อ่านชัดๆ ฉบับเต็ม! คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีออกโฉนด 33 แปลง 200 ไร่ รุกป่าสงวน อ่าวนาง-หางนาค จ.กระบี่ ปรับแก้ความผิด นายช่างสำรวจ กรมอุทยานฯ คนกันแนวเขตที่ดินออกจากเขตป่าไม้ เหลือจำคุก 10 ปี ขณะที่ 2 จนท.สํานักมาตรฐานการออกหนังสือสําคัญ กรมที่ดิน คุก 33 กระทง คนละ 165 ปี แต่ลงโทษสูงสุดได้ 50 ปี พฤติกรรมร่วมมือเป็นขบวนการออกโฉนดให้เอกชน
คดีทุจริตออกโฉนดที่ดินบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง – หางนาค จ.กระบี่ จำนวน 33 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 200 ไร่ มูลค่านับพันล้านบาท (ออกไปแล้ว 33 แปลง , อยู่ระหว่างดำเนินการออก 6 แปลง และแบ่งแยกจากเดิม 3 แปลง รวมทั้งสิ้น 42 แปลง)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษา แก้ความผิดจำเลยที่ 1 จากเดิมศาลชั้นต้น ตัดสินมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำคุก 15 ปี แก้เป็นจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (เดิม) ให้จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น (คดีหมายเลขแดงที่ 15759/2564)
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีคำพิพากษา ว่า
จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) จำคุก 15 ปี
จำเลยที่ 3 และ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลย ที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 33 กระทง เป็นจำคุกคนละ 165 ปี แต่รวมทุกกระทงแล้วให้จำคุกคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (3)
ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เนื่องจาก จำเลยที่ 2 พ้นจากราชการเนื่องจากอายุครบ 60 ปี เมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2538 คือวันที่ 30 ก.ย.2538 คดีนี้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2551 กรมสอบสวนคดีพิเศษทำหนังสือกล่าวหา จำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2552 เป็นเวลาพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมมีผลทำให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจรับสำนวนไว้สอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ มารายงาน โดยเรียบเรียงให้เห็นอย่างชัดๆ ดังนี้
ระหว่าง อัยการสูงสุด โจท์
นายสถาพร โกมาศ จำเลย ที่ 1 นายอำนาจ เลิศไกร ที่ 2 น.ส.ศศิธรหรือ วรภร สมสะอาด ที่ 3 นายสมมาศ ประดับเพชร ที่ 4
เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ คำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทถจริตแห่งชาติ และการไต่สวนของศาลรับฟังได้ว่า
ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายช่างสำรวจ 4 สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้ชี้กันแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อสนับสนุนหน้าที่ในโครงการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินตามแผนปฏิบัติการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ประจําปีงบประมาณ 2548 ระยะที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ทําการรังวัด ระวังชี้ รับรองแนวเขตป่าไม้ลงในรูปในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1 : 4000 ของกรมที่ดิน ตามบันทึกสํานักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ที่ ทส 0906/504 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 เรื่องให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการระวังชี้และลงนามรับรองแนวเขตป่า ตามเอกสารหมาย จ.55 ถึง จ.60
จําเลยที่ 2 ดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 7 สํานักมาตรฐานการออกหนังสือสําคัญสังกัดกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการศูนย์เดินสํารวจการออกโฉนดที่ดินจังหวัดกระบี่ มีหน้าที่ออกโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดกระบี่
จําเลยที่ 3 ดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่ ที่ดิน 5 สํานักมาตรฐานการออกหนังสือสําคัญ สังกัดกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ผู้กํากับการเดินสํารวจ มีหน้าที่ตรวจสอบการสอบสวนสิทธิ ลงนามในใบไต่สวนสิทธิ
จําเลยที่ 4 ดํารงตําแหน่งนายช่างรังวัด 4 สำนักมาตรฐานการออกหนังสือสําคัญ สังกัดกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่เดินสํารวจรังวัดที่ดิน โยงยึดหลักเขต นายธวัชชัย ทับทิมทอง ดํารงตําแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน 4 สํานักมาตรฐานการออกหนังสือสําคัญ สังกัดกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่สอบสวนสิทธิ ลงนามในใบไต่สวนสิทธิ ตรวจสอบเจ้าของที่ดินข้างเคียงและสอบสวนผู้ปกครองท้องที่ในการเดินสํารวจเพื่อออกโฉนดที่ดินศูนย์สํารวจการออกโฉนดที่ดิน จังหวัดกระบี่ ตามคําสั่งกรมที่ดินที่ 2671/2547 เอกสารหมาย จ.62 จ.63 และล.33 ในปี 2548 รัฐบาลมีโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศตามนโยบาย แปลงสินทรัพย์เป็นทุนให้มีการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินในเขตจังหวัดกระบี่ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ในเขตหมู่ที่ 3ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ กรมที่ดินจัดทําระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศหมายเลข 4725 ||| 7294, 7296 มาตราส่วน 1 : 4,000 ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนางและป่าหางนาค ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 211 (พ.ศ.2510) และแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง จําเลยที่ 2 ในฐานะผู้อํานวยการศูนย์เดินสํารวจรังวัดการออกโฉนดที่ดินจังหวัดกระบี่ มีหนังสือไปยังผู้อํานวยการศูนย์ปฏิบัติการที่ดินและป่าไม้ (นครศรีธรรมราช) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดําเนินการขีดเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจําเลยที่ 1 ดําเนินการขีดเขตป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ตามแผนที่เอกสารหมาย จ.73 ต่อมามีการออกโฉนดที่ดินบริเวณที่จําเลยที่1 ขีดกันแนวเขตว่าอยู่นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติให้แก่บุคคลผู้มีชื่อตามฟ้อง โดยมีนายธวัชชัยเป็นผู้สอบสวนสิทธิ จําเลยที่ 3 เป็นผู้กํากับการเดินสํารวจ มีหน้าที่ควบคุมดูแลงาน สอบสวนสิทธิ จําเลยที่ 4 เป็นเจ้าหน้าที่เดินสํารวจรังวัดทําแผนที่และยึดโยงหลักเขต และนายนิคม หิรัญโรจน์ เป็นผู้กํากับการเดินรังวัด ตามเอกสารหมาย จ.74 ถึง จ.178 ในส่วนของจําเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคําพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีในส่วนของจําเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่า จําเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 กระทําความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่
@จําเลยที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งไม่มีเจตนาที่จะกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนางฯออกไปเพื่อให้ออกโฉนดโดยมิชอบ
โดยในส่วนของจําเลยที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งว่าจําเลยที่ 1 ไม่ได้ขีดแนวเขตป่าในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ หมายเลข 4725 III, 7294, 7296 มาตราส่วน 1 : 4000 ของกรมที่ดิน เพราะขณะนั้นยังไม่มีแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จําเลยที่ 1 ดําเนินการตามหลักวิชาการลงตรวจสอบพื้นที่จริงและยึดแนวคําพิพากษาศาลฎีกาที่ให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ซึ่งมิได้ระบุว่าใช้แนวเขตธรรมชาติชายฝั่งทะเล จําเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง - หางนาค ออกไปเพื่อให้มีการดําเนินการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาในส่วนของจําเลยที่ 1 ว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยบังอาจรังวัดรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอ่าวนาง – หางนาค ในระวางที่ดินหมายเลข 4725 ||| 7294, 7296 เป็นเท็จ โดยขีดเส้นที่มีป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง - หางนาค ออกบางส่วน ในพื้นที่บริเวณแหลมโต๊ะครอก ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งติดกับทะเลอันดามัน โดยเว้นขีดกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง - หางนาค ในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศของกรมที่ดิน เพื่อให้มีการดําเนินการออกโฉนดกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ซึ่งจําเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าการดําเนินการรังวัด รับรองแนวเขตเป็นไปตามหลักวิชาการ ยึดถือแนวคําพิพากษาศาลฎีกาและบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม่ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์เพื่อการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ ซึ่งเกี่ยวกับเขตป่าไม้ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 เป็นบรรทัดฐาน โดยใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 211 (พ.ศ.2510) โดยช่วงหลักที่ 27 ไปหลักที่ 1 ไม่ได้ระบุว่า ใช้แนวเขตธรรมชาติฝั่งทะเล
@ จำเลยที่ 1 ชี้กันแนวเขตป่าไม้จากเอกสารแผนที่-ไม่ลงดูพื้นที่จริงมีสภาพเป็นป่าสมบูรณ์
ปัญหาว่าจําเลยที่ 1 ดําเนินการรังวัด รับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง – หางนาค เป็นไปตามหลักวิชาการและไม่มีเจตนาขีดกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง – หางนาค เพื่อให้มีการดําเนินการออกโฉนดกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า การจะพิสูจน์ว่าจําเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตรังวัดรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง - หางนาค โดยขีดเส้นที่มีป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง – หางนาค ออกบางส่วนในพื้นที่บริเวณแหลมโต๊ะครอก ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งติดกับทะเลอันดามัน โดยเว้นขีดกันพื้นที่มีป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง - หางนาค ออกไปเพื่อให้มีการดําเนินการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นการยากที่จะใช้พยานบุคคลมายืนยันถึงเจตนาซึ่งอยู่ภายในได้ การพิจารณาจึงต้องอาศัยพฤติการณ์และการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นหลักว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการโดยมีกฎหมายระเบียบข้อบังคับรับรองไว้ และเป็นไปโดยสุจริตในจิตสํานึกของข้าราชการปุถุชนทั่วไปที่ควรรู้และพึงกระทําหรือไม่
ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 211 (พ.ศ.2510) กําหนดให้ป่าอ่าวนาง – หางนาค ในท้องที่ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ในแนวเขตแผนที่ท้ายกฎกระทรวง เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมาในปี 2548 รัฐบาลมีโครงการเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศตามนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ให้มีการเดินสํารวจออกโฉนดให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินในเขตจังหวัดกระบี่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 และ 59 ทวิ โดยไม่รวมท้องที่ที่ราชการได้จําแนกไว้ให้เป็นเขตป่าไม้ถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศกําหนดจังหวัดที่จะทําการสํารวจรังวัดทําแผนที่เพื่อออกโฉนดที่ดิน และสอบเขตที่ดินทั่วตําบลปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ประกาศลงวันที่ 22 ตุลาคม 2547 โดยจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดหนึ่งที่ประกาศ โดยกระทรวงมหาดไทยขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่งผู้แทนไปร่วมรังวัด ระวังชี้ และรับรองแนวเขตที่ดินที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีอํานาจดูแลรักษา และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีคําสั่งที่ 16/2548 ลงวันที่ 20 มกราคม 2548 ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติงานร่วมกับกรมที่ดิน ขีดเขตและลงนามรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และระวังชี้และลงนามรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคําสั่งให้จําเลยที่ 1 นายช่างสํารวจ 4 เป็นหัวหน้าสายงาน รับผิดชอบในท้องที่เขตจังหวัดกระบี่และพังงา ระวังชี้และลงนามรับรองแนวเขตป่าไม้ลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ของกรมที่ดิน ระหว่างวันที่ 3 – 30 มิถุนายน 2548 ตามหนังสือของสํานักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ลงนามโดยนายวิชิต พัฒนโกศัย รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามเอกสารหมาย จ.58 ซึ่งในคําสั่งดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่าให้จําเลยที่ 1 ดําเนินการรังวัด ระวังชี้และรับรองแนวเขตป่าไม้ ลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ มาตราส่วน 1 : 4000 ของกรมที่ดิน ดังนั้น ที่จําเลยที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งว่าจําเลยที่ 1 ไม่ได้ขีดแนวเขตป่าไม้ในระวางแผนที่ภาพรูปทางอากาศมาตราส่วน 1 : 4000 ของกรมที่ดินเนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จึงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าว และยังปรากฏภาพถ่ายทางอากาศบริเวณอุทยานแห่งชาติป่าอ่าวนาง - หางนาค ตั้งแต่ปี 2510 ปี 2519 ปี 2538 และปี 2545 ก่อนที่จะมีการดําเนินการของจําเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.51 โดยเอกสารภาพถ่ายทางอากาศดังกล่าวนี้ย่อมสามารถใช้ประกอบในการดำเนินการของจําเลยที่ 1 ในการขีดเขตระวังชี้และลงนามรับรองแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติตามอํานาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และเป็นเอกสารที่จําเลยที่ 1 สามารถนํามาประกอบการดําเนินการได้ไม่ยาก ที่จําเลยที่ 1 อ้างว่า จําเลยที่ 1 ใช้แผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 211 (พ.ศ. 2510) เป็นหลักในการดําเนินการตามคําพิพากษาศาลฎีกา และบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมที่ดินและกรมป่าไม้ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์เพื่อการออกโฉนดที่ดินเป็นบรรทัดฐานนั้น หากพิจารณาดูแผนที่ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 211 (พ.ศ. 2510) บริเวณป่าอ่าวนาง - หางนาค ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.51 แผ่นที่ 15 แล้วจะเห็นได้ชัดว่าไม่สามารถยืนยันได้เลยว่า แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าไม้ถาวรที่กันไว้ เขตป่าไม้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์นั้นอยู่แนวเขตใด แม้จะขยายแผนที่ท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวให้มีอัตราส่วนใหญ่ขึ้นก็ตาม แต่ที่สามารถยืนยันได้ตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว คือ ในส่วนของพื้นที่บริเวณแหลมโต๊ะครอกติดกับมหาสมุทรอินเดีย เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2510 ซึ่งเป็นปีที่มีการออกแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่าบริเวณที่มีการรังวัดระวังชี้แนวเขตดังกล่าวนั้นมีสภาพเป็นป่าไม้อยู่ติดกับทะเลตลอดแนวจนถึงบริเวณแหลมโต๊ะครอกโดยในปี พ.ศ. 2545 ก่อนที่จะมีประกาศสํารวจเพื่อออกโฉนดที่ดินในปี 2548 ก็ยังมีสภาพเป็นป่าหนาแน่นไม่มีราษฎรใดบุกรุกทํากินตามที่ปรากฏในรายงานผลการอ่านแปลตีความและวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ เอกสารหมาย จ.51 ดังนั้น หากจําเลยที่ 1 ลงพื้นที่ในการรังวัดชี้แนวเขตย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าพื้นที่ป่าอยู่ติดแนวเขตทะเลอันดามัน ตลอดแนวไม่มีชาวบ้านบุกรุกครอบครองทํากินแต่อย่างใด นอกจากนี้พื้นที่สํารวจรังวัดบางส่วนจะเป็นพื้นที่ลาดชันมีความลาดชันเกินกว่าร้อยละ 35 โดยจําเลยที่ 1 เองเบิกความยืนยันว่าไม่สามารถเข้าไป สํารวจได้ ดังนั้น จึงย่อมต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ หรือไม่ ลําพังการยึดถือเอาแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงที่ไม่มีความชัดเจน เป็นหลักกล่าวอ้างว่าได้ดําเนินการไปโดยถูกต้องตามหลักวิชาการและตามแนวบรรทัดฐานโดยที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏและอยู่ในวิสัยที่จําเลยที่ 1 จะตรวจสอบได้ไม่ยาก จึงย่อมถือได้ว่าจําเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการระวังชี้แนวเขตเพื่อรักษาเขตพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติมิให้ตกไปอยู่ในเงื่อนไขที่จะนําไปออกโฉนดโดยมิชอบ การกระทําของจําเลยที่ 1 ย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจําเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตกระทําไปเพื่อให้บุคคลอื่นใด ได้ประโยชน์โดยมิชอบในการนําที่ดินที่จําเลยที่ 1 กันออกจากแนวเขตป่าสงวนไปออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจําเลยที่ 1 กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจําเลยที่ 1 มีความผิดทั้งสองมาตรา แต่เนื่องจากปรับบทตามมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่จําต้องปรับบทมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก มิใช่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์ในข้อหาตามมาตรา 157 ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เห็นว่า การกระทําของจําเลยที่ 1 ยังไม่อาจฟังลงโทษตามมาตรา 151 ได้ คงผิดเฉพาะมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบย่อมปรับบทให้ถูกต้องได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วยบางส่วน อุทธรณ์ของจําเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน
@จำเลยที่ 3 ที่ 4 แจ้ง โจทก์มีอํานาจฟ้อง – ศาลวินิจฉัย ป.ป.ช.ไต่สวนฯ โดยชอบ
คดีมีปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ว่า จําเลยที่ 3 และที่ 4 กระทําความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่
โดยจําเลยที่ 3 อุทธรณ์ โต้แย้งในประเด็นแรกว่า โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 3 เพราะพนักงานสอบสวนส่งสํานวนการสอบสวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ล่าช้าเกินกว่าสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 89 ทําให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติรับสํานวนไว้โดยไม่ชอบ การไต่สวนข้อเท็จจริงและการแจ้งข้อกล่าวหาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้องจําเลยที่ 3 เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้น เป็นบทบัญญัติที่กําหนดกรอบระยะเวลาให้พนักงานสอบสวนดําเนินการเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อมิให้การดําเนินการของพนักงานสอบสวนเกิดความล่าช้า มิใช่บทบัญญัติที่จะทําให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ไม่มีอํานาจที่จะดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติของกฎหมายต่อไปในกรณีที่รับสํานวนจากพนักงานสอบสวนเกินระยะเวลาที่กําหนดไว้ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ยอมรับสํานวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนไว้ไต่สวนแล้ว แม้จะเกินกําหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 89 ก็ตาม กระบวนการขั้นตอนที่ดําเนินไปตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 บัญญัติไว้ย่อมเป็นไปโดยชอบหาทําให้อํานาจฟ้องของโจทก์เสียไป ตามที่จําเลยที่ 3 อุทธรณ์โต้แย้งไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของจําเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
@ครบองค์ประกอบความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ว่าการกระทําของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 หรือไม่ โดยจําเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์โต้แย้งว่าจําเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้มีหน้าที่ ทําจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แต่อย่างใด การดําเนินการของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ได้กระทําไปจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151
เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตําแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ดิน 5 สํานักมาตรฐานการออกหนังสือสําคัญ สังกัดกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ผู้กํากับการเดินสํารวจการออกโฉนดที่ดินมีหน้าที่ตรวจสอบการสอบสวนสิทธิและลงนามในใบไต่สวนสิทธิ ส่วนจําเลยที่ 4 ตําแหน่งนายช่างรังวัด 4 ปฏิบัติการเดินสํารวจรังวัดปักเขต โยงยึดหลักเขตที่ดินซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการดําเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58, 58 ทวิ โดยจําเลยที่ 3 ได้รับคําสั่งจากกรมที่ดินให้ปฏิบัติงานโครงการเดินสํารวจออกโฉนดที่ดินในท้องที่จังหวัดกระบี่ พังงา พร้อมกับจําเลยที่ 4 ตามคําสั่งกรมที่ดินที่ 3343/2547 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 จําเลยที่ 3 มีอํานาจหน้าที่ตามระเบียบในการปฏิบัติงานตามคําสั่งกรมที่ดินดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการตรวจสอบเอกสารการสอบสวนสิทธิ เอกสารประกอบเรื่องการขอออกโฉนดที่ดิน การได้มาซึ่งที่ดินของบุคคล แล้วพิจารณาลงนามในใบไต่สวนในช่องผู้ตรวจ และผู้กํากับการเดินสํารวจ และโฉนดที่ดินในช่องผู้ตรวจส่วนจําเลยที่ 4 มีหน้าที่สํารวจรังวัดปักเขต ยึดโยงหลักเขตที่ดิน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการดําเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58,58 ทวิ ดังนั้น การดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ของจําเลยที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นการทําหรือจัดการเพื่อให้การออกโฉนดที่ดินตามที่รัฐบาลมีนโยบายสําเร็จลุล่วงไปหากมีการใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่โดยทุจริต สมรู้ร่วมคิดกับบุคคลอื่นใดบิดเบือนการดําเนินการตามหน้าที่ของตนเองเพื่อตรวจสอบเอกสารการสอบสวนสิทธิผิดไปจากข้อเท็จจริง ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้ว การกระทําของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวมานั้นครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 แล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
@ ข้อโต้แย้ง ทำตามหน้าที่ ไม่ทราบที่ดินอยู่ในเขตป่า - ฟังไม่ขึ้น ร่วมมือทำเป็นขบวนการ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ว่าการกระทําของจําเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ โดยจําเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์โต้แย้งว่า จําเลยที่ 3 และที่ 4 ดําเนินการไปตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ทราบว่าที่ดินที่ดําเนินการออกโฉนดอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหรือเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ หรือเป็นที่ดินที่ต้องห้ามในการออกโฉนดที่ดิน จําเลยที่ 3 ไม่ได้ลงพื้นที่ จึงไม่อาจทราบได้คงตรวจดูแต่เอกสารที่ได้มีการตรวจสอบผ่านมาให้จําเลยที่ 3 ตามขั้นตอนเท่านั้น ส่วนจําเลยที่ 4 เอง แม้จะลงพื้นที่รังวัดปักเขต แต่ก็เชื่อโดยสุจริตว่ามีการกันเขตที่ดินออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยชอบแล้ว
เห็นว่า การดําเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ที่มีกรณีพิพาทกันนี้ ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนและเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังได้ว่า เมื่อมีการประกาศของรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากําหนดจังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ทําการสํารวจรังวัดทําแผนที่ หรือพิสูจน์สอบสวนการทําประโยชน์แล้ว ขั้นตอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่จะกําหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสํารวจรังวัด โดยประกาศให้ประชาชนทราบโดยทั่วไป เพื่อให้ประชาชนผู้มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินมีใบจองใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทําประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ได้ทําประโยชน์แล้ว หรือผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ รวมทั้งบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ นําหลักฐานมายื่นขอรังวัดพิสูจน์สอบสวนการทําประโยชน์เพื่อออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนของกรมที่ดิน โดยในกรณีของพื้นที่ป่าอ่าวนาง - หางนาค นั้น เป็นพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่ปี 2507 จึงต้องมีการดําเนินการร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมที่ดิน เพื่อรับรองแนวเขตป่าไม้ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศเพื่อให้ทราบว่าพื้นที่ที่สามารถดําเนินการออกโฉนดที่ดินตามนโยบายของรัฐบาลนั้นอยู่บริเวณใด มีประชาชนครอบครองทําประโยชน์อยู่ก่อนหรือไม่ และทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าไม้ถาวรหรือเขตป่าไม้หรือไม่ ซึ่งมีจําเลยที่ 1 เป็นผู้ดําเนินการในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการรังวัดและรับรองแนวเขตป่าไม้ เขตป่าสงวนแห่งชาติ ลงในระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ แต่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้ขีดกันแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอ่าวนาง - หางนาค ออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนที่ติดชายฝั่งทะเลอันดามันคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ ตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว เป็นเหตุให้พื้นที่ส่วนที่ถูกกันออกนั้นมีการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่สามารถนําหลักฐานการครอบครองทําประโยชน์มายื่นขอรังวัดสอบสวนพิสูจน์การทํากินเพื่อขอออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58, 58 ทวิ ได้ทั้งที่เมื่อพิจารณาตามภาพถ่ายทางอากาศก่อนที่จะมีการประกาศแล้วเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ไม่มีประชาชนครอบครองทําประโยชน์แต่ประการใด แม้ข้อเท็จจริงจะไม่อาจเชื่อมโยงได้ว่าจําเลยที่ 1 กระทําไปเพื่อให้บุคคลอื่นใดได้ประโยชน์จากการดําเนินการดังกล่าว แต่เมื่อพิจารณาดูจากหลักฐานเอกสารการขอรังวัดของประชาชนทั้ง 33 ราย ในรายการสอบสวนพิสูจน์การทําประโยชน์ในที่ดินการได้มาแล้ว เห็นได้ว่าส่วนใหญ่ระบุการได้มาของที่ดินว่าซื้อต่อจากบุคคลอื่นโดยมีบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ขายที่ดินส่วนใหญ่คือนายเกษม เตบบุตร โดยบางรายการแจ้งว่า นายเกษมขายที่ดินให้กับพันตํารวจโทชลินทร์ วิชัยดิษฐ แล้วพันตํารวจโทชลินทร์ นํามาขายต่อให้ เช่น ที่ดินของนายโกศล บุญพ่อมี โฉนดเลขที่ 39184, 39186 นางศศิพันธ์ เอียดเอื้อ โฉนดที่ดินเลขที่ 39185 นายนิคม คงทุ่ม โฉนดที่ดินเลขที่ 39188 และอีกหลายแปลง แต่นายเกษมได้ให้ถ้อยคําไว้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง เอกสารหมาย จ.34 ยืนยันว่าตนเองไม่เคยขายที่ดินดังกล่าวให้พันตํารวจโทชลินทร์ ตามที่ระบุในใบไต่สวนแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าในรายของโฉนดที่ดินเลขที่ 39197 ของนายปคุณ บุณยเกียรติ นางวิชชุดา จันทโร โฉนดเลขที่ 39198 นางสาวธัญพร จันทโร นางสุภา หิรัญโรจน์ และอีกหลายรายรวมทั้งนายกาหรีม เตบบุตร ผู้ใหญ่บ้านที่ลงชื่อรับรองทุกราย ที่ระบุในใบไต่สวนอ้างว่า ซื้อที่ดินมาจากนายเชาว์ เหล่าสกุล ซึ่งซื้อต่อมาจากนายเกษมนั้น นายเกษมให้การยืนยันว่าไม่เคยรู้จักนายเชาว์และไม่เคยขายที่ดินให้กับนายเชาว์แต่ประการใดในรายของนายกาหรีม ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ตําบลหนองทะเล อําเภอเมืองกระบี่จังหวัดกระบี่ ผู้นําทําการเดินสํารวจรังวัดแผนที่เพื่อออกโฉนดและเป็นที่ผู้ที่ลงลายมือชื่อ ในฐานะผู้นําทําการเดินสํารวจและผู้ปกครองท้องที่ในบันทึกถ้อยคําของผู้ปกครองท้องที่ในการไต่สวนพิสูจน์การได้มาของที่ดินทุกแปลง และเป็นผู้หนึ่งที่ยื่นขอรังวัดออกโฉนดด้วย ในรายโฉนดที่ดินเลขที่ 39643 มีระบุเจ้าของเดิมมาให้ถ้อยคําคือ พันตํารวจโทชลินทร์ ว่าได้ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายกาหรีมตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.135 แต่ในคําให้การของนายกาหรีมที่ให้ไว้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามเอกสารหมาย จ.21 ยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวตนเองซื้อมาจากพันตํารวจโทชลินทร์ มิใช่เป็นการให้
จากข้อเท็จจริงทั้งหมดตามที่ได้กล่าวมาเห็นได้ว่าข้อมูลที่ระบุไว้ในการไต่สวนการได้มาซึ่งที่ดินทั้ง 33 แปลง รวมทั้งการครอบครองทําประโยชน์ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานการทําประโยชน์ที่แน่ชัดและยังขัดกับข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศในบริเวณที่มีการขอออกโฉนดที่ดิน หากมีการตรวจสอบ สํารวจ และพิสูจน์สิทธิรวมทั้งการทําประโยชน์โดยถูกต้องแล้วย่อมไม่สามารถดําเนินการออกโฉนดให้ได้แต่อย่างใด เพราะพิสูจน์การได้มาและการทําประโยชน์ไม่ได้มีการให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ เจ้าหน้าที่ในส่วนที่อยู่ในขั้นตอนการดําเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นจําเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนการดําเนินการเพื่อออกโฉนดที่ดินย่อมมีสิทธิโดยชอบในฐานะผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในอันที่จะทักท้วง โต้แย้ง หรือคัดค้านได้เพราะเป็นที่ประจักษ์ได้ว่าการรังวัดแบ่งแยกเพื่อออกโฉนดในแต่ละแปลงว่าเป็นพื้นที่ที่น่าจะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและไม่มีการทําประโยชน์จริง รวมทั้งในการพิสูจน์สอบสวนสิทธิแม้จะดูจากเอกสารที่ได้รับมาย่อมเห็นได้ชัดว่าไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง หากใช้ความระมัดระวังเช่นวิญญูชนทั่วไป ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าเป็นการร่วมมือกันเป็นขบวนการที่จะออกโฉนดที่ดินให้แก่บุคคลดังกล่าวโดยมิชอบ มิฉะนั้นลําพังเพียงจําเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนการออกโฉนดคงไม่มีความสามารถที่จะดําเนินการให้สําเร็จไปได้ การกระทําของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า ร่วมกระทําความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาจริง อุทธรณ์ข้อนี้ของจําเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
@ ช่างรังวัด ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 4 ว่าการกระทําของจําเลยที่ 4 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วยหรือไม่
เห็นว่า จําเลยที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่ช่างรังวัด ทําการสํารวจรังวัดปักเขตโยงยืดหลักเขตของที่ดิน จําเลยที่ 4 จึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติการที่จําเลยที่ 4 ทํา จัดการ การสํารวจรังวัดปักเขต เพื่อให้มีการดําเนินการออกโฉนดโดยมิชอบ โดยเจตนาทุจริตร่วมกับจําเลยที่ 3 และบุคคลอื่น ๆ จึงย่อมเป็นความผิดในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วย อีกบทหนึ่งแต่เมื่อจําเลยที่ 4 กระทําความผิดในมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วจึงไม่จําต้องปรับบทลงโทษจําเลยที่ 4 ตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมีชอบเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจําเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
@รังวัดออกโฉนดรายแปลง ผิดต่างกรรมต่างวาระ มิใช่กรรมเดียว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยที่ 4 ประการสุดท้ายว่า การกระทําของจําเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรม ต่างกันทั้ง 33 กระทงหรือไม่
เห็นว่า แม้จําเลยที่ 4 จะอ้างว่าได้ดําเนินการรังวัดปักเขตต่อเนื่องกันไปก็ตาม แต่การดําเนินการเพื่อออกโฉนดนั้นผู้ยื่นคําขอต่างรายกันยื่นขอรังวัดเพื่อออกโฉนดในแต่ละแปลง การดําเนินการรังวัดทําเป็นแปลง ๆ ไป แม้จะเป็นการกระทําต่อเนื่องกันไป แต่เจตนาในการดําเนินการรังวัดในแต่ละแปลงแยกออกจากกันเพื่อออกโฉนดให้แก่ผู้ยื่นคําขอแต่ละรายไม่เกี่ยวข้องกัน การกระทําของจําเลยที่ 4 จึงเป็นการกระทําต่างกรรมต่างวาระกันมิใช่การกระทํากรรมเดียว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมีชอบเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจําเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 (เดิม) ให้จำคุก 10 ปี ข้อหาอื่นในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.
เรื่องเกี่ยวข้อง
- ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 165 ปี 2 ขรก.ทุจริตออกโฉนดอ่าวนาง - แก้โทษ 1 ราย เหลือ 10 ปี
- สรุปสำนวนเตรียมส่งฟ้องกลุ่มเอกชน 21 ราย คดีโฉนดรุกป่าอ่าวนาง
- ฉบับเต็ม! คำพิพากษาคดีออกโฉนดป่าอ่าวนาง พฤติกรรมทุจริต 3 ขรก. คุก 15 -165 ปี
- ศาลจำคุก165 ปี 2 จนท.ที่ดิน ทุจริตโฉนดรุกป่าอ่าวนาง ลงโทษสูงสุด 50 ปี-อีกคนโดน 15 ปี
- อีกตัวอย่าง! โฉนดบนเขาอ่าวนาง เมียช่างรังวัด ยังไม่ถูกเพิกถอน
- 2 ปมใหญ่ยังไม่ถูกจัดการ - ไทม์ไลน์คดีโฉนดฉาว 33 แปลง รุกป่าอ่าวนาง
- อยู่ในข่าย26 คน! จนท.ดีเอสไอหารืออัยการปมเอาผิดเอกชนคดีโฉนดรุกป่าอ่าวนาง
- INFO: เปิด 5 ขั้นตอนออกโฉนดฉาว 33 แปลง ป่าอ่าวนาง
- แปลงที่22 โฉนดบนเขา ชื่อ‘อดีต ขรก.-เอกชน’ เกี่ยวพัน 12 คน
- แปลงนี้ด้วย! โฉนดบนเขา กลุ่มเดียวกัน ป.ป.ช.ชี้มูล3 ปี ยังไม่เพิกถอน
- สูตรเดิม! แปลงที่20 โฉนดบนเขา นักธุรกิจ อ้างครอบครอง 67 ปี
- อ้างซื้อจากนายตำรวจ ทำใบไต่สวนเท็จ โฉนดบนเขา แปลง19 อ่าวนาง
- แปลงที่18 ! โฉนดบนเขา อ่าวนาง อ้างครอบครอง 67 ปี ยังไม่เพิกถอน
- ตัวอย่าง! โฉนดบนเขาติดทะเลแปลงนี้ กรมที่ดินยังไม่เพิกถอน หลัง ป.ป.ช.ชี้มูล3 ปี
- 3 ปีหลัง ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีฉาวรุกป่าอ่าวนาง โฉนดยังไม่ถูกเพิกถอน-เอกชนลอยนวล?
- แปลงนี้‘ผู้ใหญ่บ้าน’ ชงออกโฉนดชื่อตัวเอง 2 ไร่ ขายเจ้าของโรงแรม 4 ล้าน
- เบื้องหลังออกโฉนดยอดเขาแปลงนี้ อ้างครอบครองมา67 ปี เจ้าของเป็นนักธุรกิจ
- ที่ดินยอดเขาแปลงนี้ อ้างครอบครองมานาน62 ปี ก่อนออกโฉนด
- อ้างปลูกไม้ผล ยางพารา20 ปี โฉนดบนเขาแปลงนี้ 3 ไร่
- อ้างครอบครองมานาน58 ปี ที่ดินบนเขาแปลงนี้ ออกโฉนด 2 ไร่
- เผยโฉมโฉนด6 ไร่ เมียช่างรังวัด รุกป่าอ่าวนาง
- ไม่นิ่งนอนใจ!'นิพนธ์' สั่งติดตามคดีทุจริตโฉนดป่าอ่าวนางแล้ว-กรณี 'กนกวรรณ' รอเอกสารอยู่
- ชัดๆอีกแปลง โฉนดบนเขา4 ไร่ ขายนักธุรกิจ 5 ล. ฝีมืออดีต ขรก.กลุ่มเดิม
- ทำใบไต่สวนครอบครองเท็จ! เบื้องหลังโฉนด บ.รีสอร์ทดัง คดีรุกป่าอ่าวนาง
- โฉนดแปลงนี้4 ไร่ เจ้าของโรงแรมดังซื้อ 14 ล้าน รุกป่าอ่าวนาง
- โฉนดบนเขา5 ไร่ ออกมิชอบ คนสกุล ‘ภูเก้าล้วน’ ซื้อ 11 ล้าน คดีรุกป่าอ่าวนาง
- เบื้องหลัง โฉนด25 ไร่ เจ้าของโรงแรมดัง คดีรุกป่าอ่าวนาง ทำใบไต่สวนกรรมสิทธิ์เท็จ
- เผยโฉมที่อยู่พร้อมสระว่ายน้ำ นายช่าง4 ชี้แนวเขตคดีรุกป่าอ่าวนาง เพื่อนบ้านอ้างขายแล้ว
- โผล่อีกแปลง โฉนดบนเขา อดีตผู้ว่าฯซื้อ5 ล้าน คดีรุกป่าอ่าวนาง 200 ไร่
- โฉนดที่ดินบนเขา ขายให้อดีตผู้ว่าฯ คดีรุกป่าอ่าวนาง
- ทำใบครอบครองเท็จ ออกโฉนด2 ไร่ ขายให้ ส.ส.ปชป.คดีรุกป่าอ่าวนาง-เจ้าตัวแจงซื้อถูกต้อง
- โฉนด10 ไร่ คนสกุลนักการเมือง คดีรุกป่าอ่าวนาง จัดทำเอกสารเท็จ
- เผยโฉม-ที่มาโฉนดตระกูลดัง18 ไร่ คดีรุกป่าอ่าวนาง จ.กระบี่5 ขรก.ออกมิชอบ
- เปิดคำฟ้อง-พฤติการณ์5 ขรก.คดีออกโฉนดป่าอ่าวนาง จ.กระบี่200 ไร่เอื้อเอกชน 31 ราย
- เผยชื่อ4 อดีต ขรก.! อัยการสั่งฟ้องคดีทุจริตออกโฉนดทับป่าอ่าวนาง จ.กระบี่-ขาด1 คน
- อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง5 ขรก.คดีออกโฉนดรุกป่าอ่าวนาง จ.กระบี่-ฟันเพิ่มเอกชนสนับสนุนทุจริต
- คดีออกโฉนดกลุ่มทุนรุก'อ่าวนาง'อืด! ผู้ร้องรุดทวงถามอัยการ‘10 ปียังเอาผิดใครไม่ได้’
- อัยการเจ้าของสำนวนเห็นสั่งฟ้องกราวรูด42 คน คดีออกโฉนด39 แปลงป่าอ่าวนาง จ.กระบี่
- รายละเอียดโฉนด39 แปลง จ.กระบี่ ในข่ายถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ใครเป็นเจ้าของบ้าง?
- ปมโฉนด จ.กระบี่!ป.ป.ช.ฟันร้ายแรง5 จนท.ทุจริต เพิกถอน39 แปลง-ของ ส.ส.ด้วย
- 3 กลุ่มทุนผู้ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ จ.กระบี่ เป็นใคร?
- รายชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ โฉนด จ.กระบี่42 แปลง - เจ้าของ รร.ดังคนเดียว10 ฉบับ
- เจาะปมโฉนด33 แปลงในป่า จ.กระบี่ ผ่าน10 ปี ยังไม่เพิกถอน - คนทุจริต สบายดี?
- โชว์หนังสือรองอธิบดี หัก‘ดีเอสไอ-กมธ.สภาฯ’ไม่เพิกถอนโฉนด จ.กระบี่33 แปลง
- ดูเพลินๆ ภาพถ่ายดาวเทียมที่ดิน อดีต ส.ส.-นักธุรกิจ จ.กระบี่‘สีเขียว’พรึบเต็มแปลง
- เปิดผลสอบโฉนด จ.กระบี่51 แปลง ฉบับกรมที่ดิน ชัด อดีต ส.ส.อยู่ในป่าสงวน
- อดีต ส.ส.ปชป.รับที่ดินกระบี่2 ไร่ถูกดีเอสไอสอบเป็นของตัวเอง-ร่วมหุ้นเพื่อนซื้อหลายแปลง
- ‘ให้ระวังตัวเองดีๆ’อธิบดีกรมที่ดินสั่ง‘ผู้ร้อง’หลังรู้ชื่อขาใหญ่ออกโฉนดในป่า จ.กระบี่
- เปิดชื่อ23 คนยื่นออกโฉนด33 แปลงบนเขา จ.กระบี่ สกุลดัง-อดีต ส.ส.ปชป.เจ้าของ
- วิวสวย ป่าสมบูรณ์!‘อิศรา’ลงพื้นที่ บ้านทับแขก จ.กระบี่ ออกโฉนดบนเขา51 แปลง
- เปิดผลสอบดีเอสไอมัดโฉนด31 แปลง จ.กระบี่ อยู่บนเขา- ซี7 กับพวก 5 คนส่อทุจริต
- ฮุบที่ดินริมหาด จ.กระบี่ ออกโฉนด200 ไร่1,000 ล. ร้องคดีไม่คืบ - 5 จนท.เอี่ยว