สภามหาวิทยาลัยถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี มรภ.มหาสารคาม ส่งผลให้รายชื่อถูกยกเลิกไปด้วย หลัง คกก.ที่ปรึกษา กม.ชี้ปมแก้คณสมบัติผู้สมัคขัดหลักธรรมาภิบาล
จากกรณีการร้องเรียนเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ว่ามีการแก้ไขคุณสมบัติผู้สมัครเป็นอธิการบดี เพื่อเอื้อประโยชน์กับบุคคลคนหนึ่งนั้น
คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ได้ให้ความเห็นปมแต่งตั้งอธิการบดี มรภ.มหาสารคาม ภายหลังที่ สภามหาวิทยาลัย ได้ทำบันทึกข้อความขอหารือ เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายในปัญหาข้อกฎหมายประเด็นการดำเนินการสรรหาอธิการบ โดยมีความเห็นว่า การแก้คุณสมบัติผู้สมัคร ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ราชภัฎฯ และขัดต่อแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเกริกพงษ์ เกสรทอง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามชั่วคราวปฏิบัติหน้าที่แทนนายกสภา ได้มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่อง ขอถอนเรื่องหารือกรณีการดำเนินการสรรหาอธิการบดี ระบุว่า
ตามที่หนังสือที่ อ้างถึง สภามหาวิทยาลัยได้ ขอหารือกรณีการดำเนินการสรรหาอธิการบดีวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เพื่อให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมชี้ขาดเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี และต่อมากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเห็นของคณะกรรมการที่รับผิดชอบงานด้านกฎหมายความละเอียดทราบแล้ว นั้น
สภามหาวิทยาลัย จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) ซึ่งคณะกรรมการด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว และสรุปความเห็นเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ในการประชมครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นว่า ความเห็นของคณะกรรมการด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้ข้อยุติชัดเจนแล้วว่า
ประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม พ.ศ. 2565 และประกาศคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการสรรหาผู้มีคุณสมบัติสมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม พ.ศ 2565 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
โดยสภามหาวิทยาลัยอาศัยอำนาจ ตามข้อ 14 วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามว่าด้วย การสรรหาอธิการบดีพ.ศ 2565 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ 2565 ในการวินิจฉัยชี้ขาดกรณีการดำเนินการสรรหาอธิการบดีโดยจะดำเนินการสรรหาอธิการบดีใหม่ ตามข้อ 14 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2565 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เป็นไปด้วยความถูกต้องและเรียบร้อย สภามหาวิทยาลัยจึงขอถอนเรื่องกรณีการดำเนินการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ดังกล่าวคืน
ต่อมา นายเกริกพงษ์ ได้มีคำสั่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามที่ 052/2567 สั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เรื่อง ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ระบุว่า
ตามที่ สภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี ตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่ 027/2565 ลงวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เนื่องด้วยสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในการประชุมครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ได้อาศัยอำนาจตามข้อ 14 วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย การสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2565 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่ 027/2565 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2565 และให้ดำเนินการสรรหาอธิการบดี ใหม่ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย การสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2565 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยเร็ว
อาศัยอำนาจตามข้อ 18 (14) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 14 วรรคสอง ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย การสรรหาอธิการบดี พ.ศ. 2565 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในการประชุมครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 จึงให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีตามคำสั่งสภามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่ 027/2565 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2565
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การถอนคำสั่งการตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีนั้น ส่งผลให้รายชื่อที่ได้รับการสรรหาถูกยกเลิกไปด้วย
ที่ผ่านมา กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ได้มีการตรวจสอบข้อร้องเรียนผู้บริหาร มรภ.มหาสารคามรายหนึ่ง ว่าเข้าข่ายกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากการออกคำสั่งยุติเรื่องการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงอาจารย์รายหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวกับกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรที่มีการดำเนินการไม่ถูกต้องระเบียบ ปัจจุบันอาจารย์รายนี้ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ
ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
- ปปป.ลุยสอบปมบิ๊กมรภ.สารคาม สั่งยุติสอบวินัยร้ายแรงเอื้อ อ.เอี่ยวคดีขอตำแหน่งวิชาการ
- ขมวด 3 คำสั่ง! 'สอบวินัย-พักราชการ-ยุติเรื่อง' เอื้อ ปย.บิ๊ก มรภ.สารคาม?-ก่อน ปปป.ลุยสอบ
- ทำตามกรอบอำนาจกม.! อดีตรษก.อธิการ มรภ.สารคาม แจงปมสั่งยุติสอบวินัยฯ-ปปป.จ่อทวงถามรอบ 2
- ขีดเส้น 2 สัปดาห์! ปปป.ให้เวลามรภ.สารคาม แจงปมยุติสอบวินัยร้ายแรง อ.คดีตำแหน่งวิชาการ
- ครั้งที่ 5 แล้ว! สภาฯ มรภ.มหาสารคาม ลงนามตั้ง 'เนตรชนก' นั่ง รษก.อธิการฯ ต่อเนื่อง
- โดนเก็บภาษี 27 ล.! ปธ.สหกรณ์ฯโกสุมพิสัยแจ้งความถูกปลอมลายมือร่วมโครงการวิจัย มรภ.สารคาม
- ไม่รู้เรื่องซื้อขาย 279 ล.! สหกรณ์ฯ ร้อง อว. สอบถูกปลอมลายมือร่วมโครงการวิจัย มรภ.สารคาม
- ป.ป.ช.ตีกลับปมร้องเรียนทุจริตวิจัยฯ 408 ล.ให้อธิการบดี มรภ.มหาสารคามดำเนินการ
- หาคนรับผิดชอบ! ร้องนายกสภา มรภ.สารคาม สอบปมปลอมลายมือร่วมโครงการวิจัยซื้อขาย 279 ล.
- ร้อง รมว.อว.ใช้อำนาจ ม.51 จัดระเบียบ มรภ.สารคาม เผยมีหลายปมต้องสะสาง
- คกก.ที่ปรึกษากม.ชี้ปมแก้คุณสมบัติผู้สมัครอธิการฯ มรภ.สารคาม ไม่ชอบ-ขัดหลักธรรมาภิบาล