ผู้ว่าฯชัชชาติ ขอเวลา BTSC 100 วันจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถหมื่นล้านบาท เล็งเสนอ สภากทม. ล้วงเงินสะสมสั่งจ่าย แต่ห่วงประเด็น ป.ป.ช.ชี้มูลคดีจ้างเดินรถปี 85 คาบเกี่ยวส่วนต่อขยายที่ 2 สั่งสอบถาม ‘ป.ป.ช.-อัยการฯ-ฝ่ายกฎหมาย’ หวั่นโดนดำเนินคดีซ้ำรอยคดีรถเรือดับเพลิง เผยถาม ‘กฤษฎีกา’ แล้ว แต่ถูกโยนให้ถาม ‘มหาดไทย’ แทน พร้อมตอบรับนโยบายรัฐบาลซื้อคืนระบบสัมปทานรถไฟฟ้าจากเอกชน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 5 กันยายน 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ความคืบหน้าหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) ในฐานะจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ให้ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (ส่วนต่อขยายสายสีสม สะพานตากสิน-บางหว้า และสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง) จำนวน 2,348.65 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย และหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) จำนวน 9,406.41 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นั้น
- ‘ศาล ปค.สูงสุด’สั่ง‘กทม.’จ่ายค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง‘สายสีเขียว’ 1.2 หมื่นล้าน ให้ BTSC
- พลิกคดี‘หนี้สายสีเขียว’หมื่นล.!‘ศาลปค.สูงสุด’ชี้สัญญา‘ส่วนต่อขยาย’ไม่เข้าข่าย กม.ร่วมทุนฯ
- 'คีรี' นำทีม BTS แถลงจี้ กทม.รีบจ่ายหนี้เดินรถ 1.2 หมื่นล้าน
ขณะนี้ กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย. 67) จะนัดประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปัญหาขณะนี้คือ จะต้องนำประเด็นนี้เสนอให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) พิจารณาอนุมัติการใช้เงินสะสมของ กทม. มาชำระหนี้เดินรถดังกล่าว แต่ตอนนี้ สภภากทม. อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 อยู่ จึงต้องเสนอเรื่องให้พิจารณาในภายหลัง ซึ่งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องคาดว่าจะใช้เวลา 140 วันนับจากวันที่มีคำพิพากษาในการชำระหนี้คืนเอกชนทั้งหมด เพราะฝ่ายรัฐทราบดีว่า การจ่ายล่าช้าจะมีเรื่องดอกเบี้ยและค่าปรับที่เกี่ยวข้อง แต่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งมาแล้วว่า จะกระชับให้ไม่เกิน 100 วันนับจากวันที่มีคำพิพากษา
“ผมไม่ได้มีเจตนาเพิกเฉยเลย แต่มันต้องทำให้ถูกต้องตามระเบียบ จะให้มาจ่ายเงินๆเลยมันก็ไม่ได้ เข้าใจว่าคนอยากได้ตังค์ก็ต้องทวง แต่เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องทำให้ถูกกฎหมายและระเบียบ อีกทั้งศาลเองก็กำหนดกรอบมาให้ 180 วัน ก็ขอให้ใจเย็นๆ การส่งหนังสือมาแจ้งมาจะเอาผิดทางอาญาอะไรเนี่ย ยืนยันว่าไม่มีเจตนา พร้อมจะคุยกับ BTSC หรือจะลดหนี้ให้ก็ดีเลย ถ้าลดดอกเบี้ยให้จะขอบคุณมากเลย ดังนั้น ขออย่าไปปล่อยข่าวว่า ผู้ว่าฯดึงเรื่องนี้ทำให้เอกชนเสียหายวันละ 7 ล้านบาทเลย ไม่มีเลย” นายชัชชาติกล่าวตอนหนึ่ง
@ไม่กล้าจ่ายส่วนต่อ 2 ติดคดี ป.ป.ช. หวั่นเซ็นจ่าย อาจซ้ำรอยคดีรถเรือดับเพลิง
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ต้องดูให้ดีคือ ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีที่ กทม. ว่าจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ไปจนถึงปี 2585 แม้คำพิพากษาจะบอกว่าไม่มีผลต่อการจ่ายค่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายที่ 2 แต่เพื่อความรอบคอบ จะมีหนังสือถามไปยังศาลอีกทีว่า เมื่อมีประเด็นตรงนี้อยู่ หากมีการชำระค่าจ้างเดินรถไปจะมีผลอะไรตามมาหรือไม่ ถ้าไม่มี กทม.ก็เดินหน้าต่อ
“ผมพยายามถามทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้ง ป.ป.ช. และอัยการว่า ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไว้ กทม.สามารถจ่ายหนี้ได้ไหม ก็ไม่มีใครตอบผมได้ เพราะผมกลัวจะซ้ำรอยเหมือนคดีรถเรือดับเพลิงไง ที่คุณอภิรักษ์ (อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.) ไปเซ็นทิ้งไว้ก็โดนไปด้วยเลย ก็พยายามทำให้ดีที่สุด”
ส่วนยอดหนี้ค่าจ้างเดินรถก้อนที่ 2 ช่วงเดือน มิ.ย. 2564 - ต.ค. 65 วงเงิน 11,811 ล้านบาท นายชัชชาติระบุว่า ปัจจุบันอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ยังต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไรและคำพิพากษาของคดีในส่วนแรกจะมีผลผูกพันถึงคดีที่ 2 นี้หรือไม่ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ เพราะในคำพิพากษาที่ออกมาก่อนหน้านี้ ครอบคลุมถึงแค่หนี้ในอดีต แต่ถ้าเอกชนฟ้องอีก อาจจะชนะก็ได้ แต่ว่าคำพิพากษาไม่ได้ผูกพัน ซึ่งให้ผู้เกี่ยวข้องดูอยู่ และอีกประเด็นที่ต้องติดตามคือ การจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ในอนาคต เพราะว่าส่วนต่อขยายที่ 2 นี้ไม่เคยผ่านการพิจารณาของ สภากทม. มาก่อนในการก่อหนี้ผูกพัน ดังนั้น การจ่ายเงินส่วนนี้อาจจะต้องทำให้ผ่านสภากทม.ให้ได้ก่อน
เมื่อถามว่า กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดตั้งข้อไม่สมบูรณ์สำนวนคดีที่ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาการว่าจ้าง BTSC เดินรถไปถึงปี 2585 และได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช.นั้น ทาง ป.ป.ช.ได้ประสานงานมาขอข้อมูลอะไรหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ไม่มี
@’กฤษฎีกา’ ไม่ตอบ โยนถาม ‘มหาดไทย’ จ่ายได้หรือไม่
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กทม.ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อสอบถามในประเด็นเดียวกันนั้น นายชัชชาติยอมรับว่า ได้ทำหนังสือสอบถามไปจริง แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ตอบคำถามนี้ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องในขอบข่ายที่ต้องตอบ และให้ไปสอบถามกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลแทน ส่วนจะทำหนังสือสอบถามกระทรวงมหาดไทยเมื่อไหร่ นายชัชชาติกล่าวว่า คิดอยู่ว่าจะถามไปอย่างไร เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เพิ่งตอบกลับมา
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า การเอาเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม.มาจ่ายค่าเดินรถนี้ ถ้าเงินสะสมไม่พอจะทำอย่างไร ผู้ว่าฯกทม.ตอบว่า ก็คงเป็นหนี้ไป แต่กทม.พยายามใช้เงินอย่างระมัดระวัง อย่างปี 2568 ก็ตั้งงบไว้เพียง 90,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะรู้ดีว่า กทม. เป็นหนี้เยอะ ก็พยายามกระเบียดกระเสียร เพราะหนี้ก้อนนี้จะกระทบถึงการใช้ด้านอื่น ทั้งการศึกษา โรงพยาบาลด้วย ปีนี้ ก็คาดว่ารายได้ที่จัดเก็บจะมากขึ้น แต่ก็ต้องเอาไปเป็นเงินสะสมเพื่อจ่ายหนี้ให้ BTSC
เมื่อถามต่อว่า แบบนี้ก็ไม่เหลืองบประมาณไปพัฒนาเมืองด้านอื่นเลย นายชัชชาติตอบว่า ก็พัฒนาได้ ตามงบประมาณที่มี
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.
@เงินสะสมกทม.เหลือแค่ 1.6-2.6 หมื่นล้านบาท
ด้านแหล่งข่าวจากกทม.กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม.อยู่ที่ 40,000 - 50,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ตัดชำระหนี้งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 23,312 ล้านบาทไปแล้ว จึงเหลือเงินสะสมจ่ายขาดเพียง 16,000 - 26,000 ล้านบาทเท่านั้น จึงขึ้นอยู่กับสภากทม.ว่า จะพิจารณาให้ผู้บริหารนำเงินสะสมจำนวนนี้ไปจ่ายค่าจ้างเดินรถมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาทหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า กทม.มีภารกิจด้านอื่นด้วยทั้งการระบายน้ำ สาธารณสุข การศึกษา ที่ก็ต้องใช้งบประมาณเช่นกัน
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวว่า การเสนอญัตติให้ สภากทม.พิจารณาการเอาเงินสะสมจ่ายขาดของกทม.มาจ่ายหนี้ BTSC ผู้ว่าฯกทม.ต้องการให้ประเด็นทางกฎหมายข้างต้นที่เกี่ยวกับสิ่งที่ ป.ป.ช.ชี้มูลเอาไว้ชัดเจนก่อนว่าจ่ายได้ไหม เพราะขนาดสภากทม.ชุดที่แล้วภายใต้รัฐบาล คสช.ยังไม่กล้าอนุมัติจ่ายเลย
@ตอบรับแนวคิด ซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กระทรวงคมนาคมตอบรับแนวคิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเด็นนโยบายซื้อคืนสัมปทานระบบรถไฟฟ้าจากเอกชน ซึ่งรวมถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วยนั้น ขณะนี้มีการติดต่อจากรัฐบาลเพื่อพูดคุยถึงประเด็นนี้หรือยัง นายชัชชาติระบุว่า ยังไม่มี แต่ยินดีให้มีการซื้อคืน เพราะเชื่อว่าการมีผู้ควบคุมระบบรายเดียว จะสามารถบริหารจัดการค่าโดยสาร โดยเฉพาะค่าโดยสารแบบระบบเดียว (Common Fair) เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า และสามารถเกลี่ยกำไรของระบบรถไฟฟ้าไปช่วยสายที่ไม่มีกำไรได้ ประชาชนได้ประโยชน์
ส่วนตัวเชื่อว่า รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) มีศักยภาพในการบริหารจัดการได้ดี มีผู้เชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งกทม.ไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ส่วนตัวต้องจ้างคนนอกมาทำ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถรวมเจ้าของเหลือคนเดียวได้ การจัดระเบียบค่าโดยสาร การอุดหนุนค่าโดยสาร การเฉลี่ยช่วยเหลือสายที่ไม่มีกำไร น่าจะทำให้เกิดสิ่งดีๆกับคนกรุงเทพฯได้ แต่ปัญหาหลักตอนนี้คือ ผู้ให้บริการระบรถไฟฟ้าเอกชนทั้ง BTSC และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ต่างถือสัญญาสัมปทานในมืออยู่ และเหลืออีกหลายปี ดังนั้น การซื้อคืนจะซื้ออย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
เมื่อถามว่า การที่ กทม.กำลังมีแผนจะศึกษา PPP รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ นโยบายที่จะซื้อคืนสัมปทานจะกระทบหรือไม่ ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ไม่ ที่ กทม.ศึกษา PPP เพราะตอนนี้เหลืออีกเพียง 5 ปี โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะหมดสัมปทานแล้ว แต่ยอมรับว่า ประเด็นนี้จะกลายเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการคิดกันให้รอบคอบว่าจะทำอย่างไร?