คืบหน้าขนย้ายรถไฟญี่ปุ่น หลังมีการแก้สัญญา วงในเผย ‘กรีนเจเนอเรชั่น’ เอกชนผู้รับงาน เริ่มหาผู้รับเหมาช่วงมาทำการรื้อแคร่ขบวนรถ KIHA 40/48 รวมถึงหารือ ‘รถไฟ’ ไม่ให้ใช้วิศวกรจากญี่ปุ่นมาตรวจรับ จับตาทำผิดสัญญาอีก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 ธันวาคม 2567 จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่าจ้างบริษัท กรีน เจเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด ขนย้ายรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40/48 จากประเทศญี่ปุ่น มายังประเทศไทย โดยพบว่ามีการขนย้ายขบวนรถไฟทั้ง 20 ตู้ จากท่าเรือนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.67 ปัจจุบันขบวนรถทั้งหมด ยังจอดอยู่ที่ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ขณะที่สัญญา งานงวดที่ 3 ครบกำหนดไปแล้วเมื่อต้นเดือน ก.ย. 2567 และมีค่าปรับเกิดขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีประเด็นที่เอกชนขอแก้ไขสัญญาในรายละเอียดการขนย้ายหลังจากที่ได้ดำเนินการขนย้ายไปแล้ว โดยมีการทำสัญญาแนบท้าย ลงวันที่ 15 พ.ค. 2567 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการกระทำบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามเอกสารข้อกำหนดรายละเอียดของงานกำหนด
ซึ่งสำนักข่าวอิศราได้รายงานรายละเอียดของการกระทำที่ผิดไปจากเอกสารข้อกำหนดรายละเอียดของงาน (Term of Reference) ได้แก่
1.ไม่ได้มีการแยกตัวรถ(Body) กับ แคร่(Bogie) ออกจากกันที่ลานพักสินค้าฟูจิโยเสะ จังหวัด นีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะยกขึ้นเรือมายังท่าเรือแหลมฉบัง
2.มีการนำรถดีเซลรางทั้ง 20 คันมาวางกองเก็บที่ ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง ผิดจากเงื่อนไข TOR ที่ต้องวางที่ย่านท่าเรือแหลมฉบัง จนกว่าที่จะรีเกรดล้อเสร็จและยกตัวรถนำมามาประกอบกับแคร่ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง
3.มีการสมยอมและเจตนาที่จะใช้พื้นที่ย่านสถานีรถไฟแลมฉบังเพื่อทำการยกตัวรถดีเซลรางเพื่อถอดแคร่(Bogie)ออกจากตัวรถ(Body) ที่ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง ซึ่งไม่เป็นไปตาม TOR และมาตรฐานงานซ่อมบำรุงล้อเลื่อนของการรถไฟฯ และมาตรฐานความปลอดภัย และไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญในการแยกตัวรถ
4.มีการพยามลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นและที่ท่าเรือแหลมฉบัง
5.มีการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจากโดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง
รวมถึงมีการขอแก้ไขเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้าง เป็นข้อตกลงเพิ่มเติม ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยขอแก้ในส่วน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้าง ได้ทำหนังสือขออนุมัติแก้ไขสัญญาฯ โดยอ้างว่าไม่สามารถที่จะรื้อแคร่(Bogie) ออกจาก ตัวรถ (Body) เพื่อทำการขนย้ายจากท่าเรือ นีงาตะมายัง ท่าเรือแหลมฉบังได้ จากสาเหตุ
1.1 อ้างว่าลานเก็บสินค้าที่ ท่าเรือที่ นีงาตะไม่เพียงพอ โดยไม่ได้แสดงหลักฐานจากทางท่าเรือนีงาตะว่าเหตุใดจึงปฏิบัติงานที่ท่าเรือ นีงาตะไม่ได้ ทั้งๆที่ ตาม TOR สัญญาว่าจ้างฉบับลงวันที่ 15 มกราคม ทาง JR East เป็นผู้กำหนดว่าจะต้องถอดแคร่จากญี่ปุ่นมาที่ไทย เพราะขนาดรางกว้างไม่เท่ากัน (ไทยกว้าง 1.00 เมตร ญี่ปุ่นกว้าง1.067เมตร) เมื่อมาถึงเมืองไทย ทาง รฟท.จะต้องขนไปรีเกรดล้อที่โรงงานมักกะสัน
1.2 อ้างว่ามีแผ่นดินไหวที่จังหวัดอิชิคาวะ ที่อยู่ห่างจากท่าเรือ นีงาตะถึง 376 กิโลเมตร โดยไม่มีเอกสารอ้างอิงว่าทางผู้รับจ้างจะไม่สามารถปฏิบัติงานได้จากทางญี่ปุ่น
ต่อมา นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่ารฟท.ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2567 รับทราบเหตุการณ์ดังกล่าวในเบื้องต้น และคงต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ โดยจะเน้นไปที่ด้านกฎหมายเป็นหลัก เพื่อดูว่าทางออกของประเด็นนี้คืออะไร ต้องลงไปดูข้อเท็จจริงก่อนและจะสามารถให้การดำเนินการนำรถมาใช้ได้อย่างไร และถ้าพบผู้กระทำผิดก็ดูว่าผิดตรงไหน, ถ้ามีขบวนรถอยู่ ส่วนที่มีความผิดก็ว่ากันไป แต่ตัวรถสามารถเอกมาใช้ไปก่อนได้ไหม รฟท.จะได้มีรถไว้สำหรับเสริมเติมรถที่ขาดนั้น
- ‘วีริศ’ รู้แล้ว ขนรถไฟญี่ปุ่นมีพิรุธ ขอ 1 เดือนสแกนข้อมูล-ลงพื้นที่จริง
- เปิด 6 พิรุธ ‘รฟท.’ ขนรถไฟญี่ปุ่น ไม่ทำตาม TOR - แก้สัญญาเอื้อเอกชน?
