ป.ป.ช.ลงมติ 4 ต่อ 1 เสียง ไม่อุทธรณ์สู้คดีกล่าวหา 'เชาวนะ ไตรมาศ' อดีตเลขาธิการศาล รธน.-พวก เอื้อประโยชน์เอกชนโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 281 เครื่อง 13 ล้านเศษ หลังศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษายกฟ้องพยานหลักฐานปราศจากน้ำหนักลงโทษจำเลยได้ เผย 'สุชาติ ตระกูลเกษมสุข' ปธ.เสียงข้างน้อย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2568 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 4 ต่อ เสียง ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่พิพากษายกฟ้อง นายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และพวก กรณีกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเกี่ยวกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จำนวน 281 เครื่อง ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มูลค่า 13 ล้านบาทเศษ
โดยนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานกรรมการ ป.ป.ช.เป็นเสียงข้างน้อย 1 เสียง ส่วน นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. ลาประชุมไม่ได้ร่วมลงมติด้วย
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กับพวก ในช่วงเดือนก.ค.2564 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท และผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 บัญญัติ ว่าผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 พร้อมส่งสำนวนให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีทางอาญาและส่งผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามขั้นตอนทางกฎหมาย แต่ฝ่ายอัยการมีความเห็นแย้งในสำนวน ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีเอง
ขณะที่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 องค์กรกลางบริหารบุคคลสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (อ.ศร.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้บังคับตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2544 ประกอบไปด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคน มีประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นประธาน ได้มีมติให้ นายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ออกจากราชการ
ต่อมาในช่วงเดือน ต.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ โดยมีการรวมคดี 2 สำนวนเป็นคดีเดียวกัน มีจำเลย 12 ราย นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ จำเลยที่ 1 นายชาญฉกรรจ์ วีระขจร จำเลยที่ 2 บริษัทบางกอก เดค-คอน จำกัด จำเลยที่ 3 นางนภัสสรณ์ ทิพย์อัครยอด จำเลยที่ 4 นางธนนันท์ ซาโต จำเลยที่ 5 นายเอกศิษฐ์ ทิพย์อัครยอด จำเลยที่ 6 บริษัทกิมเส็งก่อสร้าง จำกัด จำเลยที่ 7 นางสาวสมพร น้อยโรจน์ จำเลยที่ 8 นายนิคม เพียรดี จำเลยที่ 9 บริษัทฟาโก เทคโนโลยี่ จำกัด จำเลยที่ 10 นายสิวาชัย กลิ่นสุคนธ์ จำเลยที่ 11 นายเชาวนะ ไตรมาศ เป็นจำเลยที่ 12
โดยศาลฯ พิเคราะห์พยานหลักฐานและมีคำวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ปราศจากน้ำหนักที่จะฟังลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้อง
ก่อนที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีการนำผลคำพิพากษาดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2568 และมีมติ 4 ต่อ 1 เสียง ไม่อุทธรณ์สู้คดีดังกล่าว
อ่านประกอบ :