"...รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 5 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามขยายผลตรวจสอบข้อมูลอภิปรายไม่ไว้ใจวาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT-200 ของ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
ในประเด็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย ซึ่งทั้งหมดนั้นพบว่าเป็นทหารที่มียศน้อย แต่กลับชี้ความผิดไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติ ทั้งที่ GT-200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ.อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น
โดยนายจิรัฏฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า "การซื้อแต่ละครั้งว่า การซื้อครั้งที่ 3, 11 และ 12 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้เซ็นอนุมัติซื้อด้วยตัวเอง การซื้อครั้งที่ 2, 3, 6, 7, 8 และ 11 ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของ ผบ.ทบ. ก็พบว่ามีผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสธ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติโดยรับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ โดยการสั่งซื้อครั้งที่ 11 พบว่า เสธ.ทบ. ผู้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อ มีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม มีลายเซ็นอนุมัติสั่งซื้อในครั้งที่ 9, 10 และ 12 ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท เอกสารนี้เป็นเอกสารในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 12 สัญญา ซึ่ง ป.ป.ช. ถืออยู่มา 10 ปีแล้ว คำถามคือทำไมชื่อเหล่านี้หายไป”
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลในเอกสารคำฟ้องคดีนี้ มานำเสนอไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องทหารจำนวน 22 คน ในข้อหาว่ากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่กองทัพบกสั่งซื้อ GT-200 เป็นจำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาทไปแล้ว
คดีนี้ อัยการสูงสุด โดยอัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นผู้ฟ้องคดีแทน กระทรวงกลาโหม ข้อกล่าวหาหลักในคดีนี้ คือ ไม่ได้มีการทดลองหรือตรวจสอบในทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์ หรือเชิญผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับพัสดุนั้นมาให้คำปรึกษา หรือส่งพัสดุนั้นไปทดลองหรือตรวจสอบ ณ สถานที่ของผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒินั้น ๆ ว่า เครื่องจีที 200 ดังกล่าว มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสัญญา เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจรับพัสดุแต่อย่างใด เป็นเหตุให้เครื่องจีที 200 ดังกล่าว ไม่สามารถใช้งานได้จริง
ส่วนจำเลยทั้ง 22 ราย นั้น ในคำฟ้องระบุว่า ขณะกระทำผิด เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ แยกเป็น พันเอก จำนวน 8 คน พันโท 8 คน พันตรี 2 คน และ ร้อยเอก 4 คน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเอกสารข้อมูลประกอบการฟ้องร้องในคดีนี้เพิ่มเติม พบว่า คดีนี้ อัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีความเห็นแย้งผลการชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีการไม่แจ้งข้อกล่าวหา กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิดทางอาญา "พลโท" จำนวน 2 ราย อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว เอาไว้ในในสำนวนความเห็นและคำสั่งของอัยการไว้ด้วย
โดยความเห็นและคำสั่งดังกล่าว เริ่มต้นหลังจากการสรุปมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จำนวน 22 ราย แยกเป็น 3 ส่วน คือ
1. ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ พันเอก ทรงชัย สร้อยจาตุรนต์ พันโท พิชัย มีวงศ์ ร้อยเอก มงคล วรเจริญศรี พันเอก ชาญชลิต พนมสารนรินทร์ พันเอกโชติ ยิกสังข์ พันเอก ธงชัย อ้อนประเสริฐ พันเอก ชาติชาย สุคนธสิงห์ พันโท นิมิต เพชรวงษ์ พันตรี วิโรจน์ ทรัพย์สัตย์ พันตรี อำนาจ ตรีนิตย์ พันเอก เกษมชาติ มั่นสมบูรณ์ ร้อยเอก สุธา ใกลัชิด พันโท ประสาร อ่ำเอี่ยม พันโท วีรศักดิ์ นิลแก้ว พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ร้อยเอก สุเมธ แก้วกุดั่น พันโท เกรียงไกร ลาดปาละ ร้อยเอก อรรถพร พานิชเจริญ พันโท ธรรมนูญ ภักดีพินิจ พันโท พงศ์พัฒน์ ขันธเขตต์ พันเอก เอกพล ถาวรยุติธรรม และพันโท ประชา พรหมอารักษ์
2. ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่หลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยกับพลโท ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ พันเอก ทรงชัย สร้อยจาตุรนด์ พันโท พิชัย มีวงศ์ ร้อยเอก มงคล วรเจริญศรี พันเอก ภาณุ บ้านทอง พันเอก ชาญชลิต พนมสารนวินทร์ พันเอก โชติ ยิกุสังข์ พันเอก ธงชัย อ้อนประเสริจ พลโท คำนวณ เธียรประมุข พันเอก ชาติชาย สุคนธสิงห์ พันโท นิมิต เพชรวงษ์ พันตรี วิโรจน์ ทรัพย์สัตย์ พันตรี อำนาจ ตรีนิตย์ พันเอก เกษมชาติ มั่นสมบูรณ์ ร้อยเอก สุธา ใกลัชิด พันโท ประสาร อ่ำเอี่ยม พันโท วีรศักดิ์ นิลแก้ว พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ร้อยเอก สุเมธ แก้วกุดั่น พันโท เกรียงไกร ลาดปาละ ร้อยเอก อรรถพรพานิชเจริญ พันโท ธรรมนูญ ภักดีพินิจ พันโท พงค์พัฒน์ ขันธเขตต์ พันเอก เอกพล ถาวรยุติธรรม และพันโท ประชา พรหมอารักษ์ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) และ (2) แล้วแต่กรณีไป
3. ให้แจ้งกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก ดำเนินการหาผู้รับผิดทางละเมิด รวมทั้งแจ้งรายชื่อบริษัท เอวิเอ แซท คอม จำกัด และบริษัท โกลบอล เทคนิคอล จำกัด ไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อดำเนินการแบล็คลิสต์ ต่อไปด้วย
ขณะที่อัยการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธ์ และ ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ให้การสอดคล้องกันว่า ขอบเขตของงาน และคุณลักษณะเฉพาะตามที่ระบุไว้ ไม่มีเทคโนโลยีรองรับการทำงานตามคุณลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์จีที 200 และคุณลักษณะดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้จริง
ประกอบกับรายงานผลการดำเนินงานการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 โดยคณะกรรมการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 โดยใช้วิธีสำหรับการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด จีที 200 ที่ดำเนินการทดสอบโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้เทคนิคการทดสอบที่เรียกว่า "Double-Blind-Test" โดยคณะทดสอบชุดแรกเป็นผู้ซ่อนสาร composition C-4 จำนวน 20 กรัม ซึ่งมีส่วนประกอบของ RDX และ plasticizer ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุระเบิด โดยมีเพียง 1 กล่องที่บรรจุสารระเบิดจริง จากกล่องพลาสติก 4 กล่อง ส่วนคณะทดสอบชุดที่ 2 นำกล่องบรรจุวัตถุต้องสงสัยไปวางในตำแหน่งที่จัดไว้หนึ่งในสี่จุด จากนั้นใช้การค้นหาวัตถุระเบิดโดยเป็นการทดสอบแบบสุ่มตัวอย่าง (random) ด้วยวิธีการให้บุคคลถือเครื่องตรวจหาวัตถุต้องสงสัยเดินตรวจค้นวัตถุต้องสงสัยมีการทดสอบจำนวน 20 ครั้ง แต่ละครั้งอาจจะเปลี่ยนตำแหน่งที่วาง ผลการทดสอบจำนวน 20 ครั้ง ตรวจพบวัตถุต้องสงสัยได้ถูกต้องจำนวน 4 ครั้ง แล้วนำตัวเลขมาประเมินผลเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับ 20% โดยในทางสถิติของหลักการสุ่ม ถือเป็นค่าไม่แตกต่างการสุ่มทั่วไป จึงเห็นได้ว่าเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที200 ไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาวัตถุระเบิดและสารเสพติด เป็นของที่นำมาหลอกขาย
เจ้ากรมสรรพวุธทหารบก ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางการทหาร เช่น อาวุธ เครื่องบินรบ เรือดำน้ำ ฯลฯ ต้องมีการตรวจสอบประสิทธิภาพก่อนที่มีการอนุมัติให้จัดซื้อว่าเป็นไปตามความต้องการของกองทัพหรือไม่ เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ไม่ใช่อุปกรณ์ที่มีใช้กันอยู่โดยทั่วไปและมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการตรวจหาวัตถุระเบิดและสารเสพติด ดังนั้น เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ และการทดสอบ"Double-Blind-Test" โดยคณะทดสอบชุดแรก เป็นผู้ซ่อนสารcomposition C-4 จำนวน 20 กรัม ซึ่งมีส่วนประกอบของ RDX และ plasticizer ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุระเบิด โดยมีเพียง 2 กล่องที่บรรจุสารระเบิดจริง จากกล่องพลาสดิก ๔ กล่อง ส่วนคณะทดสอบ ชุดที่ 2 นำกล่องบรรจุวัตถุต้องสงสัยไปวางในตำแหน่งที่จัดไว้หนึ่งในสี่จุด จากนั้นใช้การค้นหาวัตถุระเบิดโดยเป็นการทดสอบแบบสุ่มตัวอย่าง (random) ด้วยวิธีการให้บุคคลถือเครื่องตรวจหาวัตถุต้องสงสัยเดินตรวจค้นวัตถุต้องสงสัยมีการทดสอบจำนวน 20 ครั้ง แต่ละครั้งอาจจะเปลี่ยนตำแหน่งที่วางนั้นกระทำได้โดยง่ายไม่มีความซับช้อนแต่ไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้น จึงปฎิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 5 มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้
คณะกรรมการตรวจรับ โดยทั่วไปมีหน้าที่ตรวจสอบว่าอุปกรณ์ที่ส่งมอบมีจำนวนตามที่สั่งซื้อและมีความชำรุดบกพร่องหรือไม่ ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้งานเพราะต้องมีการตรวจสอบก่อนมีการอนุมัติให้จัดซื้อแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดสารเสพติดได้ คณะกรรมการตรวจรับไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเชื่อโดยสุจริตว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดสารเสพติดได้เพราะได้รับอนุมัติให้จัดซื้อแล้ว เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้
อัยการฯ มีความเห็นต่อว่า คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าวได้
อนึ่งการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติในการจัดซื้อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น การไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อัยการฯ ยังมีความเห็นต่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา พลโท ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในการจัดซื้อครั้งที่ 3 ประเด็นไม่แต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ และประเด็นไม่ส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไปให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค แล้วแต่กรณี และกรมสรรพากร ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาหรือข้อตกลง
กรณีการจัดซื้อครั้งที่ 2 ประเด็นไม่แต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ
พลโท คำนวณ เธียรประมุข เมื่อครั้งตำรงตำแหน่ง เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 ในการจัดซื้อครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 และครั้งที่ 12 ประเด็นไม่แต่งตั้งผู้ชำนาญการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ
กรณีการจัดซื้อครั้งที่ 5 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 และครั้งที่ 11 ประเด็นไม่แต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ และประเด็นไม่ส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไป ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค แล้วแต่กรณี และกรมสรรพากร ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาหรือข้อตกลง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิดทางอาญาผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (พลโท ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ) และที่ 9 (พลโท คำนวณ เธียรประมุข) อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว
อนึ่งการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 9 เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกว่า ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่า อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่แต่ไม่ใด้ดำเนินการนั้น จึงเห็นว่าเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คณะกรรมการ ปปช. แจ้งข้อกล่าวหา พันเอก ภาณุ ป้านทอง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุ ประเด็นเจ้าหน้าที่พัสดุไม่เสนอแต่งตั้งผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุหรืองานจ้างนั้น ๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการ คณะกรรมการ ปปช. ไม่ชี้มูลความผิดทางอาญาผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5
คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวคณะกรรมการตรวจรับ ในการจัดซื้อ ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 12 ในประเด็นตรวจรับโดยมิชอบเป็นเหตุให้มีการเบิกจ่ายเงินให้แก่คู่สัญญาซึ่งจำหน่ายอุปกรณ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพเกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงและชี้มูลความผิดทางอาญาจึงเห็นควรรับดำเนินคดีฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 1 พันเอก สร้อยจาตุรนต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พันโท พิชัย มีวงศ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และ ร้อยเอก มงคล วรเจริญศรี ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 2 พันเอก ชาญชลิต พนมสารนรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 พันเอก โชติ ยิกุสังข์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 และพันเอก ธงชัย อ้อนประเสริฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 3 พันเอก ธงชัย อ้อนประเสริฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 พันเอก ชาติชาย สุคนธสิงห์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 และพันโท นิมิต เพชรวงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 11
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 4 พันเอก ชาญชลิต พนมสารนรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 พันตรี วิโรจน์ ทรัพย์สัตย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 และพันตรี อำนาจ ตรีนิตย์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 13
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 5 พันโท ธงชัย อ้อนประเสริฐ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 8 พันเอก เกษมชาติ มั่นสมบูรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 และร้อยเอก สุธา ใกล้ชิด ผู้ถูกกล่าวหาที่ 15
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 6 พันเอก เกษมชาติ มั่นสมบูรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 14 พันโท ประสาร อ่ำเอี่ยม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 16 และพันโท วีรศักดิ์ นิลแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 7 พันเอก โชติ ยิกุสังข์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 และร้อยเอก สุเมธ แก้วกุดั่น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 19
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 8 พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 พันโท เกรียงไกร ลาดปาละ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 20 และร้อยเอก อรรถพร พานิชเจริญ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 21
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 9 พันตรี วีรศักดิ์ นิลแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 17 และ พันโท ธรรมนูญ ภักดีพินิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 10 พันเอก ชาติชาย สุคนธสิงห์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 10 พันโท ธรรมนูญ ภักดีพินิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22 และพันโท พงศ์พัฒน์ ขันธเขตต์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 23
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 11 พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล ผู้ถูกกล่าวหาที่ 18 พันเอก ธรรมนูญ ภักดีพินิจ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 22 และพันเอก เอกพล ถาวรยุติธรรม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 24
ผู้ถูกกล่าวหาในการจัดซื้อครั้งที่ 12 พันโท เกรียงไกร ลาดปาละ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 20 และ พันโท ประชา พรหมอารักษ์ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 25
ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ทั้งนี้ ในสำนวนความเห็นและคำสั่งอัยการ ยังระบุด้วยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารกรุงเทพ เห็นควรขอให้อัยการสูงสุดหมายให้อัยการศาลทหารกรุงเทพรับผิดชอบในการดำเนินคดีในศาลทหารกรุงเทพ และให้ส่งสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ สำนักงานอัยการศาลทหาร และแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งตัวผู้ถูกกล่าวไปยังสำนักงานอัยการศาลทหาร เพื่อฟ้องคดี ภายในกำหนดอายุความ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยังอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ ได้รับการยืนยันว่า อัยการมีการให้ความเห็นแย้งกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิดทางอาญา พลโท จำนวน 2 ราย อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวไว้ด้วยจริง ซึ่งเป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนการไต่สวนคดีที่ ป.ป.ช.ส่งมา รวมไปถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ขอให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม
ขณะที่อัยการรายหนึ่งให้ความเห็นสำนักข่าวอิศราว่า ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่า รมว.กลาโหม และผบ.ทบ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีหลักฐานน่าจะกระทำความผิด แต่เมื่อ ป.ป.ช. ไม่ได้ชี้มูลมา อัยการสูงสุดน่าจะต้องทำหนังสือถึง ป.ป.ช. ให้ไปไต่สวนบุคคลที่เห็นว่าจะกระทำความผิดเพิ่มเติมได้ แม้ว่าจะมีการฟ้องคดีเจ้าหน้าที่บางส่วนไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ตาม
@ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาฯ ป.ป.ช.
ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาฯ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า เกี่ยวกับคดีนี้ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญานายทหารที่เกี่ยวข้องในฐานะคณะกรรมการตรวจรับเครื่องไปจำนวน 22 ราย ส่วน พลโท จำนวน 2 ราย ถูกชี้มูลเฉพาะความผิดทางวินัยเท่านั้น
ส่วนความเห็นของอัยการ ที่ระบุว่ากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ชี้มูลความผิดทางอาญา พลโท จำนวน 2 ราย อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าว นั้น นาย นิวัติไชย กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียด ต้องขอตรวจสอบข้อมูลก่อน
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า จำเลยทั้ง 22 ราย ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ปัจจุบันไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ และยังไม่ปรากฏข่าวว่าศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้แล้วหรือไม่ จำเลยทุกรายรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
- เปิดครบ! 20 หน่วยงานถูก ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา-วินัยกราวรูดคดีจัดซื้อ GT200-Alpha6
- ป.ป.ช.แจ้งข้อหากราวรูด 200 ราย! จนท.รัฐพันจัดซื้อ GT200-‘อิศรา’พบมี 10 แห่ง 767 ล.
- ย้อนข้อมูล บ.แจ๊คสันฯ ชนะคดีขายจีที200 กองบัญชาการกองทัพไทย-อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ!
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- ข้อมูลธุรกิจล่าสุด สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบ.ขายจีที200 โดนโทษจำคุกคนเดียว 19 ปี
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
- เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
- สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
- ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
- 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์