ธปท.หนุนครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายแพ่งฯลดดอกเบี้ยผิดสัญญาเงินกู้-ผิดนัดชำระหนี้เหลือ 5% ช่วยประชาชนปลดหนี้ง่ายขึ้น
.................
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดสัญญาเงินกู้และกรณีผิดนัดชำระหนี้จากเดิม 7.5% ต่อปี เหลือ 5% ต่อปี นั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ และจะนำเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในลำดับต่อไปนั้น
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดสัญญาเงินกู้และกรณีผิดนัดชำระหนี้ในครั้งนี้ สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และลำดับการตัดชำระหนี้ที่ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2563 ซึ่งเป็นการปรับปรุงหลักคิดและแนวปฏิบัติครั้งใหญ่ของระบบการเงินไทยใน 3 เรื่อง คือ
1.การคำนวณกรณีผิดสัญญาเงินกู้และกรณีผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดเฉพาะงวดที่ผิดนัดจริง ไม่ให้รวมงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง 2.การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ให้บวกเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาได้ไม่เกิน 3% และ3.การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีโอกาสตัดเงินต้นได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในด้านประเด็นวินัยทางการเงิน ซึ่งเดิมมีแนวคิดว่าหากกำหนดอัตราเบี้ยปรับไว้สูงประชาชนจะไม่ผิดชำระหนี้ แต่ด้วยสถานการณ์เปลี่ยนไป พิจารณาแล้วเห็นว่าการคิดค่าปรับในอัตราดอกเบี้ยที่สูงจะเป็นอุปสรรคต่อการชำระหนี้ของประชาชน จึงได้มีการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดภาระของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด 19 ทำให้ประชาชนมีโอกาสชำระหนี้ได้มากขึ้นและมีโอกาสผิดนัดน้อยลง เป็นการปรับข้อกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงและเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายมากขึ้น
อ่านประกอบ :
ครม.เคาะแก้กม.แพ่งฯ! ลดดอกเบี้ยผิดนัดเหลือ 5% ต่อปี-คิดเฉพาะเงินต้นของงวด
การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัด-ตัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม
ธปท.ย้ำคิดดอกเบี้ย 'วิธีใหม่' มีผลแล้ว สร้างความเป็นธรรม-ลด ‘หนี้เสีย’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage