‘ศักดิ์สยาม’ ปฏิเสธกระแสข่าว ‘ขสมก.’ เช่ารถเมล์ EV จำนวน 2,500 คัน ปีละ 5 พันล้านบาท ระบุเป็นการจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่ ‘วิ่งจริง’ เท่านั้น เผยล่าสุดชงแผนเช่ารถเมล์ให้ ‘คนร.’ พิจารณาแล้ว พร้อมระบุจะมีการเยียวยา ‘บีอีเอ็ม’ ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศ 'เคอร์ฟิว-ปิดพื้นที่เสี่ยง' แน่ แต่ต้องอยู่ขึ้นกับผลการพิจารณาของ กทพ.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีแผนเช่ารถเมล์ไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,500 คัน และประเมินว่าจะต้องจ่ายค่าเช่าให้เอกชนปีละไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ว่า ขสมก.มีแผนเช่ารถเมล์ EV เพื่อนำมาวิ่งให้บริการประชาชนจริง แต่การจ่ายค่าเช่ารถเมล์ EV ดังกล่าว เป็นการจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่วิ่ง และไม่ได้จ่ายให้เอกชนสูงถึงปีละ 5,000 ล้านบาทแต่อย่างใด
“การฟื้นฟูฯขสมก. สิ่งที่จะทำ คือ ปรับปรุงเส้นทาง 200 เส้นทาง ให้เหลือน้อยที่สุด สั้นที่สุด และไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งจะทำให้เหลือ 100 เส้นทาง จากนั้นขสมก.จะไปดูว่ารถที่จะต้องใช้ จะเปลี่ยนจากรถเมล์ที่ขมสก.เป็นเจ้าของ เป็นการเช่าเอกชนมาวิ่งตามระยะทาง ไม่มีการซื้อ และจ่ายค่าเช่าตามระยะทางที่วิ่ง โดยคนที่มายื่นประมูลตามทีโออาร์ จะแข่งกันว่าใครเสนอค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรต่ำที่สุด ก็จะได้ดำเนินการ ซึ่งการวัดระยะทางที่วิ่งจะนำ GPS มาจับ” นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม ระบุว่า สำหรับแผนการเช่ารถเมล์ EV ทั้ง 2,500 คัน ขสมก.และกระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณาเมื่อใด ขณะที่แผนการเช่ารถเมล์ EV ดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูฯขสมก. ซึ่งจะทำให้ขสมก.ไม่มีปัญหาขาดทุนอีก แต่ในช่วง 7 ปีแรกยังต้องขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (PSO) เป็นเงินรวม 9,000 ล้านบาท แต่หลังจากนี้รายได้จะเพียงพอกับค่าใช้จ่าย
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขสมก.เป็นองค์กรที่มีหนี้สิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน ตามแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ผู้ที่เข้ามาใช้บริการรถเมล์จะมีค่าโดยสารไม่แพงนัก โดยหากเป็นตั๋ววันจะอยู่ที่ 30 บาทใช้ได้ทุกสาย แต่หากเป็นตั๋วเดือนจะอยู่ที่ 25 บาทใช้ได้ทุกสาย และหากเป็นผู้ที่ไม่ได้ใช้รถเมล์ทุกวัน แต่อยากจ่ายตามระยะทางก็มีทางเลือกให้ นอกจากนี้ ยังมีตั๋วโดยสารราคาส่วนลดสำหรับนักเรียน นักศึกษาอีกด้วย
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงกรณีที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ส่งหนังสือถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอให้ชดเชยผลกระทบให้กับบริษัทฯ หลังรัฐบาลมีคำสั่งประกาศเคอร์ฟิว และสั่งปิดสถานที่เสี่ยง ทำให้ปริมาณการจราจรบนทางด่วนลดลงอย่างมาก ว่า หนังสือที่บีอีเอ็มส่งให้กทพ.ถือเป็นการรักษาสิทธิ์ตามสัญญา ส่วนจะมีการเยียวยาหรือไม่และอย่างไร กทพ.และบอร์ดกทพ.จะต้องหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง
“รัฐบาลมีการเยียวยาในภาคส่วนต่างๆ ก็ดำเนินการกันมา แต่ทั้งหมดต้องมาดูข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะวันนี้บีอีเอ็มยังต้องเสียค่าดำเนินการ และค่าบำรุงรักษาทางด่วนอยู่ ไม่ว่าจะมีรถวิ่งหรือไม่มีรถวิ่ง ก็ต้องเสีย อันนี้ต้องมาดูกันว่าในสัญญาว่าอย่างไร ซึ่งกทพ.อยู่ระหว่างพิจารณา” นายศักดิ์สยามกล่าว
ส่วนแนวทางการเยียวยาบีอีเอ็มนั้น นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ขณะนี้คงยังไม่ถึงขั้นพิจารณาว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชย หรือแม้กระทั่งการต่ออายุสัญญาสัมปทานออกไปแต่อย่างใด เพราะต้องดูรายละเอียดต่างๆก่อน ซึ่งวันนี้ กทพ.เองยังไม่รู้ว่ารายได้ที่บีอีเอ็มสูญเสียไปเป็นเท่าใด ดังนั้น จึงจะต้องไปดูรายได้ของบีอีเอ็มว่าเป็นอย่างไร แต่จากข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าจำนวนผู้ใช้ทางด่วนลดลง 50% จากประมาณ 1.8 ล้านคันต่อวัน ตอนนี้เหลือเพียง 9 แสนคันต่อวันต่อคัน
“ตามความเห็นส่วนตัว เราต้องมาดูว่ารายได้ที่บีอีเอ็มได้มานั้น สามารถครอบคลุมกับรายจ่าย O&M (การดำเนินงานและการบำรุงรักษา) หรือไม่ ถ้าครอบคลุม ก็ต้องมาเจรจากัน เพราะโควิดมันกระทบทุกคนอยู่แล้ว แต่ถ้าจะทำให้ทุกคนมีรายได้เท่าเดิมก็เป็นไปไม่ได้” นายศักดิ์สยามกล่าว
นายศักดิ์สยาม ปฏิเสธว่า ตนไม่ทราบว่ามีผู้ใหญ่คนใดในกระทรวงคมนาคมที่ตำหนิ ผู้บริหาร กทพ. กรณีที่ส่งหนังสือถึงบีอีเอ็มแจ้งว่า กทพ. ไม่เห็นด้วยที่จะเยียวยาบีอีเอ็ม และก็อยากรู้เหมือนกันว่าผู้ใหญ่คนนั้นเป็นใคร
อ่านประกอบ :
'บีอีเอ็ม' แจงขอรัฐเยียวยา กระทบหนัก ยอดใช้ 'รถไฟฟ้า-ทางด่วน' ลด 55-75%
เปิดสัญญาทางด่วน 'บีอีเอ็ม' เรียกร้องค่าชดเชย หลัง ‘เคอร์ฟิว’ อ้างปริมาณจราจรลด
‘กทพ.’ ปัดชดเชยค่าทางด่วน‘บีอีเอ็ม’ ชี้เคอร์ฟิวใช้บังคับทั่วไป ไม่มุ่งเป้ากระทบบริษัท
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage