"... เนื่องจากการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ตามคำสั่งยังไม่ปรากฎพยานหลักฐาน ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอว่า อาจารย์คนดังกล่าว และอาจารย์อีก 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาอย่างไรหรือในฐานความผิดใดตามที่กฎหมายบัญญัติ และคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงไม่มีความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และไม่ได้ชี้มูลว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด..."
กลายเป็นประเด็นร้อนในมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามขึ้นมาทันที
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) ว่า กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีร้องเรียนผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฐมหาสารคามรายหนึ่ง เข้าข่ายกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จากการออกคำสั่งยุติเรื่องการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงอาจารย์รายหนึ่งที่เข้าไปเกี่ยวกับกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการของบุคลากรที่มีการดำเนินการไม่ถูกต้องระเบียบ ซึ่งปัจจุบันอาจารย์รายนี้ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญในมหาวิทยาลัยราชภัฐมหาสารคาม การดำเนินการดังกล่าวจึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่
ขณะที่ ดร.เนตรชนก จันทร์สว่าง ผู้รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ได้รับแจ้งว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลด้านเอกสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ใน มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม พบข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
หนึ่ง.
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม มีคำสั่งเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง คณะอาจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และการเบิก-จ่าย ค่าตอบแทนในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ที่มีการดำเนินการไม่ถูกต้องระเบียบ ลงนามโดย อธิการบดี ในขณะนั้น
อาจารย์ที่ถูกสอบสวน ในขณะนั้น ดำรงตำแหน่งสูงในมหาวิทยาลัย และอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) ด้วย
สอง.
ต่อมา วันที่ 24 มิถุนายน 2565 อธิการบดี ในขณะนั้น ได้ออกคำสั่งพักราชการอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 5(1) และ (2) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัย เรื่อง การสั่งพักหรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของข้าราชการ พ.ศ. 2550
ในคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า เมื่อถูกตั้งกรรมการสอบสวนในเรื่องเกี่ยวกับทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวหากคงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าว ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจารณาหรือก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ประกอบกับข้อ 1(1)และ(2) ของประกาศ ก.พ.อ. เรื่อง มาตรฐานการสั่งพักหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 แล ะ5 (1) (2) และข้อ 17 ของข้อบังคับมหาลัยราชภัฏมหาสารคาม ว่าด้วย การสั่งพักหรือการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนของข้าราชการ พ.ศ. 2550
สาม.
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง ได้มีคำสั่งยุติเรื่องการสอบวินัยร้ายแรงคณะอาจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และการเบิก-จ่าย ค่าตอบแทนในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ
ในคำสั่งระบุว่า "จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย กฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ประกอบกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ตามคำสั่งยังไม่ปรากฎพยานหลักฐาน ข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอว่า อาจารย์คนดังกล่าว และอาจารย์อีก 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ที่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาอย่างไรหรือในฐานความผิดใดตามที่กฎหมายบัญญัติ และคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงไม่มีความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหา กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา และไม่ได้ชี้มูลว่ากรณีดังกล่าวเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงแต่อย่างใด
แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนทางวินัยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงไม่รายงานผลการสอบสวนทางวินัยต่อมหาวิทยาลัย ประกอบกับมหาวิทยาลัยได้ลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ และการเบิก-จ่าย ค่าตอบแทนในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการแล้ว
อาศัยอำนาจตามความ ในมาตรา 31 (1) (2) แห่งพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 บระกอบกับข้อ 5 ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชกัฏมหาสารคาม ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาเพื่อการลงโทษทางวินัย พ.ศ. 2564 และตามช้อ 8 ข้อ 34 ข้อ 66 และข้อ 72 ของกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 และตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 จึงสั่งยุติเรื่อง"
*******
ที่น่าสนใจ คือ ปัจจุบัน อาจารย์ที่ถูกสอบสวน ในขณะนั้น ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญในมหาวิทยาลัย
การออกคำสั่งยุติเรื่องการสอบวินัยร้ายแรงดังกล่าว จึงนำมาสู่ข้อครหาว่า อาจมีการเอื้อประโยชน์กันเกิดขึ้นหรือไม่? และนำมาสู่การร้องเรียนว่าการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ด้วย? ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ปปป.ในขณะนี้
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับกรณีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสอบสวนของ ปปป. ยังไม่ได้มีการสรุปผลชี้ขาด ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านประกอบ: