"...ในความเป็นจริงแล้วการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามขั้นตอนคือเมื่อยื่นเรื่องไปทาง ครม. แล้ว จากนั้นก็ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กรณีนี้เนื่องจากว่ามีการส่งกลับมาให้ทบทวน เพราะมีคนร้องเรียนไปที่ผู้ใหญ่เยอะว่าให้นำเอารายชื่อกลับมาทบทวนเรื่องขั้นตอนการสรรหา อย่างเช่น หน่วยงานของภาคเอกชนบางหน่วยงาน เขาไม่มีตัวแทนของเขาเลย แล้วเขาจะสะท้อนได้อย่างไร ไม่มีเขาได้อย่างไร เขาก็เลยส่งกลับมาให้เราดูว่าที่มีการร้องเรียนนั้นจะแก้ไขอย่างไร..."
เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที!
เมื่อมีข่าวปรากฎข่าวว่า การประกาศรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน10 ราย ที่ผ่านมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ยังไม่ได้มีการลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลเป็นทางการ เนื่องจากมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลสั่งให้ดึงเรื่องกลับมา เพราะรายชื่อกรรมการบางคนที่ถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่มอำนาจในรัฐบาล
ขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ไม่มีกรณีที่ผู้ใหญ่ดึงเรื่องกลับ แต่ยอมรับว่ามีการส่งเรื่องนี้กลับมาให้ทบทวนจริง เพราะมีการร้องเรียนจากหลายฝ่าย ทั้งจากภาคธุรกิจและภาคประชาชน
"ในความเป็นจริงแล้วการแต่งตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามขั้นตอนคือเมื่อยื่นเรื่องไปทาง ครม. แล้ว จากนั้นก็ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กรณีนี้เนื่องจากว่ามีการส่งกลับมาให้ทบทวน เพราะมีคนร้องเรียนไปที่ผู้ใหญ่เยอะว่าให้นำเอารายชื่อกลับมาทบทวนเรื่องขั้นตอนการสรรหา อย่างเช่น หน่วยงานของภาคเอกชนบางหน่วยงาน เขาไม่มีตัวแทนของเขาเลย แล้วเขาจะสะท้อนได้อย่างไร ไม่มีเขาได้อย่างไร เขาก็เลยส่งกลับมาให้เราดูว่าที่มีการร้องเรียนนั้นจะแก้ไขอย่างไร"
"แต่เรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจผม ผมไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการสรรหา ผมเป็นเหมือนคนกลาง เมื่อมีคนร้องเรียนกลับมา ผมก็ต้องส่งกลับไปที่กรรมการสรรหา ถ้าตอบคำถามข้างต้นก็คือ เราไม่ได้เข้าไปเป็นกรรมการสรรหาอะไรเลย เขามีอยู่แล้วตามกฎหมาย เรื่องนี้มีเท่านี้” นายพุทธิพงษ์ ระบุ
(อ่านประกอบ : 'บิ๊กรบ.' สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ - รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลที่มาที่ไปของการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน10 ราย ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.ไปแล้วมา มานำเสนอ ณ ที่นี้
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 27 พ.ค. 2562 เป็น พ.ร.บ.ที่มีความสำคัญกับ “ข้อมูลส่วนตัว” จะกระทบต่อทุกภาคส่วนที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น และแนวทางของหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติ รวมถึงการตีความและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. นี้ และเกี่ยวเนื่องกับความเป็นส่วนตัวของคนไทยทุกคน
โดยมีประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นผู้กำหนดมาตรการหรือแนวทางเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ รวมไปถึงการออกประกาศหรือระเบียบวาระต่าง ๆ โดยเฉพาะประกาศข้อปฏิบัติที่เป็นแนวทางให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กรรมการ โดยตำแหน่ง 6 ราย ได้แก่ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เป็นรองประธานกรรมการ นอกจากนั้นเป็น ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอัยการสูงสุด
ส่วนที่เหลือ 10 คน เป็นกรรมการที่ต้องมาจากสรรหา ประธานกรรมการ 1 ราย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 ราย
ต่อมามีการออกประกาศสรรหาคัดเลือกเดือนมี.ค.63 ที่ผ่าน จนถึงขั้นตอนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 63 มีมติเห็นชอบรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน10 รายชื่อ ผ่านคัดสรรเสนอชื่อ หลังจากผ่านมา 2 เดือน คคก.ชุดดังกล่าวยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
รายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวม 10 ราย ประกอบไปด้วย
1.นายเธียรชัย ณ นคร เป็นประธานกรรมการ
2.นายนวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
3.พันตำรวจโท เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค
4.นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร
5.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสังคมศาสตร์
6.นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
7.ศาสตราจารย์ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย
8.ศาสตราจารย์ประสิทธ์ วัฒนาภา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสุขภาพ
9.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน
10.นางเมธินี เทพมณี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่น ( การบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ )
สำหรับรายชื่อและประวัติของผู้ที่ผ่านการคัดสรเพื่อดำรงตำแหน่งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคล มีดังต่อไปนี้
นายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.ปี60) เคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.)ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธก่อนการเลือกตั้ง อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และเป็นกรรมการอนุกรรมการอีกหลายชุด
ดร. นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นักวิชาการด้านสารสนเทศสุขภาพ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดการความเป็นส่วนตัวข้อมูลสุขภาพ (health information privacy specialist) ให้คำปรึกษากับแอพพลิเคชั่น "หมอชนะ" แต่ถอนตัวภายหลัง หลังพบหน่วยงานเตรียมบังคับลงแอปขอดู QR ก่อนผ่านจุดตรวจ และเหตุผลของการเข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์มากเกินไป
พันตำรวจโทเธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ(กขร.) อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการ สำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นคณะกรรมการอีกหลายตำแหน่งในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา
นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อดีตผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2 สมัย และอดีตกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปช)
ผศ.ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสังคมศาสตร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าศูนย์ศึกษากฎหมายกับเทคโนโลยี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการกฎหมายและวิจัยด้านการต่อสู้ชุมชน เกษตรพันธสัญญา
นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะกรรมการ แอมเนสตี้ประเทศไทยคนล่าสุด มีผลงานวิชาการและข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับกฎหมายด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัว
ศาสตราจารย์ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยสมัครสรรหาเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(ประเภทไม่เต็มเวลา) แต่โดนประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 20/2558 เรื่องระงับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อเสนอชื่อเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ล้มกระบวนการเสียก่อน
ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสุขภาพ อาจารย์แพทย์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน เลขาธิการหญิงคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อดีตอธิบดีกรมบังคับคดีและอธิบดีกรมคุมประพฤติ ข้าราชการที่เติบโตมาจากกระทรวงยุติธรรม
นางเมธินี เทพมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านอื่น (การบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ) เป็นอดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และอดีตปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) พี่สาวของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาที่ไปของการสรรหาประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ตรวจสอบพบในขณะนี้ ก่อนที่จะมีการสั่งให้ทบทวนกระบวนการสรรหาใหม่ เพื่อให้เปิดกว้างทุกฝ่าย ตามที่ปรากฎข้อมูลต่อสาธารณชนล่าสุด
อ่านประกอบ :
'บิ๊กรบ.' สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ - รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/