ศาล รธน.รับคำร้องแล้ว! ปมรัฐสภาข้างมากใช้ช่อง ม.210 ยื่นวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ ส.ส.-ส.ว.แก้ รธน.ทั้งฉบับได้หรือไม่ สั่ง ‘มีชัย-บวรศักดิ์-สมคิด-อุดม’ ทำหนังสือชี้แจง 3 มี.ค.-นัดประชุมครั้งต่อไป 4 มี.ค.
...................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษา เรื่องที่ 4/2564 กรณีประธานรัฐสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ 256 (1)
โดยในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันที่ 9 ก.พ. 2564 พิจารณาญัตติด่วนกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) โดยผลการลงมติในญัตติดังกล่าว ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากมีมติเห็นด้วยให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามญัตติ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ประธานรัฐสภาส่งเรื่องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ การยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และในกรณีที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่าในคราวประชุมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ดังกล่าว มีมติเสียงข้างมากส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว ตามมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีจึงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลรัฐธรรมนูญฯ ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้ผู้เกี่ยวข้องคือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ (อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ (อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดโดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 มี.ค. 2564 และนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 4 มี.ค. 2564
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบญัตติดังกล่าว ส่งศาลรัฐธรรมนูญ 366 เสียง ไม่เห็นด้วย 316 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 696 ราย โดยเสียงข้างมากเกือบทั้งหมดมาจาก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว. ส่วนเสียงข้างน้อยมาจาก พรรคฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค
กรณีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐสภามีมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา
อ่านประกอบ :
มติรัฐสภาข้างมาก 366:316 ส่งศาล รธน.ชี้ขาด ส.ส.-ส.ว.แก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่
จ่อสกัดแก้ รธน.! 9 ก.พ.ประชุมร่วมรัฐสภาถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดมีอำนาจหรือไม่
ฉบับเต็ม! ญัตติ 73 ส.ส.-ส.ว.ใช้‘ช่องใหม่’ ชงศาล รธน.ชี้ขาดอำนาจสภาปมแก้รัฐธรรมนูญ?
เปิดชื่อ 48 ส.ว.-25 ส.ส.พปชร.เสนอญัตติชงศาล รธน.วินิจฉัยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage