ผู้ว่าฯกทพ. ทำหนังสือแจ้ง ‘บีอีเอ็ม’ เผยกทพ.ไม่ชดเชยผลกระทบ หลังมีการประกาศ ‘เคอร์ฟิว-ปิดสถานที่เสี่ยง’ ชี้คำสั่งรัฐบาลไม่ได้ ‘มุ่งหมาย’ ให้มีผลกระทบ ‘โดยตรง’ ต่อการดำเนินงานของบริษัทฯตามสัญญา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า หลังจากเมื่อวันที่ 16 เม.ย. นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม ทำหนังสือถึงนายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการฝ่ายปฏิบัติการ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เรื่อง การแจ้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีคำสั่งห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็น ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา และมีคำสั่งปิดสถานที่บางประเภทเป็นการชั่วคราวและคำสั่งห้ามทำกิจกรรมในสถานที่แออัด ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 ที่ผ่านมานั้น ทำให้ปริมาณจราจรบนทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ บีอีเอ็มขอให้ กทพ.พิจารณาแนวทางการชดเชยผลกระทบให้กับบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯได้รับผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยและเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นที่เกิดขึ้น โดยจะแจ้งให้กทพ.ทราบถึงรายละเอียดผลกระทบ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา นายดำเกิง ลงนามในหนังสือ 3 ฉบับแจ้งไปยังบีอีเอ็ม และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบีอีเอ็ม โดยระบุว่า ตามที่บริษัทฯได้แจ้งกทพ.ให้ทราบถึงผลกระทบที่บริษัทฯ ได้รับจากข้อกำหนดที่รัฐบาลออกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และขอให้ กทพ.พิจารณาแนวทางการชดเชยผลกระทบของบริษัทฯ นั้น
กทพ.ขอเรียนว่า กทพ.ไม่เห็นพ้องด้วยกับการแจ้งเหตุสุดวิสัยและเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นตามหนังสือที่บริษัทฯอ้างถึง เนื่องจากการที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามที่บริษัทฯกล่าวอ้างนั้น เป็นการออกข้อกำหนดเพื่อใช้บังคับเป็นการทั่วไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยไม่ได้มุ่งหมายให้มีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานของบริษัทฯตามสัญญา ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทุกภาคส่วนทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดขึ้น
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ตามสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) ระหว่างกทพ.และบีอีเอ็ม และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ระหว่าง กทพ. และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบีอีเอ็ม กำหนดให้ กทพ.ต้องชดเชยความเสียหายให้กับบริษัทคู่สัญญา หากเกิดเหตุสุดวิสัยและเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้น 4 กรณี
โดยกรณีที่บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากกฎหมายหรือระเบียบของรัฐบาลนั้น สัญญาข้อ 18.1 (ค) ระบุถ้อยคำว่า ‘มีการกระทำการหรืองดเว้นการกระทำการ การเปลี่ยนแปลงพิกัดอัตราภาษีศุลกากร อากร ภาษี กฎหมายหรือระเบียบ ของ กทพ. รัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจงใจให้มีผลกระทบโดยตรงต่อสัญญานี้ หรือกระทบต่อรายได้ผ่านทางที่เอกชนจะได้ตามสัญญา’
สำนักข่าวอิศรารายงานด้วยว่า นอกจากหนังสือแจ้งเรื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว บีอีเอ็มยังส่งเอกสารแนบเป็นรายงานปริมาณจราจรและค่าผ่านทาง ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ในเดือนก.พ.และมี.ค.2563 ให้กับ กทพ.ด้วย โดยวันที่ 1-29 ก.พ.2563 มีปริมาณการจราจรทั้งสิ้น 30.405 ล้านเที่ยว หรือเฉลี่ยวันละ 1.04 ล้านเที่ยว มีรายได้ค่าผ่านทาง 594 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 20.9 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
เปิดสัญญาทางด่วน 'บีอีเอ็ม' เรียกร้องค่าชดเชย หลัง ‘เคอร์ฟิว’ อ้างปริมาณจราจรลด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/