุระเบิดดังกล่าวให้กับทุกหน่วยงานในประเทศไทย อาทิขายให้กรมศุลกากร 420,000 บาทต่อเครื่อง แต่ว่ากองทัพบกกลับซื้อ GT-200 อยู่ที่ราคา 950,000 บาทต่อเครื่อง และแพงสุดเฉลี่ย 1.4 ล้านบาทต่อเครื่อง อีกทั้งบริษัทแห่งนี้ก็เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ให้กับทีม Air Force United ของกองทัพอากาศมาอย่างยาวนาน โดยหลังรัฐประหารปี 2549 กลุ่มเตรียมทหารรุ่น 6 ก็เรืองอํานาจ เอวิเอแซทคอม ก็ขยายฐานมายังกองทัพบก โดยหุ้นส่วนผู้มีอำนาจในบริษัท เอวิเอแซททคอม ได้แก่
1.นายอนุวัฒน์ วัฒนกิจ คนนี้เป็นตัวละครลับไม่เคยออกหน้า แต่เป็นพ่อค้าอาวุธตัวเบ้งเลยของประเทศไทย
2 น้องชายนายอนุวัฒน์คือนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ที่หนีไปอังกฤษแล้ว
3. นายพีระพล ตระกูลช่าง เป็นตัวออกหน้าให้กับบริษัทเอวิเอ และต่อมาก็มาตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อว่าบริษัท อาร์ วี คอนเน็กซ์ จำกัด เป็นตัวตายตัวแทนให้กับบริษัทเอวิเอ
4.เรืออากาศโทขจรศักดิ์ วัฒนางกูล
5.พล.อ.อ.อภิชิต กานตรัตน์ อดีตเป็นอุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
และ 6. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ผู้ถือหุ้นบริษัทเอวิเอผ่านบริษัทที่ลิบราเวย์
นายจิรัฏฐ์กล่าวต่อว่า พล.อ.อ.ธเรศ คนนี้นั้นเป็นคีย์แมนคนสำคัญในการทำรัฐประหารรวมถึงเป็นคนขายฝูงบินกริเพนด้วยราคาแพงเกินจริง และหลังรัฐประหารปี 2549 พล.อ.อ.ธเรสก็ได้ไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และก็ไปเป็นประธานกสทชไปประมูลคลื่น 3G และ 4G ช่องคลื่นความถี่ต่างๆ มั่วไปหมด เป็นผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมีบทบาทในการแก้กฎหมายเกี่ยวกับคลื่นสื่อสาร จนเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอวิเอได้ขายของให้กับกองทัพอีกมาก และยิ่งไปกว่านั้นหลังจากการรัฐประหารตอนปี 2549 พบว่า บริษัทเอวิเอก็สามารถจะขายเครื่องนี้ให้กับกองทัพบกได้ถึง 757 เครื่อง และพอมาถึงตอนรัฐประหารในปี 2557 เรื่องนี้ก็หายไปเลย ขณะที่เมื่อหันไปดูฝั่งผู้ขาย คือบริษัทเอวิเอแซทคอม ซึ่งขาย GT-200 ให้กับทุกหน่วยงานในกองทัพ รวมถึงกองทัพบกที่อ้างมาตลอดว่าโดนหลอก พบว่ากว่าจะดำเนินคดีได้ ใช้เวลาคิดอยู่ 7 ปีโดยเพิ่งจะยื่นฟ้องเมื่อปี 2560 คดีถึงที่สิ้นสุดในปี 2565 ศาลปกครองลงโทษให้กรรมการหนึ่งคนของ เอวิเอ แซทคอม ต้องชดใช้เงิน 683 ล้านพร้อมดอกเบี้ย แต่ต่อมาศาลได้ให้ประกันตัวและได้ข่าวว่าย้ายไปอยู่อังกฤษนานแล้วจึงไม่รู้ว่าถึงชนะจะได้เงินคืนหรือไม่
ส.ส.พรรคก้าวไกลกล่าวต่อไปว่าพอหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ที่ว่ามานี้นั้น พบว่าจนถึงปี 2565 บริษัทในพวกเดียวกันกับเครือเอวิเอ ยังคงได้รับงานจากกองทัพและกระทรวงกลาโหม คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,280 ล้านบาทและโครงการเกือบทั้งหมด เป็นการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีพิเศษ ไม่มีการประมูลและสืบราคาแต่อย่างใด