สภาเริ่มถกร่าง พ.ร.บ.โอนงบปี 63 ดึงรายจ่ายประจำ-งบลงทุน เข้างบกลาง รวม 8.8 หมื่นล้านบาท 'บิ๊กตู่' แจงจำเป็นต้องใช้แก้โควิด 'ชลน่าน' ค้านไม่รับหลักการ ติด #จอมโอนแห่งยุค พบ 6 ปีโอนงบกลาง 5 ครั้งรวม 5.3 หมื่นล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีระเบียบวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 วงเงิน 8.84 หมื่นล้านบาท เพื่อตั้งไว้เป็นงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อนำไปใช้จ่ายสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด รวมทั้งกรณีที่มีเหตุกรณีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายที่นำเสนอเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากโรคโควิด ที่ถือเป็นภัยพิบัติร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้การจัดสรรงบกลางที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ จำนวน 9.6 หมื่นล้านบาทไม่เพียงพอ ทั้งนี้การโอนงบประมาณมีความสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และคล่องตัวในการแก้ไขปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การโอนงบครั้งนี้ได้รับการจัดสรรมาจาก รายจ่ายประจำที่ยังไม่มีการเบิกจ่าย ไม่มีข้อผูกพัน อาทิ ค่าสัมมนา ฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ จ้างที่ปรึกษา เดินทางต่างประเทศ รวมถึงงบลงทุนที่ดำเนินการไม่แล้วเสร็จใน 1 ปี แบ่งเป็น งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท งบประมาณบูรณาการ 1.3 หมื่นล้านบาท และงบรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ 3.5 หมื่นล้านบาท
โดยงบประมาณที่ได้รับการปรับโอนครั้งนี้ จะถูกนำไปดำเนินการตามแผนงานโครงการ 3 ด้าน คือ 1.แก้ปัญหาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 2.ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และ 3.แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็น
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.เพื่อไทย กล่าวว่า การพิจารณาโอนงบ เป็นครั้งแรกของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะการโอนงบประมาณรายจ่ายเกิดขึ้นมาแล้ว 5 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาผ่านสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เมื่อดูในอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้ต้องขอติด #จอมโอนแห่งยุค เพราะการโอนงบประมาณเริ่มทำครั้งแรก ปี 2507 สมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โอนเข้างบกลาง 160 ล้านบาท แต่ครั้งที่ 2-5 เป็นการดำเนินการของ พล.อ.ประยุทธ์ โอนเข้างบกลางรวม 5.3 หมื่นล้านบาท
นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดทำให้ไม่สามารถรับหลักการกฎหมายฉบับนี้ โดยมีเหตุผล 2 ข้อ คือ เพราะขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ และเห็นว่าการโอนเข้างบกลาง ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจใช้เงินก้อนนี้แต่เพียงผู้เดียว เหมือนมองว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเพิ่งผ่าน พ.ร.ก. 3 ฉบับเพื่อแก้ปัญหาโควิดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตีเช็คเปล่าเช่นกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/