เตรียมบังคับใช้ 27 พ.ค. 63 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ตั้ง สนง.-กก.ควบคุมฯ เหตุมีการล่วงละเมิดกันจำนวนมากจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญ ระบุชัดห้ามแพร่ข้อมูลจนทำให้เจ้าข้องเกิดความเสื่อมเสีย-อับอาย โทษคุก 6 เดือน ถ้านำไปแสวงหาผล ปย.มิชอบ คุก 1 ปี ปรับ 1 ล้าน คนอื่นแพร่ต่อเสี่ยงคุก 6 เดือน เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ
จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ระบุเหตุว่าและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีประสิทธิภาพและเพื่อให้มีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลจากการถูกละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ค. 2563 นั้น
เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากปัจจุบันมีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมากจนสร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือสร้างความเสียหายให้แก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าว ทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายเศรษฐกิจโดยรวม สมควรกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นการทั่วไป เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ กลไก หรือมาตรการกำกับดูแลเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นหลักการทั่วไป จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อมีผลบังคับใช้ จะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีหน้าที่ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูล ติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงประสานกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
มาตราสำคัญ เช่น มาตรา 24 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่การจัดทำเอกสารประวัติศาสตร์ หรือจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต เพื่อเป็นการตามปฏิบัติตามสัญญา เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุม หรือเพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
มาตรา 26 ห้ามมิให้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ หรือข้อมูลอื่นใด ซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกันตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยไม่ได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่ ป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต เป็นการดำเนินกิจกรรมโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีการคุ้มครองที่เหมาะสมของมูลนิธิ สมาคม หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ข้อมูลที่เปิดเผยสาธารณด้วยความยินยอมโดยชัดแจ้งของข้อมูลส่วนบุคคล หรือเป็นการจำเป็นเพื่อการก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย เป็นต้น
มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมได้โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอมตามมาตรา 24 หรือมาตรา 26
ในส่วนของบทกำหนดโทษ ความรับผิดทางแพ่งตามมาตรา 77 ระบุว่า ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่เจ้าของข้อมูล ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ เว้นแต่ พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือการละเว้นของเจ้าของข้อมูล หรือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย
ส่วนความรับผิดโทษทางอาญา มาตรา 79 ระบุว่า หากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลฝ่าฝืนมาตรา 27 และ 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลตามมาตรา 26 โดยประการที่น่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากฝ่าฝืนมาตรา 27 และ 28 อันเกี่ยวกับข้อมูลตามมาตรา 26 เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ ด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรานี้เป็นความผิดอันยอมความได้
ส่วนมาตรา 80 ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.นี้ ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความในวรรคหนึ่ง มิให้นำมาใช้บังคับแก่การเปิดเผยในกรณี การเปิดเผยตามหน้าที่ การเปิดเผยเพื่อประโยชน์แก่การสอบสวน หรือการพิจารณาคดี การเปิดเผยแก่หน่วยงานรัฐในประเทศ หรือต่างประเทศที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย การเปิดเผยที่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือเฉพาะครั้งจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีต่าง ๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณะ
อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/069/T_0052.PDF
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/