'ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล' อาจารย์ มธ. ขอถอนตัวจาก กก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบุ 1 ปี ยังไม่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และไม่ได้รับการติดต่อเพื่อชี้แจงในลักษณะที่จะคาดหมายกำหนดตารางงานในอนาคต ด้าน 'เธียรชัย' ทราบเรื่องแล้ว พร้อมยอมรับยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการ ทำหลายองค์กรสับสน ไม่กล้าพัฒนาระบบ เพราะไม่รู้แนวปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ที่ชัดเจน
--------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 มีมติเห็นชอบรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามที่สำนักข่าวอิศราเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
(ข่าวประกอบ : 'บิ๊กรบ.' สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ - รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย , อ.มหิดลจี้กระทรวงดีอี-ประกาศ กก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลลงราชกิจจาฯ ยันฟ้อง 157 หากล่าช้า)
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2564 น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ใน 10 รายชื่อ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) , ปลัดกระทรวงดีอีเอส และนายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แจ้งขอถอนตัวจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองส่วนบุคคล โดยระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2563 เห็นชอบรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามที่ได้มีการสรรหาตามกระบวนการของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จนครบ 10 คนแล้วตั้งแต่ 28 เม.ย.2563 โดยมีตนเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ซึ่งคณะนิติศาสตร์ได้รับทราบและยินดีให้ปฏิบัติภารกิจนี้เพื่อบริการสังคม
หากนับแต่นั้นมา ยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการหรือประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาจนปัจจุบัน ซึ่งเวลาล่วงเลยมาเกือบ 1 ปี รวมถึงยังไม่มีการติดต่อใดๆ จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อชี้แจงในลักษณะที่พอจะให้คาดหมายกำหนดตารางปฏิบัติภารกิจในอนาคตอันใกล้ได้ อีกทั้งมีข้อเท็จจริงที่ ครม.มีมติ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2564 เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 2562 (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.2563 ในส่วนที่กำหนดระยะเวลาใช้บังคับ ทำให้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ จะมีผลใช้บังคับวันที่ 1 มิ.ย.2565 หรืออีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า
สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถวางแผนการปฏิบัติงานในด้านวิชาการ ซึ่งรวมถึงการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และยังมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติภารกิจหลักที่มีต่อองค์กรในฐานะอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย จึงจำเป็นต้องขอถอนตัวจากการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แม้ว่าจะมีความประสงค์ที่จะใช้วิชาความรู้ด้านกฎหมายกับเทคโนโลยีและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องให้เป็นประโยชน์กับการบริหารราชการและสร้างบรรทัดฐานด้านการคุ้มครองส่วนบุคคลให้เกิดแก่สังคมไทยยุคดิจิทัลก็ตาม หากจะมีโอกาสอื่นใดในอนาคตที่จะได้ช่วยเหลืองานราชการด้วยการใช้องค์ความรู้เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตนก็ยินดี
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2564 นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า น.ส.ฐิติรัตน์ ได้ยื่นหนังสือขอถอนตัวออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจริง เนื่องจากติดภารกิจ และต้องวางแผนที่จะศึกษาต่อ จึงไม่สะดวกในการทำหน้าที่ ส่วนตัวรู้สึกเสียดาย เพราะเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นอย่างดี โดยระหว่างนี้เข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาชุดเก่าที่จะต้องดำเนินการสรรหาบุคคลมาแทน น.ส.ฐิติรัตน์ ต่อไป
“เมื่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผมเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมที่จะต้องสรรหาบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ จากนั้นจะต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป” นายเธียรชัย กล่าว
เมื่อถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกรณีที่ผ่านมา 1 ปีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ถูกประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา นายเธียรชัย กล่าวว่า เข้าใจว่าขณะนี้หลายองค์กรกำลังสับสน เพราะเมื่อไม่มีคณะกรรมการ จึงทำให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลบางเรื่องไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เท่าที่ทราบส่วนใหญ่ก็พยายามวางแนวปฏิบัติขององค์กรตัวเองขึ้นมา แต่หลายเรื่องยังต้องรอให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาก่อน ทำให้หลายองค์กรไม่กล้าที่จะพัฒนาระบบหรือเตรียมความในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างชัดเจน เพราะกังวลว่า เมื่อคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่ อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติในภายหลัง
“ตอนนี้ทุกอย่างช้าไปหมด เป็นปัญหาเรื่องการกำหนดแนวปฏิบัติว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะธุรกิจแต่ละประเภทก็มีแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน หรือ กรณีที่เราทุกคนเจอกันบ่อยครั้งว่ามีโทรศัพท์จากใครไม่รู้โทรมาขายสินค้าต่างๆให้กับเรา เราก็ไม่รู้ว่าเขาเอาข้อมูลมาจากไหน เป็นเรื่องที่คณะกรรมการต้องขบคิดว่ามีลักษณะเข้าข่ายการขายข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ เรื่องเหล่านี้ต้องรอให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาด้วย แต่ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่สามาถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการได้” นายเธียรชัย กล่าว
(หมายเหตุ : ภาพนายเธียรชัย จาก ผู้จัดการออนไลน์)
(เธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล)
ข่าวประกอบ :
บังคับใช้ 27 พ.ค.! พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลบุคคลฯ ทำให้อับอาย-นำไปแสวง ปย.มิชอบโทษถึงคุก
ครม.ตั้ง 'เธียรชัย ณ นคร' คุม กก.กำหนดยุทธศาสตร์-ตีความ กม. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
'บิ๊กรบ.' สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ - รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย
ใครเป็นใคร! คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ 10 ชื่อ ก่อน 'บิ๊กรบ.' สั่งทบทวนใหม่เปิดกว้างทุกฝ่าย
'นพ.นวนรรน'ถามไม่ประกาศชื่อ กก.คุ้มครองข้อมูลตามมติ ครม.สุ่มเสี่ยงผิด ม.157 หรือไม่
‘นพ.นวนรรน’ ลั่นฟ้องศาลปค.แน่! หากกระบวนการเปลี่ยนชื่อกก.คุ้มครองข้อมูลฯ มิชอบด้วยกม.
อ.มหิดลจี้กระทรวงดีอี-ประกาศ กก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลลงราชกิจจาฯ ยันฟ้อง 157 หากล่าช้า
โควิด-19 ทำพิษ! ครม.เตรียมขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลบุคคลฯอีก 1 ปี
กม.รองไม่พร้อม! ครม.ไฟเขียวเลื่อนบังคับใช้ 'พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล' 1 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/