"...‘นาย ก.’ ในฐานะผู้ยืมเงินทดรองราชการ ซึ่งจะต้องรับรองเอกสารหลักฐานต่างๆ และลงนามขออนุมัติเบิกจ่าย กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบรับรองเอกสารหลักฐาน และมีการทุจริตเกี่ยวกับการเบิกจ่าย จึงถือเป็นการประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ... ‘นาย ข.’ เบียดบังเอาทรัพย์ไปทั้งหมดหรือบางส่วนโดยทุจริต ซึ่งเป็นการกระทำความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ..."
------------------------------------------------------------
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ผลการตรวจสอบการปลอมลายมือชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาของคณาจารย์ที่ยื่นขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ (รศ.) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาได้ตรวจสอบเอกสารระหว่างปี 2549 – 2563 จำนวน 365 ฉบับ พบมีการปลอมลายมือชื่อ 97 ฉบับ
นอกจากนั้น สภามหาวิทยาลัย ยังได้รับทราบผลการสอบสวน เกี่ยวกับการจัดทำเอกสาราชการอันเป็นเท็จในการเบิกค่าอ่านงานวิชาการ ค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เกินสิทธิ์และซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นการตรวจสอบเฉพาะปีงบประมาณ 2554-2558 พบความเสียหายต่อมหาวิทยาลัยประมาณ 11 ล้านบาท จนนำไปสู่การมีคำสั่งปลดออกผู้เกี่ยวข้อง 2 คน
คนหนึ่งเป็น อดีตอาจารย์ ระดับ รศ. ที่เกษียณอายุราชการแล้ว มหาวิทยาลัยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2564 ลงโทษปลดออกจากราชการ
คนหนึ่งเป็น เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปปฏิบัติการ สังกัดมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 ก.ค.2564 ลงโทษไล่ออกจากราชการ
ทั้ง 2 คนมีพฤติการณ์อย่างไร ? จึงนำไปสู่คำสั่งปลดออกของอดีตอาจารย์ระดับ รศ.ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว และคำสั่งไล่ออกเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปปฏิบัติการ
ศาสตรเมธี ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ กรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามผู้ทรงคุณวุฒิ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตการเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยได้รับทราบผลการสอบสวนจากอธิการบดีที่ได้รับรายงานการสอบสวนจากคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงที่มหาวิทายลัยเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น เพื่อให้สอบสวนข้าราชการและพนักงานฯ จากการกระทำของทั้ง 2 บุคคลในช่วงปี 2554 – 2558
และเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ อดีตอาจารย์ ระดับ รศ.ที่ถูกลงโทษปลดออกจากราชการจะใช้ชื่อว่า ‘นาย ก.’ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการจะใช้ชื่อว่า ‘นาย ข.’
(ศาสตรเมธี ดร.สุทธิพงศ์ หกสุวรรณ กรรมการสภา มรภ.มหาสารคามผู้ทรงคุณวุฒิ)
@ มูลกล่าวหา 7 ประเด็น
คณะกรรมการสอบสวน ระบุว่า ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2 คน เป็นผู้จัดทำหรือร่วมกันจัดทำและรับรองการจ่ายเงินในเอกสารใบสำคัญรับเงิน พร้อมขอเบิกเงินทดรองราชการ มีมูลกล่าวหาว่ากระทำการ 7 ประเด็น
1.เบิกจ่ายค่าตอบแทนการประเมินผลงาน ทางวิชาการเกินสิทธิ์ เช่น มีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 2,000 – 3,000 บาท ทั้งที่สิทธิตามระเบียบจะได้รับ 1,000 บาท หรือค่าอ่านงานวิชาการ ที่สิทธิควรจะได้รับ 2,000 – 3,000 บาท แต่มีการเบิกจ่าย 6,000 – 9,000 บาท
2.เบิกจ่ายค่าตอบแทนการประเมินผลงานทางวิชาการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซ้ำซ้อน
3.เบิกจ่ายค่าตอบแทนการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการให้แก่ประธานกรรมการซึ่งไม่ใช่ผู้ประเมินผลงาน ทางวิชาการ
4.แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานทางวิชาการไม่เป็นไปตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ที่พบว่ามีการออกเลขคำสั่งเดียวกัน แต่ประเมินผู้ขอกำหนดตำแหน่งหลายคน รวมถึงกรณีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ หลายคำสั่ง เพื่อประเมินผลงานทางวิชาการของผู้ขอกำหนดตำแหน่งคนเดียว
5.เบิกจ่ายค่าเดินทางไปราชการไม่ถูกต้อง กรอกข้อมูลรายละเอียดที่อยู่สังกัด และหมายเลขทะเบียนรถของผู้ขอรับเงินไม่ถูกต้อง และผู้ทรงคุณวุฒิฯที่เป็นผู้รับเงินหลายคนยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ลงนามรับรองในใบเสร็จค่าน้ำมัน และไม่มีหมายเลขทะเบียนรถดังกล่าวตามเอกสาร
6.จัดทำเอกสารของทางราชการอันเป็นเท็จ อาทิ พบการาจัดทำและหรือร่วมกันจัดทำและรับรองการจ่ายเงินในใบสำคัญรับเงินอันเป็นเท็จ โดยการกรอก เขียน พิมพ์ หรือบันทึกข้อมูลรายละเอียดที่อยู่และสังกัดของผู้รับเงินที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นเท็จ และปลอมลายมือชื่อผู้รับเงิน แล้วลงลายมือชื่อรับรองในรายการผู้จ่ายเงิน และใช้เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญในการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมหลายครั้ง
7.ยืมเงินทดรองราชการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(เอกสารประกอบการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิเกินสิทธิ)
@ ผลการสอบสวนรับฟังข้อเท็จจริง และรับฟังคำชี้แจงจากบุคคลทั้ง 2 คน
‘นาย ก.’ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับภายในโครงสร้างคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) ตั้งแต่ช่วงปี 2552 มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประสานงานการจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งวิชาการ
รวมถึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเตรียมเอกสาร ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา อาทิ ผลงานทางวิชาการของผู้ขอตำแหน่ง , บัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ขึ้นบัญชีไว้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นต้น โดยมี ‘นาย ข.’ พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารทั่วไปเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา
สำหรับการพิจารณาคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ เป็นอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) จากนั้นจะประสานงานทาบทาม เมื่อได้รับการตอบรับจะนำเสนอที่ประชุม ก.พ.ว.พิจารณาแต่งตั้งหรือประธานลงนามแต่งตั้งแล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ
โดยผู้ที่จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ปรากฏตามคำให้การของ ‘นาย ข.’ และพยานอีกคนให้การสอดคล้องกันว่าได้ช่วยกันประสานงานและทาบทามกรรมการ ในการจัดทำร่างคำสั่ง และขอเลขคำสั่งจากงานธุรการ สังกัดกองกลาง และเขียนเลขในคำสั่ง ทั้งหมดจะเป็นหนึ่งคำสั่งต่อผู้ขอกำหนดตำแหน่งฯ 1 คน ไม่มีโอกาสที่จะมีเลขซ้ำกันได้ และแยกแต่ละคำสั่งเก็บไว้ในแฟ้มเอกสารเป็นรายบุคคล
สำหรับลายมือชื่อผู้ลงนามในคำสั่ง คือ อดีตรองอธิการบดีคนหนึ่ง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ในฐานะประธาน ก.พ.ว. ได้อนุญาตให้ใช้ลายมือชื่อโดยการสแกนลายนิ้วมือ โดยเป็นการอนุญาตโดยวาจา
ทั้งนี้เมื่อมีการส่งผลงานของผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชการให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ เพื่อประเมินผลงานทางวิชาการ บางครั้งจะต้องประชุมเพื่อสรุปผล ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายหลายรายการ อาทิ ค่าตอบแทนการประเมินผลงานทางวิชาการหรือค่าอ่านงานวิชาการ ค่าเบี้ยประชุม ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางซึ่งเกี่ยวข้องกับค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าชดเชยในการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ซึ่งต้องมีการยืมเงินทดรองราชการและเบิกจ่ายเพื่อหักล้างเงินยืมทดรองราชการ ซึ่งปรากฎพยานหลักฐานว่ามีหลายบุคคลเป็นผู้ยืมเงินทดรองราชการ
อย่างไรก็ตามพยานหลายคนให้การตรงกันว่า ในการจัดทำเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับยืมเงินทดรองราชการและการเบิกค่าใช้จ่ายในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบและการดำเนินการของ ‘นาย ข.’ แม้จะมีบุคคลอื่นเป็นผู้ยืมเงินทดรองราชการ แต่ ‘นาย ข.’ เป็นผู้ไปรับเงินยืมจากกองคลังเอง หรือกรณีมีผู้อื่นไปรับเงินก็จะนำมามอบให้ ‘นาย ข.’ เพื่อใช้ในการดำเนินการต่อไป
@ กรอกที่อยู่-ต้นสังกัดคลาดเคลื่อนเพราะค้นจากกูเกิ้ล
‘นาย ข.’ ให้การสอดคล้องกันว่า เป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ และกรณีที่มีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนก็จะเป็นผู้นำรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯไปสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต (กูเกิ้ล) จึงมีความคลาดเคลื่อนในส่วนที่อยู่และต้นสังกัดของผู้ทรงคุณวุฒิฯ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน
ส่วนการเบิกจ่ายซ้ำหรือรายชื่อซ้ำ ‘นาย ข.’ ชี้แจงว่าไม่ใช่ความรับผิดของตนเองเพียงผู้เดียว แต่เกิดจากการที่มีภาระงานที่ต้องปฏิบัติจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ก็กระทำไปด้วยความสุจริตใจ หากมีความซ้ำซ้อนหรือผิดพลาด เจ้าหน้าที่การเงินจะต้องท้วงติงและให้คำแนะนำ พร้อมอ้างถึงคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในด้วยว่า เคยได้รับคำแนะนำในการขูดและลบข้อความออกแทนตำแหน่งตัวเลขเดิม ซึ่ง ‘นาย ข.’ ได้ดำเนินการตามคำแนะนำ แต่เจ้าหน้าที่ให้การกับคณะกรรมการสอบสวนว่า ไม่ได้เป็นผู้ให้คำแนะนำดังกล่าว และไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการสอบสวนว่า มีการขูดและลบข้อความในเอกสารประกอบการเบิกจ่ายค่าตอบแทนต่างๆ แต่อย่างใด
กรณีนี้ ‘นาย ข.’ ชี้แจงว่า การเบิกจ่ายได้จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ และผ่านการตรวจสอบของกองคลัง และไม่ปรากฏว่ามีการทักท้วง จึงเห็นว่าการเบิกจ่ายเป็นไปด้วยความถูกต้องตามระเบียบแล้ว ส่วนความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเรื่องที่อยู่และต้นสังกัด และการเบิกจ่ายซ้ำซ้อนหรือเกินสิทธิ์นั้น ก็ผ่านการตรวจสอบของกองคลังด้วยเช่นกัน คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า นอกจาก ‘นาย ข.’ แล้ว ยังมีหน่วยงานหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเบิกจ่าย การตรวจสอบกลั่นกรอง และการเสนอความเห็นประกอบการเบิกจ่ายมีส่วนรับผิดที่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องด้วย
จากพยานหลักฐานทั้งหมด คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า จากคำให้การของ ‘นาย ข.’ และพยานหลายคนให้การสอดคล้องแนวทางเดียวกันว่า ‘นาย ก.’ ไม่ได้เป็นผู้ทำหน้าที่ในการจัดทำเอกสารประกอบการพิจารณาหรือการประชุมคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ไม่ได้เป็นผู้จัดทำเอกสารหลักฐานในการยืมเงินทดรองราชการ หรือจัดทำเอกสารหลักฐานที่รับรองว่ามีการจ่ายเงินและขออนุมัติเบิกจ่าย
