‘ศรีสุวรรณ’ มาแล้ว! ลุยยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินชงศาล รธน.ตีความตำแหน่ง สนช. เหมือน ส.ส.-ส.ว. หรือไม่ ด้าน ‘สมชาย แสวงการ’ แจงปมคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.-กสม. ตีความต่างกัน ลั่นแค่ จนท.รัฐ เผย ป.ป.ช.-ศาล รธน.เคยตีความแล้ว ถ้ายังไม่สิ้นกระแสความยื่นให้วินิจฉัยใหม่ได้ เดิมพันด้วย 80 เก้าอี้สภาสูง
จากกรณีคณะกรรมการสรรหาสรรหา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการสรรหา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตีความตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แตกต่างกันในเรื่องลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์กรอิสระ โดยนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภาให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีนี้ว่า ที่ประชุมวุฒิสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องนี้ เพราะเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการสรรหาฯ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาไม่มีอำนาจในการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น (อ่านประกอบ : ส่งศาล รธน.ไม่ได้! เลขาวุฒิสภาเผยเป็นอำนาจ กก.สรรหาปมตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน)
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ตามที่ที่ประชุมวุฒิสภาได้ร่วมกันลงคะแนนให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 เมื่อวันที่ 26 พ.ค. โดยโหวตให้ความเห็นชอบนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี ด้วยคะแนนเห็นชอบ 219 เสียง ไม่ให้ความเห็นชอบ 12 เสียง ไม่ออกเสียง 8 เสียง ความดังทราบแล้วนั้น
แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาตรา 11 (18) บัญญัติไว้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ “เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา” ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีความเห็นว่า สนช.ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่บัญญัติให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา จึงมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ต่อมารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 263 ได้บัญญัติว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ตามลำดับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้
ดังนั้นเมื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เคยได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2559 และพ้นจากตำแหน่ง สนช.ซึ่งถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 นับถึงปัจจุบันพ้นตำแหน่งมาเพียง 1 ปี เท่ากับพ้นตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี จึงน่าจะเป็นการขัดต่อลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงเห็นว่าจะต้องหาข้อยุติดังกล่าวโดยจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 231 ในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองว่า การที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2561 มาตรา 11 (18) เป็นการกระทำโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมาคมฯจะดำเนินการร้องเอาผิด 219 ส.ว. ที่โหวตให้นายสุชาติเป็น ป.ป.ช.ตามครรลองของกฎหมายต่อไป เพราะไม่ว่าจะใหญ่มาจากไหนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน โดยสมาคมฯจะไปยื่นเรื่องในวันพฤหัสที่ 4 มิ.ย.63 เวลา 9.00 น. ที่ สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ห้อง 903 ศูนย์ราชการ อาคาร B
@‘สมชาย’ใช้ 80 เก้าอี้สภาสูงเดิมพัน สนช. ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว. เป็นแค่ จนท.รัฐ
วันเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ยืนยันว่า สนช. ไม่ใช่ ส.ส. และ ส.ว. แต่ สนช. ทำหน้าที่สมาชิกรัฐสภาระหว่างช่วงปฏิวัติ อีกทั้ง สนช. เป็นองค์ประกอบไม่เหมือน ส.ส. และ ส.ว. เพราะอนุโลมให้ข้าราชการ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้พิพากษามาเป็น สนช. ได้ และถือเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของ ส.ส. และ ส.ว. คือห้ามเป็นข้าราชการ อีกทั้ง สนช. ไม่ได้เป็นข้าราชการการเมือง เพราะตำแหน่งนี้คือเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการประธานรัฐสภา เป็นต้น แต่ สนช. คือเจ้าหน้าที่รัฐมาทำหน้าที่แทน ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น
นายสมชาย กล่าวอีกว่า การตีความของคณะกรรมการสรรหา กสม. กรณี พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามคือเคยเป็น สนช. จากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 10 ปี แตกต่างจากคณะกรรมการสรรหา กรรมการ ป.ป.ช. เพราะมีประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และตัวแทนจากองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย จึงตีความว่า สนช. ไม่เป็น ส.ส. และ ส.ว.
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า คณะกรรมการสรรหา กสม. ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธาน ในวันลงมติของคณะกรรมการสรรหา กสม. นายชวน ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมในการพิจารณากรณีนี้ จึงเหลือกรรมการสรรหา 8 ราย โดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ไม่ลงคะแนน ส่วนที่เหลือเป็นนักฎหมาย 2 ราย ลงคะแนนว่า สนช. ไม่เป็น ส.ส. และ ส.ว. ที่เหลืออีก 5 ราย ไม่ใช่นักกฎหมาย ลงมติว่า สนช. ถือเป็น ส.ส. และ ส.ว. จึงเห็นว่าเป็นการตีความที่ผิด และเชื่อว่าต่อไปหากมีการสรรหากรรมการองค์กรอิสระอื่น ๆ นักกฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในกรรมการสรรหา จะตีความว่า สนช. ไม่เป็น ส.ส. และ ส.ว. นอกจากนี้ที่ผ่านมา ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยวินิจฉัยว่า สนช. ถือว่าเป็น ส.ส. และ ส.ว. ด้วย แต่ไม่ได้ปิดกั้นให้ผู้เสียผลประโยชน์หรือคนที่ยังสงสัยยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นกระแสความได้
“เรียนตรง ๆ ว่า วันนี้ผมเป็น ส.ว. และรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนห้ามไม่ให้เป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญนี้มาเป็น หมายความว่าตั้งแต่นายพรเพชร และ ส.ว. จำนวน 80 ราย ที่มาจาก สนช. ก็หลุดเก้าอี้เลย หากมีการไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วสรุปว่า สนช. เป็น ส.ส. และ ส.ว. ก็ทำให้ทุกคนขาดคุณสมบัติ เชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้” นายสมชาย กล่าว
อ่านประกอบ :
ส่งศาล รธน.ไม่ได้! เลขาวุฒิสภาเผยเป็นอำนาจ กก.สรรหาปมตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน
ใครเป็นใคร? เปิดโครงสร้าง กก.สรรหาองค์กรอิสระ vs กสม. ไฉนตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน?
พลิกปม กก.สรรหา กสม. vs ป.ป.ช. ตีความตำแหน่ง สนช.ต่างกัน-ส่งศาล รธน.วางบรรทัดฐาน?
มติกรรมการสรรหา กสม.’นิพัทธ์ ทองเล็ก’มีลักษณะต้องห้าม เหตุพ้น สนช.ไม่เกิน 10 ปี
ที่ประชุม ส.ว.เสียงข้างมากเห็นชอบ‘ณัฐจักร-สุชาติ’ เป็น กก.ป.ป.ช.ใหม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/