“..เด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโควิดโอไมครอน BA.2 มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่ถึง 7 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโควิดโอไมครอน BA.2 มากกว่าผู้ป่วยโรคพาราอินฟลูเอนซาถึง 6 เท่า..”
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ร่วมกับเรามาเกือบ 3 ปีแล้ว เชื้อไวรัสมีการปรับตัว กลายพันธุ์มากมาย โดยแต่ละสายพันธุ์มีคุณลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป โดยสายพันธุ์ล่าสุดที่มีการระบาดในขณะนี้ คือ โอไมครอน และยังมีการแบ่งย่อยสายพันธุ์เป็น BA.1 และ BA.2 ที่สามารถติดต่อได้ง่ายมากขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังพบรายงานผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้นด้วย
โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ซึ่งนักวิจัยทั่วโลกต่างออกมาแสดงความกังวลว่า เป็นสายพันธุ์ที่มีศักยภาพเป็นสายพันธุ์ต้องกังวล (VOC) อาจมีความน่ากลัวมากกว่าสายพันธุ์เดิมอย่าง BA.1 และแนะนำว่า ให้ทั่วโลกจับตาและเฝ้าระวังสายพันธุ์นี้อย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นโควิด-19 สายพันธุ์หลักตัวใหม่ต่อจากโอไมครอน เนื่องจากมีการหลบหลีกวัคซีน หนีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ BA.1 และหนียาโมโนโคลนอลฯ ได้ โดยมีข้อมูลจากงานวิจัยของต่างประเทศ 2-3 ฉบับ ที่ชี้ว่า โอไมครอน BA.2 นั้น อาจน่ากลัวและควรต้องให้ความสนใจมากกว่า BA.1 ก็เป็นได้
ล่าสุด ผลการวิจัยจากฮ่องกงเกี่ยวกับความรุนแรงของโควิดโอไมครอน BA.2 พบว่า หากเด็กติดโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะมีความรุนแรงมากกว่าเด็กที่ติดโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ หรือเปรียบเทียบกับโรคพาราอินฟลูเอนซา และโรคไข้หวัดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การวิจัยนับจำนวนผู้เสียชีวิตและผลลัพธ์ที่ร้ายแรงอื่น ๆ ได้ในจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น
ทั้งนี้ ผลการวิจัย ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้น เนื่องจากมางานวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยนักวิจัยภายนอก หรือได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ รวมไปถึงยังไม่ได้รับการยืนยันจากการศึกษาอื่น ๆ
แม้ว่าตลอดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฮ่องกงได้ใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด การติดตามเส้นทางโรค ตลอดจนการปิดธุรกิจและบริการ รวมถึงโรงเรียน ทำให้ฮ่องกงสามารถลดจำนวนผู้ป่วยได้ เพราะประชากรมีโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 ที่น้อยลง
จนกระทั่งฮ่องกงเผชิญหน้ากับโควิดโอไมครอนสายพันธุ์ BA.2 ที่มีคุณลักษณะที่ติดต่อได้ง่าย แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม BA.1 ถึง 30% ส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยง เช่น ประชากรผู้สูงอายุ ที่หลายคนลังเลในการฉีดวัคซีน รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย
โดยการวิจัยนี้ ได้เปรียบเทียบจำนวนเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโควิดสายพันธุ์ BA.2 กับสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้ ข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม 2563 - พฤศจิกายน2564) กับโรคพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) และโรคไข้หวัดใหญ่ โดยอ้างอิงข้อมูลเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่จากเวชระเบียนระหว่างเดือนมกราคม 2558 - ธันวาคม 2561
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโอไมครอนใน มีเด็กติดเชื้อโอไมครอน BA.2 กว่า 1,147 รายที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และเสียชีวิต 4 ราย
สำหรับเด็กที่เสียชีวิต อายุ 11 เดือน , 3 ปี , 4 ปี และ 9 ปี โดยเด็ก 3 รายแรก มีสุขภาพดี แต่เด็กอายุ 9 ปี มีอาการกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) และมีเด็ก 2 รายที่เสียชีวิตจากโรคไข้สมองอักเสบหรือสมองบวม ซึ่งทั้งหมดยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด
“เด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโควิดโอไมครอน BA.2 มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่ถึง 7 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโควิดโอไมครอน BA.2 มากกว่าผู้ป่วยโรคพาราอินฟลูเอนซาถึง 6 เท่า” ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อโควิดและโรคอื่นๆ
นักวิจัย เปิดเผยว่า ส่วนอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโอไมครอน BA.2 คิดเป็น 0.35% ในขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่อยู่ที่ 0.05% และโรคพาราอินฟลูเอนซา 0.04% ส่วนอัตราการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูสำหรับโอมิครอน BA.2 สูงกว่าโควิดสายพันธุ์อื่น 18 เท่า สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่า และใกล้เคียงกันกับโรคพาราอินฟลูเอนซา
ทั้งนี้ ฮ่องกงไม่มีบันทึกกรณีของเด็กติดโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ เกิดอาการชักจากไข้ แต่เด็กที่ติดโอไมครอน BA.2 มีโอกาสเป็นลมชักที่เกิดจากไข้มากกว่าเด็กที่ป่วยไข้หวัดใหญ่ถึง 3 เท่า และมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าเด็กที่ติดโรคพาราอินฟลูเอนซาถึง 4 เท่า
ขณะเดียวกัน ข้อมูลวิจัยบ่งชี้ว่า เด็กที่ติดโอไมครอน BA.2 ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองบวมได้สูงกว่าเด็กที่เป็นโรคพาราอินฟลูเอนซา แต่ใกล้เคียงกับเด็กที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่
ส่วนการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางเดินหายใจ เด็กที่ป่วยจากโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 ประมาณ 5% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ขณะที่เด็กติดโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ มีโอกาสอยู่ที่ 0.27% แสดงให้เห็นว่าโอกาสที่กลุ่มเด็กติดโควิดโอไมครอน BA.2 มีความเสี่ยงสูงกว่าประมาณ 11 เท่า เมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า และประมาณสองเท่าเมื่อเทียบกับโรคไข้หวัดใหญ่
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง สรุปว่า ความรุนแรงที่แท้จริงของโควิดโอไมครอน BA.2 ไม่รุนแรงเท่าที่เห็นได้จากการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของเด็กที่ไม่ติดเชื้อและไม่ได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่าเด็กมีแนวโน้มที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในช่วงการระบาดของโอไมครอนมากกว่าเดลต้าเกือบ 4 เท่า
แม้ว่าผลการศึกษาอาจดูน่ากลัว จนสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ปกครองทั้งหลาย
แต่ พญ.เบธ ธีเลน (Beth Thielen) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา (University of Minnesota) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากพอควรที่จะรู้ว่าในแต่ละสถานที่จะเป็นอย่างไร เพราะประชากรในแต่ละที่อาจได้รับเชื้อโควิด-19 ไปก่อนบ้างแล้ว ทั้งสายพันธุ์เดลต้า หรือโอไมครอน BA.1 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษานี้นำเสนอมุมมองที่สำคัญเกี่ยวกับความสามารถของโควิดโอไมครอน BA.2 ที่เจาะจงไปที่กลุ่มประชากรที่เปราะบาง และยังเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับกลุ่มเด็ก รวมไปถึงการเพิ่มการรักษาสำหรับกลุ่มอายุนี้
“กลุ่มประชากรนี้ค่อนข้างมีความจำกัดในการรักษา เราสามารถให้ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ได้ แต่เราไม่มีเครื่องมือรักษาอย่างอื่นมากมายนัก” พญ.ธีเลน กล่าว
พญ.ธีเลน กล่าวถึงวิธีที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวในการปกป้องทารกและเด็กเล็กว่า ต้องแน่ใจว่าทุกคนรอบตัวพวกเขาได้รับการฉีดวัคซีน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนโควิด มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากแอนติบอดีจากวัคซีนป้องกันทั้งคุณแม่และเด็กทารกในครรภ์เป็นระยะเวลาหนึ่งหลังคลอด และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยป้องกันได้เนื่องจากแอนติบอดีส่งผ่านไปยังทารกผ่านทางน้ำนมแม่
ทางด้าน พญ.คลอเดีย โฮเยน (Claudia Hoyen) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็กที่จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเด็กและทารกเรนโบว์ (UH Rainbow Babies & Children's Hospital) ในคลีฟแลนด์ (Cleveland) กล่าวว่า พ่อแม่ควรจำไว้ว่า โอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตจากโควิดโอไมครอนนั้นต่ำมาก โดยมีข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 มีอัตราน้อยกว่า 0.1%
“ตนไม่คิดว่าจะมีอะไรต้องตื่นตระหนก เมื่อได้เห็นสิ่งที่เราเห็นจากการศึกษาครั้งนี้ หลายคนอาจรู้สึกโล่งใจ แต่มันยังไม่จบ มีประชากรจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและต้องได้รับการป้องกัน แต่สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กอาจต้องใช้ความระมัดระวังมากกว่าครอบครัวอื่นๆ” พญ.โฮเยน กล่าว
วัคซีนเป็นปัจจัยสำหรับในการลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้ เห็นได้จากอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราการเสียชีวิตที่ต่ำลงในขณะนี้ แต่ปัจจุบัน มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็กน้อยมาก จึงส่งผลให้เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก
เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปสามารถรับวัคซีนซิโนฟาร์มได้ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยสามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับผู้ที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่มีวัคซีนชนิด mRNA ที่อนุมัติสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทุกที่
วัคซีนของไฟเซอร์สำหรับเด็กที่อายุน้อยที่สุดประสบกับความพ่ายแพ้และความล่าช้าหลายครั้ง โดยข้อมูลที่คาดว่าจะได้รับในหลักสูตรการให้ยาขนาดต่ำ 3 ครั้งในเดือนเมษายนนี้
ขณะเดียวใน ภายในสัปดาห์นี้ บริษัทผลิตวัคซีนโมเดอร์นา กล่าวว่า วัคซีนสำหรับเด็กเล็กมีความปลอดภัยและสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน - 5 ปี แต่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อยที่ 43.7% ในการต่อต้านการติดเชื้อตามอาการในเด็กอายุ 6 เดือน - 2 ปี และ 37.5% ในเด็กอายุระหว่าง 2 - 5 ปี
แม้ว่าจะผลการทดลองจะมีผลความสำเร็จค่อยข้างต่ำ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดระลอกของสายพันธุ์โอไมครอน จะพบว่ามีประสิทธิภาพเทียบได้กับผู้ใหญ่ในช่วงเวลาดังกล่าว
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคเมื่อเด็กติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน BA.2 แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ในขณะที่เราอยู่กับโควิดมาแล้วเกือบ 3 ปี จะต้องติดตามต่อไปว่าในอนาคตจะมีวัคซีนชนิดไหนที่สามารถฉีดเพื่อลดความรุนแรงและเสียชีวิตได้สำหรับเด็ก
เรียบเรียงจาก:
BA.2 more severe for children, Hong Kong study finds, though serious outcomes uncommon
BA.2 strain sparks urgent call for Covid vaccine for children under three
อ่านประกอบ:
'ฮ่องกง'เผยโควิดโอไมครอน BA.2 เสี่ยงทำเด็กยังไม่ฉีดวัคซีนเสียชีวิตสูง
ส่องสถานการณ์โลก แผนฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็ก อายุ 5-11 ปี รับมือโอไมครอน
'อังกฤษ'เตือนโควิดสายพันธุ์โอไมครอนส่อทำเด็กเข้า รพ.มากกว่าเดลต้า 20%
ส่องสถานการณ์ทั่วโลกกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 12 ปี