ในฐานะผู้บังคับบัญชาเมื่อได้รับเงินยืมทดรองราชการแล้วก็มอบเงินให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน คือ ‘นาย ข.’ นำไปใช้จ่าย โดยไม่ปรากฏว่า ‘นาย ก.’ เป็นผู้ถือเงิน เป็นผู้ใช้จ่าย หรือจัดทำเอกสารหลักฐานประกอบการเบิกจ่ายแต่อย่างใด
และเมื่อมีการใช้จ่ายแล้วเสร็จ ‘ นาย ข.’ จะเป็นผู้จัดทำเอกสารหลักฐาน เพื่อประกอบการเบิกจ่ายและหักล้างเงินยืมโดยให้ ‘นาย ก.’ ลงนามรับรองเอกสารหลักฐานและการขออนุมัติเบิกจ่ายในฐานะผู้ยืมเงินทดรองราชการตามหลักเกณฑ์
@ ให้การสอดคล้อง 'นาย ข.' ถือเงิน-ใช้จ่ายคนเดียว
‘นาย ข.’ แม้จะชี้แจงข้อกล่าวหาว่าเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ในการประชุมและดูแลประสานงาน โดยไม่ได้เป็นผู้ถือเงินและใช้จ่ายเงิน แต่พยานรายอื่น รวมถึง ‘นาย ก.’ ซึ่งเคยปฏิบัติงานร่วมกับ ‘นาย ข.’ ให้การสอดคล้องกันว่า ‘นาย ข.’ เป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการดังกล่าว
ประกอบกับ ‘นาย ข.’ ให้การรับว่าเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประชุม และกรณีเบิกจ่ายค่าตอบแทนก็เป็นผู้จัดทำเอกสาร
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า ระหว่างปีงบประมาณ 2554-2558 ‘นาย ข.’ เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ในกระบวนการยืมเงินทดรองราชการ เบิกจ่ายค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายต่างๆในกระบวนการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ เป็นต้น
(เอกสารประกอบการเบิกจ่ายค่าอ่านงานวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิเกินสิทธิ)
@ ผลพิจารณาความผิดทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวน
แม้จะไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ‘นาย ก.’ เป็นผู้ถือหรือใช้จ่ายเงิน หรือได้มีการจัดทำหรือร่วมกันจัดทำหรือรับรองเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบการเบิกจ่าย ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าได้กระทำการโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์อันมิควรได้ แต่ในตำแหน่งความรับผิดชอบ ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงาน และควบคุม ดูแล และตรวจสอบการปฏิบัติงานของ ‘นาย ข.’ ผู้ใต้บังคับบัญชา
นอกจากนั้น ‘นาย ก.’ ในฐานะผู้ยืมเงินทดรองราชการ ซึ่งจะต้องรับรองเอกสารหลักฐานต่างๆ และลงนามขออนุมัติเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ กลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ขาดความระมัดระวังในการตรวจสอบรับรองเอกสารหลักฐาน ทำให้มีการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง และมีการทุจริตเกี่ยวกับการเบิกจ่าย จึงถือเป็นการประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน หรือนโยบายของทางราชการ ทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการ
คณะกรรมการสอบสวนเห็นพ้องตามคำชี้แจงของ ‘นาย ก.’ บางส่วน ว่าความเสียหายในการเบิกจ่ายประมาณ 11 ล้านบาท ระหว่างปี 2554-2558 บางรายการ ‘นาย ก.’ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้ โดยไม่ใช่ผู้ยืมเงิน ไม่ใช่ผู้ขอเบิกจ่าย หรือรับรองเอกสารการเบิกจ่าย คณะกรรมการจึงรวบรวมความเสียหายเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นเงินจำนวน 5.8 ล้านบาท ซึ่งยังถือว่ามหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
สำหรับกรณีการชี้แจงว่า การเบิกจ่ายผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง ถือว่าเป็นการเบิกจ่ายที่ถูกต้องตามระเบียบและกระบวนการของทางราชการนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นคำชี้แจงอันเป็นการแสดงให้เห็นเพียงว่า มีบุคคลที่มีส่วนร่วมในการกระทำหรือกระทำการด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายด้วยเท่านั้น มิใช่การกล่าวอ้างที่แสดงให้เห็นว่า ‘นาย ก.’ ได้ใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด จึงเห็นว่า เป็นความผิดทางวินัยฐานประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน หรือนโยบายของทางราชการ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
กรณี ‘นาย ข.’ เป็นผู้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ปลอมหรือเป็นเท็จ มีเจตนาให้คำสั่งทำให้เกิดสิทธิและใช้เป็นเอกสารสำคัญในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยการจัดทำและหรือร่วมกันจัดทำและรับรองการจ่ายเงินในใบสำคัญอันเป็นเท็จ โดยการกรอก เขียน พิมพ์ หรือบันทึกข้อมูลของผู้รับเงินอันเป็นเท็จ และปลอมลายมือชื่อผู้รับเงิน แล้วลงลายมือชื่อรับรองในรายการผู้จ่ายเงิน และใช้เอกสารเบิกจ่ายหลายครั้ง และใช้เอกสารดังกล่าวประกอบการเบิกจ่ายและหักล้างเงินยืมทดรองราชการที่ตนเองได้ใช้จ่ายและหรือร่วมกับผู้อื่นใช้จ่าย
จึงเป็นกรณีที่ ‘นาย ข.’ เบียดบังเอาทรัพย์ไปทั้งหมดหรือบางส่วนโดยทุจริต ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้ ‘นาย ข.’ และหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์อันมิควรได้ โดยมิชอบ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 39 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบ ข้อ 29 วรรคห้า ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2562
จึงเห็นควรให้ลงโทษปลดออก ‘นาย ก.’ และเนื่องจากพ้นจากราชการโดยการเกษียณอายุราชการไปแล้วในปีงบประมาณ 2562 จึงให้มีผลตั้งตั้งแต่ 30 ก.ย.2562 ซึ่งเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ และเห็นควรให้ลงโทษไล่ออก ‘นาย ข.’ ต่อไป
อ่านประกอบ :
พบขบวนการปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ ม.ดังอีสาน!ผู้บริหารฯรับมีทุจริตสั่งสอบแล้ว
เทียบชัดๆ ลายเซ็นปลอมชื่อตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ มรภ.สารคาม-ใช้เบิกค่าน้ำมันรถด้วย
เขียนชื่อยังผิด! เปิดข้อมูล อ.รายที่ 2 จาก 'มข.' โดนปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินงานวิชาการ
รายที่ 3! อดีตคณบดี มข.โดนปลอมเอกสารตั้ง กก.ประเมินวิชาการ-แจ้งความ ตร.แล้ว
ขมวดปม! ปลอมลายเซ็นตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการ ผศ./รศ. 'เก๊' ใครบ้างรู้เห็นขบวนการนี้?
อว.ส่งทีมสอบ มรภ.สารคาม ตั้งกก.ประเมินผลงานวิชาการเก๊-พบเอกสารสำคัญถูกลบทิ้ง
มีส.ส.ด้วย! อนุฯสอบวิชาการเก๊ มรภ.สารคาม พบ13 ชื่อขอตำแหน่งถูกปลอมลายเซ็นผู้ทรงคุณวุฒิฯ
ปัดเอี่ยวปลอมลายเซ็น!ส.ส.ปริศนาแจง'อิศรา'ใช้เวลา 2 ปีขอ รศ.ตามขั้นตอน
ถูกปลอมลายเซ็น! กก.วิชาการ ส.ส.ปริศนา ไม่เคยถูกทาบทามอ่านงาน มรภ.สารคาม
เปิดข้อมูลลับ 12 อาจารย์ขอ'ผศ.-รศ'ลอตเดียว ส.ส.ปริศนา ปลอมลายเซ็นผู้ทรงฯอ่านงานวิชาการ
จวนจบแล้ว!อธิการฯมรภ.สารคามตอบ'อิศรา'สอบ กก.อ่านงานวิชการเก๊ใกล้ยุติ-ส่ง อว.ดูต่อ
ขอตำแหน่งปี 54 ได้ 55!อาจารย์คนที่ 2 ไม่รู้เรื่อง กก.อ่านงานฯถูกปลอมลายเซ็น มรภ.สารคาม
2-3ปีกว่าจะได้! อาจารย์คนที่ 3 ขอตำแหน่ง 'รศ.' ถูกปลอมลายเซ็น ผู้ทรงฯ มรภ.สารคาม 2 ราย
มรภ.มหาสารคามสั่งปลดออกอดีตอาจารย์-ไล่ออกพนักงาน เอี่ยวปลอมลายเซ็น กก.อ่านงานวิชาการ