‘ศาลปกครองกลาง’ สั่ง ‘กรมการขนส่งฯ’ ชดใช้สินไหมฯ 3 พันบาท ปมชะลอออก ‘ป้ายแสดงการเสียภาษี’ ให้ ‘ผู้ขับขี่’ ที่ค้างค่าปรับจราจร เหตุไม่มีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตาม ‘ใบสั่ง’ ก่อน
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2120/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 2682/2567 ซึ่งเป็นคดีที่นายอำนาจ แก้วประสงค์ (ผู้ฟ้องคดี) เจ้าของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางบกกับพวก (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-6) กรณีไม่ออกป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปีรถยนต์ เนื่องจากในระบบฐานข้อมูลกลาง (MDM) พบว่านายอำนาจมีค่าปรับตามใบสั่งจราจรค้างชำระ
โดย ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายอำนาจเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยฯ และให้นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ต้องออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ.2568 ให้แก่นายอำนาจ เนื่องจากเจ้าพนักงานจราจรยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5) จึงหาได้มีอำนาจในการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถให้แก่เจ้าของรถที่ค้างชำระค่าปรับจราจรแต่อย่างใดไม่ และคงมีหน้าที่รับชำระภาษีรถและออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถให้แก่เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถตามข้อ 18 และข้อ 19 ของระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2562
“ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดี (นายอำนาจ) เป็นเจ้าของรถยนต์ ยี่ห้อโตโยต้า (TOYOTA) รุ่นฮารีเออร์ (HARRIER) คันหมายเลขทะเบียน 5ขณ300 กรุงเทพมหานคร ต่อมา เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ผู้ฟ้องคดีได้ไปดำเนินการเพื่อชำระภาษีรถยนต์คันดังกล่าวประจำปี พ.ศ.2568 ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5)
โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ฝ่ายทะเบียนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 5) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522) เป็นผู้ดำเนินการรับชำระภาษีรถยนต์ประจำปีของผู้ฟ้องคดี ซึ่งโดยปกติในกรณีเจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถแสดงเอกสารหลักฐานในการเสียภาษีรถยนต์ประจำปีครบถ้วนตามข้อ 18 ของระเบียบกรมการขนส่งทางบก ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2522 แล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ในฐานะนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 จะมีหน้าที่ในการเรียกเก็บภาษีรถจากเจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถให้ถูกต้องครบถ้วนตามอัตราที่กฎหมายกำหนด พร้อมออกใบเสร็จรับเงินและเครื่องหมายการเสียภาษีให้แก่เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถตามข้อ 19 ของระเบียบดังกล่าว
แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจร ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรและนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ ซึ่งได้รับใบสั่งจราจรแล้วไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่งจจราจรภายในเวลาที่กำหนด
โดยในส่วนของนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ นั้น มาตรา 141/1 วรรคหนึ่ง (2) (ก) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจร ได้กำหนดให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ มีอำนาจในการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถให้แก่เจ้าของรถที่ค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร
โดยให้นายทะเบียนแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจรให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีทราบ เพื่อไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง แล้วให้นายทะเบียนรับชำระภาษีรถประจำปีสำหรับรถคันนั้นไว้ โดยอออกหลักฐานชั่วคราวแทนการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถแทน
อย่างไรก็ดี อำนาจของนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ในการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถให้แก่เจ้าของรถที่ค้างชำระค่าปรับจราจรตามกฎหมายดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานจราจรได้มีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบโดยชอบตามมาตรา 141/1 วรรคหนึ่ง (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาก่อนแล้วเท่านั้น
กล่าวคือ ในกรณีที่ผู้ขับขี่ เจ้าของรถ หรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งตามมาตรา 140 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 แล้ว แต่ไม่ชำระค่าปรับภายในเวลาที่กำหนดไว้ในใบสั่ง เจ้าพนักงานจราจรตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรขึ้นไป จะต้องมีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบ โดยการทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ แล้วแต่กรณี ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้น ก่อนที่นายทะเบียนจะมีอำนาจดำเนินการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถให้แก่เจ้าของรถที่ค้างชำระค่าปรับจราจรตามมาตรา 141/1 (2) (ก) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 นั้น นายทะเบียนจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติเสียก่อนว่า เจ้าพนักงานจราจรตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรขึ้นไปได้ปฏิบัติตามมาตรา 141/1 วรรคหนึ่ง (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
ด้วยการมีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ แล้วแต่กรณี ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นมาก่อนแล้วหรือไม่ ทั้งยังต้องตรวจสอบให้ได้ความจริงด้วยว่า ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้จะเป็นความจริงว่า ระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางบก) กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 และในการปฏิบัติงานด้านจราจรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลสำหรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในแต่ละขั้นตอนต่างๆ เรียกว่า “ระบบบริหารจัดการใบสั่ง” (Police Ticket Management : PTM)
โดยกำหนดให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายด้านงานจราจรในสังกัดต้องดำเนินการบันทึกข้อมูลต่างๆ ในระบบดังกล่าว รวมทั้งรวบรวมประวัติการกระทำผิดกฎหมายจราจรหรือกฎหมายเกี่ยวกับรถหรือการใช้ทางในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นฐานข้อมูลที่ประสานกันระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจของตน
แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในระบบ “ระบบบริหารจัดการใบสั่ง” (Police Ticket Management : PTM) และที่ปรากฏในระบบฐานข้อมูลกลางของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (MDM) ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ใช้เป็นเหตุในการชะลอการออกหลักฐานการชำระภาษีรถประจำปีให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า ผู้ฟ้องคดียังคงค้างชำระค่าปรับใบสั่งจราจร เลขที่ใบสั่ง 0267318341829 ออกใบสั่งวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ในข้อหาขับรถเร็วหรือต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เวลา 14.46 นาฬิกา บริเวณถนนนบูรพาวิถี กิโลเมตรที่ 42+500 บางวัว บางปะกง ฉะเชิงเทรา เป็นจำนวนเงินค่าปรับจำนวน 500 บาท
โดยไม่ปรากฎพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานจราจรได้มีการออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและค่าปรับที่ค้างชำระไปยังผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถตามมาตรา 141/1 วรรคหนึ่ง (1) วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจร
นอกจากนี้ ยังปรากฏตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ว่า จากการตรวจสอบไปยังหน่วยงานต้นสังกัด ไม่พบหลักฐานไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับที่ส่งหนังสือ แจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 141/1 เก็บรักษาไว้ที่หน่วยงาน กรณีจึงเชื่อได้ว่า เจ้าพนักงานจราจรยังมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522) จึงหาได้มีอำนาจในการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถให้แก่เจ้าของรถที่ค้างชำระค่าปรับจราจรแต่อย่างใดไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 คงมีหน้าที่รับชำระภาษีรถและออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถให้แก่เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถตามข้อ 18 และข้อ 19 ของระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2562
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรายการค่าปรับใบสั่งจราจรของเจ้าพนักงานจราจรในระบบฐานข้อมูลกลางของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางบก) แล้วออกใบเสร็จชำระเงินค่าภาษีประจำปีพร้อมระบุข้อความว่า “ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ออกใบเสร็จรับเงิน” โดยไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ.2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2562 กำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
สำหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางบก) ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 และได้กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เกี่ยวกับการรับชำระและการนำส่งเงินค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกแนบท้ายบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว นั้น
เห็นว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันในการปฏิบัติงานระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 เพื่อให้การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของตนเป็นไปโดยเรียบร้อย แต่เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ผูกพันต่อกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 จึงไม่อาจกำหนดแนวทางการดำเนินงานให้ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายได้
ดังนั้น เมื่อศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ยังมีการปฏิบัติที่ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจร กำหนดไว้
ศาลก็มีอำนาจที่จะกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการรับชำระภาษีรถและออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ได้ ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้
ประเด็นที่สอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี หรือไม่ หากเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดี เพียงใด
...เมื่อศาลได้วินิจฉัยมาแล้วในประเด็นข้างต้นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ตรวจสอบเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรายการค่าปรับใบสั่งจราจรของเจ้าพนักงานจราจรในระบบฐานข้อมูลกลางของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางบก) แล้วออกใบเสร็จชำระเงินค่าภาษีประจำปีพร้อมระบุข้อความว่า “ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ออกใบเสร็จรับเงิน” โดยไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ.2558 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.2562 กำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ดังกล่าวทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิในการใช้รถของตนได้โดยชอบด้วยกฎหมายดังเช่นบุคคลที่ชำระภาษีรถประจำปีแล้วโดยทั่วไป
การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางบก) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแห่งและพาณิชย์
และเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ที่ไม่ออกหลักฐานการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ.2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยออกเพียงใบเสร็จชำระเงินค่าภาษีประจำปีพร้อมระบุข้อความว่า “ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ออกใบเสร็จรับเงิน” เท่านั้น ทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียสิทธิในการใช้รถได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับปี พ.ศ.2568 เป็นเวลา 11 เดือน
เมื่อคำนวณค่าภาษีรายปี สำหรับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีที่ต้องชำระจำนวน 3,438 บาท คิดเป็นเงินภาษีเดือนละ 286.50 บาท ผู้ฟ้องคดี (นายอำนาจ) จึงชอบที่จะได้รับค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (นายทะเบียนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522) เป็นเงิน 3,151.50 บาท (285.50 x 11) ทั้งนี้ ตามมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางบก) ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 อยู่ในสังกัด จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
สำหรับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ในการออกหลักฐานการเสียภาษีรถประจำปีให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2544
พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีรถประจำปี พ.ศ.2568 ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กรมการขนส่งทางบก) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 3,151.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ไม่เกินอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 คืนค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนตามส่วนของการชนะคดีให้แก่ผู้ฟ้องคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก” คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2120/2567 คดีหมายเลขแดงที่ 2682/2567 ลงวันที่ 18 ธ.ค.2567 ระบุ
อ่านประกอบ :
‘สุภา โชติงาม’ ฟ้อง สตช. MOU ขนส่งค่าปรับจราจรไม่ชอบกม. ศาลนัดฟัง 19 พ.ย.นี้
‘ไม่จ่ายค่าปรับ-ปฏิเสธข้อกล่าวหา’ให้ส่งฟ้องศาล! ‘ตร.’แพร่แนวทางออก‘ใบสั่งจราจร’ใหม่
‘บิ๊กโจ๊ก’รื้อเกณฑ์ออก‘ใบสั่งฯ’ใหม่ ให้สิทธิผู้ขับขี่โต้แย้ง-จ่ายค่าปรับเหมาะสมพฤติการณ์
เปิดตัว‘สุภา โชติงาม’ผู้ฟ้อง‘ตร.’ จน’ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ตร.จ่ออุทธรณ์คดีเพิกถอนประกาศฯ'ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง'-'บิ๊กโจ๊ก'สั่งจนท.ปฏิบัติตามเดิม
ผู้ขับขี่ไม่เสียสิทธิปฏิเสธ! ความเห็นแย้ง‘ตุลาการเสียงข้างน้อย’คดีถอนประกาศฯ‘แบบใบสั่งฯ’
ตัดอำนาจจนท.-ไม่แจ้งสิทธิโต้แย้ง! พลิกคดี‘ศาล ปค.’สั่งถอนประกาศฯ‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’
ให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ ก.ค.63!‘ศาล ปค.’สั่งเพิกถอนประกาศฯกำหนด‘ค่าปรับจราจร-แบบใบสั่ง’