"...ทั้งหมดคือปัญหา “ช่องโหว่-ธรรมาภิบาล” ของ “กฎหมาย” ป.ป.ช.ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาคิ(คสช.) ในปัจจุบัน ที่เปิดช่องให้ “นักการเมือง” สามารถทำงานอยู่ต่อได้ แม้จะมีชนักติดหลัง-รอยด่างพล้อยในอดีตติดตัวมาก็ตาม..."
“สุนทร วิลาวัลย์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี กลายเป็นนักการเมืองรายล่าสุด ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดร่วมกับ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” บุตรสาว ปัจจุบันเป็น รมช.ศึกษาธิการ ฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐออกเอกสารสิทธิทับซ้อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเขตป่าไม้ถาวรโดยมิชอบ โดยในส่วนของ “กนกวรรณ” ได้พบอัยการ และถูกศาลประทับรับฟ้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ “สุนทร” ซึ่งหลบหนีคดีตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 ได้เข้ามอบตัวแก่อัยการในคดีดังกล่าว หลังจากถูกออกหมายจับไปก่อนหน้านี้จำนวน 2 หมายด้วยกัน คือ 1.หมายจับแรกก่อนที่คดีดังกล่าวจะหมดอายุความตาม “กฎหมายเก่า” ป.ป.ช. และ 2.หมายจับใหม่ที่อ้างถึง มาตรา 7 “กฎหมายใหม่” ป.ป.ช. ที่อายุความคดีจะไม่สะดุดหยุดลง
ประเด็นการดำเนินคดีของ “สุนทร” ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.คดีกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 กรณีร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดมิชอบ ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นสมัยนายสุนทรดำรงตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 2545 โดยคดีนี้ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตาม “กฎหมายเก่า” คือ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2542 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ทำให้คดีหมดอายุความลงเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดีฝ่ายอัยการประสาน ป.ป.ช. ให้ไปยื่นคำร้องต่อศาล ขอออกหมายจับใหม่ โดยอ้างถึงมาตรา 7 “กฎหมายใหม่” คือ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 ที่ระบุว่า หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไประหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ นำไปสู่การที่ “สุนทร” ยอมกลับมามอบตัวสู้คดีตามกฎหมาย
2.คดีบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และเขตป่าไม้ถาวร โดยคดีนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ซึ่งคดีดังกล่าวยังไม่หมดอายุความ และอีกคดีกรณีบุกรุกที่ดินในพื้นที่ อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี เกิดขึ้นปี 2555 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังไม่หมดอายุความเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดีกรณีคล้ายกับ “สุนทร” เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกามาเป็น “บรรทัดฐาน” แล้วก่อนหน้านี้ คือ คดีหมายเลขแดงที่ 9955/2558 ขณะเกิดเหตุ พ.ร.ป.ป.ป.ช.แก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ที่ให้เพิ่มความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 (หากคดีหมดอายุความแล้วลงโทษมิได้) แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 แห่ง พ.ร.ป.ป.ป.ช.ปี 2554 (หากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีระหว่างดำเนินคดี ให้อายุความสะดุดหยุดลง) มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ
เมื่อมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ปี 2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
กรณีนี้จึงนำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จึงต้องพิจารณาตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ที่โจทก์ฟ้องมีอายุความยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (1) การที่โจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เกินกว่ายี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ดังนั้นคดีของ “สุนทร” จึงกลายเป็น “ช่องโหว่” ทางกฎหมายขึ้นมาทันที เนื่องจาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดโดยใช้ “กฎหมายเก่า” ซึ่งคดีดังกล่าวหมดอายุความไปแล้ว แม้ว่าจะขอศาลออกหมายจับอีกครั้งตาม “กฎหมายใหม่” ก็ตาม แต่ยังมีบรรทัดฐานตามคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้นวางแนวไว้แล้ว
เชื่อได้ว่า “สุนทร” น่าจะใช้ช่องนี้ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลอาญาคดีทุจริตฯภาค 2 ต่อไป
แม้ว่า “กฎหมายใหม่” ของ ป.ป.ช. จะถูกยกย่องว่าเป็น “ยาแรง” ในการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน สอดรับกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ถูกตั้งฉายาว่า “ฉบับปราบโกง” เนื่องจากให้กลไก “องค์กรอิสระ” มีอำนาจอย่างมาก แทบจะเหนือกว่าฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติก็ตาม ทว่ามิอาจนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ
ยกตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิมปี 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถตรวจสอบนักการเมืองเพื่อ “ถอดถอน” ออกจากตำแหน่งได้ หากได้รับเรื่องร้องเรียนที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ จากประธานวุฒิสภา หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด และส่งเรื่องถอดถอนแล้ว “นักการเมือง” ที่ถูกกล่าวหาดังกล่าว จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
เช่น กรณี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว “ขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และ “นิคม ไวยรัชพานิช” 2 ประธานสภาล่าง-สภาสูง คดีสอดไส้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. โดยถูกส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นอกจากนี้ยังถูกส่งไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยนับเป็น 3 คนแรก และ 3 คนสุดท้ายที่ถูก “ถอดถอน” เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีนักการเมืองรายใดเคยโดนมาก่อน นับตั้งแต่มีกฎหมายดังกล่าวเมื่อปี 2542 เป็นต้นมา
เพราะต่อมามีการคลอด “กฎหมายใหม่” คือ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 ปิดช่องให้สภารับเรื่องร้องเรียนถอดถอนนักการเมือง แต่ให้อำนาจ ป.ป.ช. ดำเนินการ โดยยึดเอาการกระทำผิด “มาตรฐานจริยธรรมฯ” มาวินิจฉัย ก่อนจะชี้มูลความผิดไป เช่น “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คดีครอบครองเอกสารสิทธิโดยมิชอบ อยู่ในเขตป่าไม้ถาวรและพื้นที่ ส.ป.ก. และ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ คดีโพสต์ข้อความและภาพมิบังควร ทำให้เข้าใจไปในทางเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นต้น
ทว่าตามกฎหมายใหม่ “นักการเมือง” ที่ถูกกล่าวหา ไม่ได้ถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที แต่เป็นอำนาจการพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ยกตัวอย่าง กรณี “วิรัช รัตนเศรษฐ” และพวก ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอล แม้ว่าจะถูกชี้มูลไปแล้ว แต่ในเมื่อไม่มีเรื่อง “ถอดถอน” แบบกฎหมายเก่า ทำให้ไม่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที แต่เป็นดุลพินิจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศาลรับฟ้อง และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในเวลาต่อมา
หรือกรณี “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อครั้งเป็น “นายก อบจ.สงขลา” คดีละเลยไม่จ่ายเงินให้เอกชนในการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน วงเงิน 50 ล้านบาท ที่ยังไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจาก ป.ป.ช.ดำเนินการฟ้องเอง และศาลยังมิได้พิจารณา ทำให้เขายังปฏิบัติหน้าที่ รมช.มหาดไทย อยู่ แม้จะถูก ป.ป.ช.ชี้มูลมาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 หรือเกือบ 2 ปีแล้ว
ที่สำคัญยังเป็นการวัด “ธรรมาภิบาล” ทางการเมืองของ “นักการเมือง” ในยุคปัจจุบันด้วยว่า ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 (หลังการเลือกตั้งปี 2562) มีรัฐมนตรีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปแล้วถึง 2 ราย (นิพนธ์ บุญญามณี, กนกวรรณ วิลาวัลย์) แต่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังคงบริหารงานต่อไป โดยไม่ยอมปรับรัฐมนตรีทั้ง 2 รายออกจาก ครม. หรือแม้แต่ยุบสภา หรือลาออก โดยอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล และเป็นอำนาจหน้าที่ของศาล
หากย้อนกลับไปในรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ” มีรัฐมนตรีถึง 5 ราย เมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำทุจริตประพฤติมิชอบ ก็ชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนด้วยซ้ำ ได้แก่ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กรณีจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุข รองนายกฯ กรณีถูกตรวจสอบโครงการชุมชนพอเพียง นายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรณีปลากระป๋องในถุงยังชีพเน่า นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง กรณีถือหุ้นเกินกว่า 5% และนายมานิต นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข กรณีถูกตรวจสอบโครงการไทยเข้มแข็ง
ยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กรณีถูก อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย มีมติไล่ออกจากราชการ เมื่อครั้งเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ในคดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์
บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์-ภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ถูกปรับออกจาก ครม.ทันควัน กรณีถูกฝ่ายค้านซักฟอกว่า พัวพันกับการทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งสุดท้ายศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 2 อดีตรัฐมนตรีดังกล่าว
หรือหากย้อนกลับไปไกลกว่านั้นคือ รัฐบาล “ชวน หลีกภัย 1” ที่ถูกฝ่ายค้านซักฟอกเรื่องการทุจริตแจกที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ในยุค “นิพนธ์ พร้อมพันธุ์” รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รมช.เกษตรฯ ซึ่งทั้ง 2 รายลาออกไปก่อนถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้ “กลุ่ม 16” ยุคดั้งเดิม นำโดย “เนวิน ชิดชอบ-สุชาติ ตันเจริญ” ลงมติงดออกเสียงให้รัฐบาล ส่งผลให้ “นายหัวชวน” ตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ก่อนลงมติซักฟอก
หรือแม้แต่ยุค “มังกรเติ้ง” บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกฯ ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ “กลุ่ม 16” เกี่ยวพันกับ “ราเกซ สักเสนา” คดีทุจริตธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ หรือ “บีบีซี” ชนวนเหตุให้รัฐมนตรีในกลุ่ม 16 ลาออกจากรัฐมนตรี และทำให้ “บรรหาร” ตัดสินใจยุบสภาในเวลาต่อมา
ทั้งหมดคือปัญหา “ช่องโหว่-ธรรมาภิบาล” ของ “กฎหมาย” ป.ป.ช.ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาคิ(คสช.) ในปัจจุบัน ที่เปิดช่องให้ “นักการเมือง” สามารถทำงานอยู่ต่อได้ แม้จะมีชนักติดหลัง-รอยด่างพล้อยในอดีตติดตัวมาก็ตาม
จนมาถึงกรณี “สุนทร-กนกวรรณ” 2 รายล่าสุด ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปในฐานะ นายก อบจ.ปราจีนบุรี-รมช.ศึกษาธิการ อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ทุกวันนี้