ครม.ไฟเขียวถอนร่างแก้ไขกม.แพ่งฯ ลดดอกเบี้ยผิดนัดชำระเหลือ 5%-คำนวณดบ.ผิดนัดเฉพาะต้นเงินของงวดที่ผิดนัด และให้ออกเป็น ‘พ.ร.ก.’ แทน หลัง ‘คลัง’ ชี้มีความจำเป็นรีบด่วนต้องช่วยเหลือลูกหนี้ช่วงโควิด
.......................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ให้ถอนร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง และการปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบตามนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ที่เสนอ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุงร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวให้เป็นกฎหมายระดับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ในการประชุมครม.ดังกล่าว รมว.คลัง เสนอว่า ตามที่ครม.มีมติเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2564 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ....(แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป นั้น
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นว่า การปรับปรุงอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อาจจะไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
จึงสมควรที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งประชาชนทั่วไปจากสถานการณ์ดังกล่าวโดยเร่งด่วน จึงเป็นกรณีที่จะต้องรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนที่จะต้องตราเป็นพระราชกำหนดตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....(แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยในกฎหมาย) มี 4 ประเด็น ได้แก่
1.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยที่มิได้กำหนดโดยนิติกรรมหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง โดยปรับจาก “อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” เป็น “อัตราร้อยละสามต่อปี” โดยอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
2.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราดอกเบี้ยผิดนัด โดยปรับจาก “อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี” เป็น “อัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี” (เท่ากับอัตราร้อยละ 5 ต่อปี)
3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้ที่เจ้าหนี้กำหนดให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใด เจ้าหนี้อาจคำนวณจำนวนดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากต้นเงินของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น
4.กำหนดบทเฉพาะกาลให้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ แต่จะมีผลให้ข้อตกลงที่กำหนดให้เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระทั้งหมดตกเป็นโมฆะทันทีที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ
ที่มาภาพ : https://www.thaigov.go.th/
อ่านประกอบ :
ช่วยปลดหนี้ง่ายขึ้น! ธปท.หนุนแก้กม.ลดดอกเบี้ยผิดนัดเหลือ 5% ต่อปี
ครม.เคาะแก้กม.แพ่งฯ! ลดดอกเบี้ยผิดนัดเหลือ 5% ต่อปี-คิดเฉพาะเงินต้นของงวด
การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัด-ตัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม
ธปท.ย้ำคิดดอกเบี้ย 'วิธีใหม่' มีผลแล้ว สร้างความเป็นธรรม-ลด ‘หนี้เสีย’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage