‘พาณิชย์’ เปิดรับฟังความเห็นปรับปรุงเงื่อนไข ‘ส่งออกข้าว’ ยกเลิกค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตฯ ‘กลุ่มเกษตรฯ’ ลดค่าธรรมเนียมฯให้ 'ผู้ประกอบการ' พร้อมปรับลดปริมาณ ‘สต๊อกข้าว’ ผู้ประกอบการ SMEs ทุนจดทะเบียน 5-10 ล้าน ให้เก็บสต๊อกไม่น้อยกว่า 100 ตัน จากเดิม 500 ตัน
.................................
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในระหว่างวันที่ 2-16 ม.ค.2568 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการประกอบการค้าข้าว พ.ศ.2559
และการปรับปรุงเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติในหนังสืออนุญาตสำหรับผู้ประกอบการค้าข้าวประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ตามประกาศคณะกรรมการปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ.2489 ฉบับที่ 150 พ.ศ.2560 เรื่อง ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวขออนุญาตประกอบ การค้าข้าว การกำหนดเงื่อนไขในหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว และการสั่งถอนหนังสืออนุญาต ให้ประกอบการค้าข้าว ลงวันที่ 9 ก.พ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ในการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ นั้น กำหนดให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมฯ สำหรับกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ ประเภทผู้ส่งออกทั่วไป จากปัจจุบันที่เก็บค่าธรรมเนียม 50,000 บาท/ฉบับ พร้อมทั้งให้ลดค่าธรรมเนียมฯ สำหรับผู้ประกอบการ ประเภทผู้ส่งออกทั่วไป เหลือ 10,000-30,000 บาท/ฉบับ จากปัจจุบัน 50,000 บาท และลดค่าธรรมเนียมฯ สำหรับผู้ประกอบการ ประเภทผู้ส่งออกข้าวสารบรรจุกล่องหรือหีบห่อ เหลือ 10,000 บาท/ฉบับ จากปัจจุบัน 20,000 บาท/ฉบับ
ส่วนการปรับปรุงเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติในหนังสืออนุญาตสำหรับผู้ประกอบการค้าข้าวประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ นั้น จะเป็นการปรับปรุงการกำหนดให้มีสต็อกข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไป สำหรับบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท ให้ต้องมีข้าวสารเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ไม่น้อยกว่า 100 เมตริกตัน จากปัจจุบันที่ต้องมีข้าวสารไม่น้อยกว่า 500 ตัน ส่วนผู้ประกอบการค้าข้าวอื่นๆ กำหนดให้ต้องมีข้าวสารเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองตามหลักเกณฑ์เดิม
ก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงผลงานของรัฐบาล 90 วัน และมอบนโยบายภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 ตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลเรามีความเชื่ออย่างยิ่งว่า การทลายทุนผูกขาดเป็นสิ่งสำคัญ การผูกขาดทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐหรือภาคเอกชน เป็นสิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับพี่น้องประชาชน การผูกขาดทำให้พี่น้องประชาชนจนลง ไม่ได้ทำให้มีตังค์มากขึ้น ยกตัวอย่างง่ายๆอย่างเช่น เรื่องข้าว มันมีกฎหมายควบคุมตั้งแต่ช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ว่า ให้เป็นยุทธภัณฑ์
เพราะฉะนั้น การส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต ก็จะมีปัญหามากมาย ถึงจะมีการแก้ไขกฎหมายแล้ว ก็เป็นการแก้ไขในปี 2522 พอแก้เสร็จแล้ว กฎหมายก็ยังไม่อัพเดต ยังไม่ทันสมัยอยู่ดี คือ ใครจะส่งออกข้าว คนที่จะทำเรื่องข้าว ต้องมีที่เก็บข้าวอย่างน้อย 500 ตัน อันนี้ SMEs ขนาดเล็ก ผู้ประกอบการรายเล็กที่จะลองทำ เกษตรกร ไม่มีสิทธิ์เลย ไม่มีสิทธิ์ที่จะสามารถส่งออกข้าวไปขายต่างประเทศได้ เพราะ 500 ตัน ไม่มีใครมีที่เก็บมากขนาดนั้น รัฐบาลจะปลดล็อคเรื่องนี้ และลดขั้นตอนเหล่านี้ลง ทำให้เกษตรกรได้มีโอกาสและสามารถส่งออกข้าวด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องไปพึ่งพาหรือหาที่เก็บข้าว 500 ตันจากที่ไหน ฉะนั้น นี่คือเวทีที่จะทำให้ SMEs ได้กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง”
ด้าน นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินการปรับลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนส่งออกข้าว จากเดิมซึ่งใช้เวลาถึง 3 วัน เหลือเพียง 30 นาที โดยสามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) สามารถส่งออกข้าวได้ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการปลดล็อกและปรับลดเงื่อนไขการส่งออกข้าว โดยแก้ไขกฎหมายกฎกระทรวงที่สามารถแก้ไขได้ให้เหมาะสม และการปรับลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนส่งออกข้าวดังกล่าว จะช่วยอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนการส่งออกข้าวให้ SME สามารถส่งออกข้าวได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับลดปริมาณสต็อกข้าว และค่าธรรมเนียมการขอหนังสืออนุญาตประกอบการค้าข้าวนั้น ขณะนี้ กรมการค้าภายในอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
นางอารดา ระบุด้วยว่า ในปี 2568 กรมฯได้คาดการณ์ร่วมกับเอกชนว่า ประเทศไทยจะส่งออกข้าวได้ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปี 2567 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 9.9 ล้านตัน ทั้งนี้ กรมฯได้จัดเตรียมแผนผลักดันการส่งออกข้าว เพื่อช่วยให้มีคำสั่งซื้อรองรับผลผลิตข้าวไทย โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เพื่อส่งเสริมตลาดและผลักดันการส่งออกข้าวไทยต่อไป
อ่านประกอบ :
‘สมาคมผู้ส่งออกฯ’คาดปี 68 ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล.ตัน-‘นายกโรงสี’มองสวน ชี้‘ข้าวเปลือก’ราคาดี
‘สมาคมผู้ส่งออกฯ’ชี้‘บาท’แข็งค่า-ผันผวนสูง ทำ‘ข้าวไทย’แข่งขันยาก-ส่อฉุดราคาในประเทศร่วง
สมาคมฯขยับเป้าส่งออกข้าวปี 67 แตะ 8.2 ล.ตัน จับตา‘ผลผลิตเพิ่ม-อินเดียเลิกแบน’ฉุดราคาร่วง
6 เดือนส่งออกข้าวไทยโต 25.3%-‘สมาคมฯ’จ่อปรับเป้าเกิน 8 ล.ตัน รับอานิสงส์‘อินโดฯ’นำเข้า
ส่งออกข้าว พ.ค.67 ดิ่งหนัก 22.5% หดตัวในรอบ 11 เดือน หลังรัฐบาลประกาศโละสต๊อก'ข้าว10 ปี'
3 เดือนแรกปี 67 ไทยส่งออกข้าว 2.46 ล้านตัน รั้งอันดับ 2 ของโลก-ราคาเฉลี่ยเพิ่ม 19.9%
เอกชนประเมินปี 67 ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน-โอดปัญหา‘ทะเลแดง’ดันค่าระวางเรือพุ่ง 4 เท่า
ขายได้ราคาดี-ยอดซื้อเพิ่ม! ปี 66 ไทยส่งออกข้าว 8.76 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าปท. 1.78 แสนล.
ซัพพลายมาก-คนซื้อน้อย! ‘ส.ส่งออกข้าวฯ’คาดปี 67 ไทยส่งออกข้าว 7.5 ล้านตัน-ราคากลับสู่ปกติ
ไม่มั่นใจมาตรฐานประกวด! ‘ส.ผู้ส่งออกฯ’แจงเบื้องหลังไม่ส่ง‘ข้าวไทย’ชิงแชมป์โลกปี 66
สายพันธุ์ ST25 ของเวียดนาม คว้าแชมป์ประกวดข้าวโลกปี 66-ไทยไม่ติดอันดับ 1 ใน 3
10 เดือนส่งออกข้าวโลก‘ไทย’รั้งอันดับ 3-ราคาขายแพ้‘เวียดนาม’ สมาคมฯชี้‘บาทแกว่ง’ทำงานยาก
ครม.อนุมัติ 780 ล้าน ชดเชยดอกเบี้ย‘โรงสี’ซื้อข้าวเก็บสต๊อก-'ภูมิธรรม'กดปุ่มโอนไร่ละพัน
‘เศรษฐา’คิกออฟจ่ายชาวนาไร่ละ 1 พัน 28 พ.ย.นี้-นบข.เคาะ 780 ล.ชดเชยโรงสีซื้อข้าวเก็บสต็อก