"...กิตติศักดิ์ เคยพูดถึงความเกี่ยวข้องกับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ว่า ตนได้เข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ เพลย์เวิร์ค ซึ่งเพลย์เวิร์ค จะทำงานให้กับ operator ต่างๆ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในการบริการ (VAS value added)..."
ประกาศออกมาแล้ว
สำหรับผลการคัดเลือกผู้สมัครให้เป็น 'ผู้สมควรได้รับเลือกเพื่อเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)' ก่อนที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะส่งรายชื่อ ‘ว่าที่ กสทช.’ ทั้ง 7 คน ไปให้วุฒิสภาเห็นชอบต่อไป (อ่านประกอบ : บอร์ดสรรหาฯประกาศรายชื่อ 7 ว่าที่ ‘กสทช.’ ส่ง ‘วุฒิสภา’ เคาะ-‘ฐากร-เสธไก่อู’ หลุดโผ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำงาน และวิสัยทัศน์บางช่วงบางตอนของ ว่าที่ กสทช. ดังนี้
1.ด้านกิจการกระจายเสียง-พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ จบการศึกษาในสาขา Diplom Vorpruefung Informatik University of Federal Armed Force in Munich, Germany ด้วยคะแนนระดับเกียรตินิยม และจบการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ส่วนประวัติการทำงาน พล.อ.ท.ธนพันธุ์ เคยเป็นผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ,อนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 เป็นต้น
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ กสทช. พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค ,ด้านสายงานกิจการกระจายเสียง และเคยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package)
(พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ)
2.ด้านกิจการโทรทัศน์-ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต
ศ.ดร.พิรงรอง ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์สาขานิเทศศาสตร์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.พิรงรอง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขา อ.บ. ภาษาอังกฤษ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,ปริญญาโท M.A. (Communication) Department of Communication University of Hawaii at Manoa USA. และปริญญาเอก Ph.D. (Communication Studies) Scholl of Communication Simon Fraser University Canada
ส่วนประวัติการทำงาน ในช่วงปี 2532-33 ศ.ดร.พิรงรอง เป็นนักข่าวและรีไทร์เตอร์ หนังสือพิมพ์ The nation ,เป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลากว่า 28 ปีแล้ว และในช่วงปี 2559-63 ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล
ศ.ดร.พิรงรอง เคยเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ในช่วงปี 2552 ต่อมาเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
ในช่วงปี 2555-2558 ศ.ดร.พิรงรอง ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการฯของ กสทช. จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหา ,คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงบริการชุมชน และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง
ศ.ดร.พิรงรอง เคยกล่าวไว้ว่า กสทช.ควรมีบทบาทในการกำกับดูแลบริการประเภท OTT (over-the-top) และ VDO on Demand เช่น Youtube ,Netflix ,Line TV ,DTV และ iQIYI เป็นต้น เพราะมีความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันระหว่างบริษัทข้ามชาติเหล่านี้กับบริษัทในประเทศไทยที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. และไม่ต้องเข้าสู่การกำกับดูแลทางกฎหมาย
“เราต้องจูงใจให้ OTT ต่างชาติเข้ามาสู่ระบบการกำกับดูแล ให้มีตัวตนทางกายภาพในประเทศ โดยการจูงใจในลักษณะ reward base คือ การกำกับดูแลที่เป็นคุณ...คือ ทำให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ในระบบการกำกับดูแลได้รับสิทธิอละได้รับการคุ้มครองเหนือกว่าผู้อยู่นอกระบบ เช่น อาจจะเป็นเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา...” ศ.ดร.พิรงรอง ระบุ
ส่วนแนวทางการส่งเสริมการผลิตเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์นั้น ศ.ดร.พิรงรอง เห็นว่า ในแง่การส่งเสริมคุณภาพในระยะกลางและระยะสั้น คงจะเน้นการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเนื้อหาในประเทศให้มีศักยภาพ ในการผลิตเนื้อหาที่เป็นสากล ทั้งวิธีคิด และระบบการผลิต
ในระยะยาว ต้องวางรากฐานในระบบการศึกษาแบบที่เกาหลีทำ คือ ให้เด็กสามารถที่จะเขียนบทได้ คิดเป็น visual ได้ เมื่อเติบโตขึ้นมาก็เข้า writer lab และ story lab ส่วนการส่งเสริมการส่งออกเนื้อหานั้น ควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมเนื้อหาท้องถิ่น ผ่านการสนับสนุนของกองทุนต่างๆ เช่น กองทุนดิจิทัล กองทุน กทปส. กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นต้น
(ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต)
ศ.ดร.พิรงรอง กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อว่า ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีเรื่องสิทธิเสรีภาพ โดยส่งเสริมเรื่องการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ถ้าสื่อมีจรรยาบรรณและมีการกำกับดูแลกันเองดีพอ เรื่องสิทธิเสรีภาพก็เป็นเรื่องรอง
“เรื่องการเลือกข้าง จริงๆเป็นภาพสะท้อนสังคมที่ใหญ่กว่าสื่อ เพราะสังคมไทยมีลักษณะการแบ่งขั้วทางความคิดมามากกว่า 10 ปีแล้ว ในแง่ของการนำเสนอก็สะท้อน แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจริงๆ หลักการจรรยาบรรณของการเป็นสื่อ
โดยเฉพาะสื่อด้านวารสารศาสตร์ ทำอย่างไรที่จะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เป็นลักษณะ impartial (ไม่เอนเอียง) ไม่อยากจะพูดว่า neutral (เป็นกลาง) เพราะการเป็นกลางคงจะยาก สื่อที่เป็นมืออาชีพจริงๆ จะต้องไม่แสดงให้เห็นถึงอคติส่วนบุคคลหรืออคติทางด้านการเมืองออกมา…
ในต่างประเทศ เรื่องการแสดงความเอียงข้างถือเป็นประเด็น เพราะว่าไม่ balance ถึงแม้ว่าจะนำเสนอเกี่ยวกับฝั่งนี้ แต่อีกฝั่งหนึ่งควรจะได้พื้นที่เท่าๆ กันด้วย
แต่กรณีจะมีเส้นแบ่งระหว่างกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพ หลายส่วนจะมองว่าเป็นเรื่องจรรยาบรรณ ไม่ใช่กฎหมาย แต่กฎหมายสามารถที่จะส่งเสริมให้เกิดจรรยาบรรณได้ ถ้า กสทช. กระตุกเตือน เพราะ กสทช. เป็น regulator ที่มีอำนาจทางกฎหมาย” ศ.ดร.พิรงรอง เคยให้ความเห็นกรณีสื่อทีวีหลายช่องเลือกสีเสื้อและแบ่งข้างทางการเมืองชัดเจน
3.ด้านกิจการโทรคมนาคม-กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ
กิตติศักดิ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
กิตติศักดิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.บ.) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจร.) เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทวิทยาศาสตร์ (Industrial Engineering) ที่ University of Texas at Arlington สหรัฐ ต่อด้วยปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก Wharton School, University of Pennsylvania สหรัฐ
ประวัติการทำงาน กิตติศักดิ์ เคยทำงานทั้งในภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ เช่น เป็นผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ แอสเซท พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Regional Manager, Asia Pacific) บริษัท AT&T บริษัทด้านโทรคมนาคมของสหรัฐ
เคยเป็นกรรมการ/กรรมการตรวจสอบ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด , เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในช่วงปี 2548-50 และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2555 เป็นต้น
กิตติศักดิ์ เคยแนะนำประวัติการทำงานของตัวเองว่า มีประสบการณ์ทางด้านโทรคมนาคม ตั้งแต่การให้บริการกิจการดาวเทียมจนถึงบริการภาคพื้นดิน ทั้ง mobile fixed-line และ cable ใต้น้ำระหว่างประเทศ เคยทำงานอยู่ในบริษัทโทรคมนาคม AT&T และบริษัทเอกชนในไทย รวมถึงรัฐวิสาหกิจไทย
ขณะที่ข้อมูลที่ปรากฎในใบสมัครเข้ารับการสรรหา กสทช. นายกิตติศักดิ์ ระบุว่า เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมให้แก่ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด หลังจากได้ลาออกจาก กสท โทรคนาคม
กิตติศักดิ์ เคยพูดถึงความเกี่ยวข้องกับ บริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ว่า ตนได้เข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับ เพลย์เวิร์ค ซึ่งเพลย์เวิร์ค จะทำงานให้กับ operator ต่างๆ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในการบริการ (VAS value added)
“ผมเป็นที่ปรึกษาครับ เราทำงานให้กับ operator ต่างๆ แล้วก็รวมไปถึงตัว VAS value added…” กิตติศักดิ์ กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า กิตติศักดิ์ เป็นกรรมการบริษัทอย่างน้อย 2 แห่ง 1.บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด ทำธุรกิจติดตั้งไฟฟ้า และ2.บริษัท ทรงศักดิ์ แอนด์ ซัน อินเตอร์เทรด จำกัด ทำธุรกิจประกอบกิจการค้าเพลาขับเคลื่อนเรืองหางยาว
(กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ)
4.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์
ศ.คลินิก นพ.สรณ ปัจจุบันเป็นรองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.คลินิก นพ.สรณ จบปริญญาตรี 2 ใบ ได้แก่ ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาตรี แพทย์ศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะมาเป็นแพทย์ฝึกหัด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากนั้นไปศึกษาต่อหลักสูตร แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์, Los Angeles County University of Southern California Medical Center, Los Angeles, California, USA และศึกษาในระดับเทียบเท่าปริญญาเอก แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์หัวใจ, Kaiser Permanente Medical Center, Los Angeles, California, USA
นอกจากนี้ ยังจบหลักสูตรแพทย์เฉพาะทาง การสวนหัวใจเพื่อวินิจฉัยและรักษา Good Samaritan Hospital, Los Angeles, California, USA และได้ประกาศนียบัตรโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) Director Accreditation Program (DAP) รุ่น 145/2018
สำหรับประวัติการทำงาน ศ.คลินิก นพ.สรณ เคยเป็นรองประธานกรรมการ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ ,ประธานคณะอนุกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ , สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ปัจจุบัน ศ.คลินิก นพ.สรณ เป็นแพทย์สาขาวิชาโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์, โรงพยาบาลรามาธิบดี ,กรรมการองค์การเภสัชกรรม
กรรมการอิสระ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) ,กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน บมจ. โรงพยาบาลพระรามเก้า กรรมการบริษัท พฤกษ์สุขสบาย จำกัด และกรรมการบริษัท สรณ คาร์ดิโอโลยี่ แอนด์ แอสโซซิเอท จำกัด
ศ.คลินิก นพ.สรณ เป็นหมอรักษาโรคหัวใจของ รพ.รามาธิบดี ซึ่งมีความสนิทสนมกับนายทหารในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ,พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผบ.ทบ. และรมช.กลาโหม โดยได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. เมื่อปี 2557-2562 และได้รับการขนานนามว่า ‘สนช.เสื้อกาวน์’
(ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์)
5.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน-ต่อพงศ์ เสลานนท์
ต่อพงศ์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช. (พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์)
ต่อพงศ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต สาขาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และระดับปริญญาโท ศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิตการพัฒนาสังคม การวิเคราะห์และวางแผนทางสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ผ่านการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสันติสุข รุ่นที่ 9 สถาบันพระปกเกล้า ,หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 20 (ปปร.20) สถาบันพระปกเกล้า และหลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี รุ่นที่ สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น
ประวัติการทำงาน ต่อพงศ์ เคยเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,กรรมการสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ,คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ,คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
คณะทำงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ กสทช. ,คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นต้น
ปัจจุบัน ต่อพงศ์ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม กิจการเด็ก เยาวชน ผู้สุงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ,ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการกระจายเสียง กสทช. , ที่ปรึกษา กสทช. และกรรมการสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
ต่อพงษ์ เคยกล่าวว่า ตนเองสูญเสียการมองเห็นจากอุบัติเหตุ เมื่อปี 2535 และด้วยเหตุแห่งการสูญเสียการมองเห็น ทำให้ตระหนักและเข้าใจถึงปัญหาของประชาชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ คนยากจน รวมถึงผู้สูงอายุ ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการกิจการกระจายเสียง บริการโทรทัศน์ และบริการโทรคมนาคม จึงเป็นเหตุให้ตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมาย ผลักดันนโยบาย รวมถึงติดตามกระบวนการปฏิบัติตามนโยบายต่อเนื่องมามากกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ ด้วยเหตุแห่งความพิการของตน เป็นเหตุให้ตนใช้เทคโนโลยีอย่างมาก เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน เพื่อเป็นเครื่องช่วยในการใช้ชีวิต ในการศึกษา รวมถึงการทำงานในปัจจุบัน ตนจึงตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีที่มีบทบาทต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันเป็นอย่างดี
“ด้วยประสบการณ์ของผมมากกว่า 20 ปี ที่เกี่ยวเนื่องกับ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นบทบาทผู้นำเสนอกฎหมาย ผลักดันนโยบาย หรือบทบาทในการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือในบทบาทของการเข้ามาช่วยในการหำกนดกติกาและกำกับกิจการ ผมมั่นใจว่าสามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี
และขอให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อุทิศตน อุทิศเวลา เพื่อทำหน้านี้ และท้ายที่สุด ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผมขอให้เชื่อมั่นว่า ความพิการของผมจะไม่เป็นอุปสรรคในการทำหน้าที่” ต่อพงษ์ เคยกล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้
(ต่อพงศ์ เสลานนท์)
6.ด้านกฎหมาย-ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ
ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ ปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ จบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิต (LL.M) จาก The University of Auckland นิวซีแลนด์
จบปริญญาเอก นิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ph.D in IT and IP Law) จาก The University of Southampton สหราชอาณาจักร (UK)
ส่วนประวัติการทำงาน ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ เคยเป็นอัยการฝึกหัด ,จากนั้นเข้ารับราชการเป็นนิติกร 5 กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนเลื่อนขั้นเป็นนักวิชาการพาณิชย์ 5 ,นักวิชาการพาณิชย์ 6ว. , เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งานทะเบียนการค้า 6ว., เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งานทะเบียนการค้า 7ว., นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ, นิติกรชำนาญการพิเศษ
นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ (อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ ณ กรุงบรัสเซลล์) ,นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ ,รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา
ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ ยังเคยเป็นกรรมการและนายทะเบียนสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ,ที่ปรึกษากิตติมาศักดิ์ประจำกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ,อนุกรรมการสำนักงานกิจการระหว่างประเทศ และกรรมการวิทยาลัยทนายความ สภาทนายความ และกรรมการทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นต้น
(ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ)
ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ เคยเล่าถึงประวัติการศึกษาและการทำของของตนเองว่า ตนเองจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตอนอายุ 18 ปี 8 เดือน จากนั้นเข้ารับราชการทหาร เมื่ออายุ 18 ปี 11 เดือน ที่กรมพระธรรมนูญ ตำแหน่งอัยการทหาร
หลังจากนั้น 3 ปี ได้ลาออกไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ และเรียนต่อปริญญาเอกด้วยทุนรัฐบาล โดยเป็นนักเรียนทุน ก.พ. ที่ประเทศอังกฤษ และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เมื่ออายุได้ 26 ปี
เมื่อจบปริญญาเอกแล้ว ได้กลับมาใช้ทุนที่กระทรวงพาณิชย์ เริ่มที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา และย้ายไปอยู่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนในการเข้าร่วมเจรจา FTA ไทย-อินเดีย ไทย-สหรัฐ และไทย-อียู
เป็นผู้แทนไทยในเวทีประชุมต่างๆ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เป็นต้น รวมทั้งได้รับการทาบทามให้เข้าไปช่วยงานในบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ในการจัดตั้งบริษัทลูกของ AOT (การขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านช่องทางพิเศษ)
ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ ยังเล่าว่า ตนเองเคยเป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาโท ปริญญาเอกด้านกฎหมาย ทั้งกฎหมายธุรกิจและกฎหมายเพื่อการพัฒนา เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เป็นกรรมการวิทยาลัยสภาทนายความ เป็นที่ปรึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
“เนื่องจาก กสทช. นั้น เป็น regulator ผมเห็นว่า กฎหมายนั้นสำคัญที่สุด ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งด้านนี้ต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมีความเข้าใจด้านเทคโนโลยี เข้าใจธุรกิจระหว่างประเทศ และเข้าใจกติกาสากล จากการทำงานหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ AOT ทำให้ผมเข้าใจเรื่องมาตรฐานสากลเป็นอย่างดี” ร.ท.ดร.ธนกฤษฏ์ เคยกล่าวไว้
7.ด้านเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย
รศ.ดร.ศุภัช ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ศุภัช จบปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ,ปริญญาโท 2 ใบ คือ ปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และปริญญาโท เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จบปริญญาเอก เศรษฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย
ประวัติการทำงาน ดร.ศุภัช เคยเป็นผู้อำนวยการโครงการบัณฑิตศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ ,ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเอเปคและศึกษาความร่วมมือในภูมิภาคแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ส่วนประสบการณ์อื่นๆ เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ,ที่ปรึกษา รมว.คลัง ,กรรมการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมกับต่างประเทศ ,ที่ปรึกษา รมว.ต่างประเทศ ,ที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
(รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย)
หลังจากคณะกรรมการสรรหาฯ ส่งรายชื่อว่าที่ กสทช. ทั้ง 7 คน ไปให้วุฒิสภาแล้ว เมื่อมีการเปิดสมัยประชุมสามัญ (1 พ.ย.2564-28 ก.พ.2565) ที่ประชุมวุฒิสภาจะแต่งตั้ง 'คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็น กสทช.' อีกครั้ง
จึงต้องติดตามว่าที่ประชุมวุฒิสภาจะโหวตเลือกใครเป็น กรรมการ ‘กสทช.’ บ้าง!
อ่านประกอบ :
บอร์ดสรรหาฯประกาศรายชื่อ 7 ว่าที่ ‘กสทช.’ ส่ง ‘วุฒิสภา’ เคาะ-‘ฐากร-เสธไก่อู’ หลุดโผ
บอร์ดสรรหา ‘กสทช.’ เปิดให้ผู้สมัครฯ 78 ราย โชว์วิสัยทัศน์-สัมภาษณ์ 31 ส.ค.-3 ก.ย.นี้
ปิดรับสมัคร! 78 รายเข้าชิงเก้าอี้ ‘กสทช.’-‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ ลงแข่งอีกรอบ
‘นายพล-ดอกเตอร์’พรึ่บ! แห่สมัคร ‘กสทช.’ แล้ว 56 ราย ‘เสธไก่อู-ศรีวราห์’ เข้าชิงด้วย
สนง.เลขาธิการวุฒิสภา เผยยอดผู้สมัคร ‘กรรมการ กสทช.’ ล่าสุด 21 ราย
ราชกิจจาฯแพร่ประกาศ-ระเบียบ 3 ฉบับ กำหนดหลักเกณฑ์-วิธีการสรรหา ‘กสทช.'
เปิดสมัครกลางมิ.ย.! บอร์ดสรรหาฯเคาะเกณฑ์คัด ‘กสทช.’ ตรวจเข้มคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม
ประชุมนัดแรก! บอร์ดสรรหาฯกสทช. ตั้ง ‘เกียรติพงศ์’ ประธาน ถกร่างประกาศ-ระเบียบ 4 ฉบับ
เปิดชื่อ 7 กรรมการสรรหาฯ กสทช.ชุดใหม่-'เลขาวุฒิสภา'เชิญประชุม 29 มี.ค.
นับหนึ่งคัด‘กสทช.’ใหม่! เลขาธิการวุฒิฯ ร่อนหนังสือถึง 7 องค์กร ส่งชื่อ ‘บอร์ดสรรหาฯ’
หวังว่าจะได้คนดีเข้ามาทำงาน! นายกฯยันไม่แทรกแซงการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ใน 15 วัน
ประกาศแล้ว! พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯฉบับใหม่ เริ่มสรรหา ‘กสทช.’ ใน 15 วัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/