'นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์' 1 ใน 10 ว่าที่คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เผย อิศรา ยังไม่ทราบความคืบหน้ากระบวนการพิจารณาทบทวนคกก.ใหม่ หลังเกิดข่าว 'บิ๊กรบ.' สั่งโละรายชื่อ ลั่นเรื่องนี้ผ่านมติ ครม.แล้ว ชี้ต้องดำเนินตามหลัก Due Process of Law หากมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการทางกม. ตั้งใจร้อง ศาลปค. -ด้านรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้รอดูราชกิจจานุเบกษาประกาศผลเมื่อไร
..................................................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ผ่านมติเห็นชอบรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน 10 ราย แต่เวลาล่วงเลยมานานแล้ว ยังไม่ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลเป็นทางการ เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลสั่งให้ดึงเรื่องกลับมา เพราะรายชื่อกรรมการบางคนที่ถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่มอำนาจในรัฐบาล ขณะที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ว่า ไม่มีกรณีที่ผู้ใหญ่ดึงเรื่องกลับจากเหตุผลดังกล่าว แต่ยอมรับว่ามีการส่งเรื่องนี้กลับมาให้ทบทวนจริง เพราะมีการร้องเรียนจากหลายฝ่ายว่า ไม่มีตัวแทนหน่วยงานเข้าไปอยู่ร่วมในคณะกรรมการฯ ชุดนี้ด้วย
( อ่านประกอบ : 'บิ๊กรบ.' สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ - รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย , ใครเป็นใคร! คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ 10 ชื่อ ก่อน 'บิ๊กรบ.' สั่งทบทวนใหม่เปิดกว้างทุกฝ่าย)
ล่าสุด นายแพทย์ นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ใน 10 รายชื่อ ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับทราบความคืบหน้าเรื่องการประกาศรายชื่อคณะกรรมการฯ แต่อย่างใด ตนก็รออยู่ด้วยความกังวล เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้ มีเนื้อหารายละเอียดกระทบผู้คนจำนวนมาก เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่ม จึงจำเป็นจะต้องมีนักวิชาการไปช่วยมองอย่างสมดุล ทั้งในมุมสิทธิส่วนบุคคลและในมุมของการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ในแง่นี้ ผมเชื่อว่า คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งหลายๆ คน ก็คงอยากทำงาน แต่ผมไม่ได้อยู่วงในพอที่จะทราบว่าตอนนี้ ขั้นตอนหลังจากที่ ครม. แต่งตั้งและมีมติแล้ว และหลังจากนั้นมีข่าวออกมาว่าจะทบทวน แล้วในตอนนี้ ขั้นตอนของผู้เกี่ยวข้องเป็นอย่างใด ผมมองด้วยความเป็นห่วงว่าถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะเป็นกรรมการก็ตาม แต่อยากให้กลไกเดินหน้าต่อไป เนื่องจากในเรื่องของการออกกฎหมายลูกบท และการบังคับใช้กฎหมาย มีอะไรต้องทำอีกเยอะ ส่วนรายละเอียดที่ทำให้ยังไม่มีการประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษานั้น เรียนตรงๆ ว่าไม่ทราบจริงๆ ต้องขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)" นายแพทย์ นวนรรนระบุ
นพ.นวนรรน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไม่มีการนัดประชุม หารือ หรือแจ้งรายละเอียดใดๆ ให้ทราบว่าจะมีกระบวนการอย่างใดต่อ ภายหลังจากที่ ครม.มีมติแล้ว
“ผมเรียนตรงๆ ว่าผมรออยู่ ถ้ากระบวนการในมติที่ ครม. แต่งตั้งแล้วมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย ผมก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะร้องศาลปกครอง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ตอนนี้แค่ต้องรอ แต่ผมไม่ทราบจริง ๆ ก็รอดูความชัดเจน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าผมควรจะได้เป็นหรือไม่ ประเด็นคือกระบวนการใดที่ต้องดำเนินไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ควรจะดำเนินการไปตามนั้น เท่านั้นเอง ซึ่งนั่นเป็นประเด็นที่ใหญ่กว่า เป็น Due Process of Law” นพ.นวนรรน ระบุ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการยื่นศาลปกครอง จะทำในนามบุคคลหรือมีการหารือร่วมกับผู้ที่มีรายชื่อเป็นกรรมการรายอื่นๆ หรือไม่ นพ.นวนรรน ตอบว่า "ไม่ได้มีการหารือกัน เพราะที่ผ่านมาเราไม่ได้มีเวทีที่จะทำให้ได้มาเจอกันเลย เพราะฉะนั้น ไม่แน่ใจว่าท่านอื่นๆ คิดเห็นอย่างไร เป็นความคิดในฐานะปัจเจกคนเดียวเท่านั้นเอง ที่ตั้งใจไว้คือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อดูเหตุผล กระบวนการสรรหา ดูตามระเบียบ ตาม พ.ร.บ. และกลไกทั้งหมดแล้ว หากปรากฏว่ากระบวนการที่เปลี่ยนแปลงนั้น ไม่สามารถทำได้ตามกฏหมาย"
“ปัจจุบัน ผมไม่เห็นมีเหตุอะไรที่จะต้องเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำเนินการมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้เลย การขาดนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน หลากหลายมุม มาประกอบกัน มันอาจเสียโอกาส ในการรับฟังข้อมูลที่หลากหลายซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติที่สุด กระบวนการนี้ไม่ควรทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกข่มขืนทางกฎหมาย เราไม่ควรจะถูกข่มขืนใจโดยกระบวนการเช่นนี้ การกระทำหรือกระบวนการที่เป็นไปโดยมิชอบนั้น เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้” นพ.นวนรรนระบุ
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังนางสาว รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบถามความคืบหน้าการประกาศรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในราชกิจจานุเบกษา หลังจากที่ผ่านมติ ครม.แล้ว
นางสาวรัชดา กล่าวว่า "ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต้องไปเช็คในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะเป็นไปตามขั้นตอนว่าจะประกาศเมื่อไร"
เมื่อถามว่า ตามขั้นตอนปกติแล้ว หาก ครม. มีมติแต่งตั้งก็ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช่หรือไม่ นาวสาวรัชดาตอบว่า "ใช่ แต่กรณีนี้ไม่ทราบว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อไร"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อสอบถามความคืบหน้า แต่ไม่สามารถติดต่อได้ รวมทั้งพยายามติดต่อเลขานุการของนายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อขอสัมภาษณ์นายภุชพงค์ แต่ไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน
สำหรับรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวม 10 ราย ประกอบด้วย
1.นายเธียรชัย ณ นคร เป็นประธานกรรมการ 2.นายนวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 3.พันตำรวจโท เธียรรัตน์ วิเชียรสรรค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 4.นายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร 5.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสังคมศาสตร์ 6.นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 7.ศาสตราจารย์ศุภลักษณ์ พินิจภูวดล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 8.ศาสตราจารย์ประสิทธ์ วัฒนาภา เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสุขภาพ 9.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงิน 10.นางเมธินี เทพมณี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านอื่น ( การบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ )
ภาพ : medium.com , med.mahidol.ac.th
อ่านประกอบ :
ใครเป็นใคร! คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ 10 ชื่อ ก่อน 'บิ๊กรบ.' สั่งทบทวนใหม่เปิดกว้างทุกฝ่าย
'นพ.นวนรรน'ถามไม่ประกาศชื่อ กก.คุ้มครองข้อมูลตามมติ ครม.สุ่มเสี่ยงผิด ม.157 หรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/