โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล “100 ปีประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” ประสบความสำเร็จดียิ่ง นอกจากช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้ได้รับการปลูกถ่ายไตจำนวน 1,000 รายแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้มีการบริจาคไต ตลอดจนอวัยวะอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น และยังสนับสนุนให้หน่วยงาน สถาบันการแพทย์ต่างๆทำการปลูกถ่ายไตเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพได้มาตรฐานมากขึ้นด้วย
ปี 2566 ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้เผยข้อมูลของ The United States Renal Data System (USRDS) ว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุด โดยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมากถึง 11.6 ล้านคน และยิ่งนับวัน จำนวนผู้ป่วยโรคไตยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่กลายเป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังด้วย ผู้ป่วยเหล่านี้เมื่อการทำงานของไตลดเหลือน้อยกว่าร้อยละ 15 จะมีอาการไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต เพื่อขจัดของเสียและน้ำแทนไตที่ไม่ทำงาน ทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและการล้างไตทางช่องท้อง ไปจนถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายไตโดยการรับไตจากผู้อื่น ที่มาของไตนั้น อาจได้รับจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต หรือจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวและมีผลเลือดที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตสำเร็จ หากดูแลสุขภาพไตที่ได้รับมาและดูแลสุขภาพร่างกายดี สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องกังวลกับการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้องอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดปลูกถ่ายไตจะสำเร็จผลด้วยดี ต้องได้รับความร่วมมือและประสานงานกันหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายการแพทย์ ฝ่ายผู้รับไต และฝ่ายผู้บริจาคไต ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีกลุ่มทำงานหลายกลุ่ม มีข้อจำกัดมากมาย การผ่าตัดปลูกถ่ายไตในประเทศไทยซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 จึงยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้เพียงพอ แม้ว่าที่ผ่านมา มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้ง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้สนับสนุนโดยจัดทำโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศลมาแล้ว 3 ครั้ง รวม 1,007 ราย ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายไตอีกเป็นจำนวนมาก
ในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือองค์การยูเนสโก ได้ประกาศยกย่องสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวาระครบรอบ 100 ปีประสูติ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณดังกล่าว มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ จึงจัดทำ “โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล 100 ปีประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” จำนวน 1,000 ราย ระหว่างวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2567 หรือจนกว่าจะครบ 1,000 ราย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์ประธานก่อตั้งมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้ได้รับการปลูกถ่ายไตมากขึ้น เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้มีการบริจาคไต ตลอดจนอวัยวะอื่นๆ เพิ่มขึ้น และยังเป็นการสนับสนุนให้หน่วยงานและสถาบันการแพทย์ทำการปลูกถ่ายไตเพิ่มมากขึ้นและมีคุณภาพได้มาตรฐานยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้สุขภาพอนามัยของประชาชนโดยรวมดีขึ้นด้วย
โครงการปลูกถ่ายไตถวายเป็นพระราชกุศล “100 ปีประสูติ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” สำเร็จครบถ้วน 1,000 ราย เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2567 รวมระยะเวลาดำเนินการ 13 เดือนครึ่ง โดยเป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคเสียชีวิต 783 ราย, จากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต 217 ราย, ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในโรงพยาบาล 33 แห่ง และโรงพยาบาลที่มีผู้บริจาคเสียชีวิต 99 แห่งทั่วประเทศ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 80 ล้านบาท ขอถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกท่านจาก 99 โรงพยาบาลทั่วประเทศ รวมทั้งท่านผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทั้งไตและทุนทรัพย์ สามารถช่วย “ชุบชีวิต” ใหม่ให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายไต 1,000 ราย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ตลอดไป