- หยุดรุมแทะเศษกระดูกการรถไฟฯ
@หารับเหมาช่วง-ไม่ใช่วิศวกรญี่ปุ่น
ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ทางบริษัทกรีน เจนเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด ได้พยายามที่จะว่าจ้างช่วงให้บริษัทอื่น เข้ามารับจ้างช่วงในการรื้อแคร่ที่สถานีแหลมฉบัง และพยายามที่เจรจาต่อรองกับการรถไฟฯ โดยไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้างจากการแก้ไขเอกสารแนบท้ายสัญญาดังกล่าว
“เหตุการณ์นี้ทางการรถไฟฯ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน อาจจะต้องเข้ามาดูรายละเอียดทั้งหมดว่าทำไมถึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ทำให้การรถไฟฯ และประชาชนคนไทยเสียผลประโยชน์จากกลุ่มคนไม่กี่คน” แหล่งข่าวระบุ
สำหรับบริษัทกรีน เจนเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด ผู้รับจ้างขนรถดีเซลราง KIHA 40/48 หลังจากได้มีการแก้ไขสัญญาในประเด็นการแยกตัวรถที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนขนมาที่ประเทศไทย โดยอ้างพื้นที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ และอ้างเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมกราคาที่จังหวัด อิชิคาวะ ซึ่งอยู่อยู่ห่างจากจากท่าเรือนีงาตะ 346 กิโลเมตร โดย รฟท. ทำการแก้ไขเอกสารแก้ไขสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าก่อนที่จะมีการแก้ไขสัญญา คณะกรรมการตรวจรับพัสดุในงานจ้างนี้ ได้เดินทางไปตรวจรับงานงวดที่ 1 ที่ ท่าเรือนีงาตะ หลังจากนั้นจึงมีการแก้ไขสัญญา เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 67 เพื่อขนรถทั้งทั้ง 20 คัน มายังท่าเรือแหลมฉบัง โดยทางการรถไฟฯ ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ ไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อ นำรถดีเซลราง KIHA 40/48 ไปจอดยัง ย่านสถานีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งที่ตามสัญญาจะต้องไปจอดที่ย่านท่าเรือแหลมฉบัง กรณีดังกล่าวอาจส่อเจตนาหลีกเลี่ยงค่าเช่าใช้พื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และได้มีการตรวจรับงานงวดที่ 2 ไปแล้ว จากวันที่ 2 มิถุนายน 2567 จนถึงปัจจุบัน เกินกว่ากำหนด 90 วันที่ ทางบริษัทจะต้องดำเนินการแยกตัวแคร่เพื่อออกจากตัวรถ เพื่อส่งไปบีบล้อยังโรงงานมักกะสัน
ล่าสุด ตามที่ได้มีการแก้ไขเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ทางบริษัทกรีน เจนเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด ได้ลงนามในการยอมรับเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้าง ตามที่ทางบริษัทได้อ้างเหตุผลหลัก จากกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวและพื้นที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอที่ท่าเรือนีงาตะ ซึ่งในเหตุผลหลักเป็นที่น่าสังเกตว่า ทางบริษัทฯดังกล่าวเคยมีประสบการในการขนย้ายรถ และการรื้อประกอบแคร่หรือไม่ ทำไมถึงผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างมาได้ ทั้งที่ตามเอกสารรายละเอียดทางด้านเทคนิค ได้กำหนดให้ทางบริษัทผู้รับงานจ้างจะต้องติดต่อประสานงานไปยังทางญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ในงานแยกตัวแคร่กับตัวรถ ควบคุมงานแยกที่ประเทศญี่ปุ่น เหตุใดจึงขนรถมาทั้งที่ไม่การแยกก่อนส่งมาประเทศไทย เนื่องจากขนาดความกว้างของรางแตกต่างกัน 6.7 เซนติเมตร โดยที่ทางญี่ปุ่นรางกว้าง 1.067 เมตร ขณะที่ประเทศไทยมีความกว้าง 1.00 เมตร ข้อกำหนดจึงต้องมีการแยกแคร่ออกจากตัวรถ เพื่อส่งให้ทีมวิศวกรและช่างเทคนิคทำการบีบอัดล้อที่โรงงานมักกะสัน เหมือนกรณีการขนรถ KIHA183
ต่อมา การแก้ไขเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้าง ตามสัญญาจ้างเลขที่ พด.012/2566 ลงวันที่ 15 มกราคม 2567 นั้นกลับไม่มีการพูดถึงค่าใช้จ่ายที่หายไปที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากว่าราคากลางที่ทางการรถไฟฯกำหนดนั้น ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายแรงงานชาวญี่ปุ่น ค่าเครื่องจักรที่ใช้งานที่ญี่ปุ่น รวมถึงการใช้สถานที่ที่ท่าเรือนีงาตะ เหตุใดถึงในเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างที่ได้มีการแก้ไขไปแล้วจึงไม่มีการลดค่าใช้จ่ายดังกล่าว คณะกรรมการแก้ไข TOR ทำไมถึงไม่ให้ทางบริษัทลดค่าใช้จ่าย กลับมีการจ่ายค่าว่าจ้างเต็มจำนวนเท่าเดิม