เลขานุการศาลล้มละลาย เผย 5 เดือนปีนี้ มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการของศาลฯเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หนุนลูกหนี้ที่มี 'หนี้สินล้นพ้นตัว' ยื่นคำร้องฟื้นฟูกิจการฯ ชี้ทำให้เจ้าหนี้ได้คืนหนี้มากกว่าปล่อยให้ ‘ล้มละลาย’ และเป็นผลดีกับลูกจ้าง
เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายประธาน ทัศนปริชญานนท์ เลขานุการศาลล้มละลายกลาง เปิดเผยระหว่างการเสวนาเรื่อง ‘การฟื้นฟูกิจการกับการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจไทย’ โดยระบุว่า แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.63) จำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายกลางจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนคดีไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด และยังคงต้องติดตามว่าตลอดทั้งปีนี้ จะมีจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลายฯเป็นเท่าใด
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนคดีที่เข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลายฯเพิ่มมากขึ้นนั้น ล่าสุดนายณรงค์ กลั่นวารินทร์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลาง ได้ดำเนินการตามนโยบายของประธานศาลฎีกาในการระบบเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การส่งสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้บางราย โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเจ้าหนี้เป็นจำนวนมาก โดยส่งสำเนาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ อีเมล์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้มีประกาศศาลล้มละลายรองรับไว้แล้ว
นายประธาน ยังกล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ตามกฎหมายล้มละลายนั้น นับว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างทุน และฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อให้กลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติ และนำกระแสเงินสดจากการประกอบธุรกิจมาชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ และวิธีการนี้จะทำให้เจ้าหนี้ได้รับเงินคืนมากกว่าการปล่อยให้ลูกหนี้ล้มละลาย อีกทั้งส่งผลดีต่อลูกจ้างด้วย
“กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯเป็นการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยมุ่งรักษามูลค่ากิจการของลูกหนี้ เช่น โรงงาน ร้านค้า เพราะถ้าจะไปจัดการทรัพย์สินลูกหนี้ด้วยวิธีการทำให้ลูกหนี้ล้มละลาย แล้วยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดเพื่อนำมาแบ่งชำระหนี้ จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ เพราะจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับคืนหนี้น้อยกว่าการให้องค์กรนั้นๆประกอบธุรกิจต่อไป แล้วนำรายได้มาชำระเจ้าหนี้ นำเงินที่ได้ในอนาคตมาชำระให้เจ้าหนี้” นายประธานกล่าว
นายประธาน อธิบายถึงขั้นตอนการยื่นฟื้นฟูกิจการฯว่า ในขณะที่การฟ้องคดีแพ่งทั่วไปเป็นเรื่องที่โจทก์ คือ เจ้าหนี้ ฟ้องจำเลย คือ ลูกหนี้ ให้ชำระหนี้ ซึ่งเป็นข้อพิพาทของ 2 ฝ่าย แต่กระบวนฟื้นฟูกิจการฯจะแตกต่างจากการฟ้องคดีแพ่งทั่วไป เพราะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ร้องขอเข้าสู่กระบวนการจัดการทรัพย์สิน เนื่องจากลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างองค์กร และทำให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งระบบได้รับชำระหนี้มากที่สุด
แต่เมื่อกระบวนการฟื้นฟูกิจการฯเกี่ยวข้องกับเจ้าหนี้ทุกคนของลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องมีการประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบ โดยต้องส่งสำเนาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯของลูกหนี้แจ้งให้กับเจ้าหนี้ทราบ แต่ก็เป็นธรรมดาว่าในกรณีที่ลูกหนี้เป็นองค์ขนาดใหญ่ที่มีเจ้าหนี้เป็นจำนวนมาก จึงต้องนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ส่วนพิจารณาคดีจะต้องเป็นไปโดยรวดเร็วตามหลักการของกฎหมาย
ทั้งนี้ หลังจากลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการฯแล้ว ศาลฯจะพิจารณาไต่สวนฯว่า กิจการนั้นๆมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรืออยู่ในสภาวะที่ไม่อาจชำระหนี้ได้หรือไม่ และลูกหนี้รายนี้มีเหตุสมควรหรือมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการหรือไม่ ซึ่งการไต่สวนในชั้นแรกของศาลฯ จะมุ่งที่ตัวกิจการของลูกหนี้เป็นหลัก ส่วนสิทธิของเจ้าหนี้ในการได้รับการชำระหนี้ยังคงเป็นไปตามมูลหนี้เดิม เพราะศาลฯยังไม่ได้พิจารณาในชั้นนี้
“การไต่สวนฯชั้นแรก สิทธิของเจ้าหนี้มีอยู่อย่างไรก็ยังคงมีอยู่อย่างนั้น ส่วนเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้เท่าไหร่ และเจ้าหนี้จะเห็นด้วยหรือไม่ เป็นกระบวนการในขั้นตอนถัดไป เพราะขั้นตอนแรก ศาลฯจะไต่สวนฯและพิจารณาลูกหนี้ที่ร้องขอว่า มีเหตุสมควร มีช่องทางไหม และกิจการนั้นเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดในเบื้องต้นหรือไม่ และหากศาลฯเห็นว่ากิจการไม่เข้าเงื่อนไข เช่น ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีช่องทางฟื้นฟูกิจการได้ ศาลจะยกคำร้องไป” นายประธานกล่าว
นายประธาน กล่าวต่อว่า หากศาลฯพิจารณาแล้วเห็นว่าคำร้องฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เข้าเงื่อนไข ก็จะมีคำสั่งให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการฯ และเมื่อมีการตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนจะไปจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ทั้งแผนการปรับโครงสร้างหนี้ และแผนฟื้นฟูกิจการฯ ขณะเดียวกัน จะมีการจัดเจ้าหนี้เป็นกลุ่มๆและจะพิจารณาว่าเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มจะได้รับชำระหนี้เพียงใด และในระยะเวลาเท่าใด แต่ในขั้นตอนนี้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายจะมีบทบาทเป็นผู้พิจารณาว่าจะเห็นชอบแผนฟื้นฟูฯหรือไม่
“เจ้าหนี้จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการฯหรือไม่ หากที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการฯในสัดส่วนตามที่เงื่อนไขกำหนด จะก็ส่งแผนกลับมาที่ศาลฯ หากศาลเห็นว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และมีการคุ้มครองเจ้าหนี้ทั้งหมด ศาลฯก็จะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการฯ และให้มีผลบังคับผูกพันกับทุกฝ่าย” นายประธานกล่าว
อ่านประกอบ :
เปิดคำร้องฟื้นฟูฯ ‘การบินไทย' หาทุนใหม่-ลดพนง. ‘รักษาการดีดี’ หวัง ‘เจ้าหนี้-ศาล’ เชื่อมั่น
เปิดตัว 9 เจ้าหนี้!ทวงหมื่นล. ก่อน 'การบินไทย' ยื่นฟื้นฟูฯ-พบสัญญาเช่าโผล่ 9.7 หมื่นล.
โชว์ยิบหนี้ 3.52 แสนล.! 'การบินไทย' ชง 'รบ.บิ๊กตู่' อุ้ม 9 ข้อ ทบทวนเสรีการบิน-บีบโลว์คอสต์
เปิดเงินเดือน-ฟังเสียงสะท้อน ‘คนการบินไทย’ : ชีวิตไม่ได้ ‘สวยหรู’ อย่างที่ใครคิด!
5 ประเด็นแผนฟื้นฟู ‘การบินไทย’! ให้เจ้าหนี้โหวต ก.พ.64-ตั้ง 'ชาญศิลป์' เป็นผู้ทำแผน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage