'พาณิชย์' เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค.ลดลง 3.44% หดตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี 11 เดือน จากราคาน้ำมันที่ลดลง-รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ 'ค่าน้ำ-ค่าไฟ' พร้อมระบุตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบติดต่อกัน 3 เดือน ทำให้เงินเฟ้อไทยเข้าสู่ภาวะ 'เงินฝืดแบบแคบ' แล้ว ขณะที่ ธปท.อิงนิยามเงินเฟ้ออีซีบี ยันไทยเข้าสู่ภาวะ 'เงินฝืด' เหตุยังไม่เข้าเงื่อนไขตามนิยามเงินฝืด 4 ข้อ
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพ.ค.63 ลดลง 3.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะเดียวกัน ภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค.63 ที่หดตัว 3.44% ดังกล่าว นับว่าเป็นอัตราการหดตัวที่สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤติซัพไพรม์ โดยเป็นหดตัวมากสุดในรอบ 10 ปี 11 เดือน หรือนับจากเดือนก.ค.52 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยหดตัว 4.4%
"เงินเฟ้อของไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะมีการติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในทางเทคนิคไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในความหมายแคบ คือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่ำกว่า 0% เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว แต่ถ้าไปดูในรายละเอียด เราจะพบว่าสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น มีมากกว่าสินค้าที่ราคาลดลง ซึ่่งไม่สอดคล้องกับหลักการของเงินฝืดในทางวิชาการอย่างครบถ้วน โดยสินค้าที่ราคาลงมากๆหนีไม่พ้นราคาน้ำมัน อีกพวกหนึ่ง คือ ราคาไฟฟ้า ประปาที่ลดลง เพราะรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เงินเฟ้อลงไปเยอะ รวมทั้งราคาผักก็ลดเยอะพอสมควร" น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนก ระบุว่า แม้ไทยจะเข้าภาวะเงินฝืดในความหมายแคบ แต่ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่น่ากังวลนัก เพราะเรื่องราคาสินค้าและความเคลื่อนไหวต่างๆยังอยู่ในทิศทางปกติอยู่ โดยสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันและอาหารยังคงบวกได้อยู่ สะท้อนอยู่ในอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนพ.ค.63 ยังขยายตัวที่ระดับ 0.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคการผลิตและบริการ ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีโควิด แต่การเข้าถึงอาหารและของใช้ส่วนตัวของประชาชนยังมีต่อเนื่อง ไม่มีการขาดแคลนแต่อย่างใด ส่วนราคาก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นไปอย่างบางประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะถัดไปน่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากรัฐบาลมีการผ่อนคลายล็อคดาวน์
"การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป" น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) หดตัว 1.04% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) ขยายตัวที่ 0.4% นอกจากนี้ สนค.คงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 63 ว่าจะอยู่ที่ -1% ถึง -0.2% โดยมีค่ากลางที่ -0.6%
ด้านนายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธปท.อิงนิยามภาวะเงินฝืดของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ดังนี้
1.อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานานพอสมควร (prolonged period)
2.อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆหมวดสินค้าและบริการ
3.การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปรกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย
4.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น
ดังนั้น หากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว พบว่าอัตราเงินเฟ้อไทยติดลบมาเพีย' 3 เดือน แม้ประมาณการล่าสุดของ ธปท. จะให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ติดลบ แต่ยังมองว่าปีหน้าจะกลับเป็นบวกได้ อีกทั้งเป็นการติดลบจากราคาพลังงานเป็นสำคัญ ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะ 5 ปี อยู่ที่ 1.8% ต่อปี ถือว่าใกล้เคียงกับกึ่งกลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1-3% ต่อปี จึงยังไม่เข้าข่ายเงินฝืดตามนิยามของการดำเนินนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้ หากเศรษฐกิจไทยหดตัวลึกหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินมาก โดย ธปท. จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
เปิดรายงานกนง. : มองศก.ไทยหดตัวเกินคาด-กังวลบาทแข็ง-ห่วงตกงานถาวรหลังโควิด
ทั่วโลกอัดฉีดฟื้นเศรษฐกิจ ‘ยังไม่เห็นผล’ ส่งออกไทย รอสร่าง ‘ไข้โควิด’ ปีหน้า
'บิ๊กตู่'แจงโอนงบปี 63 เรื่องจำเป็นแก้โควิด'ชลน่าน'เผย 6 ปีโอน 5 ครั้งรวม 5.3 หมื่นล้าน
กำชับดูแลค่าบาท! กนง.หวั่นกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ-เตรียมรื้อจีดีพีปี 63
เศรษฐกิจเม.ย.หดแรง! ธปท.ห่วงตกงานพุ่ง-ทุนไทยขนเงินกลับปท.เดือนเดียว 2.2 แสนล้าน
เช็กกระสุนฟื้นโควิด ‘บิ๊กตู่’ เหลือ 'เงินกู้-งบกลาง' ในมือ 4 แสนล้าน-จับตาพายุหนี้ 19 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/