ครม.ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ ลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจาก 7.5% ต่อ เหลือ 5% ต่อปี และให้คิดเฉพาะเงินต้นของงวด ส่วนกรณี ‘เจ้าหนี้-ลูกหนี้’ ไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน ลดดอกเบี้ยเหลือ 3% ต่อปี
......................
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ในหมวดที่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของลูกหนี้ที่ถูกคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ทั้งกรณีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้มีการตกลงกันไว้ก่อน และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ ดังกล่าว มี 3 ประเด็น ได้แก่
1.กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อนหรือไม่ได้มีกฎหมายกำหนด (แก้ไขมาตรา 7) โดยปรับลดจากอัตรา 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลังจะทบทวนทุก 3 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ
2.กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด (แก้ไขมาตรา 224) โดยปรับลดจาก 7.5% ต่อปี เป็นอัตรา 5% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลงนี้ เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี
3.กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้ เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดแล้วเท่านั้น จากเดิมที่มาตรา 224/1 ไม่ได้กำหนดไว้ ส่งผลให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด
น.ส.รัชดา กล่าวว่าว่า รัฐบาลจะประสานงานทางสภาผู้แทนราษฎรโดยเร่งด่วน เพื่อรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการพิจารณา และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะเป็นโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมในการจ่ายดอกเบี้ย ป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้วิธีประวิงการฟ้องคดี เพื่อเรียกดอกเบี้ยตามกฎหมายที่สูงเกินควร และป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องแบกภาระดอกเบี้ยในหนี้ที่ยังไม่ได้ผิดนัด
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า กรณีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 และมาตรา 224 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับมาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2468 หรือเมื่อ 95 ปีก่อนนั้น ไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และจากความล้าสมัยของอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ 7.5% ต่อปีดังกล่าว ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ได้แก่ 1.ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินควร
2.เจ้าหนี้ประวิงเวลาฟ้องคดี เพื่อใช้เป็นช่องทางแสวงหาประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูง 3.เจ้าหนี้บางรายอาศัยประโยชน์จากความไม่ชัดเจน คือ เมื่อผิดนัดเพียงงวดใดงวดหนึ่ง แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยบนเงินต้นทั้งหมด 4.สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม และ5.มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยภาพรวม ดังนั้น ครม.จึงสมควรต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และแก้ปัญหาความเดือดร้อนของลูกหนี้
ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับการบรรจุหีบห่อ การจัดเก็บ การจัดแยก การจัดทำและแสดงเครื่องหมาย การจัดให้มีเอกสารที่จำเป็นและการขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เพื่อให้การดำเนินงานของกรมเจ้าท่าตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีดังนี้ 1.กำหนดบทนิยามความหมายของสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ 2.กำหนดหลักเกณฑ์คุณภาพ มาตรฐานภาชนะและวิธีการบรรจุสิ่งของ การจัดทำเครื่องหมายภาชนะที่ใช้บรรจุสิ่งของ การจัดเก็บและการจัดแยกสิ่งของ การบรรทุกการขนส่งและการขนถ่ายสิ่งของ และเอกสารกำกับการขนส่งสิ่งของ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้
3.กำหนดหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติของเจ้าของหรือผู้ครอบครองท่าเทียบเรือที่ใช้บรรทุกหรือขนถ่ายสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ และหน้าที่นายเรือหรือผู้ควบคุมเรือกรณีสิ่งของที่อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้มีการตกหล่นหรือรั่วไหลจากเรือ และ4.กำหนดให้อธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นผู้ประกาศกำหนดรายละเอียดวิธีการและคู่มือเพื่อปฏิบัติตามกฎกระทรวง
อ่านประกอบ :
การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัด-ตัดชำระหนี้อย่างไรให้เป็นธรรม
ธปท.ย้ำคิดดอกเบี้ย 'วิธีใหม่' มีผลแล้ว สร้างความเป็นธรรม-ลด ‘หนี้เสีย’
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage