ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา ให้มติ ‘กสทช.’ ให้ 'TNN' ควบคุมเวลาโฆษณาบน ‘เคเบิลทีวี’ ชอบด้วยกฎหมาย ระบุหากนำรายการ ‘ทีวีดิจิทัล’ ไปออกอากาศบน ‘เคเบิลทีวี’ ต้องตัดโฆษณาให้เหลือไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที
....................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นยกฟ้อง ในคดีที่บริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด ฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง การกำกับดูแลการโฆษณาบริการหรือสินค้าของผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกและผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก
เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 28 วรรคสอง บัญญัติให้การประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ที่มีการบอกรับสมาชิกหรือเรียกเก็บค่าบริการอื่น สามารถหารายได้จากการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที รวมเวลาทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที ผู้ฟ้องคดีย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อผู้ฟ้องคดีได้นำช่องรายการไปออกอากาศโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก โดยมีเวลาการโฆษณาและการบริการธุรกิจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้น กสทช. จึงมีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้
ดังนั้น มติของ กสทช. ที่ให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงไม่ให้มีระยะเวลาการโฆษณาและการบริการธุรกิจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีมติ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สำหรับรายละเอียดคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้วมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้พ้องคดี (ทีเอ็นเอ็น) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล (DTV) ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ ซึ่งการประกอบกิจการดังกล่าวสามารถหารายได้จากการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที ตามมาตรา 23 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
และผู้ฟ้องคดีได้นำบริการโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ คือ ช่อง TNN 24 อันเป็นบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ไปออกอากาศ โดยหารายได้ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ได้มีการนำช่องรายการโทรทัศน์อันเป็นบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปดังกล่าว ไปออกอากาศซ้ำทางโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกโดยใช้เวลาโฆษณาและการบริการธุรกิจคงเดิม
เห็นว่า มาตรา 28 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 บัญญัติให้การประกอบกิจการของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ที่มีการบอกรับสมาชิกหรือเรียกเก็บค่าบริการอื่น สามารถหารายได้จากการโฆษณาและการบริการธุรกิจได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที รวมเวลาทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที ผู้ฟ้องคดีย่อมมีหน้ที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
โดยหากรายการใดมีเวลาโฆษณาและการบริการธุรกิจเกินกว่าชั่วโมงละ 6 นาที รวมทั้งวันเฉลี่ยแล้วเกินชั่วโมงละ 5 นาที ผู้ฟ้องคดีก็ต้องลดเวลาการโฆษณาและการบริการธุรกิจลงให้เหลือเพียงเท่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการ โดยนำช่องรายการไปออกอากาศโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก โดยมีเวลาการโฆษณาและการบริการธุรกิจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
ทั้งนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (คณะกรรมการ กสทช.)ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 27(6) และ (24) และมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555
โดยข้อ 5 (8) กำหนดให้การออกอากาศรายการโดยมีการโฆษณาบริการหรือสินค้าเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้
ส่วนกรณีที่ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 กำหนดให้ผู้ให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป จะต้องให้บริการโทรทัศน์ตามผังรายการ โดยมีเนื้อหาเดียวกันทุกช่องทางทั้งในระบบภาคพื้นดินและระบบผ่านดาวเทียมอย่างต่อเนื่องโดยจะเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายจากประชาชนผู้ใช้บริการไม่ได้นั้น
กรณีดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ไนการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ที่จะต้องให้บริการแก่ประชาชนทั้งช่องทางในระบบภาคพื้นดินและระบบผ่านดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง โดยมีสิทธิหารายได้จากการโฆษณาและการบริการธุรกิจไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาทีครึ่ง โดยเมื่อรวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที
แต่เมื่อผู้ฟ้องคดีนำรายการดังกล่าวไปออกอากาศทางโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่มีสิทธิหารายได้ตามเวลาที่กำหนดไว้เดิม ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจอ้างหน้าที่ตามที่กำหนดในประกาศดังกล่าวมาเป็นเหตุผลเพื่อนำบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป ไปออกอากาศซ้ำหรือยินยอมให้ผู้อื่นนำไปออกอากาศทางโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่แบบบอกรับสมาชิก โดยไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายบัญญัติได้แต่อย่างใด
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ส่วนแบ่งค่าโฆษณาหรือรายได้อื่นๆเพิ่มขึ้นจากการออกอกาศ แต่เป็นการเพิ่มช่องทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคนั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ทรงสิทธิในรายการของผู้ฟ้องคดี เมื่อมีการนำบริการโทรทัศน์ไปออกอากาศทางโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก โดยมีการโฆษณาและการบริการธุรกิจรวมอยู่ด้วย ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ฟ้องคดีนำไปออกอากาศหรือเจ้าของสินค้าที่มีการโฆษณา และหากผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิย่อมมีสิทธิห้ามมิให้มีการดำเนินการดังกล่าว
ดังนั้น เมื่อกฎหมายกำหนดจำกัดระยะเวลาการโฆษณาหรือบริการธุรกิจไว้ ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่อาจอ้างว่าการได้รับหรือไม่ได้รับรายได้เพิ่มมาเป็นเหตุในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การแก้ไขและตัดตอนเนื้อหาโฆษณาอาจเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น เห็นว่า ผู้ทรงสิทธิในงานอันมีลิขสิทธิ์ ย่อมมีสิทธิที่จะเผยแพร่งานอันเป็นลิขสิทธิ์ในช่องทางใดๆ ได้ แต่หากช่องทางใดมีกฎหมายระเบียบกำหนดไว้อย่างใด การเผยแพรในช่องทางนั้นๆ ย่อมต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย การปฏิบัติตามกฎหมายกรณีกำหนดเวลาการโฆษณาหรือบริการธุรกิจย่อมไม่อาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้
ส่วนข้ออ้างอื่นของผู้ฟ้องคดีกรณีการขายโฆษณาตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่สามารถลดระยะเวลาการขายโฆษณาได้ และอาจเป็นการประกอบการเกินเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาตและการเผยแพร่ซ้ำเป็นลักษณะการถ่ายทอดสด ซึ่งอาจต้องปล่อยให้จอดำในช่วงเวลาโฆษณาที่หายไป ซึ่งจะทำลายความต่อเนื่องในการรับชมช่องรายการนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีสามารถบริหารจัดการได้ และไม่มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีสามารถปฏิบัติฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้
ดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 35/2558 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 แจ้งตามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 4010/ว35290 ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงไม่ให้มีระยะเวลาการโฆษณาและการบริการธุรกิจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามฟังขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ครั้งที่ 35/2558 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558 เฉพาะวาระที่ 4.15 ที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงการออกอากาศของรายการที่มีการโฆษณาและการบริการธุรกิจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติดังกล่าว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้อง
อ่านประกอบ :
กสทช.ศึกษาเชิงลึกอุ้ม'ทีวีดิจิทัล'!เผยผลสำรวจพบผู้ชม 75.2% ระบุเนื้อหาบนโลกออนไลน์ทดแทนได้
อุ้มทีวีดิจิทัล! ‘บอร์ดกสทช.’ มีมติลดเงินนำส่งกองทุน กทปส.เหลือ 0.125-1.5%
องค์กรผู้บริโภคเเนะกสทช.ลดค่าบริการเน็ตเเทนเเจกฟรี ตอบโจทย์เยียวยาโควิดฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/