สำนักงานกสทช.เดินหน้าโครงการศึกษาแนวทางแก้ปัญหา ‘ทีวีดิจิทัล’ รวบรวมข้อเท็จจริง ‘เชิงลึก’ ก่อนมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา พร้อมเผยผลสำรวจการรับชมทีวีดิจิทัล พบกลุ่มตัวอย่าง 75.2% ระบุเนื้อหาบน 'โลกออนไลน์' ทดแทนการรับชมรายการทางทีวีดิจิทัลได้
..............
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบกิจการโทรทัศนภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษา รวบรวมปัญหาข้อเท็จจริงเชิงลึกในการดำเนินกิจการของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล
พร้อมทั้งเสนอแนวทางมาตรการที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา หรือส่งเสริมผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ในสามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมภายใต้สภาวะเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ในระยะยาว
ทั้งนี้ สำนักงานกสทช.ได้จัดการประชุมในวงจำกัด หรือ Focus Group เพื่อรับฟังเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการขององค์กรในการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและพฤติกรรมผู้บริโภค ด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และด้านกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเปิดรับฟังข้อเสนอแนะแนวทาง และมาตรการเชิงนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ด้านเทคโนโลยี ด้านบริหารองค์กร และด้านพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพ
นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ยังเผยผลการสำรวจพฤติกรรมและการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,073 ราย ระหว่างวันที่ 1-30 เม.ย.2563 พบว่าโครงข่ายที่กลุ่มตัวอย่างรับชมโทรทัศน์ 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 อินเทอร์เน็ต 62.57% อันดับ 2 ทีวีดาวเทียม 36.13% อันดับ 3 เคเบิ้ลทีวี 36.13% อันดับ 4 โครงข่ายภาคพื้นดิน 19.1% และอันดับ 5 ไอพีทีวี 16.9%
สำหรับรูปแบบในการรับชมโทรทัศน์พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 73% รับชมทั้งตามผังเวลาออกอากาศและรับชมย้อนหลังทางเว็บไซต์ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ส่วน 16.9% รับชมตามผังเวลาออกอากาศเท่านั้น และ 10.1% รับชมย้อนหลังหรือรับชมตามต้องการผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์เท่านั้น
ส่วนประเภทรายการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 รายการข่าว/วิเคราะห์ข่าว 59.82% อันดับ 2 ละครไทย 52.48% อันดับ 3 ซีรีส์ (ละคร/ภาพยนตร์ชุด) เอเชีย (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง อินเดีย) 32.80% อันดับ 4 ภาพยนตร์ต่างประเทศ (อังกฤษ อเมริกา) 29.57% และอันดับ 5 การ์ตูน 25.86%
ทั้งนี้ ช่องประเภทธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 workpoint 69.75% อันดับ 2 ช่อง ONE HD 63.63% อันดับ 3 ช่อง MONO 29 52.10% อันดับ 4 ช่อง 3 HD 51.81% และอันดับ 5 ช่อง 7 HD 43.46% ส่วนช่องประเภทสาธารณะเรียงตามความนิยม อันดับ 1 ไทยพีบีเอส 65.6% อันดับ 2 ททบ.5 16.4% อันดับ 3 ช่อง NBT 12.3% และอันดับ 4 โทรทัศน์รัฐสภา 5.8%
ขณะที่ปัญหาที่พบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาในกับรับชมทีวีดิจิทัล พบว่า 53.8% ระบุว่า ไม่มีปัญหา และ 46.2% ระบุว่า พบปัญหา โดยปัญหาที่พบได้แก่ 1.สัญญาณไม่ชัดในบางเวลา 52.14% 2.ภาพและเสียงไม่ชัดเจน สัญญาณขาดหาย สะดุด 41.72% 3.มีโฆษณาคั่นรายการนานเกินกว่าที่กำหนด 28.7% (เฉลี่ย 12.30 นาที/ชั่วโมงตลอดวัน) 4.มีโฆษณาเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค 21.35% 5.เนื้อหามีความรุนแรง เพศ และภาษาที่ไม่เหมาะสม 11.86% และ6.ผู้ดำเนินรายการ/นักแสดง มีความประพฤติไม่เหมาะสม 9.78%
เมื่อถามเนื้อหาบนโลกออนไลน์ที่มีเผยแพร่ในปัจจุบันสามารถทดแทนการรับชมรายการทางทีวีดิจิทัลได้หรือไม่ โดยกลุ่มตัวอย่าง 75.2% ระบุว่า ทดแทนได้ และที่เหลือ 24.8% ระบุว่า ทดแทนไม่ได้
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 2,073 รายที่ทำการสำรวจนั้น เป็นเพศหญิง 65.8% เพศชาย 32.4% และเพศทางเลือก 1.7% โดยเป็นกลุ่ม Gen Y อายุ 22-39 ปี (เกิดในปี 2523–2540) 43.9% เป็นกลุ่ม Gen X อายุ 40-54 ปี (เกิดในปี2508-2522) 29.4% กลุ่ม Gen Z 16-21 ปี (เกิดในปี 2540 ขึ้นไป) 20.4% และกลุ่ม Baby Boomer 55 ปีขึ้นไป (เกิดในปี2489-2507) 6.3% ซึ่งส่วนใหญ่หรือ 53.4% จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 45.4% มีรายได้เฉลี่ยน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน
อ่านประกอบ :
อุ้มทีวีดิจิทัล! ‘บอร์ดกสทช.’ มีมติลดเงินนำส่งกองทุน กทปส.เหลือ 0.125-1.5%
องค์กรผู้บริโภคเเนะกสทช.ลดค่าบริการเน็ตเเทนเเจกฟรี ตอบโจทย์เยียวยาโควิดฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/