'เชาวนะ ไตรมาศ' อดีตเลขาฯ ศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นร้องขอความเป็นธรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปมถูกชี้มูลอาญาคดีเอื้อเอกชนจัดซื้อคอมพิวเตอร์ 281 เครื่อง 13 ล. รอบสอง อ้างมีพยานหลักฐานใหม่ หลังถูกยกอุทธรณ์ไปแล้วก่อนหน้านี้
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวว่า สำนักคดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างทำความเห็นประกอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ พิจารณาว่าจะฟ้องคดีหรือไม่ฟ้องคดี นายเชาวนะ ไตรมาศ อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยี และบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญา รวมถึงผู้จัดการบริษัท กรรมการ และผู้เกี่ยวข้องรวมหลายราย ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาเกี่ยวกับการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ จำนวน 281 เครื่อง ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มูลค่า 13 ล้านบาทเศษ ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายอัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง และตีคืนสำนวนกลับมาที่ ป.ป.ช.
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า แม้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะยกอุทธรณ์คำร้องการดำเนินการทางวินัยของนายเชาวนะตามมาตรา 99 และมีการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาจนกระทั่งสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งปัจจุบัน ป.ป.ช.อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะส่งฟ้องเองหรือไม่
ปรากฏว่านายเชาวนะ ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการ ปปช. ตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 54 (1) มาเพิ่มเติม อ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะนำเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ คาดว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.คงจะยกคำร้องนายเชาวนะ ในท้ายที่สุด
สำหรับ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 54 ระบุว่า ห้ามมิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. รับหรือยกเรื่องที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
ขึ้นพิจารณา
(1) เรื่องที่มีข้อกล่าวหาหรือประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้วินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสําคัญแก่คดี ซึ่งอาจทําให้ผลของคําวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปลี่ยนแปลงไป
(2) เรื่องที่เป็นคดีอาญาในประเด็นเดียวกันและศาลประทับฟ้องหรือพิพากษาหรือมีคําสั่งเสร็จเด็ดขาดแล้ว เว้นแต่คดีนั้นได้มีการถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง หรือเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะรับหรือยกคํากล่าวหานั้นขึ้นพิจารณาก็ได้
(3) ผู้ถูกร้องหรือผู้ถูกกล่าวหาตาย เว้นแต่เป็นกรณีร่ํารวยผิดปกติ
อนึ่งสำหรับการดำเนินการทางวินัย นายเชาวนะ นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้มีการลงโทษทางวินัย เนื่องจาก นายเชาวนะ ได้ใช้สิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ผลการไต่สวนของ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 99 แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยกอุทธรณ์ ขณะที่ นายเชาวนะ ได้เกษียณอายุราชการไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวทั้งหมด ยังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด